เซาท์ซูดาน (อังกฤษ: South Sudan) มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน (อังกฤษ: Republic of South Sudan) เป็นประเทศในแอฟริกาตะวันออก เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดมีชื่อว่า จูบา ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอิเควทอเรียลกลางที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เซาท์ซูดานไม่มีทางออกสู่ทะเล ทางตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับเอธิโอเปีย ทางใต้ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทางตะวันตกติดต่อกับสาธารณรัฐแอฟริกากลาง และทางเหนือติดต่อกับซูดาน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบึงตมซึ่งเกิดขึ้นจากแม่น้ำไนล์ขาว
หลังจากซูดานได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2499 ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลายครั้ง ซึ่งมีบางช่วงที่เซาท์ซูดานได้รับสิทธิ์ในการปกครองตนเอง เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554 ได้มีการจัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากประเทศซูดานขึ้น ผลปรากฏว่า ชาวเซาท์ซูดานเสียงข้างมากเกือบ 99% เห็นควรแยกตัวเป็นเอกราช และเมื่อเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 9 กรกฎาคม เซาท์ซูดานก็กลายเป็นประเทศเอกราชโดยแยกตัวออกจากประเทศซูดาน
เซาท์ซูดานได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือจักรภพแห่งชาติ และยังได้รับการประกาศว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมจะสมัครเป็นสมาชิกในสันนิบาตอาหรับได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังได้แสดงความสนใจจะเข้าร่วมประชาคมแอฟริกาตะวันออก ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ได้รับการสนับสนุนในหลักการโดยรัฐสมาชิก เคนยาและรวันดาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติวางแผนจะประชุมกันในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพื่ออภิปรายถึงสมาชิกภาพและการรับรองสาธารณรัฐเซาท์ซูดานอย่างเป็นทางการ ซึ่งในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับรองชาติเกิดใหม่นี้เป็นรัฐสมาชิกลำดับที่ 193 ของสหประชาชาติแล้ว
ภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบในแง่ลบจากสงครามกลางเมืองสองครั้งนับแต่ซูดานได้รับเอกราช รัฐบาลซูดานสู้รบกับกบฏตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ถึง 2515 ในสงครามกลางเมืองซูดานครั้งที่หนึ่ง และกองทัพปลดปล่อยประชาชนซูดาน (SPLA/M) ในสงครามกลางเมืองครั้งที่สองเป็นเวลาอีกเกือบยี่สิบเอ็ดปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง SPLA/M ในปี พ.ศ. 2526 ซึ่งส่งผลให้เกิดการปล่อยปละละเลย การขาดการพัฒนาสาธารณูปโภค ตลอดจนการทำลายล้างและการย้ายประชากรอย่างมโหฬาร มีผู้ถูกสังหารมากกว่า 2.5 ล้านคน และมีอีกมากกว่า 5 ล้านคนถูกขับออกจากถิ่นที่อยู่ กลายเป็นผู้ลี้ภัยจากผลของสงครามกลางเมืองและที่เกี่ยวข้องกับสงคราม
มีการประเมินว่าภูมิภาคเซาท์ซูดานมีประชากร 8 ล้านคน แต่เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการทำสำมะโนประชากรมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว ตัวเลขประมาณนี้จึงอาจคาดเคลื่อนอย่างรุนแรง เศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นแบบชนบทและพึ่งพาเกษตรกรรมเพื่อยังชีพเป็นหลัก ในกลางคริสต์ทศวรรษ 2000 เศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนจากที่ชนบทเด่นกว่ามาเป็นเขตเมือง โดยสังเกตได้ว่าเซาท์ซูดานมีการพัฒนาอย่างกว้างขวาง
