พม่าภายใต้การปกครองของอังกฤษ (British rule in Burma ) คือช่วงที่พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษระหว่าง พ.ศ. 2367 – 2491 โดยเริ่มต้นจากสงครามพม่า-อังกฤษ ซึ่งนำไปสู่การทำให้พม่ากลายเป็นจังหวัดหนึ่งของบริติชอินเดีย พื้นที่หลายส่วนของพม่า เช่น ยะไข่ ตะนาวศรี ถูกผนวกเข้ากับอังกฤษหลังสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 1 พม่าตอนล่างถูกผนวกหลังสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 2 ส่วนที่ถูกผนวกนี้กลายเป็นจังหวัดขนาดเล็กที่เรียกบริติชพม่าในบริติชอินเดีย ส่วนพม่าตอนบนถูกผนวกหลังสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 และพม่าทั้งหมดกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของบริติชอินเดียใน พ.ศ. 2380 ต่อมา พม่าได้แยกการบริหารออกมาต่างหาก และได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491
จังหวัดพม่ามีการแบ่งเขตการปกครองใน พ.ศ. 2428 ได้แก่ พม่าส่วนกลาง ประกอบด้วย เขตตะนาวศรี เขตยะไข่ เขตพะโค เขตอิรวดี และพื้นที่ตามแนวชายแดน ได้แก่ รัฐฉาน เขตเทือกเขาฉิ่น รัฐกะฉิ่นและรัฐกะเรนนี
พม่าเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างจีนกับอินเดีย อยู่บนเส้นทางการค้าและเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ พ่อค้าจากอินเดียมาถึงทางทะเลและเข้าไปค้าขายภายในประเทศผ่านทางแม่น้ำอิรวดี พม่าได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียมาก โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ก่อนที่อังกฤษจะเข้ามา ราชวงศ์คองบองเป็นรัฐบาลที่ปกครองพม่า โดยพระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด
สงครามพม่า-อังกฤษครั้งแรกเริ่มจากการแตกแยกของยะไข่ และอังกฤษเข้ามาควบคุมจิตตะกองทางตอนเหนือ หลังจากพม่ารบชนะราชอาณาจักรยะไข่เมื่อ พ.ศ. 2327 – 2328 ต่อมา ใน พ.ศ. 2366 กองทัพพม่าได้ข้ามชายแดนขยายอำนาจของพม่าจากยะไข่เข้าสู่อัสสัมซึ่งเป็นดินแดนใกล้เคียงกับบริติชอินเดีย ทำให้เกิดสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่หนึ่ง อังกฤษเป็นฝ่ายชนะ ได้ครอบครองอัสสัม ยะไข่ ตะนาวศรี และส่งกองเรือเข้ายึดครองย่างกุ้งโดยไม่มีการต่อต้าน ใน พ.ศ. 2367 พม่าได้ยกทัพมาขับไล่อังกฤษแต่แม่ทัพพม่าเสียชีวิตในการสู้รบ ในที่สุด สงครามยุติลงด้วยการทำสนธิสัญญายันดาโบ ในอีก 25 ปีต่อมา เกิดสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 2 เพราะอังกฤษต้องการไม้สักในพม่าตอนล่าง และต้องการท่าเรือใหม่ระหว่างจิตตะกองและสิงคโปร์ แม้อังกฤษจะเป็นฝ่ายชนะ ได้ครอบครองพม่าตอนล่างทั้งหมด แต่ไม้สัก แร่ธาตุและน้ำมันในพม่าตอนบนก็ยังเป็นที่ต้องการของอังกฤษ ทำให้เกิดสงครามครั้งที่สามขึ้นอีก ผลของสงครามทำให้อังกฤษยึดพม่าได้ทั้งประเทศ ปลดพระเจ้าธีบอออกจากกษัตริย์ ด้วยข้อหาที่พยายามชักนำให้ฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลในพม่าแข่งกับอังกฤษ ในที่สุด อังกฤษก็ผนวกพม่าเข้ากับอินเดีย
อังกฤษเริ่มปกครองพม่าในฐานะจังหวัดหนึ่งของอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2429 โดยมีเมืองหลวงที่ย่างกุ้ง และกลายเป็นยุคใหม่ทางด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่า ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐบาล ราชวงศ์ถูกล้มเลิก พระเจ้าธีบอลี้ภัยไปอินเดีย แยกการเมืองและศาสนาออกจากกัน ซึ่งแต่เดิม พระสงฆ์จะขึ้นกับการสนับสนุนจากราชวงศ์ และราชวงศ์จะรับรองสถานะทางกฎหมายของพุทธศาสนา ทำให้องค์กรทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติ นอกจากนั้น อังกฤษยังเข้ามาจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา โดยจัดตั้งโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาพม่า และสนับสนุนให้มิชชันนารีเข้ามาสร้างโรงเรียน โดยในโรงเรียนทั้งสองระบบนี้พุทธศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพม่าไม่ถูกกล่าวถึง เพื่อทำลายความเป็นเอกภาพทางวัฒนธรรมของพม่าที่ต่างจากอังกฤษ ทำให้เกิดการต่อต้านทั่วไปในพม่าตอนเหนือจนถึง ปีพ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษเข้าไปปราบปรามในระดับหมู่บ้านโดยเผาทำลายหมู่บ้านที่ต่อต้านอังกฤษ สั่งให้ผู้คนอพยพลงไปพม่าภาคใต้และปลดเจ้าหน้าที่ที่สนับสนุนฝ่ายกบฏออก นำกลุ่มคนที่สนับสนุนอังกฤษเข้ามาแทนจึงทำให้การต่อต้านสิ้นสุดลง
สภาพเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมของพม่านั้นจะกำหนดราคาโดยภาครัฐ อุปสงค์และอุปทานไม่มีความจำเป็น การค้าไม่ใช่เศรษฐกิจหลักของประเทศ แต่ตำแหน่งของพม่าอยู่ในตำแหน่งสำคัญทางการค้าระหว่างจีนกับบอินเดีย เมื่ออังกฤษมาถึง เศรษฐกิจของพม่าถูกบีบคั้นด้วยเศรษฐกิจโลกและกลายเป็นส่วนหนึ่งของการส่งออกของอาณานิคม มีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี เนื่องจากขณะนั้น ข้าวเป็นที่ต้องการของยุโรป และมีการอพยพผู้คนจากที่สูงลงมายังที่ลุ่มเพื่อปลูกข้าว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของประชากร
การปกครองของอังกฤษทำให้เกิดกลุ่มชนลูกผสมระหว่างชาวยุโรปและชาวพม่า ซึ่งมีความโดดเด่นในสังคมยุคอาณานิคม สภาพทางเศรษฐกิจค่อยๆเปลี่ยนแปลง หลังจากมีการเปิดคลองสุเอซ ความต้องการข้าวจากพม่าเพิ่มมากขึ้น มีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ในการเตรียมที่ดินเพื่อการปลูกข้าว ชาวนาพม่ามักจะยืมเงินจากพ่อค้าอินเดียในอัตราดอกเบี้ยที่สูง เกิดการขูดรีด มีการนำแรงงานชาวอินเดียเข้ามาเป็นปัจจัยการผลิตเนื่องจากได้ค่าแรงต่ำ และได้เข้ามาแทนที่ชาวนาพม่า มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น มีการสร้างทางรถไฟผ่านที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และมีเรือเครื่องจักรไอน้ำแล่นขึ้นล่องระหว่างแม่น้ำ บริการสาธารณะจัดขึ้นเพื่อชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษและชาวอินเดีย สิ่งเหล่านี้มีอังกฤษเป็นเจ้าของ และชาวพม่าต้องจ่ายเงินจำนวนมากในการใช้บริการเหล่านี้ หลายหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านนอกกฎหมายเนื่องจากมีกองโจรติดอาวุธ เศรษฐกิจของพม่าเติบโตขึ้นโดยอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือหุ้นส่วนชาวอังกฤษและผู้อพยพจากอินเดีย การเติบโตทางเศรษฐกิจในสมัยอาณานิคมส่งผลร้ายต่อพม่า เพราะได้ใช้ทรัพยากรของพม่าไปเพื่อผลกำไรของอังกฤษ ชาวพม่าถูกห้ามเป็นทหาร โดยทหารส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย ชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษ ชาวกะเหรี่ยง และชนกลุ่มน้อยอื่นๆในพม่า หลังจากที่อังกฤษยึดครองพม่า พม่ายังคงส่งบรรณาการไปปักกิ่งซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในการประชุมเรื่องพม่า พ.ศ. 2429 ที่จีนยอมรับการยึดครองพม่าของอังกฤษ แต่อังกฤษต้องยอมให้พม่าส่งบรรณาการให้จีนทุกสิบปี
ขบวนการชาตินิยมในพม่าเริ่มต้นขึ้นในรูปยุวพุทธิกสมาคม (YMBA) ที่ก่อตั้งเลียนแบบ YMCA องค์กรทางศาสนาที่ก่อตั้งโดยอังกฤษ ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากสมาคมสภาทั่วไปแห่งพม่า (GCBA) ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับสมาคมแห่งชาติที่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวพม่า ระหว่าง พ.ศ. 2443 – 2454 อู ธรรมโลกได้ท้าทายอำนาจของจักรวรรดินิยมและศาสนาคริสต์ ผู้นำพม่ารุ่นใหม่ในช่วงดังกล่าวที่ได้รับการศึกษาโดยได้เดินทางไปเรียนด้านกฎหมายที่ลอนดอน คนกลุ่มนี้กลับมายังพม่าพร้อมกับความคิดที่ว่าต้องปฏิรูปพม่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วง พ.ศ. 2463 ทำให้มีสภานิติบัญญัติซึ่งมีอำนาจจำกัด มีมหาวิทยาลัย และมีการปกครองตัวเองมากขึ้นแม้จะอยู่ภายใต้การบริหารรวมกับอินเดีย มีความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นชาวพม่า มีการประท้วงของนักศึกษาเพื่อต่อต้านกฏใหม่ของมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2463 นักเรียนในโรงเรียนออกมาประท้วงเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของระบบอาณานิคม ต่อมามีการประท้วงเพื่อต่อต้านการจัดเก็บภาษี ผู้นำในการประท้วงส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ เช่น อู โอตมะ และอู เสนทะ ในยะไข่ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหัวหน้ากองกำลังติดอาวุธต่อต้านอังกฤษและได้เข้าร่วมกับรัฐบาลชาตินิยมหลังได้รับเอกราชและอู วิสะระที่เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงในคุก
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2473 มีการประท้วงเกี่ยวกับภาษีโดยซยาซานและได้ลุกลามกลายเป็นจลาจลต่อต้านรัฐบาล อีกสองปีต่อมาเกิดกบฏกาลนซึ่งตั้งชื่อตามครุฑที่เป็นศัตรูของพญานาค การกบฏนี้ต้องใช้ทหารอังกฤษร่วมพันคนในการปราบปราม ซยาซานถูกประหารชีวิต แต่ก็มีผู้นำชาตินิยมอีกหลายคนเช่น บามอว์และอูซอที่ขึ้นมามีบทบาทแทน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2473 ได้จัดตั้งสมาคมเราชาวพม่าโดยสมาชิกขององค์กรเรียกทะขิ่น การประท้วงของนักศึกษาพม่าใน พ.ศ. 2479 นำโดยออง ซาน และโกนุ ผู้นำสหภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ได้ลุกลามไปยังมัณฑะเลย์ ต่อมา อองซานและโก นุ ได้เข้าร่วมในขบวนการทะขิ่น
อังกฤษได้แยกจังหวัดพม่าออกจากบริติชอินเดียใน พ.ศ. 2480 และตั้งเป็นหน่วยการปกครองที่มีสภาเป็นของตนเองซึ่งเป็นผลในทางบวกสำหรับชาวพม่า บามอว์ได้เป็นรัฐมนตรี แต่เขาถูกบังคับให้ลาออกโดยอูซอใน พ.ศ. 2482 อูซอได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมาใน พ.ศ. 2483 จนกระทั่งถูกอังกฤษจับกุมเมื่อ 19 มกราคม พ.ศ. 2485 เนื่องจากมีการติดต่อกับญี่ปุ่น
เกิดการนัดหยุดงานและการประท้วงเริ่มจากพม่าตอนกลางใน พ.ศ. 2481 และกลายเป็นการนัดหยุดงานทั่วประเทศ ในย่างกุ้งมีการประท้วงของนักศึกษา อังกฤษได้ส่งตำรวจเข้าปราบปราม และมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเสียชีวิต 1 คนคืออ่องจ่อ ในมัณฑะเลย์ ตำรวจได้ยิงเข้าไปในกลุ่มผู้ประท้วงที่นำโดยพระสงฆ์และมีผู้เสียชีวิต 17 คน ผลจากเหตุการณ์นี้ วันที่ 20 ธันวาคมได้กลายเป็นวันเพื่อระลึกถึงอ่องจ่อผู้เสียชีวิต
จักรวรรดิญี่ปุ่นได้แผ่ขยายเข้ามาในพม่าเมื่อ พ.ศ. 2485 จนมีการก่อตั้งรัฐพม่าใน พ.ศ. 2486 หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม กองทหารอังกฤษได้กลับเข้าไปในพม่าเพื่อสถาปนาการปกครองระบอบอาณานิคมอีกครั้งใน พ.ศ. 2488
หลังจากที่อังกฤษกลับเข้ามาปกครองพม่าอีกครั้งได้มีการเจรจาเกี่ยวกับเอกราชของพม่าจนบรรลุในข้อตกลงอองซาน-แอตลี เมื่อ 27 มกราคม พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับกลุ่มการเมืองของอองซาน โดยตัดกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ออกไปทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ธงแดงของทะขิ่นโสกลายเป็นกลุ่มใต้ดิน นอกจากนั้น อองซานยังประสบความสำเร็จในการรวมชนกลุ่มน้อยต่างเข้ากับพม่าในการประชุมที่ปางโหลงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ซึ่งกลายเป็นวันสหภาพ ไม่นานหลังจากนั้น เกิดกบฏขึ้นในยะไข่นำโดยพระภิกษุ อูเซนดาและได้แพร่กระจายออกไป กลุ่มสันนิบาตเสรีชนของอองซานได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2490
ในการประชุมเมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ได้มีการลอบสังหารอองซานและคณะรัฐมนตรีรวมทั้งบะวิน ซึ่งผู้ที่ถูกสอบสวนและพบว่าเป็นผู้สั่งการคืออูซอ ทะขิ่นนุ ผู้นำกลุ่มสังคมนิยมได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีและเป็นผู้นำรัฐบาลพม่าจนได้รับเอกราชเมื่อ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 กลุ่มต่อต้านอังกฤษในพม่ายังคงมีบทบาทมากจนพม่าตัดสินใจไม่เข้าร่วมเครือจักรภพอังกฤษ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/พม่าภายใต้การปกครองของอังกฤษ