พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ (บาลี: buddhas?sana พุทฺธสาสนา, สันสกฤต: buddha??sana พุทธศาสนา) เป็นศาสนาที่มีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา มีพระธรรมที่พระบรมศาสดาตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองตรัสสอนไว้เป็นหลักคำสอนสำคัญ มีพระสงฆ์หรือพุทธบริษัท 4 เป็นชุมชนของผู้นับถือศาสนาและศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา เพื่อสืบทอดไว้ซึ่งคำสอนของพระบรมศาสดา รวมเรียกว่าพระรัตนตรัย1
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาอเทวนิยม ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเป็นเจ้าหรือพระผู้สร้าง และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ว่าทุกคนสามารถพัฒนาจิตใจไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ด้วยความเพียรของตน กล่าวคือ ศาสนาพุทธสอนให้มนุษย์บันดาลชีวิตของตนเองด้วยผลแห่งการกระทำของตน ตาม กฎแห่งกรรม มิได้มาจากการอ้อนวอนขอจากพระเป็นเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกกาย คือ ให้พึ่งตนเอง เพื่อพาตัวเองออกจากกอง ทุกข์ มีจุดมุ่งหมายคือการสอนให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงในโลกด้วยวิธีการสร้าง ปัญญา ในการอยู่กับความทุกข์อย่างรู้เท่าทันตามความเป็นจริง วัตถุประสงค์สูงสุดของศาสนา คือ การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงและวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิด เช่นเดียวกับที่พระศาสดาทรงหลุดพ้นได้ด้วยกำลังสติปัญญาและความเพียรของพระองค์เอง ในฐานะที่พระองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ มิใช่เทพเจ้าหรือทูตของพระเจ้าองค์ใด
พระศาสดาพระองค์ปัจจุบันคือพระโคตมพุทธเจ้า มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงเริ่มออกเผยแผ่คำสอนในชมพูทวีป ตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่หลังปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอน ได้ถูกรวบรวมเป็นหมวดหมู่ด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก จนมีการรวบรวมขึ้นเป็นพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดของฝ่าย เถรวาท ที่ยึดหลักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สอง ได้เกิดแนวคิดที่เห็นต่างออกไป ว่าธรรมวินัยสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาและสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดแห่งศาสนาพุทธ แนวคิดดังกล่าวจึงได้เริ่มก่อตัวและแตกสายออกเป็นนิกายใหม่ในชื่อของ มหายาน ทั้งสองนิกายได้แตกนิกายย่อยไปอีกและเผยแพร่ออกไปทั่วดินแดนเอเชียและใกล้เคียง บ้างก็จัดว่า วัชรยาน เป็นอีกนิกายหนึ่ง แต่บ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิกายมหายาน แต่การจัดมากกว่านั้นก็มี หลักพื้นฐานสำคัญของปฏิจสมุปบาท เป็นเพียงหลักเดียวที่เป็นคำสอนร่วมกันของคติพุทธ
ปัจจุบันศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้นับถือส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันศาสนาพุทธได้มีผู้นับถือกระจายไปทั่วโลก ประมาณ 700 ล้านคน ด้วยมีผู้นับถือในหลายประเทศ ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาสากล
พระรัตนตรัย คือ สรณะที่พึ่งอันประเสริฐในศาสนาพุทธ สรณะ หมายถึง สิ่งที่ให้ศาสนิกชนถือเอาเป็นแบบอย่าง หรือให้เอาเป็นตัวอย่าง แต่มิได้หมายความว่าเมื่อเคารพแล้วจะดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ตามต้องการได้ พระรัตนตรัยนั้นประกอบด้วยองค์สาม (ไตรสรณะ) ได้แก่
ศาสดาของศาสนาพุทธ คือ พระโคตมพุทธเจ้า มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติในดินแดนชมพูทวีป ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 80 ปีก่อนพุทธศักราช ณ สวนลุมพินีวัน เจ้าชายสิทธัตถะผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาท ผู้สืบทอดราชบัลลังก์กรุงกบิลพัสดุ์แห่งแคว้นสักกะ และเมื่อพระชนมายุ 16 ชันษา ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธราแห่งเมืองเทวทหะ ต่อมาเมื่อพระชนมายุ 29 ชันษา มีพระโอรส 1 พระองค์พระนามว่า ราหุล