มีการจัดการลงประชามติแยกเซาท์ซูดานเป็นเอกราชระหว่างวันที่ 9 ถึง 15 มกราคม พ.ศ. 2554 โดยประชากรที่ออกเสียงกว่า 98.83% โดยผลการลงประชามติเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554 ชาวซูดานที่อาศัยอยู่ทางเหนือและที่อยู่โพ้นทะเลก็มาใช้สิทธิ์ด้วยเช่นกัน ผลการลงประชามตินำไปสู่การได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ถึงแม้ว่าข้อพิพาทบางประการจะยังคงดำเนินต่อไป อย่างเช่น ส่วนแบ่งรายได้จากการค้าน้ำมัน ซึ่งมีการประเมินว่า 80% ของน้ำมันในซูดานอยู่ในเซาท์ซูดาน นับเป็นศักยภาพทางเศรษฐกิจอันน่าทึ่งสำหรับพื้นที่เสื่อมโทรมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ภูมิภาค Abyei ยังคงอยู่ในระหว่างพิพาทและจะมีการจัดการลงประชามติแยกต่างหากใน Abyei ว่าชาวเมืองต้องการจะเข้าร่วมกับซูดานเหนือหรือซูดานใต้ ความขัดแย้งคูร์ดูฟันใต้ปะทุขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 ระหว่างกองทัพเซาท์ซูดานกับ SPLA เหนือเทือกเขานูบา
เซาท์ซูดานกำลังทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธอย่างน้อยเจ็ดกลุ่ม โดยมีประชากรถูกบังคับให้ย้ายออกจากถิ่นที่อยู่แล้วหลายหมื่นคน
เซาท์ซูดานตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 3 และ 13 องศาเหนือ และลองติจูด 24 และ 36 องศาตะวันออก ปกคลุมไปด้วยป่าเขตร้อน บึงและทุ่งหญ้า มีแม่น้ำไนล์ขาวไหล่ผ่านประเทศ ผ่านเมืองหลวง จูบา
สภานิติบัญญัติของสาธารณรัฐเซาท์ซูดานอนุมัติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองรัฐ โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อปี พ.ศ. 2548 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจัดตั้งระบบการปกครองแบบระบบประธานาธิบดี ซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ ประมุขแห่งรัฐบาล และผู้บัญชาการทหารสูงสุด จอห์น กาแรง ผู้ก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชนซูดาน (SPLA/M) เป็นประธานาธิบดีคนแรกของรัฐบาลปกครองตนเองจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ซัลวา คีร์ มายาร์ดิต มือขวาของเขา สาบานตนเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนแรกของซูดานและประธานาธิบดีรัฐบาลเซาท์ซูดานเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2548 อำนาจนิติบัญญัติตกเป็นของรัฐบาลและสภานิติบัญญัติเซาท์ซูดานที่เป็นแบบสภาเดียว รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้ฝ่ายตุลาการทำหน้าที่เป็นอิสระ โดยมีองค์กรสูงสุดคือศาลสูงสุด
เอกสารกลาโหมว่าด้วยกระบวนการป้องกันริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2550 โดยรัฐมนตรีว่าการกิจการ SPLA โดมีนีก ดิม เดง และมีการจัดทำร่างขึ้นในปี พ.ศ. 2551 เอกสารดังกล่าวประกาศว่าซุดานใต้จะดำรงไว้ซึ่งกองทัพบก กองทัพอากาศและกองทัพแม่น้ำ (riverine forces)
เซาท์ซูดานแบ่งเขตการปกครองออกเป็นสิบรัฐตามภูมิภาคทางประวัติศาสตร์สามภูมิภาคของซูดาน ได้แก่ บาหร์ อัล กาซัล, เอควาทอเรียและเกรตเตอร์อัปเปอร์ไนล์ และแบ่งย่อยลงไปอีกเป็น 86 เขต
