พระนางจามเทวี เป็นสตรีซึ่งปรากฏพระนามในเอกสารต่างๆ ซึ่งระบุว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย อันเป็นอาณาจักรโบราณในภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน
ตำนานต่างๆ ที่กล่าวถึงพระองค์ระบุศักราชไว้ไม่ตรงกัน ปรากฏบันทึกและการสอบศักราชโดยบุคคลต่างๆ เช่น
ชาติกำเนิดของพระองค์นั้น ในตำนานจามเทวีวงศ์และตำนานมูลศาสนากล่าวว่าเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์แห่งกรุงละโว้ แต่ตำนานมุขปาฐะพื้นบ้านแห่งหนึ่งกล่าวว่า พระองค์เป็นธิดาของคหบดีชาวหริภุญชัยซึ่งมีเชื้อสายชาวเมง (ตำนานเรียกว่า เมงคบุตร) อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนองดู่ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน พระนางจามเทวีเมื่อแรกประสูติไว้ว่าตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง พ.ศ. 1176 เวลาจวนจะค่ำ ขณะเมื่อพระนางยังมีพระชนม์ได้ 3 เดือนนั้น มีนกยักษ์ตัวหนึ่งโฉบเอาพระนางขึ้นไปบนฟ้า เมื่อนกนั้นบินผ่านหน้าสุเทวฤๅซึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ ณ เขาอุจฉุตบรรพต (แปลว่าเขาไร่อ้อย เชื่อว่าคือดอยสุเทพในปัจจุบัน) ท่านจึงได้แผ่เมตตาจิตให้นกนั้นปล่อยทารกน้อยลงมา แล้วรับเอาเด็กนั้นเป็นบุตรบุญธรรม พร้อมทั้งตั้งชื่อให้ว่า นางวี ด้วยถือเอานิมิตที่พระฤๅษีใช้พัด (ภาษาถิ่นเรียกว่า "วี") รองรับพระนางเนื่องจากพระฤๅษีอยู่ในสมณเพศ ไม่อาจถูกตัวสตรีได้ ต่อมาพระนางได้ร่ำเรียนสรรพวิชาการต่างๆ จากสุเทวฤๅษี
ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้ผูกดวงและตรวจสอบชะตา ทราบว่ากุมารีผู้เป็นบุตรบุญธรรมของท่านจะมีวาสนาเป็นถึงจอมกษัตริย์ ปกครองบ้านเมืองอันใหญ่โตซึ่งจะรุ่งเรืองไปในภายภาคหน้า จึงตกลงใจว่าจะต้องส่งเด็กหญิงไปสู่ราชสำนักเพื่อรับการอภิเษกขึ้นเป็นเชื้อพระวงศ์ให้สมควรแก่การที่จะได้เป็นใหญ่ต่อไป และที่เหมาะสมในสายตาท่านฤๅษีคือ ราชสำนักแห่งกรุงละโว้ ซึ่งเป็นราชสำนักที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในสุวรรณภูมิเวลานั้น
จนกระทั่งเมื่อพระนางมีพระชนมายุได้ 13 พรรษา ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้เนรมิตแพขึ้น ส่งกุมารีน้อยล่องไปตามน้ำจากเมืองเหนือ โดยพญากากะวานรและบริวารจำนวน ๓๕ ตัวโดยสารแพไปด้วย อีกทั้งยังฝากหนังสือไปฉบับหนึ่งเพื่อกราบทูลพระเจ้ากรุงละโว้ (ลวปุระ) ว่ากุมารีน้อยนี้จะไปช่วยละโว้ประหารศัตรู เด็กหญิงและวานรทั้งหลายล่องตามลำน้ำไปเป็นเวลานานหลายเดือนจึงเข้าสู่เขตกรุงละโว้ ประชาชนชาวละโว้สองฝั่งลำน้ำได้โจษขานถึงแพเล็กๆ นี้ด้วยความประหลาดใจครั้นถึงท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคล แพเนรมิตก็มิได้ล่องตามน้ำต่อไปกลับลอยวนเวียนอยู่บริเวณนั้น ประชาพลเมืองได้เห็นต่างโจษขานกันอึงคนึง บ้างก็เข้าไปพยายามดึงนาวาเข้าฝั่ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ชาวบ้านเห็นเหตุเป็นอัศจรรย์และต่างพากันชื่นชมเด็กหญิงซึ่งมีผิวพรรณผุดผ่องน่ารักน่าเอ็นดูอย่างยิ่ง ความทราบถึงบรรดาขุนนาง จึงได้ไปตรวจดูที่ฝั่งน้ำ เห็นความจริงประจักษ์แก่ตาจึงรีบกลับเข้าพระราชวังกราบบังคมทูล พระเจ้าจักวัติ ผู้ครองกรุงละโว้ ให้ทรงทราบทันที
