พระมหาชนก
พระมหาชนก เป็นเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก อันเป็นชาดก 10 ชาติสุดท้ายก่อนที่พระโพธิสัตว์จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาดกเรื่องนี้เป็นการบำเพ็ญความเพียรเป็นบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎกและทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังทรงแปลเป็นภาษาสันสกฤตประกอบอีกภาษา รวมทั้งแผนที่ฝีพระหัตถ์ แสดงสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมืองโบราณบางแห่งและข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับทิศทางลม กับกำหนดวันเดินทะเลตลอดจนจุดอัปปางของเรืออับโชค ทรงคาดคะเนโดยอาศัยข้อมูลทางโหราศาสตร์ แสดงถึงพระปรีชาในด้านอักษรศาสตร์ ภูมิศาสตร์และโหราศาสตร์ไทย ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล เมื่อ พ.ศ. 2539 พระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนกก็ออกจำหน่าย และเป็นที่ชื่นชมโดยทั่วไป แต่หนังสือพระราชนิพนธ์นี้ก็ยังอ่านค่อนข้างยาก ด้วยความซับซ้อนของข้อความและของภาพ ทำให้มีการวิจารณ์และตีความกันในทางต่างๆ นานา ในปีพ.ศ. 2542 ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนกอีกครั้ง ในรูปแบบของการ์ตูนโดยมี ชัย ราชวัตร เป็นผู้วาดภาพการ์ตูนประกอบ
ในปี 2557 ได้มีการนำเสนอในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชั่น ทางโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ และออกอากาศทางโทรทัศน์ทุกสถานี มีทั้งหมด 3 องก์ คือ องก์ที่ 1 กำเนิด องก์ที่ 2 ความเพียร และองก์ที่ 3 ปัญญา รวมทั้งมีการแสดง แสง สี เสียงในชุด มหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระมหาชนก ปี 2549 อิมแพค เมืองทองธานี และ“พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์โชว์” ณ สวนเบญจกิติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พระเจ้ามหาชนกกษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระนามว่า อริฏชนก และ โปลชนก เมื่อสวรรคตแล้ว พระอริฏชนกได้ครองราชสมบัติและทรงตั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช อมาตย์ผู้ใกล้ชิดได้กราบทูลใส่ร้ายว่า พระอุปราชโปลชนกคิดไม่ซื่อ พระอริฏชนกก็หลงเชื่อ สั่งจองจำพระโปลชนก แต่พระโปลชนกตั้งจิตอธิษฐานและหลบหนีไปได้ ภายหลังได้รวบรวมพลมาพร้อมส่งสารขอเจรจา แต่อมาตย์ชั่วร้ายแปลงสารเป็นขอท้ารบ ทำให้พระอริฏชนกแต่งทัพออกรบกับพระโปลชนก ทั้งสองพระองค์รู้ความจริงในระหว่างการรบ แต่พระอริฏชนกสิ้นพระชนม์ในที่รบ พระเทวีที่กำลังทรงครรภ์จึงปลอมตัวหนีออกนอกเมืองด้วยความช่วยเหลือของท้าวสักกเทวราชจึงเสด็จหนีไปจนถึง เมืองกาลจัมปากะ ได้พราหมณ์ผู้หนึ่งอุปการะไว้ในฐานะน้องสาว ต่อมามีพระประสูติกาล ตั้งพระนามพระโอรสตามพระอัยยิกาว่า "มหาชนก" จวบจนกระทั่งมหาชนกเติบใหญ่ และได้ทราบความจริง ก็คิดจะไปค้าขายตั้งตัว แล้วจะไปเอาราชสมบัติคืน จึงนำสมบัติกึ่งหนึ่งของพระมารดาไปขาย แลกเป็นสินค้าออกเรือไปยังสุวรรณภูมิ ระหว่างทางในมหาสมุทร เรือต้องพายุล่มลง ลูกเรือตายหมดยังแต่พระมหาชนกรอดผู้เดียว ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร 7 วัน 7 คืน จนได้พบนางมณีเมขลาในที่สุดนางมณีเมขลาได้อุ้มพระมหาชนกไปส่งยังมิถิลานคร ฝ่ายมิถิลานคร พระโปลชนกได้สวรรคตเหลือเพียงพระราชธิดานาม "สีวลีเทวี" ก่อนสวรรคตทรงตั้งปริศนาเรื่องขุมทรัพย์ทั้งสิบหกไว้สำหรับผู้จะขึ้นครองราชย์ต่อไป แต่ไม่มีผู้ใดไขปริศนาได้ เหล่าอมาตย์จึงได้ประชุมกันแล้วปล่อยราชรถ ราชรถก็แล่นไปยังที่มหาชนกบรรทมอยู่ เหล่าอมาตย์จึงเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์และอภิเษกกับสีวลีเทวี ทรงไขปริศนาต่างๆ ได้ และทรงครองราชสมบัติโดยธรรม
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/พระมหาชนก
|