พระยาธรรมลังกา หรือพระญาธัมมลังกา (คำเมือง: ) (พ.ศ. 2289- พ.ศ. 2365) หรือ พระยาเชียงใหม่ช้างเผือก เป็นพระยาเชียงใหม่องค์ที่ 2 ในราชวงศ์ทิพย์จักร และเป็นราชบุตรในเจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว โดยพระองค์ได้ร่วมกับพระเชษฐา และพระอนุชาในการต่อสู้อริราชศัตรูจนได้รับสมัญญานามว่า "เจ้าเจ็ดตน"
พระยาธรรมลังกาเป็นเจ้าราชโอรสองค์ที่ 3 ในเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เจ้าผู้ครองนครลำปาง กับแม่เจ้าจันทาราชเทวี และเป็นเจ้าราชนัดดา (หลานปู่) ในพระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) (พระญาสุละวะฤๅไชยสงคราม) กับ แม่เจ้าพิมพาราชเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมวงศ์ "ราชวงศ์ทิพย์จักร"
พระยาธรรมลังกา เป็นพระอนุชาของพระเจ้ากาวิละ มีพระเชษฏา พระอนุชาและพระขนิษฐา รวม 10 พระองค์ (หญิง 3 ชาย 7) (เจ้าชายทั้ง 7 พระองค์ได้ทรงช่วยกันต่อสู้อริราชศัตรูขยายขอบขัณฑสีมาล้านนาออกไปอย่างเกรียงไกร เป็นเหตุให้มีพระสมัญญาว่า "เจ้าเจ็ดตน") มีพระนามตามลำดับ ดังนี้
ในปี พ.ศ. 2317 เมื่อพระเจ้ากาวิละ ร่วมมือกับพระยาจ่าบ้าน และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปลดปล่อยล้านนาจากอำนาจของพม่าได้สำเร็จ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้สถาปนาพระยาจ่าบ้านเป็น "พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา)" เจ้าเมืองเชียงใหม่ เจ้ากาวิละเป็นพระยานครลำปาง และแต่งตั้งเจ้าธรรมลังกาเป็นพระยาราชวงศ์เมืองนครลำปาง และได้เลื่อนอิสริยยศเป็น "พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่" ในปี พ.ศ. 2348
ต่อมาในปี พ.ศ. 2359 พระเจ้ากาวิละถึงแก่พิราลัย พระยาอุปราช (ธรรมลังกา) จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "พระยาเชียงใหม่" เมื่อวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (ตรงกับวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2360) และอัญเชิญพระยาลำพูนคำฝั้น (พระอนุชา) มาเป็นพระยาอุปราช และให้พระยาอุปราชบุญมา เป็นพระเจ้าลำพูนไชยสืบแทน
พ.ศ. 2359 คราเสด็จไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อรับพระบรมราชโองการเป็นผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ถวายช้างเผือกแด่รัชกาลที่ 2 จึงได้รับสมัญญาว่า พระยาเชียงใหม่ช้างเผือก
พระยาธรรมลังกา ได้ทรงปกครองนครเชียงใหม่อย่างสงบสุข ตราบจนเมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 เหนือ พ.ศ. 2364 (ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2365) ได้ประชวร และได้ถึงแก่พิราลัยในวันรุ่งขึ้น รวมพระชนมายุ 77 พรรษา ทรงปกครองนครเชียงใหม่รวมทั้งสิ้น 6 ปี
พระยาธรรมลังกา มีเจ้าราชโอรสและราชธิดา รวม 17 พระองค์ อยู่ในราชวงศ์ทิพย์จักร มีพระนามตามลำดับ ดังนี้
ในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ ได้ร่วมกับเจ้าน้อยธรรมลังกา และขุนนางไพร่ฟ้าในการสร้างวิหารในวัดอินทขีลที่เวียงป่าซาง และวิหารวัดอินทขีล ในกลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2337 ต่อมาในปี พ.ศ. 2360 เจ้าหลวงธรรมลังกา เห็นว่ากู่ลาย วัดพระสิงห์ ได้ทรุดโทรมลงไปมาก จึงดำรให้มีการซ่อมแซมและขุดแต่งพระเจดีย์ดังกล่าว และได้พบของมีค่าเป็นอันมาก ซึ่งก็ให้บรรจุไว้ในที่เดิมแล้วปฏิสังขรณ์พระเจดีย์นั้นต่อจนเสร็จแล้วจึงมีการฉลองใหญ่ และในปีเดียวกันก็ได้สร้างวิหารจตุรมุขของวัดพระธาตุศรีจอมทองขึ้นใหม่ โดยทำการยกเสาเมื่อเดือนหกเหนือ ขึ้น 13 ค่ำ ตรงกับวันพฤหัสบดี พร้อมกันนั้นได้สร้างมณฑปของเสาอินทขีล ที่บริเวณวัดเจดีย์หลวง และยังเริ่มก่อสร้างสถูปในที่ท่ามกลางอุโบสถภิกขุนีในวัดพระสิงห์ และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเดือนแปดเหนือ ขึ้น 10 ค่ำ ปี พ.ศ. 2361
ในปี พ.ศ. 2362 เจ้าหลวงได้ดำริให้มีการฉลองใหญ่ในวัดอุโมงค์ วัดดวงดี วัดสะเพา และวัดพันเท่า ในงานนี้มีการฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ และในเดือนแปดเหนือ ได้ดำริให้ยกเสาวิหารวัดป้านพิง วัดดอกคำ วัดเชียงยืน และวัดบุพผาราม อีกทั้งได้มีการก่อสร้างกำแพงวัดพระธาตุศรีจอมทองด้วย
ในปี พ.ศ. 2363 เจ้าหลวงธรรมลังกา ได้ไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอยและได้สร้างวิหารคร่อมรอยพระพุทธบาทนั้น ในเดือนหกเหนือแรม 8 ค่ำ และจากนั้นจึงได้ไปนมัสการพระบาทเจ้าข่วงเพา และสร้างพระพุทรูปขนาดใหญ่ในวัดพระสิงห์
ในปี พ.ศ. 2365 ได้ทำบุญฉลองพระอุโบสถวัดเจดีย์หลวง และในปีเดียวกันนี้เจ้าหลวงธรรมลังกา ได้ทรงผนวชที่วัดเชียงมั่นด้วย ในปีถัดมาได้ทรงดำริให้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญที่อยู่ในวัดร้างนอกเขตกำแพงเมือง เข้ามาไว้ในตัวเมือง เช่น พระเจ้าแฅ่งฅม ไว้ที่วัดศรีเกิด
เมื่อปี พ.ศ. 2360 ได้ทรงดำริให้เสนาข้าราชการและประชาชนขุดเหมือง 3 สาย โดยเริ่มที่จุดรับน้ำจากแจ่งหัวลินไปทางแจ่งสรีภูมิ แล้ววนไปทางแจ่งคะท้ำ สายที่สองไปตามถนนหลวงหน้าวัดดับภัยและวัดพระสิงห์ลงไป สายที่สามเลียบตามเชิงเทินทิศตะวันตกไปทางใต้ ผ่านด้านเหนือของ "หอคำ" แล้วเลี้ยวออกท่อที่แจ่งคะท้ำหน้าวัดซานมูน (วัดทรายมูลพม่า ในปัจจุบัน) โดยให้ก่ออิฐทั้งสองข้างของลำเหมืองทุกสาย ประชาชนในตัวเมืองได้ใช้ประโยชน์จากลำเหมืองทั้งสามสาย
ในยุคของเจ้าหลวงธรรมลังกา ได้มีการบูรณะซ่อมแซมกำแพงเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2361 ซึ่งกำแพงดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละ (พ.ศ. 2339) โดยบูรณะกำแพงเมือง เริ่มการขุดลอกคูเมืองตั้งแต่แจ่งกูเรืองไปจนถึงประตูไหยา มีความยาว 606 วา จนถึงปี พ.ศ. 2363 ได้เริ่มก่อสร้างกำแพงเมือง โดยเริ่มก่อสร้างในเวลารุ่งเช้า มีการยิงปืนใหญ่สามนัด นิมนต์ครูบาสมเด็จวัดผ้าขาว ครูบาจันทรังสี วัดพระสิงห์ และพระสงฆ์อีก 19 รูป สวดมนตรี์ โปรยน้ำโปรยทราย และเริ่มก่อสร้างจากแจ่งสรีภูมิเวียนไปทางซ้าย