เจ้าแผ่นดินกรุงลวปุระได้เสด็จไปยังท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคลพร้อมด้วยมเหสีในทันทีนั้น เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นไปทั้งหมด พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ทหารที่ตามเสด็จชะลอแพเนรมิตเข้าสู่ฝั่ง แต่เหตุการณ์อันไม่มีใครคาดคิดก็บังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กำลังของเหล่าทหารแห่งกรุงลวปุระไม่อาจชักลากแพเข้าสู่ท่าน้ำได้ ไม่ว่ากษัตริย์จะมีพระบัญชาให้เพิ่มจำนวนทหารมากขึ้นสักเท่าใดก็ตาม การณ์อันเป็นไปโดยอัศจรรย์ดังนี้ ทำให้เจ้าแผ่นดินทรงประจักษ์แจ้งแก่พระปรีชาญาณว่า กุมารีแรกรุ่นในท่ามกลางฝูงวานรบนแพนี้คงจะเป็นผู้มีบุญญาธิการมากมาย และแพนั้นก็คงจะเป็นแพวิเศษที่สามัญชนจะไปแตะต้องมิได้ พระองค์จึงเสด็จจากที่ประทับพร้อมด้วยพระมเหสีและทรงยึดเชือกที่ผูกแพนั้นไว้ด้วยพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์
และแล้วเหตุอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้นอีกเป็นคำรบสาม พระเจ้ากรุงลวปุระและพระมเหสีเพียงแต่ทรงชักเชือกนั้นด้วยแรงเฉพาะสองพระองค์ แพวิเศษก็ลอยเข้าสู่ท่าน้ำได้โดยง่าย และดูราวกับเทพยดาฟ้าดินจะทรงอำนวยพรให้แก่ประพฤติเหตุอันอัศจรรย์นี้ เพราะเมื่อแพวิเศษลอยเข้าเทียบท่าน้ำ ได้มีฝนโปรยปรายเป็นละอองบางเบา ยังความสดชื่นแก่ทุกคนในที่นั้น ประชาชนทั้งสองฝั่งลำน้ำได้เห็นต่างก็พากันชื่นชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์ และสรรเสริญบุญญานุภาพของกุมารีน้อยไปทั่วทั้งพระนคร
พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีได้รับกุมารีน้อยไว้ด้วยความเสน่หาอย่างยิ่ง พระมเหสีนั้นถึงกับเสด็จเข้าไปสวมกอดและจุมพิตกุมารีตั้งแต่แรกขึ้นสู่ฝั่ง พระเจ้ากรุงละโว้ผู้เต็มไปด้วยความปิติในพระหฤทัยได้ทรงน้ำกุมารีผู้น่ารักขึ้นประทับบนราชรถ และต่างพากันเสด็จเข้าสู่ราชสำนักกรุงละโว้ท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้าชมพระบารมีสองข้างทางด้วยความชื่นชมยินดีโดยทั่วหน้าและได้ตั้งพระนามให้ใหม่ว่า พระนางจามเทวี
ในราชสำนักกรุงละโว้ กุมารีได้รับการผลัดเปลี่ยนฉลองพระองค์ให้งดงามสมพระเกียรติ ครั้นแล้วได้เสด็จสู่ท้องพระโรงอันเป็นที่ประชุมเหล่ามุขมนตรีเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย กษัตริย์และพระมเหสีก็เสด็จออกประทับบนพระบัลลังก์ มีพระราชดำรัสให้พระราชครูพยากรณ์ดวงชะตาของเด็กหญิง พระราชครูได้คำนวณกาลชะตาโดยละเอียดแล้วถวายคำพยากรณ์ว่า
“ขอเดชะ กุมารีน้อยผู้นี้เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งบุญญานุภาพและพระบารมีอันยิ่งใหญ่ ต่อไปภายหน้าจักได้เป็นถึงจักรพรรดินีครองแว่นแค้น ปรากฏพระเกียรติยศเกริกไกรไปทั่ว แม้ว่าพระราชาและเจ้าชายพระองค์ใดได้เสกสมรสด้วยก็จักเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยรัตนะทั้ง 7 ประการอย่างแน่นอน”
พระเจ้ากรุงละโว้ทรงทราบดังนั้นก็ทรงเปี่ยมด้วยความโสมนัสอย่างยิ่ง เพราะได้ประจักษ์แก่พระปรีชาญาณว่าเทพยดาฟ้าดินได้ประทานกุมารีผู้นี้แด่พระองค์และกรุงลวปุระ ทั้งพระองค์เองและพระมเหสียังมิได้มีพระโอรสธิดา จึงมีพระราชโองการให้จัดพระราชพิธีอภิเษกกุมารีวีขึ้นดำรงพระยศเป็นพระธิดาแห่งกรุงละโว้และได้ทรงเฉลิมพระนามใหม่ประกาศไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า เจ้าหญิงจามเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี รัตนกัญญา ลวะปุรีราเมศวร