เมื่อเซาท์ซูดานแยกตัวออกจากซูดานโดยผลการลงประชามติ การลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชในบางภูมิภาคที่ติดต่อกับเซาท์ซูดานเองก็มีการตกลงในหลักการหรือกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา รวมทั้งรัฐคูร์ดูฟันใต้และบลูไนล์
นับตั้งแต่วันที่ประกาศอิสรภาพ ความสัมพันธ์กับซูดานยังคงอยู่ในระหว่างการเจรจา ประธานาธิบดีซูดาน อูมัร ฮะซัน อะห์มัด อัลบะชีร์ แต่แรกเคยประกาศเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ว่าอนุญาตให้พลเมืองถือสองสัญชาติในซูดานเหนือและใต้ได้ แต่หลังจากการประกาศอิสรภาพของเซาท์ซูดาน เขาได้ถอนข้อเสนอดังกล่าว เขายังได้เสนอแนะสมาพันธรัฐแบบสหภาพยุโรป
เซาท์ซูดานเป็นรัฐสมาชิกสหประชาชาติ แม้จะยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ แต่ก็คาดว่าจะได้รับสมาชิกภาพเร็ว ๆ นี้ เซาท์ซูดานยังมีแผนจะเข้าร่วมเครือจักรภพแห่งชาติประชาคมแอฟริกาตะวันออกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก
เศรษฐกิจเซาท์ซูดานเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอและด้อยพัฒนาที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยมีสาธารณูปโภคน้อยมากและมีอัตราการเสียชีวิตของมารดาและอัตราไม่รู้หนังสือในผู้หญิงสูงที่สุดในโลกในปี พ.ศ. 2554 เซาท์ซูดานส่งออกไม้ไปยังตลาดระหว่างประเทศ ภูมิภาคนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก อย่างเช่น ปิโตรเลียม แร่เหล็ก ทองแดง แร่โครเมียม สังกะสี ทังสเตน ไมกา เงิน ทองคำ และพลังงานน้ำ เศรษฐกิจของประเทศ เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นอีกมาก พึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก
บ่อน้ำมันในเซาท์ซูดานทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคยังคงอยู่รอดได้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเซาท์ซูดานได้รับเอกราชจากซูดานในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 นักเจรจาฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงว่าด้วยรายได้จากบ่อน้ำมันในเซาท์ซูดาน ระหว่างสมัยปกครองตนเองครั้งที่สองระหว่าง พ.ศ. 2548 ถึง 2554 รัฐบาลซูดานเรียกร้องรายได้ 50% จากการส่งออกน้ำมันของเซาท์ซูดาน และเซาท์ซูดานถูกบีบให้ต้องพึ่งพาท่อส่งและโรงกลั่นน้ำมันทางเหนือ เช่นเดียวกับเมืองท่าทะเลแดงที่พอร์ตซูดาน คาดว่าข้อตกลงหลังเซาท์ซูดานได้รับเอกราชจะคล้ายเดิม โดยนักเจรจาฝ่ายเหนือมีรายงานว่ากดดันให้ยังคงรักษาส่วนแบ่งรายได้น้ำมัน 50-50 และนักเจรจาเซาท์ซูดานก็ยืนกรานให้มีข้อเสนอที่ดีกว่า
เซาท์ซูดานมีรางรถไฟแคบ 1,067 มิลลิเมตร ทางเดี่ยวยาว 248 กิโลเมตรจากพรมแดนซูดานถึงปลายทางเวา ท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารมากที่สุดและพัฒนามากที่สุดในเซาท์ซูดาน คือ ท่าอากาศยานจูบา
เซาท์ซูดานมีประชากรราว 6 ล้านคนและเศรษฐกิจสำคัญเป็นแบบพึ่งพาตนเองในชนบท ภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบเชิงลบจากสงครามเป็นเวลาหลายสิบปี ชาวเซาท์ซูดานส่วนใหญ่นับถือความเชื่อชนพื้นเมืองโบราณ ถึงแม้ว่าบางส่วนจะนับถือศาสนาคริสต์ อันเป็นผลมาจากการเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารี
ภาษาราชการของเซาท์ซูดาน คือ ภาษาอังกฤษ ขณะที่ภาษาพูดอารบิกมีพูดกันอย่างแพร่หลาย และภาษาอารบิกจูบา อันเป็นภาษาผสม ใช้พูดกันในพื้นที่รอบเมืองหลวง
