เซเนกัล (ฝรั่งเศส: S?n?gal) หรือ สาธารณรัฐเซเนกัล (ฝรั่งเศส: R?publique du S?n?gal) อยู่ในแอฟริกาตะวันตก มีพรมแดนทางตะวันตกจรดมหาสมุทรแอตแลนติก ทางเหนือจรดมอริเตเนีย ทางตะวันออกจรดมาลี และทางใต้จรดกินีและกินี-บิสเซา โดยล้อมแกมเบียซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศไว้เกือบทั้งหมด และมีหมู่เกาะกาบูเวร์ดีตั้งอยู่ห่างจากชายแดนตะวันตกไปราว 560 กิโลเมตร
ยุคอาณานิคม ชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาตั้งรกราก ได้แก่ ชาวโปรตุเกสในคริสต์ศตวรรษที่ 15 แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 17 อิทธิพลของฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาและมีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และสามารถสยบรัฐมุสลิมรัฐสุดท้ายได้ในปี 1893 เซเนกัลตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสนานถึง 300 ปี (1659-1960) และดาการ์กลายเป็นเมืองหลวงของอาณานิคมฝรั่งเศสในแอฟริกาตะวันตก เซเนกัลได้รับ เอกราชโดยรวมอยู่ในสหพันธรัฐมาลีในวันที่ 20 มิถุนายน 1960 และได้ถอนตัวออกจากสหพันธรัฐเพื่อเป็นประเทศเอกราชอย่างแท้จริงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 1960
ยุคหลังได้รับเอกราช เมื่อเซเนกัลได้รับเอกราช นาย Leopold Sedar Senghor เป็นประธานาธิบดีคนแรกและเป็นประมุขของประเทศ จนเมื่อปี 1980 นักการเมืองรุ่นใหม่ ได้กดดันให้เขาลาออกเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจส่งผลให้นาย Abdou Diouf ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของเซเนกัลแทน และดำรงตำแหน่งต่อมาเป็นเวลา 19 ปี โดยได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 3 ครั้ง ในปี 1983, 1988 และ 1993 ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2000 นาย Diouf พ่ายแพ้แก่ผู้นำฝ่ายค้าน นาย Abdoulaye Wade เนื่องจากชาวเซเนกัลอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเกิดความเบื่อหน่ายในพรรคสังคมนิยมของนาย Diouf ซึ่งครองอำนาจมานานถึง 40 ปี และมีความแตกแยกภายในพรรคสูง อนึ่ง เซเนกัลเคยรวมประเทศกับแกมเบียจัดตั้งสหพันธรัฐเซเนแกมเบียในปี 1982 แต่ก็กลับแยกกันดังเดิมอีกในปี 1989
การเมืองเซเนกัลมีความมั่นคงมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและ เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในแอฟริกาซึ่งไม่เคยประสบเหตุปฏิวัติรัฐประหาร พรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรค Senegalese Democratic Party ของประธานาธิบดี Wade คุมเสียงข้างมากในสภา การเมืองจึงมีเสถียรภาพสูง นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างแนวร่วมได้เพิ่มขึ้น ปัญหาสำคัญของเซเนกัลคือการต่อต้านจากกลุ่มติดอาวุธ the Movement of Democratic Forces in Casamance ของชนเผ่า Dioula ซึ่งไม่พอใจในการปกครองของชนเผ่า Wolof ซึ่งเป็นเผ่าใหญ่ที่สุดของเซเนกัล เนื่องจากเห็นว่า กลุ่มตนไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลในอดีต แม้ว่าจะมีการลงนามข้อตกลงสันติภาพกันเมื่อเดือนธันวาคม 2004 แต่ก็ยังมีต่อต้านอยู่เสมอ แม้ว่าจะมีปัญหาภายในดังกล่าว แต่ก็ถือได้ว่าเซเนกัลเป็นหนึ่งในประเทศประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในแอฟริกา
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มกึ่งทะเลทราย โดยค่อยๆ ลาดสูงขึ้นไปจรดเชิงเขาบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ที่อุดมไปด้วยป่าไม้
เซเนกัลเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก แต่ใน ค.ศ. 1993 เซเนกัลประสบปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการขาดดุลการค้าและมีหนี้สินต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 2.1 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1994 รัฐบาลได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยสนับสนุนจากประเทศผู้บริจาค การปฏิรูปเริ่มจากการประกาศลดค่าเงินสกุลฟรังค์เซฟา (CFA) ลง 50 % (ค่า CFA ได้ผูกค่าเงินตายตัวกับค่าเงินยูโร) การควบคุมราคาและการอุดหนุนได้ค่อยๆ ยกเลิกไป ผลจากการปฏิรูปส่งผลให้เศรษฐกิจเซเนกัลปรับตัวดีขึ้น GDP ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ในช่วงปี 1995-2006 อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือร้อยละ 2 ในปี 2006
ในฐานะที่ เซเนกัลเป็นสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจและการเงินแห่งแอฟริกาตะวันตก (WAEMU) เซเนกัลได้ดำเนินการในการรวมตัวให้เข้มข้นมากขึ้นโดยปรับระบบภาษีที่คิดกับนอกกลุ่มให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และดูแลนโยบายการเงินอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ปัญหาการว่างงานยังคงเป็นแรงผลักดันให้มีคนเซเนกัลอพยพไปยุโรปเพื่อหางานทำอย่างต่อเนื่อง วิกฤติด้านพลังงานก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดปัญหาไฟดับบ่อยครั้งในบริเวณที่กว้างขวางในปี 2006 นอกจากนั้น เซเนกัลยังพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามผลจากการประกาศโครงการยกหนี้ให้กับประเทศยากจนของ IMF นั้น เซเนกัลได้รับการปลดหนี้ไปถึง 2 ใน 3
เศรษฐกิจของเซเนกัลขึ้นอยู่กับภาคบริการ การค้า การขนส่ง และการท่องเที่ยวเป็นหลัก เนื่องจากจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งของเซเนกัลที่เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าและการขนส่งในแอฟริกาตะวันตก แต่ในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมกลับได้รับการพัฒนาน้อย อุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ อุปกรณ์ก่อสร้าง และการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ปลา น้ำมันจากถั่วลิสง และฟอสเฟต
รายได้หลักของเซเนกัลมาจากการส่งออกสินค้าภาคเกษตร อาทิ ถั่วลิสง ประมง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ฟอสเฟต ฝ้าย การท่องเที่ยว การบริการ และพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ประเทศและองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือเซเนกัลในด้านการพัฒนามีหลายแหล่ง อาทิ ฝรั่งเศส กองทุนการเงินระหว่างประเทศ สหภาพยุโรป ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา USAID ญี่ปุ่น เยอรมนี แคนาดา และหน่วยงานของสหประชาติ รัฐบาลเซเนกัลมีนโยบายเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศจากสังคมนิยมเป็นทุนนิยม สนับสนุนการค้าเสรีโดยได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการกีดกันทางการค้า และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากแรงกดดันจากองค์การระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะ IMF และธนาคารโลก ซึ่งประสงค์ให้รัฐบาลเซเนกัลปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นแบบการค้าเสรี