ตำนานว่า วันประกอบพิธีอภิเษกนั้นเป็นวันที่ 3 ภายหลังพระนางจามเทวีเสด็จเข้าสู่ราชสำนักลวปุระ ตรงกับวารดิถีอาทิตยวารขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย พุทธศักราช 1190 เวลานั้นมีพระชนมายุได้ 14 พรรษา เจ้าหญิงพระองค์แรกแห่งนครลวปุระทรงถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นปฐมว่า
“ข้าฯ ขอกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันพิทักษ์รักษากรุงละโว้ว่าข้าฯ จะเป็นมิตรที่ดีต่อท่านทั้งหลาย จะขอปกปักษ์พิทักษ์รักษาอาณาจักรละโว้ด้วยชีวิต จะปฏิบัติทุกทางที่จะยังความสุขให้ทั่วพระราชอาณาจักรแห่งนี้”
สิ้นพระราชดำรัส ปวงเสนาอำมาตย์และพสกนิกรทั้งหลายต่างพากันแซ่ซ้องถวายพระพรพระธิดาพระองค์ใหม่ ทั้งราชสำนักและบ้านเมืองกระหึ่มด้วยเสียงมโหรีปี่พาทย์ที่บรรเลงเพลงสรรเสริญ มีการบังเกิดพระพิรุณโปรยปรายเป็นละอองชุ่มเย็นไปทั่วเมืองละโว้เป็นกาลอัศจรรย์อีกครั้งหนึ่ง
ภายหลังพระราชพิธีอภิเษก พระเจ้ากรุงละโว้ได้พระราชทานพระธิดาในพระเจ้าทศราชแห่งกรุงรัตนปุระ 2 พระองค์ คือ เจ้าหญิงปทุมวดี และเจ้าหญิงเกษวดี ให้เป็นพระพี่เลี้ยงคอยถวายการดูแลพระธิดาพระองค์ใหม่ รวมทั้งเป็นผู้ถวายการสอนวิชาศิลปศาสตร์แขนงต่างๆ เพิ่มเติมแก่พระธิดาน้อยด้วย
เจ้าหญิงจามเทวีได้เสด็จประทับในราชสำนักกรุงลวปุระ และเจริญพระชันษาขึ้นโดยเป็นที่รักใคร่เสน่หาของพระราชา พระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนเสนาอำมาตย์และประชาชนชาวละโว้ทั้งหมด เวลาได้ล่วงเลยจนพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุได้ 20 พรรษา ปรากฏว่ามีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปยังทุกอาณาจักรอันใกล้เคียง พระปรีชาญาณและบุญญานุภาพแห่งพระองค์นั้นก็แผ่ไพศาล เป็นที่หมายปองของเจ้าครองนครต่างๆ
ความงดงามในพระรูปแห่งพระองค์หญิงจามเทวีนั้น เป็นที่เล่าลือกันว่าไม่มีหญิงใดจะทัดเทียมทั้งสิ้น ดังมีบรรยายไว้ในตำนานต่างๆ ว่า
“ดวงพระพักตร์เป็นรูปไข่ พระเนตรดำซึ้งเป็นแวววาวและต้องผู้ใดแล้วยังผู้นั้นให้งงงวยไปด้วยพิษเสน่หา พระขนงโก่งเรียวยาวประดุจคันธนูขณะน้าวสาย พระนาสิกโด่งคมสันรับกับพระพักตร์ ริมพระโอษฐ์แดงระเรื่อดุจชาดป้าย พระทนต์เรียบขาวสะอาดเป็นเงางามดุจไข่มุก ขณะยุรยาตรพระวรกายอันอ่อนไหวให้ชวนพิศ เวลาก้าวพระบาทนั้นประดุจพระนางหงส์เมื่อเยื้องย่างกราย พระวรกายหอมดังกลิ่นดอกบัวหลวง หาสตรีใดเทียบมิได้”
เมื่อพระนางจามเทวีมีพระชนมายุได้ 20 พรรษา พระเจ้ากรุงละโว้จึงได้กระทำพิธีหมั้นหมายพระนางจามเทวีไว้กับเจ้าชายรามราชแห่งเมืองรามบุรีซึ่งเป็นเจ้าชายจากแว่นแคว้นใกล้เคียง ทว่าด้วยกิตติศัพท์ความงดงามของพระนางจามเทวีนั้นเป็นที่เลื่องลือทั่วไป เจ้าชายแห่งเมืองโกสัมพี (เชื่อว่าคืออาณาจักรมอญหรือพม่าในเวลานั้น) จึงได้ส่งบรรณาการมาสู่ขอพระนางจามเทวีกับพระเจ้ากรุงละโว้ แต่พระเจ้ากรุงละโว้ได้ตอบปฏิเสธเพราะเจ้าหญิงมีพระคู่หมั้นอยู่แล้ว เจ้าชายแห่งเมืองโกสัมพีรู้สึกแค้นพระทัย จึงได้ยกทัพเมืองโกสัมพีและทัพจากเมืองต่างเข้าต่อรบกับละโว้เพื่อชิงพระนางจามเทวี
