ไต้ฝุ่นทุเรียน (ชื่อสากล: 0621, JTWC ตั้งชื่อ: 24W, ให้ชื่อ Typhoon Reming โดย PAGASA และบ้างครั้งเรียกซูเปอร์ไต้ฝุ่นทุเรียน) เป็นพายุที่รุนแรงมาก ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากในประเทศฟิลิปปินส์ และเป็นเหตุให้มีประชาชนหลายหมู่บ้านเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากโคลนถล่มที่ภูเขาไฟมายอน ตามศูนย์ร่วมการเตือนภัยไต้ฝุ่น ไต้ฝุ่นทุเรียนเป็นดีเปรสชั่นในเขตร้อนลำดับที่ 24, พายุเขตร้อนลำดับที่ 23, ไต้ฝุ่นลำดับที่ 14 และซูเปอร์ไต้ฝุ่นลำดับที่ 7 ของฤดูไต้ฝุ่นเขตแปซิฟิกปี ค.ศ. 2006 และเป็นชื่อพายุลำดับที่ 21 และไต้ฝุ่นลำดับที่ 14 ของฤดูโดยศูนย์กลางอุตุนิยมวิทยากำหนดขอบเขตส่วนภูมิภาคสำหรับพายุหมุนเขตร้อนในภูมิภาคนี้ ชื่อ ทุเรียน ถูกเสนอในบัญชีรายชื่อโดยประเทศไทยซึ่งหมายถึงทุเรียนที่เป็นผลไม้
ไต้ฝุ่นทุเรียนขึ้นบกครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ มีลมแรง ฝนตกหนัก และทำให้เกิดโคลนถล่มใกล้กับภูเขาไฟมายอน หลังการนั้นก็เข้าสู่ทะเลจีนใต้และอ่อนกำลังลงเล็กน้อย ก่อนที่จะทวีความรุนแรงและขึ้นบกที่ประเทศเวียดนามใกล้กับนครโฮจิมินห์ มีมูลค่าความเสียหายถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรวมทั้งหมดแล้ว ไต้ฝุ่นทุเรียนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,497 คน และสูญหายมากกว่า 100 คน ทรัพย์สินเสียหายประมาณ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไต้ฝุ่นทุเรียนเริ่มก่อนตัวขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของชู๊ก (Chuuk) และถูกประกาศเป็นดีเปรสชั่นในร้อนในวันที่ 25 พฤศจิกายน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) หลังจากนั้น 1 วันศูนย์ร่วมการเตือนภัยไต้ฝุ่นได้ประกาศเตือนว่าพายุมีการเคลื่อนตัวไปทางตะวันตก-ตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่รัฐแยป ดีเปรสชั่นได้ทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องมาจากอุณหภูมิสูงบนพื้นผิวทะเลและมีเมฆที่มีความกดอากาศสูงและมีลมแรงพัดออกมา ตามรายงานของ JMA ดีเปรสชั่นได้กลายเป็นพายุเขตร้อนในตอนบ่ายของวันที่ 26 พฤศจิกายน และถูกตั้งชื่อว่าทุเรียน
ในการเคลื่อนที่จากตะวันตกไปตะวันตกเฉียงเหนือ พายุได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างช้าๆจนกลายเป็นพายุเขตร้อนที่รุนแรงมากในวันที่ 27 พฤศจิกายน, และวันต่อมามันถูกตั้งชื่อว่า Reming โดย PAGASA เมื่อมันเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศฟิลิปปินส์ หลังวันที่ 28 พฤศจิกายน JMA และ JTWC ได้เลื่อนให้พายุเป็นไต้ฝุ่นขณะที่มันยังเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 29 พฤศจิกายนไต้ฝุ่นได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น JMA แจ้งว่าไต้ฝุ่นมีความเร็วลมถึง 100 นอต และ JTWC ได้จัดระดับโดยใช้ Dvorak เทคนิคว่าอยู่ในระดับ 6.5 (127 kt) จากดาวเทียม ใน 6 ชั่วโมงไต้ฝุ่นทุเรียนทวีความรุนแรงจาก 90 kt ถึง 125 kt ไต้ฝุ่นอ่อนตัวลงเล็กน้อยเมื่อขึ้นฝั่ง แต่ก็กลับทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว
PAGASA อ้างว่าซูเปอร์ไต้ฝุ่นทุเรียนขึ้นฝั่งในตอนเช้าของวันที่ 30 พฤศจิกายน ทางตอนใต้ของคาตันดัวเนส ถึงแม้ว่า JMA และ JTWC ไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ก็ตาม ซูเปอร์ไต้ฝุ่นทุเรียนยังขึ้นฝั่งในที่อื่นอีกหลังพัดข้าม Lagonoy Gulf ในทางตะวันออกเฉียงเหนือของอัลเบย์ หลังจากนั้นซูเปอร์ไต้ฝุ่นได้อ่อนตัวลง JTWC ได้ลดระดับให้ทุเรียนกลับเป็นไต้ฝุ่นอีกครั้ง ไต้ฝุ่นได้เคลื่อนตัวต่อไปทางตะวันตก ขึ้นบกที่ Bondoc Peninsula ใน Quezon, Marinduque และที่สุดท้ายที่โอเรียลทอล มินโดโรก่อนเคลื่อนตัวไปทางทะเลจีนใต้
จากการเผชิญหน้ากับอากาศแห้งและวินด์ เชียร์แนวดิ่ง ทำให้ทุเรียนอ่อนกำลังลงเล็กน้อยแต่ก็กลับทวีความรุนแรงอย่างช้าๆเมื่อเข้าใกล้ประเทศเวียดนาม ไต้ฝุ่นได้เปลี่ยนทิศทางไปทางตะววันตกเฉียงใต้เล็กน้อยเข้าสู่ญาจางและนครโฮจิมินห์ในวันที่ 3 ธันวาคม ในที่สุดไต้ฝุ่นทุเรียนก็อ่อนกำลังอีกครั้ง และในวันที่ 4 ธันวาคม JMA ได้ลดระดับลงเป็นพายุเขตร้อนที่รุนแรง พายุยังคงความรุนแรงเคลื่อนที่เลียบชายฝั่งเวียดนามไปทางตะวันตกเฉียงใต้ หลังจากทวีความรุนแรงได้ชั่วครู่ ไต้ฝุ่นก็ขึ้นฝั่งครั้งสุดท้ายที่จังหวัดเบนแจในวันที่ 5 ธันวาคม ก่อนจะอ่อนกำลังอย่างรวดเร็ว JMA ได้ลดระดับลงเป็นพายุเขตร้อน JMA และ JTWC รายงานครั้งสุดท้ายว่าทุเรียนจะเข้าสู่อ่าวไทยและอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่นเขตร้อน ทุเรียนได้พัดข้ามภาคใต้ของประเทศไทยเคลื่อนตัวสู่อ่าวเบงกอล
เมื่อไต้ฝุ่นทุเรียนขึ้นฝั่งที่ประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดลมแรง ฝนตกหนัก มีรายงานว่าเกิดน้ำท่วมที่ Legazpi City, น้ำท่วมสูงกว่า 18 นิ้วที่อัลเบย์ และเกิดโคลนถล่มที่ภูเขาไฟมายอน ศูนย์บรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ได้สรุปความเสียหายออกมาว่า มีผู้เสียชีวิต 1,086 คน ไร้ที่อยู่อาศัยอีก 1.14 ล้านคน ความเสียหายด้านทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่า 274 ล้านเปโซ หรือประมาณ 197.28 ล้านบาท
ประเทศเวียดนามมีผู้เสียชีวิตจากพายุดังกล่าว 98 คน บาดเจ็บ 1,770 คน ในพื้นที่ของจังหวัดบินห์ธวน, บา เรีย วุง ตัว, ลอง อันห์ และ เทียน เกียง นอกจากนั้นก็ยังมีเรือประมงอีก 896 ลำจมทะเล โดยเฉพาะที่จังหวัดบินห์ธวนมีถึง 820 ลำ บ้านเรือนราษฎร 1,120 หลังคาเรือน และ โรงเรียนอีก 22 โรงในจังหวัดบินห์ธวน
เพราะความเสียหายที่รุนแรงและมีคนตายจำนวนมากของไต้ฝุ่นทุเรียน ทำให้มีการตัดสินใจในการประชุมประจำปีครั้งที่ 39 ของคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องพายุของ ESCAP/WMO ที่มะนิลา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2006 ว่าชื่อ ทุเรียน กับชื่ออื่นๆอีก 4 ชื่อจะถูกถอดถอนจากบัญชีรายชื่อ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 คณะกรรมการได้เลือกชื่อ มังคุด มาแทนที่ทุเรียนในรายชื่อพายุหมุนเขตร้อน และเริ่มใช้ในปี ค.ศ. 2008