พายุไต้ฝุ่นลินดา (อังกฤษ: Linda) เริ่มก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำขึ้นเป็นดีเปรสชั่นเขตร้อน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ในทะเลจีนใต้ตอนล่าง แล้วทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในวันที่ 1 พฤศจิกายน
และเคลื่อนผ่านบริเวณใต้สุดของประเทศเวียดนามในวันต่อมา พร้อมกับสร้างความเสียหายอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 ราย วันที่ 3 พฤศจิกายน พายุโซนร้อนลินดา เคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย และได้ทวีความรุนแรงเป็นพายุไต้ฝุ่น ความเร็วลม 120 กม./ชม. เมื่อเวลา 10.00 น. ขณะอยู่ห่างจากเกาะสมุยประมาณ 230 กิโลเมตร ซึ่งสร้างความตื่นกลัวให้กับชาวไทย เพราะทิศทางและลักษณะของพายุลินดา เหมือนกับพายุไต้ฝุ่นเกย์ที่เคยพัดถล่มจังหวัดชุมพรใน พ.ศ. 2532 แต่ปรากฏว่าก่อนจะเคลื่อนขึ้นฝั่งที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเวลา 02.00 น. พายุได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน ความเร็วลม 80 กม./ชม. และเคลื่อนผ่านไทยเข้าสู่ประเทศพม่า ก่อนจะลงทะเลอันดามันแล้วสลายตัวไปในวันที่ 10 พฤศจิกายน ในอ่าวเบงกอล
พายุลินดาทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องหลายวัน เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี และกาญจนบุรี โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีลมพัดแรงจัดจนบ้านเรือนเสียหายและต้นไม้ โค่นล้มในหลายอำเภอ ส่งผลกระทบต่อประชาชน 461,263 คน
มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 คน สูญหาย 2 คน บาดเจ็บ 20 คน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 9,248 หลัง ถนนเสียหาย 1,223 แห่ง ฝาย-ทำนบเสียหาย 40 แห่ง สะพานชำรุด 20 แห่ง สาธารณประโยชน์ 58 แห่ง มูลค่าความเสียหายรวม 213,054,675 บาท นอกจากนี้ยังมีคลื่นพายุซัดฝั่ง ซัดเรือประมงอับปางกว่า 50 ลำ
จากการวิจัยแบบจำลองการพยากรณ์แนวทางเดินของพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา พบพายุไต้ฝุ่นเพียง 2 ลูกเท่านั้นที่ผ่านเข้ามาในบริเวณอ่าวไทย คือ พายุไต้ฝุ่นเกย์ และพายุไต้ฝุ่นลินดา