ในปีเดียวกัน พระองค์ทอดพระเนตรเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ จึงทรงตัดสินพระทัยออกผนวชเป็นสมณะ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นจากทุกข์ คือ ความแก่ เจ็บ และตาย ในปีเดียวกันนั้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานที และหลังจากออกผนวชมา 6 พรรษา ทรงประกาศการค้นพบว่าการหลุดพ้นจากทุกข์ทำได้ด้วยการฝึกจิตด้วยการเจริญสติ ประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา จนสามารถรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริงว่า เป็นทุกข์เพราะสรรพสิ่งไม่สมบูรณ์ ไม่แน่นอน และบังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้ จนไม่เห็นสิ่งใดควรยึดมั่นถือมั่นหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง จวบจนได้ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ การตรัสรู้ อริยสัจ 4 ขณะมีพระชนมายุได้ 35 ชันษา ที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม จากนั้นพระองค์ได้ออกประกาศสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ตลอดพระชนม์ชีพ เป็นเวลากว่า 45 พรรษา ทำให้ศาสนาพุทธดำรงมั่นคงในฐานะศาสนาอันดับหนึ่งอยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ จวบจนพระองค์ได้เสด็จปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุได้ 80 พระชันษา ณ สาลวโนทยาน (ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6)
หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ในยุคก่อนจะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้วิธีท่องจำ (มุขปาฐะ) โดยใช้วิธีการแบ่งให้สงฆ์หลาย ๆ กลุ่มรับผิดชอบท่องจำในแต่ละเล่ม เป็นเครื่องมือช่วยในการรักษาความถูกต้องของหลักคำสอน จวบจนได้ถือกำเนิดอักษรเขียนที่เลียนแบบเสียงเกิดขึ้นมาซึ่งสามารถรักษาความถูกต้องของคำสอนเอาไว้ได้แทนอักษรภาพแบบเก่าที่รักษาความถูกต้องไม่ได้ จึงได้มีการบันทึกพระธรรมและพระวินัยเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นภาษาบาลี รักษาไว้ในคัมภีร์เรียกว่า "พระไตรปิฎก" ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่
ผู้สืบทอดในทางศาสนาพุทธ ได้แก่ พุทธบริษัท 4 อันหมายถึง พุทธศาสนิกชน พุทธมามกะ พุทธสาวก อันเป็นกลุ่มผู้ร่วมกันนับถือ ร่วมกันศึกษา และร่วมกันรักษาพุทธศาสนาไว้
หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ได้ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ พระโกณฑัญญะบรรลุเป็นพระโสดาบัน และกราบทูลขอบวช นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก ในสมัยพุทธกาล พระองค์ได้เสด็จไปเผยแผ่พุทธศาสนาตามที่ต่าง ๆ ในชมพูทวีปเป็นเวลานานกว่า 45 พรรษา จนกระทั่งปรินิพพาน
ภายหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ได้เกิดความขัดแย้งอันเกิดจากการตีความพระธรรมคำสอนและพระวินัยไม่ตรงกัน จึงมีการแก้ไขโดยมีการจัดทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยที่ถูกต้องไว้เป็นหลักฐานสำหรับยึดถือเป็นแบบแผนต่อไป จึงนำไปสู่การทำสังคายนาพระไตรปิฎก ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 2 นี้เองที่พระพุทธศาสนาแตกออกเป็นหลายนิกายกว่า 20 นิกาย และทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้ทรงแต่งสมณทูต 9 สายออกไปเผยแผ่พุทธศาสนา จนกระทั่งพุทธศาสนาแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวาง
ศาสนาพุทธมีความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยสลับกัน เนื่องจากการส่งเสริมของผู้มีอำนาจปกครองในแต่ละท้องถิ่น แต่ในภาพรวมแล้ว พุทธศาสนาในอินเดียเริ่มอ่อนแอลงหลังพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา โดยศาสนาฮินดูได้เข้ามาแทนที่ เช่นเดียวกับการเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในเอเชียกลาง จีน เกาหลี ในขณะที่ศาสนาพุทธได้เข้าไปตั้งมั่นอยู่ในญี่ปุ่น และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 25 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ศาสนาพุทธเริ่มเป็นที่ดึงดูดใจของชาวตะวันตกมากขึ้น และได้มีการตั้งองค์กรทางพุทธศาสนาระดับโลกโดยชาวพุทธจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือรวม 27 ประเทศที่ศรีลังกาเมื่อ พ.ศ. 2493 ในชื่อ "องค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก"
ศาสนาพุทธสอนว่า ปรมัตถธรรม หรือสรรพสิ่งมี 4 อย่างคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน จึงปฏิเสธการมีอยู่ของพระเป็นเจ้า (เพราะพระเป็นเจ้าจัดเข้าในปรมัตถธรรมไม่ได้) และเชื่อว่าโลกนี้เกิดขึ้นเองจากกฎแห่งธรรมชาติหรือนิยาม5 ประการ คือ อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม กรรมนิยาม ธรรมนิยาม
กฎแห่งกรรม คือกฎธรรมชาติที่ว่าด้วยการกระทำและผลของการกระทำ ซึ่งการกระทำกับผลนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กันเช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ผลของการกระทำ
อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ ๔ เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ทุกข์ ในทางศาสนาพุทธคือ ไตรลักษณ์(หลักสัจจธรรมของพุทธศาสนา) เป็นลักษณะสภาพพื้นฐานธรรมชาติอย่างหนึ่ง จากทั้งหมด 3 ลักษณะ ที่พุทธศาสนาได้สอนให้เข้าใจถึงเหตุลักษณะแห่งสรรพสิ่งที่เป็นไปภายใต้กฎไตรลักษณ์ อันได้แก่
เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท (หลักศรัทธาของพุทธศาสนา) พุทธศาสนา สอนว่า ความทุกข์ ไม่ได้เกิดจากสิ่งใดดลบันดาล หากเกิดแต่เหตุและปัจจัยต่างๆ มาประชุมพร้อมกัน โดยมีรากเหง้ามาจากความไม่รู้หรือ อวิชชา ทำให้กระบวนการต่างๆ ไม่ขาดตอน เพราะนามธาตุที่เป็นไปตามกฎนิยาม ตามกระบวนการที่เรียกว่ามหาปัฏฐาน ทำให้เกิดสังขารเจตสิกกฎเกณฑ์การปรุงแต่งซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นดุจพันธุกรรมของจิต วิวัฒนาการเป็นธรรมธาตุอันเป็นระบบการทำงานของนามขันธ์ที่ประกอบกันเป็นจิต ( อันเป็นสภาวะที่รับรู้และเป็นไปตามเจตสิกของนามธาตุ) และเป็นวิญญาณขันธ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นธาตุแสง (รังสิโยธาตุ) อันเกิดจากการทำงานของนามธาตุอย่างเป็นระบบ จนสามารถประสานหรือกำหนดกฎเกณฑ์รูปขันธ์ ของชีวิตินทรีย์ (เช่นไวรัส แบคทีเรีย ต้นไม้ เซลล์ ที่มีชีวิตขึ้นมาเพราะกฎพีชนิยาม) ทำให้เหตุผลของรูปขันธ์เป็นไปตามเหตุผลของนามขันธ์ด้วย (จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว) ทำให้รูปขันธ์ที่เป็นชีวิตินทรีย์พัฒนามีร่างกายที่สลับซับซ้อนมีระบบการทำงานจนเกิดมีปสาทรูป 5 รวมการรับรู้ทางมโนทวารอีก 1 เป็นอายตนะทั้ง 6 เมื่ออายตนะกระทบกับสรรพสิ่งที่มากระทบจนเกิดผัสสะ จนเกิดเวทนา คือ ความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง(อุเบกขา)
ทำให้มีอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) เพราะมีสัญญาการสมมุติว่าเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้จึงมี จึงเกิดการสร้างภพของจิตหรือภวังคจิต(จิตใต้สำนึก) และสร้างกรรมอันเป็นเหตุแห่งการสร้างภพชาติขึ้นมา
สู่การเวียนว่ายตายเกิดของจิตวิญญาณทั้งหลายนับชาติไม่ถ้วน ผ่านไประหว่าง วัฏสงสารทั้ง 31 ภูมิ (มิติต่าง ๆ ตั้งแต่เลวร้ายที่สุด (นรก) ไปจนถึงสุขสบายที่สุด (สวรรค์)) ในโลกธาตุที่เหมาะสมในเวลานั้นที่สมควรแก่กรรม นี้เรียกว่า สังสารวัฏ
สำหรับการเวียนว่ายของจิตวิญญาณมีเหตุมาจาก "อวิชชา" คือความที่จิตไม่รู้ถึงความเป็นจริง ไปหลงผิดในสิ่งสมมุติต่างๆซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งหลาย เมื่อจิตยังมีอวิชชาสัตว์โลกย่อมเวียนว่ายตายเกิด และประสบพบเจอพระไตรลักษณ์อันเป็นเหตุให้ประสบทุกข์มีความแก่และความตาย เป็นต้น ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะทำลายที่ต้นเหตุคืออวิชชาลงได้
ความดับทุกข์ (นิโรธ) คือ นิพพาน ( เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา ) อันเป็น แก่นของศาสนาพุทธ เป็นความสุขสูงสุด หรือเรียกอีกอย่างว่า
เนื่องจากธรรมดาของสัตว์โลกมีปกติทำความชั่วมากโดยบริสุทธิ์ใจในความเห็นแก่ตัว ทำดีน้อยซึ่งไม่บริสุทธิ์ใจ ซ้ำหวังผลตอบแทน จึงมีปกติรับทุกข์มากกว่าสุข ดังนั้น ถ้าเป็นผู้มีปัญญาหรือเป็นพ่อค้าที่ฉลาดยอมรู้ว่าขาดทุนมากกว่าได้กำไร และ สุขที่ได้เป็นเพียงมายา ย่อมปรารถนาในพระนิพพาน เมื่อ ขันธ์5 แตกสลาย เจตสิกที่ประกอบกันให้เกิดเป็นจิตนั้นก็แตกสลายตามเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีเหตุปัจจัยจะประกอบกันให้เกิดเป็นจิตนั้น กรรมย่อมไม่อาจให้ผลได้อีก (อโหสิกรรม) เหลือเพียงแต่พระคุณความดี เมื่อมีผู้บูชาย่อมส่งผลกรรมดีให้แก่ผู้บูชาเหมือนคนตีกลอง กลองไม่รับรู้เสียง แต่ผู้ตีได้รับอานิสงส์เสียงจากกลอง
วิถีทางดับทุกข์ (มรรค) คือ มัชฌิมาปฏิปทา (หลักการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนา) ทางออกไปจากสังสารวัฏมีทางเดียว โดยยึดหลักทางสายกลาง อันเป็นอริยมรรค คือ การฝึกสติ (การทำหน้าที่ของจิตคือตัวรู้ให้สมบูรณ์) เป็นวิธีฝึกฝนจิตเพื่อให้ถึงซึ่งความดับทุกข์หรือมหาสติปัฏฐาน โดยปฏิบัติหน้าที่ทุกชนิดอย่างมีสติด้วยจิตว่างตามครรลองแห่งธรรมชาติ มีสติอยู่กับตัวเองในเวลาปัจจุบัน สิ่งที่กำลังกระทำอยู่เป็นสิ่งสำคัญกว่าทุกสรรพสิ่ง ทำสติอย่างมีศิลปะคือรู้ว่าเวลาและสถานการณ์เช่นนี้ ควรทำสติกำหนดรู้กิจใดเช่นไรจึงเหมาะสม จนบรรลุญานตลอดจน มรรคผล เมื่อจำแนกตามลำดับขั้นตอนของการบำเพ็ญเพียรฝึกฝนทางจิต คือ
ศาสนาพุทธมุ่งเน้นเรื่องการพ้นทุกข์ และสอนให้รู้จักทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ให้พ้นจากความไม่รู้ความจริงในธรรมชาติ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จากกิเลสทั้งปวงคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง รวมทั้งเน้นการศึกษาทำความเข้าใจ การโยนิโสมนสิการด้วยปัญญา และพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง เห็นเหตุผลว่าสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี จนเห็นตามความเป็นจริงว่าสรรพสิ่งในธรรมชาติเป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์ และสัตว์โลกที่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม แล้วเลือกใช้หลักธรรมในพุทธศาสนาที่เหมาะกับผลที่จะได้สิ่งที่ปรารถนาอย่างถูกต้อง ด้วยความไม่ประมาทในชีวิตให้มีความสุขในทั้งชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป ตลอดจนปรารถนาในพระนิพพานของผู้มีปัญญา
วัดอันเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธ ซึ่งเป็นสถานที่อยู่อาศัย หรือ ที่จำพรรษา ของ พระภิกษุ สามเณรตลอดจน แม่ชี เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมประจำวันของพระภิกษุสงฆ์ เช่น การทำวัตรเช้าและเย็น และสังฆกรรมในพระอุโบสถ อีกทั้ง ยังใช้ประกอบพิธีกรรมเช่นการเวียนเทียนเป็นต้นในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เป็นศูนย์รวมในการมาร่วมกันทำกิจกรรมในทางช่วยกันส่งเสริมพุทธศาสนาเช่นการมาทำบุญในวันพระของแต่ละท้องถิ่นของพุทธศาสนิกชน อีกด้วย
ศาสนาพุทธ แบ่งออกเป็นนิกายใหญ่ได้ 2 นิกายคือ เถรวาทและมหายาน นอกจากนี้แล้วยังมีการแบ่งที่แตกต่างออกไปแบ่งเป็น 3 นิกาย เนื่องจากวัชรยานถือว่าตนเป็นยานพิเศษโดยเฉพาะ ต่างจากมหายาน
หมายเหตุ 1: ไตรสรณคมน์ หรือที่แปลว่า การสมาทานนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก (taking refuge in the triple gem) เดิมเคยเป็นเอกลักษณ์และข้อผูกมัดแห่งวิถีพุทธ และเป็นความแตกต่างทั่วไประหว่างชาวพุทธกับศาสนิกชนอื่น