สาธารณรัฐเกาหลี (อังกฤษ: Republic of Korea; เกาหลี: ???? (ฮันกึล); ???? (ฮันจา)) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เกาหลีใต้ (อังกฤษ: South Korea) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออก มีพื้นที่ส่วนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี พรมแดนทางเหนือติดกับประเทศเกาหลีเหนือ มีประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้โดยมีทะเลญี่ปุ่นและช่องแคบเกาหลีกั้นไว้
ในภาษาเกาหลีอ่านชื่อประเทศว่า แทฮันมินกุก (????; ????) โดยเรียกสั้น ๆ ว่า ฮันกุก (??) ที่หมายถึงเกาหลี และบางครั้งจะใช้ชื่อว่า นัมฮัน (??) ที่หมายถึง เกาหลีทางใต้ ส่วนชาวเกาหลีเหนือจะเรียกเกาหลีใต้ว่า นัมโชซ็อน (???) ที่หมายถึง โชซ็อนใต้
ในยุคแรกดินแดนบนคาบสมุทรเกาหลีประกอบด้วยผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ เผ่าแรกที่ปรากฏคือเผ่าโชซ็อนโบราณ ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคเหนือ เรืองอำนาจในช่วงพ.ศ. 143 – 243 ส่วนเผ่าอื่นได้แก่เผ่าพูยอ อยู่บริเวณปากแม่น้ำซุงคารีทางแมนจูเรียเหนือ เผ่าโคกูรยออยู่ระหว่างแม่น้ำพมาก และแม่น้ำอัมนก เผ่าอกจออยู่บริเวณมณฑลฮัมกย็อง เผ่าทงเยอยู่บริเวณมณฑลคังว็อน และเผ่าสามฮั่นคือ มาฮั่น ชินฮั่น และพยอนฮั่น ที่อยู่บริเวณแม่น้ำฮั่นและแม่น้ำนักดง ทางภาคใต้ของคาบสมุทรเกาหลี
ตำนานที่เป็นที่แพร่หลายในประเทศเกาหลีเล่าถึงกำเนิดของชนชาติตนว่า เจ้าชายฮวางวุง โอรสของเทพสูงสุดบนสวรรค์ลงมาสร้างเมืองที่ภูเขาแทแบ็ก ได้แต่งงานกับหญิงที่มีกำเนิดจากหมี มีโอรสชื่อตันกุน ต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรโชซ็อนโบราณ เมื่อ 1790 ปีก่อนพุทธศักราช
ดินแดนคาบสมุทรเกาหลีตกเป็นเมืองขึ้นจีนเมื่อ พ.ศ. 434 เมื่อจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้หรือกวนอู่ตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นยกทัพเข้ายึดครองดินแดนของอาณาจักรโชซ็อนโบราณ และแบ่งเกาหลีเป็น 4 มณฑล คือ อาณาจักรนังนัง ชินบอน อิมดุน และฮย็อนโท อย่างไรก็ตาม จีนปกครองมณฑลนังนังอย่างจริงจังเพียงมณฑลเดียว มณฑลอื่น ๆ จึงค่อย ๆ แยกตัวเป็นเอกราช จน พ.ศ. 856 ชนเผ่าโคกูรยอเข้ายึดครองมณฑลนังนัง ขับไล่จีนออกไปได้สำเร็จ การตกเป็นเมืองขึ้นของจีนทำให้เกาหลีได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนมาก เช่นตัวอักษรและศาสนา (พุทธและขงจื๊อ)
เมื่อสิ้นสุดสมัย 3 อาณาจักรนั้น อาณาจักรชิลลาถือว่าเป็นผู้มีชัยเหนืออาณาจักรอื่นบนคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด ในทางประวัติศาสตร์ถือว่ายุคสมัยนี้ อาณาจักรชิลลาเป็นผู้รวบรวมแผ่นดินเกาหลีให้เป็นผืนเดียวกันได้เป็นครั้งแรกนับแต่ยุคสมัยดึกดำบรรพ์เป็นต้นมา จึงเรียกว่า ยุคชิลลารวมอาณาจักร ช่วงยุคสมัยนี้นับจากปีที่อาณาจักรโคกูรยอและอาณาจักรแพ็กเจล่มสลายลงไปใน พ.ศ. 1211 และสืบเนื่องไปจนถึง พ.ศ. 1478 แต่ที่จริงแล้ว อาณาจักรชิลลาไม่ได้ครอบครองดินแดนทั้งหมดไว้ ที่ครอบคลุมได้ทั้งหมดนั้นเพียงดินแดนทางตอนใต้เท่านั้น แม้แต่ดินแดนของโคกูรยอเดิม ชิลลาก็ได้มาเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่เพียงที่ต้องยกคาบสมุทรเหลียวตงให้กับจีน แต่ดินแดนทางเหนือจรดไปถึงแมนจูเรียตกอยู่ในการควบคุมของอาณาจักรเกิดใหม่อีกอาณาจักรหนึ่ง ชื่อว่า อาณาจักรพัลแฮ หรือเรียกว่า ป๋อไห่ ในชื่อเรียกตามภาษาจีน ในยุคสมัยนี้ นักประวัติศาสตร์บางท่านจึงจัดว่าเป็นยุคอาณาจักรเหนือใต้ของเกาหลี
หลังจากอาณาจักรพัลแฮถูกราชวงศ์เหลียวตีจนแตกนั้นประชาชนพากันอพยพลงใต้มาบริเวณอาณาจักรโคกุเรียวเดิม แล้วเชื้อพระวงศ์ของอาณาจักรพัลแฮ ก็สถาปนาอาณาจักรใหม่บริเวณอาณาจักรโคกุเรียวเดิม แล้วให้ชื่อว่า "อาณาจักรโคกูเรียวใหม่" แล้วสถาปนาตนเองป็นกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้ากุงเย ส่วนชาวแพ็กเจที่อยู่ในอาณาจักรรวมชิลลาก็ได้ก่อกบฏต่ออาณาจักร มีหัวหน้าคือ คยอน ฮวอน แล้วไปตั้งถิ่นฐานที่บริเวณอาณาจักรแพ็กเจเดิม แล้วให้ชื่อว่า "อาณาจักรแพ็กเจใหม่" แล้วสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าคยอน ฮวอน แล้วทำการก่อกบฏต่ออาณาจักรรวมชิลลา ทำให้ชิลลาเกิดความระส่ำระส่าย จึงถือเป็นยุคสามอาณาจักรยุคหลัง
วังฮูมาสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์แทโจแห่งราชวงศ์โคเรียวเมื่อ พ.ศ. 1486 อาณาจักรนี้เจริญสูงสุดในสมัยกษัตริย์มุนจง ยุคนี้เป็นยุคที่ส่งเสริมพระพุทธศาสนา มีการทำสงครามกับพวกญี่ปุ่นและมองโกล ถูกจีนควบคุมในสมัยราชวงศ์หยวน จนเมื่ออำนาจของราชวงศ์หยวนอ่อนแอลง อาณาจักรโครยอต้องพบกับปัญหาโจรสลัดญี่ปุ่นและการรุกรานของราชวงศ์หมิง ในที่สุดทำให้ฝ่ายทหารมีอำนาจมากขึ้นจนนำไปสู่การยึดอำนาจของนายพล อีซองกเย และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1935
นายพล ลี ซองเกสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์แทโจแห่งราชวงศ์โชซ็อน ในสมัยนี้ส่งเสริมลัทธิขงจื๊อให้เป็นลัทธิประจำชาติและเริ่มลดอิทธิพลของพุทธศาสนา สมัยกษัตริย์เซจงมหาราช ทรงประดิษฐ์อักษรฮันกึลขึ้นใช้แทนอักษรจีน
จักรวรรดิเกาหลี หรือ แทฮันเจกุก (อังกฤษ: The Greater Korean Empire ; เกาหลี: ????, ฮันจา: ????, MC: Daehan Jeguk, MR: Taehan Chekuk) คือราชอาณาจักรโชซ็อนที่ประกาศยกสถานะของรัฐจากราชอาณาจักรเป็นจักรวรรดิ ตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าโกจง พร้อมกับการเปลี่ยนพระอิสริยยศจาก กษัตริย์ เป็น จักรพรรดิ โดยพระองค์มีพระนามว่า สมเด็จพระจักรพรรดิควางมูแห่งจักรวรรดิเกาหลี เพื่อให้ประเทศเอกราชจากจักรวรรดิชิง และยกสถานะของประเทศมีความเท่าเทียมกับจักรวรรดิชิง และ จักรวรรดิญี่ปุ่น แม้ว่าโดยพฤติการณ์แล้วสถานะของเกาหลีไม่ได้เข้าข่ายการเป็นจักรวรรดิเลยก็ตาม จนกระทั่งถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครองในปี ค.ศ. 1910
เมื่อ พ.ศ. 2453 ญี่ปุ่นได้ผนวกเกาหลีเป็นดินแดนของตนตามสนธิสัญญาการรวมญี่ปุ่น-เกาหลี ซึ่งสนธิสัญญานี้เป็นที่ยอมรับของญี่ปุ่นฝ่ายเดียว แต่ไม่เป็นที่ยอมรับในเกาหลี เพราะถือว่าไม่มีการลงนามของกษัตริย์เกาหลี เกาหลีถูกญี่ปุ่นปกครองจนกระทั่งญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488
ในระหว่างการปกครองของญี่ปุ่น มีการสร้างระบบคมนาคมแบบตะวันตก แต่ส่วนใหญ่เพื่อประโยชน์ทางการค้าของญี่ปุ่นมากกว่าประโยชน์ของชาวเกาหลี ญี่ปุ่นล้มล้างราชวงศ์โชซ็อน ทำลายพระราชวัง ปรับปรุงระบบภาษี ให้ส่งข้าวจากเกาหลีไปญี่ปุ่น ทำให้เกิดความอดอยากในเกาหลี มีการใช้แรงงานทาสในการสร้างถนนและทำเหมืองแร่
หลังการสวรรคตของกษัตริย์โกจง (Gojong) เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2461 ด้วยยาพิษ ทำให้เกิดการเรียกร้องเอกราชทั่วประเทศ เมื่อ 1 มีนาคม พ.ศ. 2461 ผลจากการลุกฮือขึ้นเรียกร้องเอกราชทำให้ชาวเกาหลีราว 7,000 คนถูกฆ่าโดยทหารและตำรวจญี่ปุ่น ชาวคริสต์เกาหลีจำนวนมากถูกฆ่าหรือเผาในโบสถ์ระหว่างการเรียกร้องเอกราชมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลของเกาหลีที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน หลังจากการเคลื่อนไหว 1 มีนาคม เพื่อต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น
การลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นยังคงมีอยู่ต่อไป เช่น การลุกฮือของนักศึกษาทั่วประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2472 จนนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกเมื่อ พ.ศ. 2474 หลังจากเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2480 ญี่ปุ่นพยายามลบล้างความเป็นชาติของเกาหลี การสอนประวัติศาสตร์และภาษาเกาหลีในโรงเรียนถูกห้าม การแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เป็นเกาหลีถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ชาวเกาหลีถูกบังคับให้มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น สิ่งของมีค่าถุกนำออกจากเกาหลีไปยังญี่ปุ่น. หนังสือพิมพ์ถูกห้ามตีพิมพ์ด้วยภาษาเกาหลี หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จำนวนมากถูกเผาทำลาย
