พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) (อังกฤษ: Communist Party of Thailand - CPT) เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ไม่เคยจดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายอย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติก็ถือเป็นพรรคการเมือง มีอุดมการณ์การเมืองชัดเจนตั้งแต่ก่อตั้ง[ต้องการอ้างอิง] ดำเนินแนวทางตาม ลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน และลัทธิเหมา นอกจากนั้น ในอดีต ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยที่สังกัด พคท. อีกด้วย ได้แก่ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร[ต้องการอ้างอิง]
ในปัจจุบัน ถึงแม้จะยังไม่มีการประกาศยุบพรรค แต่ก็มิได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด[ต้องการอ้างอิง]
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เดิมเรียก พรรคคอมมิวนิสต์สยาม เริ่มก่อตั้งโดยโฮจิมินห์ ชาวเวียดนาม ใช้นามแฝงว่า สหายซุง โดยประชุมครั้งแรกแบบลับๆ ที่ โรงแรมตุ้นกี่ หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อ 20 เมษายน พ.ศ. 2473 โดยแต่งตั้งหลี หรือ โงจิ๊งก๊วก เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก และมีตัวแทนสองคนคือ ตัง หรือ เจิ่นวันเจิ๋น และ เหล่าโหงว หรือ อู่จื้อจือ จนก่อตั้งเป็นรูปร่างเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485 หลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 57 คน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นพรรคแนวอุดมการณ์ ยึดมั่นในลัทธิมาร์กซ เลนินและลัทธิเหมา โดยมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความเสมอภาคทางชนชั้น ชี้นำสังคมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ และต่อสู้เอาชนะระบบทุนนิยมด้วยวิธี "ป่าล้อมเมือง"
วันเสียงปืนแตก คือวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก กองกำลังของพรรคได้เรียกตนเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) [ในขณะที่รัฐบาลเรียกว่า ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)] เหตุเกิดที่ บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ทั้งนี้ได้ประกาศยุทธศาสตร์ "ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมือง และยึดเมือง" หลังจากวันเสียงปืนแตก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ต่อสู้ด้วยอาวุธกับกองกำลังของรัฐบาลไทยมาตลอด และในยุค "แสวงหา" บรรดานักเรียนนักศึกษาประชาชนเข้าป่าเพื่อต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2523 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณณสูลานนท์ได้ออกคำสั่ง 66/2523 นิรโทษกรรมแก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ และปี พ.ศ. 2525 พรรคมีการเจรจากับรัฐบาลไทย เลิกต่อสู้ด้วยอาวุธ ให้มาต่อสู้กันทางรัฐสภาแทน[ต้องการอ้างอิง]บรรดานักปฏิวัติหลายคนที่ผิดหวังต่อแนวทางของพรรคที่อิงจีนมากเกินไป โดยไม่อาศัยสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย จึงยุติการต่อสู้[ต้องการอ้างอิง] หลังจากนั้นพรรคก็อ่อนกำลังลง ในปัจจุบันยังคงมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่[ต้องการอ้างอิง] แต่ยังคงไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ
รายชื่อเลขาธิการพรรค เรียงตามวาระที่ได้ดำรงตำแหน่ง โดยเลือกเลขาธิการพรรคนั้น จะกระทำในที่ประชุมสมัชชา พคท. แต่ละครั้ง
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย