พอร์ตอาร์เทอร์ (อังกฤษ: Port Arthur) เป็นเมืองขนาดเล็ก อดีตเคยเป็นที่ตั้งของที่กุมขังนักโทษ ในปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทีสำคัญแห่งหนึ่งของรัฐแทสเมเนีย
ประเทศที่มีอดีตเคยเป็นแดนนักโทษ นั้นคือ ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันนี้ได้รับการก่อตั้งเป็นประเทศขึ้นมาได้ก็เพราะสงครามปฏิวัติที่อเมริกาเป็นผู้ก่อขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1775 ครั้งหนึ่งในยุคก่อนหน้านั้น บรรดาประเทศต่าง ๆ ที่มีเมืองขึ้นของตนมักจะใช้ดินแดนในเมืองขึ้นดังกล่าวเป็นแดนกักกันหรือเป็นคุกที่คุมขังนักโทษ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษมักจะนำผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตลอดจนนักโทษที่ถูกตัดสิน ได้รับโทษแล้ว ไปกักกันไว้ในดินแดนอันเป็นเมืองขึ้นของตนในอเมริกา แต่หลังจากที่บรรดาดินแดนอเมริกาอันเคยเป็นเมืองขึ้นของ ประเทศอังกฤษ เกิดรบชนะในสงครามกู้อิสรภาพครั้งนั้นแล้ว อังกฤษก็ต้องหาสถานที่กักกันนักโทษของตนแทนดินแดนอเมริกันเหล่านั้นต่อไปใหม่
ด้วยเหตุนี้ กองเรืออังกฤษจึงได้ใช้เรือแล่นลัดตัดตรงไปยังดินแดนออสเตรเลีย โดยได้บรรทุกเอาบรรดานักโทษชายหญิงไปในเรือเหล่านั้นด้วย นักโทษเหล่านั้นต้องถูกส่งออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน ก็เพราะต้องตกเป็นอาชญากรแผ่นดินในคดีต่าง ๆ บางคนมีหนี้สินแล้วไม่มีปัญญาหาเงินมาใช้หนี้ ก็ต้องเข้าคุกไปโดยไม่มีทางเลี่ยง
แดนกักกันทั้งหลายในยุคแรก ๆ ของการใช้ดินแดนออสเตรเลียเป็นแดนกักกันนักโทษของอังกฤษ ที่สำคัญแห่งหนึ่งคือ ซิดนีย์ อันเป็นนครใหญ่ที่สุดของประเทศออสเตรเลียในปัจจุบัน หลังจากนั้นต่อมาก็มีการจัดส่งนักโทษที่ต้องโทษขนาดหนักแยกย้ายไปสู่ที่ควบคุมพิเศษที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เรียกกันว่า "นิคมผู้ต้องโทษคดีอาญา" ซึ่งในยุคนั้นมีนิคมนักโทษที่สำคัญอยู่แห่งหนึ่งบนเกาะเปล่าเปลี่ยว มีแต่โขดหินซึ่งเรียกกันในยุคนั้นว่า นิคมนักโทษที่พอร์ตอาร์เทอร์ ฟังดูคล้าย ๆ จะเป็นท่าเรือสำหรับเกาะแห่งนั้น เขาเรียกกันว่าดินแดนแห่งแวน ไดเมน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งในปัจจุบันนี้ว่า เกาะแทสเมเนีย ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศออสเตรเลีย
ชีวิตความเป็นอยู่ในนิคมนักโทษที่พอร์ตอาร์เทอร์มีความทารุณโหดร้ายมาก เรื่องจะคิดหลบหนีนั้นอย่าได้หวังเลยว่าจะมีโอกาส นอกจากจะมี ยามรักษาการณ์และฝูงสุนัขคอยเฝ้าระวังอยู่แทบทุกฝีก้าวแล้ว ในท้องทะเลยังมีปลาฉลามชุกชุมเสียอีกด้วย อาคารที่ควบคุมก็ตั้ง อยู่บนโขดหินสูงชัน ได้ยินแต่เสียงคลื่นซัดอยู่อาดอานทั้งวันทั้งคืน มีนักโทษพยายามหลบหนีมากมายหลายคนแต่ก็มีอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่สามารถรอดชีวิตออกมาได้ พอร์ตอาร์เทอร์ถูกใช้เป็นแดนคุมขังนักโทษอยู่โดยตลอดมาเป็นเวลานานถึงห้าสิบปี มีนักโทษอยู่ประมาณ 30,000 คน แต่หลังจากที่ถูกทิ้งร้างว่างเปล่าไม่ใช้เป็นแดนคุมขังได้ประมาณสองปี ตัวนิคมส่วนใหญ่ก็ถูกไฟเผาผลาญเสียเป็นส่วนมาก
ปัจจุบันนี้มีนักท่องเที่ยวพากันเดินทางไปแวะชมพอร์ตอาร์เทอร์มากมาย ท่ามกลางซากปรักหักพังที่ยืนหยัดอยู่ตลอดมาเป็นเวลานาน ประมาณหนึ่งร้อยปี พร้อมทั้งยังมีหอคอยสูง บ้านและโบสถ์อีกอย่างละหนึ่งหลัง นอกจากนี้ก็มีโรงพยาบาลอีกหนึ่งแห่ง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมา ล้วนแต่เป็นฝีมือการก่อสร้างของบรรดานักโทษทั้งสิ้น ซากปรักหักพังต่าง ๆ ที่นั่น เป็นเสมือนสิ่งเตือนใจให้ระลึกถึงว่าประเทศออสเตรเลียนั้น เริ่มตั้งขึ้นมาได้ก็เพราะถูกใช้เป็นแดนคุมขังนักโทษมาก่อน
วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2539 นาย มาร์ติน บาร์แยนท์ได้ก่อเหตุสะเทือนขวัญ สังหารชีวิตประชาชนในบริเวณพอร์ตอาร์เทอร์อย่างเลือดเย็น มีผู้เสียชีวิตจากการสังหารของเขาถึง 35 ราย และบาดเจ็บอีก 37 ราย ตัวเขาถูกจับได้ในวันถัดมาและถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และจากเหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลสหพันธ์ออสเตรเลีย ร่างกฎหมายควบคุมอาวุธปืน ทำให้ออสเตรเลียกลายเข้มงวดครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดประเทศหนึ่ง[ต้องการอ้างอิง]