ชาวเกาหลีจำนวนมากอพยพออกจากเกาหลีไปสู่แมนจูเรียและรัสเซีย ชาวเกาหลีในแมนจูเรียจัดตั้งขบวนการกู้เอกราชชื่อ "ทุงนิบกุน" (Dungnipgun) ขบวนการนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ทำสงครามกองโจรกับกองทัพญี่ปุ่น กองทัพเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นกองทัพปลดปล่อยเกาหลี เมื่อราว พ.ศ. 2483 เคลื่อนไหวในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวเกาหลีกว่าหมื่นคนเข้าร่วมในกองทัพปลดปล่อยประชาชนและกองทัพปฏิวัติแห่งชาติ
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวเกาหลีถูกบังคับให้ร่วมมือกับญี่ปุ่น ชายชาวเกาหลีถูกเกณฑ์เข้าร่วมในกองทัพญี่ปุ่น ผู้หญิงจากจีนและเกาหลีราว 200,000 คน ถูกส่งตัวไปเป็นนางบำเรอของทหารญี่ปุ่น
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง แนวโน้มของการแบ่งประเทศเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อ 8 กันยายน พ.ศ. 2488 เมื่อสหรัฐเข้าควบคุมภาคใต้ของคาบสมุทรเกาหลี และโซเวียตเข้าควบคุมภาคเหนือ โดยใช้เส้นขนาน(ละติจูด,เส้นรุ้ง)ที่ 38 องศาเป็นเส้นแบ่ง รัฐบาลชั่วคราวถูกยกเลิกเพราะสหรัฐเห็นว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ในครั้งแรกการแบ่งแยกนี้เป็นการชั่วคราว และจะให้เอกราชแก่เกาหลีเมื่อสี่ชาติมหาอำนาจคือ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ และจีน จัดการปกครองในเกาหลีสำเร็จ
ในการประชุมไคโรเมื่อ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 กำหนดให้เกาหลีเป็นชาติอิสระ และการประชุมล่าสุดที่ยัลตาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ตกลงให้เกาหลีเป็นรัฐในอารักขาของชาติมหาอำนาจสี่ชาติ ต่อมา 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 โซเวียตยกทัพจากไซบีเรียเข้าสู่เกาหลีโดยไม่มีการต่อต้าน ญี่ปุ่นยอมแพ้เมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2488 มีการประชุมที่มอสโกเพื่อตกลงเกี่ยวกับอนาคตของเกาหลี โดยกำหนดให้เป็นรัฐในอารักขา 5 ปี และรวมส่วนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐและโซเวียตเข้าด้วยกัน มีการประชุมกันอีกครั้งที่กรุงโซลแต่องค์การตั้งประเทศใหม่ยังไม่ลุล่วง เดือนกันยายน พ.ศ. 2490 สหรัฐส่งปัญหาเกาหลีเข้าสู่สหประชาชาติเพื่อให้เกาหลีเป็นรัฐเดียวที่มีเอกภาพ แต่ผลจากสงครามเย็นทำให้สหรัฐวางแผนคุ้มกันเกาหลีเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้เกิดการแยกประเทศเมื่อ พ.ศ. 2491 เกิดเป็นสองประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจและการปกครองต่างกัน สหประชาชาติยอมรับสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เป็นตัวแทนเกาหลีในสหประชาชาติเพียงรัฐเดียวเมื่อ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2491 สงครามเกาหลีระเบิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2493 เมื่อเกาหลีเหนือยกทัพข้ามเส้นขนานที่ 38 องศาบุกเข้าโจมตีเกาหลีใต้ เป็นการยุติความพยายามในขณะนั้นที่จะรวมประเทศทั้งสองอย่างสันติ สงครามดำเนินไปจนมีข้อตกลงหยุดยิงเมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2496
