พรรคความหวังใหม่ (อังกฤษ: New Aspiration Party, ย่อว่า ควม.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2533 โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค ร่วมด้วยนักการเมืองที่มีชื่อเสียงเช่น นายเสนาะ เทียนทอง นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มีสัญลักษณ์พรรคคือ ดอกทานตะวัน และมีคำขวัญพรรคว่า ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง
พรรคความหวังใหม่ ลงเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ได้เป็นฝ่ายค้าน และหลังจากนั้นไม่นานก็เกิด เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และ พรรคความหวังใหม่ เป็นหนึ่งในบรรดา 4 พรรคการเมือง ที่เรียกกันในช่วงเวลานั้นว่า พรรคเทพ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ร่วมกันคัดค้าน การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
พรรคความหวังใหม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 ได้ที่นั่ง ส.ส. จำนวน 125 ที่นั่ง โดยเฉือนชนะ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคคู่แข่งสำคัญไปเพียง 2 ที่นั่ง ส่งผลให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี
พรรคความหวังใหม่ มีฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสาน หลังจากพล.อ.ชวลิต ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี จากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำเป็นอย่างมากในปี พ.ศ. 2540 จากการประกาศลดค่าเงินบาท และทำให้ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2544 พรรคความหวังใหม่ต้องเปลี่ยนสถานะไปเป็น พรรคฝ่ายค้าน
พรรคความหวังใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2533 โดยทำการเปิดตัวที่โรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีนายวีระ สุวรรณกุล เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และมีนางสาวปราณี มีอุดร เป็นเลขาธิการพรรค ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 จึงได้ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย และถูกจัดตั้งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤษภาคมของปีเดียวกัน
หลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคความหวังใหม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล หลังจากนั้นไม่นาน มีการควบรวมพรรคความหวังใหม่ เข้ากับ พรรคไทยรักไทย โดยที่สมาชิก พรรคความหวังใหม่ ส่วนใหญ่โอนไปเข้าร่วมกับ พรรคไทยรักไทย พร้อมกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคได้ลดบทบาททางการเมืองลงไป
นายชิงชัย มงคลธรรม และสมาชิกอีกจำนวนหนึ่ง ได้จดทะเบียนพรรคความหวังใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ปัจจุบัน พรรคความหวังใหม่ ยังคงดำเนินกิจการทางการเมืองอยู่ โดยที่มีหัวหน้าพรรคคือ นายชิงชัย มงคลธรรม โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารพรรคชุดเดิม และได้เปลี่ยนสัญลักษณ์พรรคใหม่ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 ทางพรรคก็ได้ส่งผู้สมัครลงในพื้นที่อีสาน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเลยแม้ที่นั่งเดียว รวมทั้งการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 ด้วย ต่อมาในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 6 เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 พรรคความหวังใหม่ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง คือ นายอนุสรณ์ สมอ่อน หมายเลข 3 แต่ได้รับคะแนนเพียง 684 คะแนน และ ในปี 2554 พรรคความหวังใหม่ได้ส่ง นายอธิวัฒน์ บุญชาติ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และ พิธีกรรายการทีวีชื่อดัง ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในเขต 9 บุรีรัมย์
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยได้รับหมายเลขประจำพรรค คือ หมายเลข 34 ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เข้ามาทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษาพรรค แต่ผลปรากฏว่าไม่ได้รับเลือกตั้งทั้งในระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