ตามตำนานกล่าวว่ากองทัพของฝ่ายโกสัมพีมีจำนวนมากกว่าฝ่ายละโว้มาก กองทัพละโว้จึงประสบความปราชัย ฝ่ายขุนนางเมืองละโว้จึงปรึกษากันว่าจำต้องยอมรับไมตรีจากเมืองโกสัมพีเพราะสู้ไม่ได้ แต่พระนางจามเทวีกลับตัดสินพระทัยที่จะรบโดยพระนางจะเป็นผู้นำทัพเอง เมื่อพระเจ้ากรุงละโว้ผู้เป็นพระราชบิดาทรงอนุญาตแล้ว พระนางจึงจัดทัพหน้าเป็นหญิง 500 คน ชาย 1,000 คน (บ้างก็ว่า 2,000 คน) และกำลังจากเมืองพันธมิตรอื่นๆ เข้าทำการรบโดยล่อกองทัพข้าศึกให้เข้ามาในที่แคบแล้วจึงตีกระหนาบ กระทั่งเมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายต่างเสียหายอย่างหนัก พระนางจึงตัดสินพระทัยให้นายทัพของแต่ละฝ่ายเข้าดวลอาวุธกันตัวต่อตัว ตัวพระนางเองดวลอาวุธกับเจ้าชายแห่งโกสัมพีจนได้รับชัยชนะ เจ้าชายจึงเชือดพระศอพระองค์เองด้วยขัตติยะมานะ กองทัพฝ่ายโกสัมพีที่เสียจอมทัพจึงยอมแพ้
ชัยชนะของพระนางเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของชาวละโว้อย่างยิ่ง แต่พระนางเองมิได้ยินดีในชัยชนะนั้น กลับรู้สึกสลดพระทัยที่ต้องมีคนตายในสงครามนี้มากมาย พระนางจึงตรัสสั่งให้สร้างวัดขึ้นในบริเวณสมรภูมิขึ้นวัดหนึ่งเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ตายในการรบ พร้อมทั้งทรงจัดการพระศพของบรรดาเจ้านายเมืองต่างๆ ทั้งสองฝ่าย ที่สิ้นชีวิตในการรบอย่างสมเกียรติ หลังเหตุการณ์สงบแล้ว งานอภิเษกของพระนางจามเทวีจึงมีขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ตำนานบางฉบับก็ได้กล่าวว่า พระเจ้ากรุงละโว้ได้เวนราชสมบัติให้แก่เจ้าชายรามราชในคราวเดียวกัน บางฉบับกล่าวแต่เพียงว่าเจ้าชายรามราชได้เข้ามาอยู่ในราชสำนักละโว้เท่านั้น
ประมาณปี พ.ศ. 1202 สุกกทันตฤๅษี ซึ่งเป็นสหายกับสุเทวฤๅษี ได้เดินพร้อมกับนายควิยะผู้เป็นทูตของสุเทวฤๅษี มายังกรุงละโว้ เพื่อทูลขอพระนางจามเทวีจากพระเจ้ากรุงละโว้ เพื่อไปเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองใหม่ที่สุกทันตฤๅษีกับสุเทวฤๅษีสร้างขึ้น ซึ่งก็คือเมืองหริภุญไชยหรือเมืองลำพูนในปัจจุบันนี้ เมื่อพระนางจามเทวีปรึกษากับพระราชบิดากับพระสวามีแล้วทั้งพระสวามีกับพระราชบิดาต่างก็อนุญาต พระนางจึงได้เดินทางออกจากเมืองละโว้ตามคำทูลเชิญของพระฤๅษี แต่ในตำนานจามเทวีวงศ์ได้กล่าวความต่างไปอีกอย่าง คือ ในเวลานั้นเจ้าชายรามราชได้ออกบวชเสียแล้ว พระนางจึงทรงอยู่ในฐานะไร้พระสวามี ทางลำพูนจึงได้ส่งสาส์นมาทูลขอดังกล่าว ตำนานพื้นบ้านว่าเจ้าหญิงจามเทวีทรงรับที่จะครองเมืองลำพูนเพราะว่าเมืองลำพูนเวลานั้นราษฎรเดือดร้อนด้วยขาดผู้นำ และพระนางก็ระลึกถึงพระคุณท่านสุเทวฤๅษีที่เคยชุบเลี้ยงมาแต่ก่อน
ในการเดินทางจากละโว้ไปสู่เมืองลำพูนนั้น พระนางได้เชิญพระเถระ 500 รูป หมู่ปะขาวทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล 500 คน บัณฑิต 500 คน หมู่ช่างแกะสลัก 500 คน ช่างแก้วแหวน 500 คน พ่อเลี้ยง 500 คน แม่เลี้ยง 500 คน หมู่หมอโหรา 500 คน หมอยา 500 คน ช่างเงิน 500 คน ช่างทอง 500 คน ช่างเหล็ก 500 คน ช่างเขียน 500 คน หมู่ช่างทั้งหลายต่างๆอีก 500 คน และช่างโยธา 500 คน
ให้ร่วมเดินทางกับพระนางเพื่อไปสร้างบ้านแปงเมืองแห่งใหม่ให้มั่นคงยิ่งขึ้น โดยเดินทางด้วยการล่องเรือไปตามแม่น้ำปิง กินระยะเวลานาน 7 เดือน พร้อมกันนี้พระนางยังได้เชิญพระพุทธรูปสำคัญมาด้วย 2 องค์ คือ 1) พระแก้วขาว ซึ่งว่ากันว่าเป็นองค์เดียวกับที่ประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน 2) พระรอดหลวง ซึ่งประดิษฐานที่วัดมหาวัน จังหวัดลำพูน
เมื่อพระนางเดินทางมาถึงเมืองหริภุญชัยแล้ว สุเทวฤๅษีและสุกทันตฤๅษีจึงกระทำพิธีราชาภิเษกพระนางขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งหริภุญชัย ทรงพระนามว่า "พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย" หลังจากวันราชาภิเษกไปแล้ว 7 วัน พระนางจึงประสูติพระราชโอรสซึ่งติดมาในพระครรภ์ตั้งแต่ยังทรงอยู่เมืองละโว้ 2 พระองค์ พระโอรสองค์โตมีพระนามว่าพระมหันตยศหรือพระมหายศ ส่วนองค์รองมีพระนามว่าพระอนันตยศหรือพระอินทวร
ในรัชกาลของพระองค์นั้น นครหริภุญชัยมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ประชาราษฎรต่างอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข พระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุงอย่างดียิ่ง ตามตำนานได้กล่าวว่า พสกนิกรต่างมีใจศรัทธาสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนถึง 2,000 แห่ง และกาลต่อมาวัดทั้ง 2,000 แห่งก็มีภิกษุจำพรรษาทุกแห่ง อนึ่ง ในเวลาต่อมา ภายหลังสงครามขุนวิลังคะชาวลัวะได้ผ่านไปแล้ว พระนางจามเทวียังได้สร้างวัดประจำเมืองขึ้น 4 วัดเพื่อเป็นพุทธปราการ ได้แก่
นอกจากนี้ในด้านการป้องกันเมือง พระนางจามเทวีได้จัดให้มีด่านชายแดนอาณาจักรไว้ที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยว (ปัจจุบันบริเวณหมู่บ้านกอกและทุ่งสามเสี้ยว เขตอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่) และโปรดฯ ให้มีการซ้อมรบเพื่อการเตรียมความพร้อมของกองทัพ โดยทรงออกอุบายให้ด่านที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยวแกล้งตั้งตัวเป็นกบฏและทรงมีรับสั่งให้จัดทัพไปปราบ ปรากฏว่าฝ่ายพระนครชนะศึก ทว่าในการซ้อมรบดังกล่าวก็มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเพราะต่างฝ่ายต่างไม่รู้กัน พระนางจึงทรงปูนบำเหน็จความชอบให้แกผู้รอดชีวิต และทรงอุปถัมภ์ครอบครัวของทหารที่ตายในการสู้รบครั้งนี้ให้เป็นสุขต่อไป
อนึ่ง ในตำนานยังกล่าวว่า พระนางจามเทวีได้ทรงทำพิธีบวงสรวงเทวดาขอช้างศึกประจำพระนคร ด้วยมีพระดำริว่า เวลานี้พระโอรสทั้ง ๒ ก็ยังเยาว์พระชันษาอยู่ ถ้ามีข้าศึกมาเบียดเบียนจะเป็นการลำบาก ช้างศึกดังกล่าวนั้นคือ "ช้างภู่ก่ำงาเขียว" ซึ่งกล่าวกันว่ามีอานุภาพยิ่ง เพราะหากใครไปยืนเบื้องหน้าช้างในยามใกล้เที่ยงก็จะเกิดมีอันเป็นไปต่างๆ ถ้าไม่บวงสรวงด้วยข้าวตอกดอกไม้เสียแล้วก็อาจถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว ช้างดังกล่าวนี้นับเป็นกำลังสำคัญของพระองค์ในการรบกับชาวลัวะในกาลต่อมาด้วย
ด้วยพระนางจามเทวีทรงเป็นจอมกษัตริย์ผู้ทรงปกครองนครหริภุญชัยที่รุ่งเรือง ทั้งพระนางเองก็มีพระรูปเลอโฉม พระปรีชาญาณหลักแหลม เป็นที่สรรเสริญแก่บรรดาประเทศใหญ่น้อยทั่วไป บรรดาเจ้าครองนครหลายองค์จึงใคร่จะได้พระนางไปเป็นพระมเหสี โดยเฉพาะ ขุนวิลังคะ ผู้นำชาวลัวะ ซึ่งส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการถึง 500 สาแหรก มาถวายสาส์นทูลเชิญพระนางเสด็จไปเป็นพระมเหสีแห่งระมิงค์นคร ซึ่งบางตำนานว่าตกในราวๆ ต้นปี พ.ศ. 1226 เมื่อพระนางทรงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ทูตลัวะก็กราบบังคมทูลอย่างวางอำนาจว่า
“ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า ขุนแห่งข้าพเจ้ามีนามว่าวิลังคราชอยู่ทิศดอยละวะโพ้น เป็นใหญ่กว่าลัวะทั้งหลาย ใช้ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายนำเครื่องบรรณาการมาถวายพระนางบัดนี้ โดยเหตุที่ขุนวิลังคราชมีความรักใคร่ในพระเทวีเป็นเจ้า จักเชิญพระแม่เจ้าไปเป็นอัครมเหสี”
พระนางจามเทวีตรัสถามว่า “ดูกรท่านอำมาตย์ เรายังไม่เคยได้เห็นขุนผู้นั้นแม้สักหนเดียวเลย ขุนผู้นั้นหน้าตาเป็นอย่างใดเล่า”
พระนางจึงทรงมีรับสั่งว่า “ผิว่าขุนแห่งท่านมีหน้าตาเหมือนดังท่านแล้ว อย่าว่าแต่มาเป็นผัวเราเลย แม้แต่มือเราก็ไม่จักให้ถูกต้อง ท่านจงรีบไปเสียให้พ้นจากเรือนเราเดี๋ยวนี้”
แล้วทรงขับไล่ทูตลัวะออกไปเสียจากพระนคร ขุนวิลังคะได้ทราบเช่นนั้นก็บังเกิดความโกรธอย่างรุนแรง แต่ก็ส่งสาส์นเกลี้ยกล่อมอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่า พระนางยังไม่ตัดสินพระทัยเสด็จไปยังระมิงค์นครเพราะพระนางเพิ่งมีพระประสูติกาลพระโอรส พระวรกายยังไม่บริสุทธิ์พอจะทรงรับการอภิเษกเป็นพระมเหสีแห่งชาวลัวะได้ ขอให้รอไปก่อน ขณะเดียวกันภายในเมืองหริภุญชัยพระนางจามเทวีก็โปรดฯ ให้สั่งสมเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเตรียมกำลังทหารให้พร้อมรบที่สุด ทางฝ่ายขุนวิลังคะได้รับคำตอบเช่นนั้นก็เบาใจและรั้งรออยู่อย่างนั้น บางตำนานว่าหลงกลรอต่อไปเป็นเวลานานถึง 7 ปี
ในที่สุดขุนวิลังคะก็นำทัพเข้าล้อมเมืองด้วยทหารจำนวนถึง 80,000 คน พระนางจามเทวีมีพระราชโองการให้พระโอรสทั้งสองซึ่งเจริญพระชมมายุได้ 7 พรรษาแล้วขึ้นประทับเหนือช้างผู้ก่ำงาเขียวนำทัพออกศึก โดยพระมหันตยศประทับคอช้าง พระอนันตยศประทับกลางช้าง กองทัพของหริภุญชัยมีจำนวนเพียง 3,000 คน แต่เมื่อกองทัพของทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากัน พลรบชาวลัวะก็ให้บังเกิดอาการหน้ามืดตามัวหมดกำลัง เพราะเผชิญหน้ากับช้างภู่ก่ำงาเขียวในเวลาเที่ยงวันพอดี จนในที่สุดไม่มีผู้ใดทนได้ก็พากันแตกทัพอลหม่านโดยไม่ทันได้สู้รบทิ้งอาวุธและสิ่งของไว้เป็นอันมาก พระนางจามเทวีจึงทรงมีรับสั่งให้ชาวพระนครพากับออกไปรวบรวมสิ่งของเหล่านั้นไปเป็นของตนเองเสีย ทำเลที่ทหารลัวะทิ้งของไว้นั้นจึงมีชื่อว่า ลัวะวาง ในกาลต่อมา
หลังจากนั้น พระนางจามเทวีจึงเสด็จไปยังระมิงค์นครในฐานะผู้ชนะศึก เพื่อทรงช่วยเหลือบำรุงขวัญประชาชนให้กลับเป็นปกติสุขอีกครั้ง จากนั้นจึงพระราชทานเอกราชให้แก่ชาวระมิงค์นครมิให้ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของหริภุญชัยเป็นการแสดงพระกรุณา โดยจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฎเมื่อวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ. 1230
ในตำนานจามเทวีวงศ์มีขยายความเรื่องเกี่ยวกับลัวะต่อไปอีกคือ ภายหลังการสงครามขุนวิลังคะ พระมหันตยศและพระอนันตยศ ก็ทรงได้พระธิดาขุนวิลังคะเป็นชายาด้วย ดังนั้นพระนางจามเทวีจังมีพระสุณิสาลำดับแรกเป็นเจ้าหญิงชาวลัวะ
