พันธมิตรทางการทหารอังกฤษ-โปแลนด์ หมายถึง ข้อตกลงระหว่างสหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐโปแลนด์ที่สอง ในความร่วมมือระหว่างกันในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกโจมตีโดยประเทศในทวีปยุโรป ตามข้อตกลงลับในข้อตกลง "ประเทศในทวีปยุโรป" นี้เป็นที่เข้าใจว่าคือ เยอรมนี
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1939 ในการตอบสนองต่อท่าทีของเยอรมนีที่ฝ่าฝืนข้อตกลงมิวนิก และยึดครองเชโกสโลวาเกีย สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจึงสนับสนุนให้มีการรับประกันเอกราชของโปแลนด์
เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1939 ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงลอนดอนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ ได้มีการตกลงให้มีการรับรองอย่างเป็นทางการเป็น พันธมิตรทางการทหาร ผ่านการเจรจา
และเมื่อวันที่ 13 เมษายน การให้การรับรองดังกล่าวยังมีผลไปถึงกรีซและโรมาเนีย ภายหลังการรุกรานอัลเบเนียของอิตาลีด้วย
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม สองวันหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันระหว่างอังกฤษ-โปแลนด์ ซึ่งมีเนื้อหาในการให้สัตยาบันการช่วยเหลือทางการทหารระหว่างประเทศคู่เจรจา ในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งถูกรุกรานโดยประเทศในทวีปยุโรป สหราชอาณาจักร ซึ่งมองเห็นอันตรายจากการขยายดินแดนของเยอรมนี ต้องการจะป้องกันท่าทีคุกคามของเยอรมนี ด้วยการแสดงถึงความร่วมมือเป็นปึกแผ่น และในข้อตกลงลับของสนธิสัญญา สหราชอาณาจักรจะมอบความช่วยเหลือให้ในกรณีที่โปแลนด์ถูกรุกรานโดยเยอรมนีเท่านั้น และทั้งสหราชอาณาจักรและโปแลนด์ต่างก็ไม่ถูกผูกมัดไม่ให้เข้าเจรจากับประเทศที่สามแต่อย่างใด
ในขณะนั้น ฮิตเลอร์กำลังต้องการดินแดนของนครเสรีดานซิก การยอมให้ทหารเคลื่อนทัพผ่านฉนวนโปแลนด์ และการมอบสิทธิพิเศษให้กับชนกลุ่มน้อยเชื้อสายเยอรมันในโปแลนด์ ด้วยเงื่อนไขของพันธมิตรทางการทหาร คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายสามารถตัดสินใจที่จะตอบโต้กับการรุกล้ำดินแดนด้วยกำลังไม่ว่ากรณีใด ๆ ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวไม่ได้กำหนดข้อผูกมัดในการธำรงไว้ซึ่งบูรณภาพแห่งดินแดนของคู่เจรจาอีกฝ่ายหนึ่ง สนธิสัญญาดังกล่าวได้มีการระบุถึง "ภัยคุกคามทางอ้อม" และความพยายามที่จะบ่อนทำลายเอกราชของคู่เจรจาอีกฝ่ายหนึ่งผ่าน "การแทรกซึมทางเศรษฐกิจ" ซึ่งหมายถึง ลักษณะพิเศษของเมืองดานซิก
รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลฝรั่งเศสต่างก็ตั้งใจที่จะดำเนินการอย่างอื่น นอกเหนือจากการปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ให้ไว้กับโปแลนด์ ในวันที่ 4 พฤษภาคม ผลของการประชุมในกรุงปารีส ได้ข้อสรุปว่า: "ชะตากรรมของโปแลนด์ขึ้นอยู่กับผลสุดท้ายของสงคราม ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของเราในการเอาชนะเยอรมนีมากกว่าการยื่นความช่วยเหลือให้กับโปแลนด์" รัฐบาลโปแลนด์ไม่ได้รับแจ้งให้ทราบการตัดสินใจดังกล่าว และการเจรจาระหว่างอังกฤษ-โปแลนด์ก็ยังคงดำเนินต่อไป และในเดือนพฤษภาคมนั้นเอง โปแลนด์ก็ได้ลงนามในข้อตกลงลับในพันธมิตรทางการทหารระหว่างฝรั่งเศส-โปแลนด์ เพิ่มเติมจากปี ค.ศ. 1921
จากผลของสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้ฮิตเลอร์เลื่อนกำหนดการรุกรานโปแลนด์ออกไป จากวันที่ 26 สิงหาคม ไปเป็นวันที่ 1 กันยายน
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 1939 กองทัพแดงรุกรานโปแลนด์จากแนวชายแดนโปแลนด์ทางด้านตะวันออก รัฐบาลโปแลนด์สั่งการให้มีการถอนกำลังทั้งหมด และห้ามต้านทานทหารโซเวียต เนื่องจากทั้งการให้การรับรองฝ่ายเดียวของอังกฤษ และสนธิสัญญาสองฝ่าย กำหนดเงื่อนไขว่า คู่เจรจาที่ถูกรุกรานตัดสินใจที่จะเผชิญหน้ากับประเทศผู้รุกรานอย่างเป็นปรปักษ์ แต่เนื่องจากโปแลนด์ไม่กระทำเช่นนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลอร์ดฮาลิแฟกซ์ จึงเตือนว่าสหราชอาณาจักรไม่จำเป็นที่จะต้องประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียตตามข้อตกลงแต่อย่างใด
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/พันธมิตรทางการทหารอังกฤษ-โปแลนด์