ปากคลองตลาด (อังกฤษ: Pak Khlong Talat) เป็นตลาดสดขนาดใหญ่ บริเวณถนนจักรเพชร ยาวจนไปถึงถนนมหาราช ตั้งโอบล้อมวัดราชบูรณะ โรงเรียนราชินีและโรงเรียนสวนกุหลาบ ประกอบไปด้วยตลาดใหญ่ถึง 5 แห่งตั้งติด ๆ กัน ปัจจุบันเน้นขายสินค้าเกษตรกรรมที่เน้นการค้าส่งผัก ผลไม้และดอกไม้สด ปากคลองตลาดติดอันดับที่ 4 (จากการจัดอันดับ 1 ใน 10 ของตลาดดอกไม้ทั่วโลก) ยังเป็นตลาดกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกอีกด้วย
ในสมัยอยุธยาเป็นย่านชุมชน พบหลักฐานเป็นสิ่งปลูกสร้างทั้งวัดและป้อมปราการต่างๆ ที่ก่อสร้างขึ้นมาหลายแห่ง รอบๆ ชุมชนมีคูคลองและแม่น้ำหลายสายเข้ามาบรรจบกันจนมีลักษณะเป็นปากคลอง ต่อมาในสมัยธนบุรี เป็นจุดนัดพบของผู้คนที่สัญจรทางน้ำ มีการค้าขาย แลกเปลี่ยนสิ่งของ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นตลาดค้าปลาขนาดใหญ่ที่ส่งตรง มาจากแม่น้ำท่าจีน (สมุทรสาคร) แล้วของที่ส่งผ่านมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา มีบันทึกว่าในในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯ ให้ขุดคลองหลายสายมาตั้งแต่เริ่มสถาปนากรุงเทพ รวมถึง "คลองตลาด" คลองเล็กข้างวัดบุรณศิริมาตยาราม อีกทั้งในย่านไม่ไกลกันนี้ มีคลองที่ขุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2315 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสิน เรียกว่า "คลองใน" ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้เป็นตลาดสดเน้นการค้าปลาเป็นหลักมาจน จนในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดฯ จะเรียกตลาดนี้ว่า "ตะพานปลา" ในระยะหนึ่ง ก็เปลี่ยนจากตลาดค้าปลาไปยังตำบลวัวลำพอง หัวลำโพง แทน ตลาดปลานี้จึงแปรสภาพเป็นตลาดสด ค้าสินค้าเกษตร อย่างผัก ผลไม้และดอกไม้สด มาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน ปากคลองตลาดประกอบด้วยตลาดหลัก 4 แห่งได้แก่ ตลาดองค์การตลาดเป็นของรัฐ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลาดยอดพิมานเป็นของเอกชน และตลาดส่งเสริมเกษตรไทยเป็นของเอกชน ตลาดพุทธยอดฟ้าเป็นของเอกชน มีลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ สูง 2-4 ชั้น มีการวางสินค้าต่าง ๆ และแผงลอย กันสาด กันอย่างหนาแน่น ไม่นับรวมตลาดใต้สะพานพุทธ ซึ่งขายเสื้อผ้า ของประดับ ของเล่น อื่น ๆ อีกมาก ซึ่งจะขายเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น หยุดเฉพาะวันจันทร์
แต่เดิม ตลาดองค์การตลาดเป็นของรัฐ สังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อมีการห้ามขายของที่สนามหลวงและท่าเตียน ก็ได้นำผู้ค้าบางส่วนเข้ามาทำการค้าขายที่ตลาดนี้ โดยเน้นราคาค่าเช่าถูกให้ขายของในราคาถูกเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและช่วยผู้ค้าที่ไม่มีสถานที่ค้าขาย โดยเน้นเป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก เพิ่งเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นสัมปทานให้เอกชนเข้ามาบริหารแทน 30 ปี เพราะองค์การตลาดขาดสภาพคล่อง ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายถาวร เสนเนียมเป็น รมต.ช่วยมหาดไทยในตอนนั้น บริษัทที่เข้ามาบริหารเป็นบริษัทเดียวกับเจ้าของใหม่ตลาดยอดพิมานซึ่งได้ซื้อตลาดยอดพิมานต่อมาจากเจ้าของเดิมก่อนแล้วก็เริ่มปรับปรุงตลาดยอดพิมานแต่ยังไม่แล้วเสร็จดี ต่อมาก็เข้ามารับสัมปทานจากองค์การตลาดเพื่อบริหารแทน 30 ปี เพราะตลาดพื้นที่ติดกัน และได้เริ่มเข้ามาทำการปรับปรุงทั้ง 2 ตลาดเป้าหมายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งในขณะนี้ยังปรับปรุงไม่เรียบร้อยแล้วเสร็จ เนื่องจากอุปสรรคมีมาก ทำให้การปรับปรุงล่าช้ากว่ากำหนดไว้