พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เป็นเอกสารสำคัญที่เป็นที่ยอมรับของนักประวัติศาสตร์ว่ามีความถูกต้องน่าเชื่อถือได้ฉบับหนึ่งในบรรดาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบัน โดยพงศาวดารฉบับนี้ได้ถูกเขียนขึ้นใน พ.ศ. 2223 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโดยรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่มีมาแต่เดิมแต่ตัดทอนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอภินิหารต่างๆออกให้คงเหลือเฉพาะบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อยุธยา เนื้อหาตามเดิมแบ่งเป็นสองเล่ม ในเล่มที่หนึ่งบันทึกเหตุการณ์ตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา จนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเล่มที่ 2 อาจกล่าวถึงเหตุการณ์ต่อจากนั้น ซึ่งเฉพาะเล่มที่ 1 เท่านั้นที่หลงเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เหตุที่พระราชพงศาวดารฉบับนี้มีชื่อว่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ นั้น เนื่องจากพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ์อยู่นั้น ท่านได้พระราชพงศาวดารฉบับนี้จากบ้านราษฎรแห่งหนึ่งก่อนที่จะถูกนำไปเผาไฟและได้นำเอามาให้ที่หอสมุดพระวชิรญาณเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2450 ดังนั้น เมื่อนำออกมาเผยแพร่จึงได้เรียกชื่อพระราชพงศาวดารฉบับนี้ตามชื่อผู้ค้นพบ
วิกิซอร์ซมี พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ วิกิซอร์ซมี ประวัติการได้มาซึ่งพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ โดย กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