ประชากรเซาท์ซูดานประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 200 กลุ่ม และเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายมากที่สุดในทวีปแอฟริกา อย่างไรก็ตาม มีภาษาจำนวนมากที่มีผู้พูดเพียงไม่กี่พันคนเท่านั้น ภาษาที่มีผู้พูดเป็นภาษาแม่มากที่สุด คือ ภาษาดิงคา ซึ่งมีผู้พูดราว 2-3 ล้านคน
กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเซาท์ซูดานผู้ซึ่งเติบโตขึ้นในคิวบาระหว่างสงครามซูดาน ซึ่งมีจำนวนราว 600 คน ยังสามารถพูดภาษาสเปนได้อย่างคล่องแคล่วด้วย และส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในจูบาในช่วงที่ประเทศได้รับเอกราช
ศาสนาที่ชาวเซาท์ซูดานนับถือกันนั้นประกอบด้วยศาสนาชนพื้นเมืองดั้งเดิม ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม แหล่งข้อมูลวิชาการและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า ชาวเซาท์ซูดานส่วนใหญ่ยังคงนับถือความเชื่อชนพื้นเมืองแต่เดิม (บางครั้งใช้คำว่า วิญญาณนิยม) โดยมีผู้นับถือศาสนาคริสต์รองลงมา ตามข้อมูลของหอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 1990 อาจมีประชากรเซาท์ซูดานไม่เกิน 10% ที่เป็นคริสเตียน อย่างไรก็ตาม บางรายงานข่าวและองค์กรคริสเตียนระบุว่า ประชากรเซาท์ซูดานส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ คริสเตียนส่วนใหญ่เป็นนิกายคาทอลิกและแองกลิคัน และความเชื่อถือผีนั้นมักจะผสมเข้ากับความเชื่อคริสเตียน
ประธานาธิบดีเซาท์ซูดาน คีร์ มายาร์ดิต ว่า เซาท์ซูดานจะเป็นชาติที่เคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนา
เซาท์ซูดานเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีตัวชี้วัดสุขภาพบางด้านเลวร้ายที่สุดในโลก อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุไม่ถึงห้าปีอยู่ที่ 112 คน ต่อ 1,000 คน ขณะที่มีอัตราการเสียชีวิตของมารดาขณะคลอดบุตรสูงที่สุดในโลกที่ 2,053.9 คน ต่อ 100,000 คน ในปี พ.ศ. 2547 มีศัลยแพทย์เพียงสามคนเท่านั้นที่อยู่ในเซาท์ซูดาน โดยมีโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานเพียงสามแห่ง และในบางพื้นที่มีแพทย์เพียงหนึ่งคนต่อประชากรถึง 500,000 คน
วิทยาการระบาดของเอชไอวี/เอดส์ในเซาท์ซูดานมีบันทึกไว้อย่างเลว แต่คาดว่ามีความชุกของโรคอยู่ที่ประมาณ 3.1%
ในห้วงข้อตกลงสันติภาพเบ็ดเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2548 ความต้องการด้านมนุษยธรรมในเซาท์ซูดานมีสูงมาก อย่างไรก็ตาม องค์การด้านมนุษยธรรมภายใต้การนำของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) จัดการเพื่อรับรองว่ามีการระดมทุนเพียงพอที่จะนำความช่วยเหลือมายังประชากรท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูและการช่วยเหลือพัฒนา โครงการมนุษยธรรมถูกบรรจุเข้าไปในแผนการทำงานปี พ.ศ. 2550 ของสหประชาชาติและองค์กรสนับสนุน ประชากรเซาท์ซูดานมากกว่า 90% ดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน แม้ว่าจีดีพีต่อหัวของซูดานทั้งประเทศจะอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (3.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน) หลังจากปี พ.ศ. 2550 OCHA เริ่มลดบทบาทในเซาท์ซูดานลง เนื่องจากความต้องการด้านมนุษนธรรมค่อย ๆ ลดลงเป็นลำดับ แต่ได้ส่งมอบการควบคุมกิจกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาให้แก่องค์กรสาธารณประโยชน์และองค์กรที่ตั้งขึ้นในท้องถิ่น