ประเพณีตักบาตรดอกไม้ เป็นประเภณีของชาวพุทธโดยมีความเชื่อเรื่องของการทำบุญ พบบางพื้นที่ของประเทศไทย เช่น เป็นประเพณีประจำปีของจังหวัดสระบุรีโดยจัดที่ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร และวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามวรวิหาร
ประเพณีตักบาตรดอกไม้มีตำนานมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยมีเรื่องเล่าว่า นายสุมนมาลาการ เป็นชาวเมืองราชคฤห์ เขามีหน้าที่นำดอกมะลิไปถวายพระเจ้าพิมพิสารวันละ 8 ทะนาน ทุกวัน และจะได้ทรัพย์วันละ 8 กหาปณะ ต่อมาเช้าวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังถือดอกไม้จะเข้าประตูเมือง เป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เขาเห็นพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงถวายดอกไม้ด้วยดอกไม้ที่จะนำไปถวายพระราชาโดยมีความคิดว่า แม้จะต้องตายด้วยโทษประหารก็ยอม ชาวเมืองทราบดังนั้นจึงพาการโห่ร้องสรรเสริญเป็นอันมาก มีเพียงภรรยาของเขาที่ไม่พอใจ ภรรยาจึงนำความนั้นไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร แต่พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน นอกจากจะไม่โกรธแล้ว ยังนำความนี้กราบทูลพระพุทธเจ้าอีกที พระพุทธเจ้าได้กล่าวสรรเสริญนายสุมนมาลาการ ทำให้นายสุมนมาลาการได้รับของพระราชทานจากพระเจ้าพิมพิสารถึง 8 ชนิด คือช้าง ม้า ทาส ทาสี เครื่องประดับ นารี อย่างละแปด ทรัพย์อีก 8 พันกหาปณะ และบ้านส่วยอีก 8 ตำบล ครั้นกลับถึงวัด พระอานนท์ได้กราบทูลผลบุญที่นายสุมนมาลาการจะพึงได้รับ พระพุทธองค์ตรัสว่า นายสุมนมาลาการได้สละชีวิตบูชาพระองค์ในครั้งนี้จักไม่ได้ไปเกิดในนรกตลอดแสนกัลป์
ได้มีการค้นพบรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ซึ่งอยู่ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม และมรการกำหนดเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทขึ้น 2 ครั้ง ในเดือน 3 และ เดือน 4 ของทุกปี และในช่วงฤดูฝนใกล้กับวันเข้าพรรษา จะมีดอกไม้ท้องถิ่นชนิดหนึ่ง ที่จัดอยู่ในกลุ่มพืชจำพวกกระชาย และขมิ้น ซึ่งจะออกดอกในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านที่พบเห็นดอกไม้ชนิดนี้จึงได้เก็บนำมาถวายพระสงฆ์ และชาวบ้านได้เรียกชื่อดอกไม้ชนิดนี้ว่า "ดอกเข้าพรรษา" ซึ่งมาจากช่วงเวลาที่ดอกไม้ชนิดนี้บานในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาพอดี ชาวบ้านได้พร้อมใจกันนำดอกเข้าพรรษามาถวายพระสงฆ์ เพื่อนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท เป็นประจำทุกๆ ปี