พันตรี พระยอดเมืองขวาง (พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2443) เป็นข้าราชการฝ่ายปกครองในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นข้าหลวง เจ้าเมืองคำม่วน เมืองคำเกิด สังกัดกองข้าหลวงเมืองลาวพวน ในบังคับบัญชาของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวง ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่ต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส ในกรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)
พระยอดเมืองขวาง เดิมชื่อ ขำ เป็นต้นสกุล ยอดเพ็ชร์ เกิดเมื่อปีชวด ร.ศ. 71 (พ.ศ. 2395) ที่อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เป็นบุตรของพระยาไกรเพ็ชร์ (มิตร กฤษณมิตร) เริ่มรับราชการเป็นข้าหลวงผู้ช่วยในกองข้าหลวงใหญ่นครจำปาศักดิ์ รักษาราชการกองข้าหลวงลาวกาว ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองเชียงขวาง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยอดเมืองขวาง ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองคำม่วน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2428 รับผิดชอบบ้านนาเป คำเกิด คำม่วน นากาย ปากพิบูลย์ และแก่งเจ๊ก มีอาณาเขตติดต่อกับเวียดนาม
ในปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างการปักปันเขตแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสต้องการเมืองคำม่วน กองทหารนำโดยมองซิเออร์ลูซ (Luce) บังคับให้พระยอดเมืองขวางออกจากเมืองคำม่วน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 แต่พระยอดเมืองขวางไม่ยินยอม จึงเกิดการสู้รบกันเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 เมื่อนายลูซ สั่งให้นายกรอสกุรัง พร้อมกับทหารญวน เข้ามาจับกุมหลวงอนุรักษ์ ผู้ช่วยของพระยอดเมืองขวาง ที่ตำบลนาหลักหิน ปลายด่านคำม่วนต่อกับเมืองท่าอุเทนของฝั่งไทย และเกิดการต่อสู้กัน ทำให้นายกรอสกุรังเสียชีวิตพร้อมกับทหารญวน 11-12 คน บาดเจ็บ 3 คน ฝ่ายทหารไทยเสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บ 4 คน
จากเหตุการณ์นี้ นายออกุสต์ ปาวีไม่พอใจ กล่าวหาว่าพระยอดเมืองขวางเป็นฆาตกร บุกเข้าไปทำร้ายนายกรอสกุรังขณะนอนป่วยอยู่ในที่พัก และนำเรื่องขึ้นพิจารณาคดีในศาลรับสั่งพิเศษ รัชกาลที่ 5 โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร แม่ทัพใหญ่อีสานใต้เป็นประธานคณะผู้พิพากษา ซึ่งประกอบด้วย พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ พระยาธรรมสารนิติ์ พระยาฤทธิรงค์ พระยาธรรมสารเนตติ์ มีหลวงสุนทรโกษา และนายหัสบำเรอ อัยการเป็นทนายฝ่ายโจทย์ มีนายตีเลกี (William Alfred Tilleke ต่อมารับราชการเป็น พระยาอรรถการประสิทธิ์ ต้นสกุล คุณะดิลก) และนายเวอร์นอน เพจ (Vernon Page ชาวอังกฤษ) เป็นทนายจำเลย
การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง ดำเนินเป็นเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 16 มีนาคม พ.ศ. 2437 ศาลมีคำพิพากษาว่า พระยอดเมืองขวางไม่มีความผิดตามฟ้อง และให้ปล่อยตัวเป็นอิสระ สร้างความไม่พอใจให้กับนายลาเนสซัง ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน และขอให้จัดตั้งศาลผสมไทย-ฝรั่งเศส ประกอบด้วยผู้พิพากษาฝรั่งเศส 3 คน เดินทางมาจากไซ่ง่อน สยาม 2 คน พิจารณาคดีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2437 และตัดสินให้จำคุกพระยอดเมืองขวาง 20 ปี ด้วยเสียงข้างมาก 3 เสียงของฝ่ายฝรั่งเศส
พระยอดเมืองขวางถูกจำคุกอยู่ 4 ปี ก็ได้รับอิสรภาพ จากคำร้องขอของรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบำนาญให้เป็นพิเศษเดือนละ 500 บาท เขาได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษผู้รักชาติ ต่อมาได้ล้มป่วย และเสียชีวิตใน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) อายุได้ 48 ปี เป็นต้นสกุล "ยอดเพ็ชร์" และ "กฤษณมิตร"
ชื่อของพระยอดเมืองขวาง ภายหลังได้มีการนำไปใช้เป็นชื่อค่ายทหาร 1 แห่ง และค่ายตำรวจตระเวนชายแดน 1 แห่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ ซึ่งได้แก่