พระเจ้าอินทวิชยานนท์ (คำเมือง: ) (? - พ.ศ. 2440 ขึ้นครองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2416 - พ.ศ. 2440) เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าประเทศราชองค์สุดท้ายที่มีอำนาจอย่างแท้จริง เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามได้ริดลอนอำนาจของเจ้าผู้ครองนครลง
ด้วยความจงรักภักดีที่ทรงถวายต่อพระบรมราชวงศ์จักรี อย่างไม่สั่นคลอน กอปรกับเป็นพระบิดาในเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งนับว่าเป็นการถวายพระเกียรตินับเนื่องเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในพระบรมราชวงศ์จักรี และเป็นพระเจ้าประเทศราชเพียงพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับพระราชทานและยกย่องพระเกียรติยศดังกล่าว
พระเจ้าอินทวิชยานนท์ หรือ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พหลเทพยภักดี ศรีโยนางคราชวงษาธิปไตย์ มโหดดรพิไสยธุรสิทธิธาดา ประเทศราชานุภาวบริหารภูบาลบพิตร สถิตยชิยางคราชวงษ พระเจ้านครเชียงใหม่ เดิมทรงพระนามว่า เจ้าอินทนนท์ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนถึงวันพระราชสมภพ เป็นเจ้าโอรสในพระยาราชวงศ์ (มหาพรหมคำคง) พระยาราชวงศ์นครเชียงใหม่ กับแม่เจ้าคำหล้า และเป็นเจ้าราชนัดดา (หลานปู่) ในพระยาคำฟั่นกับแม่เจ้าเนตรนารีไวยตาเวย ซึ่งเป็นพระราชธิดาในเจ้าฟ้าเมืองยางแดง อันเป็นเมืองกะเหรี่ยงที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรไม้ขอนสักจำนวนมหาศาล จนได้รับการยกย่องว่าเป็นเศรษฐีนีป่าไม้ของพม่า (ผู้ได้รับกรรมสิทธิ์ครอบครองป่าไม้ในแถบขุนยวมทั้งหมด)
พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เสด็จขึ้นครองนครเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2416 จนกระทั่งถึงแก่พิราลัยในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2440 ด้วยโรคชรา รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร 24 ปี ภายหลังเสด็จพิราลัย พระอัฐิส่วนหนึ่งได้เชิญไปประดิษฐาน ณ พระสถูปพระอัฐิใน กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ณ วัดสวนดอก (พระอารามหลวง) และอีกส่วนหนึ่งอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระสถูปบนยอด ดอยอินทนนท์ อันเป็นที่ซึ่งพระองค์ทรงรักและหวงแหนมากที่สุด และได้นามตามพระนามของพระองค์ด้วยนั่นเอง
พระเจ้าอินทวิชยานนท์ มีเจ้าราชโอรสและราชธิดา รวม 11 องค์ซึ่งอยู่ในสกุล ณ เชียงใหม่ มีพระนาม ดังนี้
จากเจ้าทิพเกสร - ราชธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 กับเจ้าอุษา (มีราชธิดา 2)
จากเจ้ารินคำ - ราชธิดาในเจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 6 (มีราชโอรส 1)
ก่อนรัชสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2411 มีมิชชันนารีศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี และครอบครัวอพยพขึ้นมาศัยอยู่ที่นครเชียงใหม่ ตั้งจุดประกาศศาสนาโดยเริ่มจัดการศึกษาแบบตะวันตก โดยมีนางโซเฟีย รอยซ์ แมคกิลวารี ได้เริ่มให้มีการศึกษาสำหรับสตรีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2418
ต่อมาในปี พ.ศ. 2422 นางสาวแมรี แคมป์เบลล์ และ เอ็ดนา โคล ได้มาจัดระเบียบโรงเรียนสตรี บริเวณเชิงสะพานนวรัฐ จนกลายมาเป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัยในปัจจุบัน ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กชายนั้น ได้มีการจัดตั้ง "โรงเรียนเด็กชายวังสิงห์คำ" ขึ้นที่บริเวณที่เรียกว่า วังสิงห์คำ เมื่อ พ.ศ. 2431 โดยมีศาสนาจารย์ เดวิด จี.คอลลินส์ เป็นผู้ก่อตั้ง ต่อมาเป็นโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนดังกล่าวระยะแรกนั้นใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยถิ่นเหนือ ในการเรียนการสอน มีการพิมพ์ตำราด้วยอักษรธรรมล้านนา ในขณะที่ตัวหนังสือแป้นนั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2379 แล้ว
