พระยาคำฟั่น หรือ พระญาคำฝั้น หรือพระนามเต็มว่า "เจ้ามหาสุภัทรราชะ" ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2357 - พ.ศ. 2358 และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 3 ระหว่างปี พ.ศ. 2365 - พ.ศ. 2368 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร
พระยาคำฟั่น เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 8 ในเจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 2 กับแม่เจ้าจันทา และเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ในพระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) กับแม่เจ้าพิมพา ซึ่งเป็นองค์ปฐมวงศ์ราชวงศ์ทิพย์จักร (เชื้อเจ้าเจ็ดตน)
พระยาคำฟั่น เป็นพระอนุชาของพระเจ้ากาวิละ มีพระเชษฏา พระอนุชาและพระขนิษฐา รวม 10 พระองค์ (หญิง 3 ชาย 7) (เจ้าชายทั้ง 7 พระองค์ได้ทรงช่วยกันต่อสู้อริราชศัตรูขยายขอบขัณฑสีมาล้านนาออกไปอย่างเกรียงไกร เป็นเหตุให้มีพระสมัญญาว่า "เจ้าเจ็ดตน") มีพระนามตามลำดับ ดังนี้
เจ้าคำฝั้นเษกสมรสกับแม่เจ้าตาเวย ราชธิดาในเจ้าฟ้าเมืองยางแดง (หรือ เมืองกันตะระวดี) อันเป็นดินแดนกะเหรี่ยงที่รุ่งเรืองและร่ำรวยมากไปด้วยไม้ขอนสักอันล้ำค่า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้รับพระราชทานพระนามอันเป็นมงคลยิ่งแก่แม่เจ้าตาเวยราชเทวี ว่า "แม่เจ้าเนตรนารีไวยมหาเทวี" แม่เจ้าตาเวยราชเทวี ได้รับมรดกส่วนพระองค์ ในฐานะราชธิดาเจ้าฟ้าเมืองยางแดง เป็นที่ดินป่าไม้ขุนยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 400,000 กว่าไร่ ซึ่งปัจจุบันที่ดินดังกล่าวราชสำนักสยามได้ตัดสินให้เป็นป่าไม้ชั้น 2
เจ้าคำฟั่น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชวงศ์เมืองเชียงใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต่อมา จ.ศ. 1176 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระดำริให้รื้อฟื้นเมืองลำพูนไชยซึ่งร้างอยู่ให้กลับเป็นเมือง จึงโปรดเกล้าเลื่อนพระยาราชวงศ์คำฟั่นเป็นพระยาลำพูนไชย ครองเมืองลำพูนตั้งแต่วันพฤหัสบดี ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ศกนั้น ปีต่อมาทรงเลื่อนพระยาลำพูนคำฟั่นเป็นพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่ ถึง จ.ศ. 1185 จึงโปรดให้เลื่อนเป็นพระยาเชียงใหม่
พระยาคำฝั้น ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 8 จ.ศ. 1187 ปีระกา ตรงกับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2368
พระยาคำฝั้น มีราชโอรสและราชธิดา รวม 44 พระองค์ อยู่ในราชตระกูล ณ เชียงใหม่ และ ณ ลำพูน มีพระนามตามลำดับ ดังนี้
เมื่อพระยาเศรษฐีคำฝั้น ครองเมืองเชียงใหม่ ได้เกิดการทะเลาะวิวาทกับเจ้าราชวงศ์สุวัณคำมูน ทำให้บรรดาขุนนางได้ไปเชิญเจ้าดวงทิพย์ และเจ้าบุญมา มาประนีประนอมการวิวาทครั้งนี้ โดยแนะนำให้พระยาคำฝั้น เสด็จออกผนวชวัดเชียงมั่น แล้วไปจำพรรษาที่วัดสวนดอก จากนั้นได้มีการปล่อยรถม้าเสี่ยงทายหาเจ้าหลวงองค์ใหม่ แต่รถม้าดังกล่าวกลับมาหยุดอยู่ที่บริเวณหน้าวัดสวนดอก ซึ่งเป็นที่ประทับของพระยาคำฝั้น เหลาบรรดาเจ้านาย และขุนนางจึงได้อัญเชิญพระยาคำฝั้น ให้ลาสิกขาบทกลับมาครองนครเชียงใหม่อีกครั้ง
ในช่วงรัชกาลของพระยาคำฝั้น เป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 3 แห่งราชวศ์จักรี ใน พ.ศ. 2367 และพระยาหลวงฯ ประชวรในขณะที่ส่งพระยาอุปราชพุทธวงศ์และเจ้านายบางส่วนไปเฝ้ารัชกาลที่ 3 เมื่อล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 ทรงทราบถึงอาการเจ็บป่วย จึงได้จัดส่งแพทย์หลวงมารักษาแต่อาการก็ไม่ดีขึ้น จนถึงวันอาทิตย์ เดือนห้า แรม 11 ค่ำ ในเวลาบ่าย พระยาคำฝั้นก็ถึงแก่พิราลัย ในจุลศักราช 1186 (ตรงกับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2368) สิริอายุรวม 69 ปี และพระยาอุปราชพุทธวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์ที่ 4 โดยมีเจ้าหนานมหาวงศ์ บุตรพระยาธรรมลังกาเป็นพระยาอุปราช และเจ้าน้อยมหาพรหม บุตรพระยาคำฝั้น เป็นพระยาราชวงศ์เชียงใหม่สืบไป