เรื่องเผชิญพวกลัวะนี้ ตำนานพื้นเมืองอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวไว้พิสดารออกไป คือ หลวงมิลังคะ (ไม่ใช่ขุนวิลังคะ) ผู้นำเผ่าลัวะเกิดหลงใหลพระสิริโฉมแห่งพระนางจามเทวีจนไม่เป็นอันกินอันนอน จึงได้แต่งทูตมาสู่ขอ แต่พระนางจามเทวีไม่ทรงสนพระทัยและไม่ให้คำตอบใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเหตุให้หลวงมิลังคะยกไพร่พลมาประชิดเมือง พระนางจึงทรงพระดำริว่า ถ้าจะรบกับหลวงมิลังคะบ้านเมืองคงย่อยยับแน่ จึงออกอุบายแก่หลวงมิลังคะว่า หากหลวงมิลังคะพุ่งเสน้า (ธนู) จากดอยสุเทพมาตกกลางเมืองลำพูนพระนางก็จะทรงตกลงเป็นพระมเหสี หลวงมิลังคะจึงดีใจถือธนูขึ้นดอยสุเทพ บริกรรมคาถาอาคมแล้วพุ่งเสน้าจากดอยสุเทพเพียงครั้งแรกก็มาตกที่นอกเมืองทางทิศตะวันตก ห่างกำแพงเมืองไปเพียงไม่กี่วาเท่านั้น สถานที่เสน้าตกนี้เรียกกันว่า หนองเสน้า เวลาต่อมา
พระนางจามเทวีทรงเห็นเช่นนั้นก็หวั่นพระทัยนัก ทรงเกรงว่าหากให้มีการพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ 2 และ 3 คงจะมาตกกลางเมืองแน่ จึงทรงออกอุบายอีกครั้งหนึ่ง ให้ข้าราชบริพารนำซิ่นในมาตัดเย็บเป็นหมวกส่งไปให้หลวงมิลังคะสวม ข้างหลวงมิลังคะนั้นพอได้รับของฝากจากพระนางก็ดีใจเป็นที่สุด รีบสวมหมวกนั้นแล้วลองพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ 2 และ 3 ปรากฏว่าเสน้ากลับลอยไปตกห่างจากตัวเมืองยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า จึงได้พบว่าเสียรู้และถูกทำลายคาถาอาคมเสียแล้ว เลยหมดกำลังใจที่จะพุ่งเสน้าต่อไป พระนางจามเทวีจึงมิได้เป็นราชินีของชาวลัวะด้วยเหตุดังกล่าว แต่ต่อมาชาวลัวะกับชาวลำพูนก็ยังได้มีสัมพันธ์ต่อกันบ้างในรุ่นหลังจากนั้น
ในตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงศ์กล่าวว่า หลังสิ้นสงครามชาวลัวะแล้ว พระนางจามเทวีก็ได้ทรงอภิเษกพระมหันตยศซึ่งมีพระชนมายุ 7 พรรษาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองหริภุญชัยแทนพระนาง และอภิเษกพระอนันตยศขึ้นเป็นพระอุปราช รวมเวลาที่พระนางเสวยราชย์ในกรุงหริภุญชัยได้ 7 ปี เมื่อพระมหันตยศได้เสวยราชย์แล้ว ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งพระมารดาทุกประการ นครหริภุญชัยจึงยิ่งเจริญรุ่งเรืองและร่มเย็นเป็นสุข ทว่าฝ่ายพระอุปราชอนันตยศหามีความพอพระทัยไม่ ด้วยมีพระดำริว่าพระเชษฐาธิราชประสูติมาพร้อมกัน เมื่อพระเชษฐาธิราชได้เสวยราชสมบัติแล้วพระองค์ก็น่าจะได้ครองเมืองบ้าง จึงกราบทูลพระนางจามเทวีตามพระดำรินั้น เมื่อพระนางจามเทวีได้ทราบดังนั้น จึงให้บัณฑิตผู้หนึ่งพาพระอนันนตยศไปปรึกษากับสุเทวฤๅษีเรื่องการสร้างเมืองใหม่ก่อน
เมื่อสุเทวฤๅษีทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงถวายคำแนะนำแก่พระอนันตยศให้ไปไหว้ฤๅษีพุทธชฏิลที่ดอยโชติบรรพต ไปหาพรานเขลางค์ที่ดอยลุทธบรรพต และไปกราบท่านสุพรหมฤๅษี ที่ดอยเขางามริมแม่น้ำวังกะนที เพื่อขอให้ช่วยสร้างพระนครแห่งใหม่ พระอนันตยศทรงดำเนินการตามนั้นทุกอย่าง จึงได้ท่านสุพรหมฤๅษีและพรานเขลางค์ไปช่วยกันสร้างเมือง ท่านสุพรหมฤๅษีได้ตรวจดูทำเลอันเหมาะสมแล้วจึงใช้อำนาจเนรมิตเมืองใหญ่ขึ้นแห่งหนึ่ง แล้วเอาชื่อพรานเขลางค์มาตั้ง เรียกว่าเมืองเขลางค์นคร (ปัจจุบันคือเมืองลำปาง) จากนั้นสุพรหมฤๅษีก็ถวายการราชาภิเษกพระเจ้าอนันตยศขึ้นเสวยราชสมบัติในพระนครแห่งใหม่
หลังจากนั้นพระนางจามเทวีจึงเสด็จมายังเมืองเขลางค์นครตามคำทูลเชิญของพระโอรส พระองค์ได้กระทำพิธีราชาภิเษกพระราชโอรสอีกครั้งอย่างมโหฬาร และได้ประทับอยู่ที่เมืองนี้ต่ออีก 6 เดือน ตามคำทูลขอของพระอนันตยศ แต่ในจามเทวีวงศ์ว่าต้องทรงอยู่ถึง 6 ปี จึงได้เสด็จกลับเมืองหริภุญชัย โดยระหว่างนั้นพระนางยังได้สร้างเมืองอาลัมพางค์นครขึ้นอีกเมืองหนึ่ง
แต่ในตำนานพื้นเมืองกลับกล่าวถึงเรื่องนี้ไปอีกอย่างหนึ่ง ต่างกับจามเทวีวงศ์ และตำนานมูลศาสนาดังที่กล่าวมาแล้วอย่างสิ้นเชิง โดยกล่าว่าพระนางจามเทวีได้ครองสิริราชสมบัติบริหารราชการแผ่นดินนครหริภุญชัยไปถึงต้นเดือน 8 ปีกุน พ.ศ. 1231 จึงทรงสละราชสมบัติพระราชทานพระเจ้ามหันตยศขึ้นครองหริภุญชัยแทน และในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปีเดียวกัน ก็มีการราชาภิเษกพระเจ้าอนันตยศขึ้นครองเขลางค์นคร เวลานั้นพระนางมีพระชนมายุได้ 55 พรรษาแล้ว และก็มิได้กล่าวถึงรายละเอียดการสร้างเขลางค์นคร พระนางเสด็จประทับทั้งในเขลางค์นครและอาลัมพางค์นคร
ครั้นบ้านเมืองสงบสุขภายใต้การปกครองของพระเจ้ามหันตยศแล้ว ในปี พ.ศ. 1236 พระนางจามเทวีซึ่งมีพระชนมายุได้ 60 พรรษาแล้ว จึงทรงละจากการกำกับดูแลราชการแผ่นดินทั้งปวง และทรงสละเพศฆราวาสฉลองพระองค์ขาวเสด็จไปประทับทรงศีลที่วัดจามเทวี และทรงเอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงพระศาสนายิ่งขึ้นอีกมากมาย กระทั่งถึง พ.ศ. 1274 จึงเสด็จสวรรคต รวมพระชันษาได้ 98 พรรษา
ส่วนในตำนานมูลศาสนา และจามเทวีวงศ์กล่าวแตกต่างออกไปว่า พระนางจามเทวีได้เสวยราชย์ในนครหริภุญชัยเพียง 7 ปี แล้วสละราชบัลลังก์พระราชทานพระเจ้ามหันตยศ จากนั้นเสด็จไปประทับที่เขลางค์นครกับอาลัมพางค์นครกับพระเจ้าอนันตยศอีก 6 ปี ครั้นเริ่มประชวรเสด็จกลับมายังหริภุญชัย เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยทักษิณาวรรตแล้วทรงศีลต่อไปอีกเพียง 8 วัน พระโรคาพาธก็กำเริบแรงกล้าจนถึงเสด็จสวรรคต หลังสวรรคคตแล้วพระองค์ก็ได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิต
หลังจากนั้น พระเจ้ามหันตยศจึงโปรดฯ ให้จัดพิธีบูชาสักการะพระศพเป็นการใหญ่ 7 วัน แล้วจึงก่อพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิง จัดให้มีการสมโภชพระศพเป็นการใหญ่ 7 วัน แล้วจึงถวายพระเพลิง หลังเสร็จการถวายพระเพลิงพระศพแล้วจึงได้เชิญพระอัฐิไปบรรจุไว้ในสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ (ปัจจุบันเรียกกันเป็นสามัญว่า เจดีย์กู่กุด) ภายในวัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน
พระบรมราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี ตั้งอยู่ตำบลในเมือง จังหวัดลำพูน บริเวณสวนสาธารณะหนองดอกเทศบาลเมืองลำพูน
เรื่องราวของพระนางจามเทวี ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง พระนางจามเทวี นำแสดงโดย ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่งที่ระลึกชาติได้ ว่าเมื่อประมาณพันปีมาแล้ว ได้ออกมาปกป้องประเทศบ้านเมืองจากเหล่าข้าศึกต่าง ๆ ราวสมัยทวารวดี