ในช่วงเดียวกันนี้ บริษัททำป่าไม้ ซึ่งทยอยเข้ามาที่เมืองเชียงใหม่ เช่น บริษัทบริติชบอร์เนียว (British Borneo, เข้ามาในราว พ.ศ. 2407) บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา (Bombay Burma, เข้ามาในราว พ.ศ. 2432) และ บริษัทสยามฟอเรสต์ (Siam Forest) เป็นต้น ได้นำเอาลูกจ้างชาวพม่า กะเหรี่ยง และชาวพื้นเมืองอื่นๆ เข้ามาทำงาน ดังนั้นจึงมีชาวอังกฤษและผู้ติดตามเข้ามาในล้านนามากขึ้น ทำให้เกิดการฟ้องศาลที่กรุงเทพฯ หลายคดี จากหลักฐานพบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2401 - 2416 มีคดีความจำนวน 42 เรื่อง ตัดสินยกฟ้อง 31 คดี ส่วนอีก 11 คดีนั้นพบว่าเจ้านายทำผิดจริง จึงตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายรวม 466,015 รูปี หรือ 372,812 บาท เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้นคือพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้ทรงขอชำระเพียงครึ่งเดียวก่อน ส่วนที่เหลือจะทรงชำระภายใน 6 เดือน แต่กงสุลอังกฤษไม่ยินยอม เรียกร้องให้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ชำระทั้งหมด หรือมิฉะนั้นต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย ซึ่งราชสำนักกรุงเทพฯ ก็ไม่ยินยอมด้วยเช่นกัน ดังนั้นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จึงทรงจ่ายค่าเสียหาย 150,000 รูปี (120,000 บาท) โดยราชสำนักกรุงเทพฯ ให้ยืมเงิน 310,000 รูปี (248,000 บาท) โดยต้องชำระคืนภายใน 7 ปี พร้อมทั้งดอกเบี้ยในรูปไม้สัก 300 ท่อนต่อปี
ด้านการศาสนาในสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้ปรากฏว่าพระองค์ทรงทำนุบำรุงวัดวาอารามหลายแห่งจนปรากฏถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา อาทิ
ในช่วงสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ การศึกษาของชาวเชียงใหม่ยังคงดำเนินไปตามประเพณีโบราณ มีวัดเป็นแหล่งอบรมกุลบุตร เมื่อมีมิชชันนารีคือ ศาสนาจารย์แมคกิลวารี และครอบครัว ได้เข้ามายังนครเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2411 และได้เริ่มมีการให้การศึกษาแก่สตรีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2418 และจัดให้มีโรงเรียนสตรีขึ้นบริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำปิง (สะพานนวรัฐในปัจจุบัน) จนกลายมาเป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัย และได้จัดตั้งโรงเรียนเด็กชายวังสิงห์คำ เมื่อปี พ.ศ. 2431 ปัจจุบันคือ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
นอกจากวิชาการนั้นแล้ว ยังมีการคิดหลักสูตรวิชาเลข วิชาภูมิศาสตร์ ซึ่งพิมพ์ด้วยอักษรล้านนา และมีตำรา "หนังสือฝากของพ่อครูศรีโหม้" ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ให้เด็กได้รับรู้ถึงโลกกว้าง อีกทั้งยังมีการจัดตั้งโรงพิมพ์อักษรล้านนาในปี พ.ศ. 2435 อีกด้วย
เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2458 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสด็จประพาสประทับพักแรมบนยอดดอยอินทนนท์ และโปรดให้สร้างกู่บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ไว้บนจุดสูงสุดของยอดดอยอินทนนท์ ต่อมากองทัพอากาศได้สร้างเจดีย์องค์เล็กไว้ข้างกู่องค์เดิม เพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ในปี พ.ศ. 2518 กระทั่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เจ้านายฝ่ายเหนือ พร้อมด้วยคณะทหารอากาศ และประชาชนร่วมกันสร้างกู่ขึ้นมาใหม่ครอบกู่องค์เดิมให้สมพระเกียรติ