ปลาแฟนซีคาร์ป (อังกฤษ: Fancy carp, Mirror carp; ญี่ปุ่น: ?, ??; โรมะจิ: Koi, Nishikigoi-ปลาไน, ปลาไนหลากสี) เป็นปลาคาร์ปหรือปลาไน ชนิดย่อย Cyprinus carpio haematopterus
เป็นปลาคาร์ปที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาจากปลาคาร์ปธรรมดา ๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติหรือที่นำมารับประทานกันเป็นอาหาร เพื่อการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเริ่มต้นขึ้นในราว ค.ศ. 200-ค.ศ. 300 โดยปลาคาร์ปต้นสายพันธุ์นั้นมีเพียง 3 สีเท่านั้น คือ แดง, ขาว และน้ำเงิน มีบันทึกว่าปลาคาร์ปบางตัวได้พัฒนาตัวเองมาเป็นสีส้ม ดังนั้นชาวจีนจึงนิยมนำมาเลี้ยงเพื่อเป็นความเป็นสิริมงคล
จากนั้นจึงได้เดินทางเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น บริเวณหมู่บ้านเชิงเขาที่ชื่อ ตาเกซาว่า, ฮิกาชิยามาโอตะ, ตาเนอุฮาร่า และกามากาชิมา โดยชาวบ้านที่หมู่บ้านเหล่านี้ได้นำปลาคาร์ปมาเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารในยามฤดูหนาวหรือช่วงที่อาหารขาดแคลน จากนั้นในศตวรรษที่ 18 ที่เมืองเอจิโกะ ในจังหวัดนีงะตะ ได้บังเอิญเกิดมีปลาคาร์ปตัวหนึ่งซึ่งเป็นสีขาวและสีแดงตลอดทั้งตัวเกิดขึ้นมา สันนิษฐานว่าเป็นการผ่าเหล่า เกิดจากการผสมพันธุ์กันเองภายในสายเลือดใกล้ชิดกัน ซึ่งนำไปสู่การเพาะพันธุ์จนมาได้ ปลาที่มีลักษณะสีขาวสลับแดงในสายพันธุ์ที่มีชื่อว่า "โคฮากุ" (??) ขึ้นมาจนถึงในปัจจุบัน
จากนั้นความนิยมในการเลี้ยงปลาคาร์ปในประเทญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1870 มีศูนย์กลางการเพาะเลี้ยงปลาขึ้นบริเวณเชิงเขาเมืองโอจิยะ จังหวัดนิอิกาตะ และฮิโรชิม่า มีการทำฟาร์ม ประกวด และพัฒนาสายพันธุ์จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ในเทศกาลเด็กผู้ชาย ซึ่งตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่มีบุตรชายจะนำธงทิวที่มีสีสันหลากหลายรูปปลาคาร์ป ขึ้นแขวนไว้หน้าบ้าน เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้เด็กเติบโตมาอย่างสมบูรณ์แข็งแรง ประดุจปลาคาร์ปที่ว่ายทวนกระแสน้ำเชี่ยว
ในปี ค.ศ. 1914 ได้มีผู้นำปลาคาร์ปขึ้นทูลเกล้าฯ มงกุฎราชกุมารโชวะ ซึ่งนับเป็นจุดที่ทำให้ความนิยมในการเลี้ยงปลาคาร์ปเผยแพร่กว้างไกลยิ่งขึ้น ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะขาดแคลนอาหารภายในประเทศญี่ปุ่น ปลาคาร์ปจึงถูกใช้ทำเป็นอาหารอีกครั้ง เมื่อสงครามยุติลง ยังมีผู้ที่เลี้ยงปลาที่ได้รักษาสายพันธุ์ไว้ พยายามฟื้นฟูและสงวนสายพันธุ์ขึ้นมา ปลาคาร์ปจึงได้กลับมาอีกครั้งในฐานะปลาสวยงามในวัฒนธรรมญี่ปุ่น จนมาถึงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แหล่งผลิตปลาคาร์ปสวยงามของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ได้แก่ โอจิยะ, ฮามามัตสึ, ยามาโคชิ, นากาโอะ, โตชิโอะ และคิตะอุโอนุมา ซึ่งประชากรในเมืองเหล่านี้ส่วนมากจะประกอบเพาะพันธุ์ปลาคาร์ปจำหน่าย โดยอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติ ตลอดจนภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยที่อยู่บนเขาซึ่งเหมาะแก่การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง การเลี้ยงปลาคาร์ปในประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ทุกปีจะมีการประกวดทั่วทั้งประเทศ ที่กรุงโตเกียว อันเป็นเมืองหลวง นอกจากนี้แล้วยังมีการประกวดในระดับภูมิภาคแยกย่อยอีก รวมถึงในระดับนานาชาติอีกด้วย
ในปี ค.ศ. 1966 สมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์ปแห่งญี่ปุ่น ได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ปลาคาร์ปขึ้น โดยสลักคำว่า "แหล่งกำเนิดนิชิกอย" (??????) ขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ขึ้นที่หน้าโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ในเมืองนิกาตะ เพื่อเป็นการระลึกถึงเมืองที่เป็นจุดกำเนิดปลาแฟนซีคาร์ป
สำหรับประวัติการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ปในประเทศไทย ในรูปแบบปลาสวยงามนั้น เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2493 โดยนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นปลาสวยงามที่มีราคาสูงมาก ในปี พ.ศ. 2498 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงนำเข้าปลาชนิดนี้มาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเลี้ยงเป็นปลาพ่อแม่พันธุ์ และให้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า "ปลาอัมรินทร์" ในขณะที่กรมประมงได้เรียกว่า "ปลาไนญี่ปุ่น" หรือ "ปลาไนสี" หรือ "ปลาไนแฟนซี" จากนั้นก็ได้มีผู้นำเข้ามาเลี้ยงกันมาอีกอย่างแพร่หลาย จนถึงในปัจจุบัน
นอกจากนี้แล้ว การเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ปยังเชื่อกันว่าจะช่วยเสริมโชคลาภให้แก่ผู้เลี้ยงเช่นเดียวกับปลาทองหรือปลาอะโรวาน่าอีกด้วย