เกาหลีใต้มีความพยายามที่จะรวมประเทศอย่างสันติตั้งแต่ พ.ศ. 2513 โดยเปิดการเจรจากับเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการเจรจาระหว่างสภากาชาดฝ่ายใต้กับฝ่ายเหนือเพื่อให้ครอบครัวที่พลัดพรากระหว่างสงครามได้พบหน้ากัน มีการออกแถลงการณ์ระหว่างสองประเทศเมื่อ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 เพื่อยุติการกล่าวร้ายระหว่างกัน แต่การเจรจาเพื่อรวมประเทศไม่ราบรื่น ที่ประสบผลสำเร็จมีเพียงการอนุญาตให้ชาวเกาหลีทั้งสองประเทศข้ามเขตปลอดทหารไปมาหาสู่กันได้ในช่วง 20-23 กันยายน พ.ศ. 2528 และการเจรจาเกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก พ.ศ. 2531 ที่กรุงโซลเท่านั้น การเจรจาเรื่องอื่น ๆ หยุดชะงักลงหลัง พ.ศ. 2529 เนื่องจากเกาหลีเหนือไม่พอใจเกี่ยวกับการซ้อมรบระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นการขัดแย้งกับการรวมชาติ เกาหลีใต้พยายามประนีประนอมกับเกาหลีเหนือเพื่อการเจรจาจนมีการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน พ.ศ. 2533 จากนั้นมีการประชุมต่อมาอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม การรวมชาติเกาหลียังเป็นสิ่งที่ต้องรอคอยต่อไปจนกระทั่งปัจจุบัน
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2491 คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งเป็นสองส่วนโดยเส้นละติจูดที่ 38 องศาเหนือ (มักเรียกว่าเส้นขนาน 38) โดยสหภาพโซเวียตดูแลเกาหลีเหนือมีการปกครองระบอบสังคมนิยม ส่วนสหรัฐอเมริกาดูแลเกาหลีใต้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย
สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประมุขของประเทศคือประธานาธิบดี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐสภาเป็นองค์กรนิติบัญญัติ และศาลทำหน้าที่ทางตุลาการ ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด และ 6 เขตการปกครอง (โซล ปูซาน อินชอน แตกู ควังจู แตชอน)
เกาหลีใต้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอดอีก 9 ครั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี พ.ศ. 2530 เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ต้องประสบกับภาวะกดดันทางการเมืองจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง และในที่สุด ประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ก็ยินยอมให้มีการลงประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง โดยอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว (5 ปี) และให้มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นอิสระเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไข ยังได้ยกเลิกอำนาจการยุบสภาของประธานาธิบดี และให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ดูแลและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งระบุว่ากองทัพต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง
รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภา (National Assembly) เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาของเกาหลีใต้เป็นรูปแบบสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 299 คน โดยสมาชิกจำนวน 2 ใน 3 มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ที่เหลือมาจากการแต่งตั้งโดยจัดสรรตามสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี (ล่าสุดเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2547) สภาจะเลือกประธาน (Speaker) และรองประธาน (Vice-Speaker) จำนวน 2 คน
อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีได้ หากสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 เสนอขอและสมาชิกสภาข้างมากเห็นชอบตามเสนอ ซึ่งในกรณีการถอดถอนประธานาธิบดีนั้น ต้องเสนอโดยเสียงข้างมากและสมาชิกสภา 2 ใน 3 ให้ความเห็นชอบ
ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยประธานาธิบดีแต่งตั้งประธานศาลฎีกาด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา การพิจารณาของศาลกำหนดให้เปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ยกเว้นในกรณีที่เห็นว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นเรื่องที่จะสร้างปัญหาในด้านความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อขวัญของประชาชน คำพิพากษาจำเป็นต้องปิดเป็นความลับ นอกจากนี้ ยังมีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และมีอำนาจในการพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นโมฆะ (โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเริ่มจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับการร้องขอจากศาลชั้นต้นหรือจากกลุ่มบุคคลที่ข้อร้องเรียนได้รับการพิจารณาจากศาลชั้นต้น ให้พิจารณากฎหมายดังกล่าว) อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตัดสินความถูกต้องทางกฎหมายของกระบวนการถอดถอนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ได้แก่ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และผู้พิพากษา รวมทั้งมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร หากพบว่าพรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย
โดยพรรค MDP กับพรรค ULD ได้ร่วมกันส่งนายคิม แด จุง เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และได้รับชัยชนะ โดยนาย คิม จอง พิล ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาพรรค ULD ได้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ปัจจุบันมีพรรคฝ่ายค้าน (Grand National Party-GNP) และพรรครัฐบาล (Millennium Democratic Party-MDP) และพรรคฝ่ายค้านเสียงส่วนน้อย (United Liberal Democrats-ULD) ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้าน GNP สามารถคุมเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภารวม 139 ที่นั่ง ทั้งนี้เมื่อ 15 เม.ย. 2547 มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้สมัยที่ 17 โดยเป็นการเลือกสมาชิกรัฐสภาทั้งสิ้น 299 ที่นั่งประกอบด้วยการเลือกตั้งโดยตรง 243 ที่นั่ง และจากสัดส่วนพรรค (party list) 56 ที่นั่ง ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการพรรค Uri ได้คะแนนเสียงข้างมากส่งผลให้พรรค Uri กลายเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในรัฐสภาเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม พรรค Uri ได้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อม 6 ครั้งในเดือนเมษายน 2548 ทำให้พรรค Uri ไม่ได้ครองเสียงข้างมากในสภาอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้แพ้ในการเลือกตั้งซ่อมในเดือนตุลาคม 2548 อีก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลมีปัญหามากขึ้น
ในปัจจุบัน แม้ว่าสาธารณรัฐเกาหลีจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ แต่ก็ยังมีผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ในตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเกาหลีที่ถูกล้มล้างไปโดยจักรวรรดิญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1910
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2006 เจ้าชายวอน รัชทายาทแห่งเกาหลี ได้ทรงสถาปนาพระองค์เองขึ้นดำรงพระยศเป็นประมุขแห่งราชตระกูลจักรพรรดิเกาหลี (ราชวงศ์โชซ็อน) แต่กระนั้น เจ้าหญิงแฮวอนแห่งเกาหลี ก็ทรงได้รับการสนับสนุนจากคณะราชนิกูลที่เห็นว่าพระนางมีพระอาวุโสสูงสุดในราชวงศ์ จึงจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเสวยราชย์ดำรงพระยศเป็นประมุขแห่งราชตระกูลจักรพรรดิเกาหลีเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 2006 พร้อมทั้งทรงประกาศฟื้นฟูสถาบันจักรพรรดิในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการและอ้างสิทธิในราชบัลลังก์จักรพรรดิแห่งเกาหลี โดยเรียกพระองค์เองว่า จักรพรรดินีแห่งเกาหลี (Empress of Korea) อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มราชนิกุลบางส่วนสนับสนุนให้เจ้าชายชังขึ้นเสวยราชย์และอ้างสิทธิเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ เพราะมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนแต่พระองค์กลับปฏิเสธ
ทั้งนี้ ประชาชนเกาหลีมีสถาบันจักรพรรดิเป็นศูนย์รวมจิตใจมาตั้งแต่ช่วงที่เกาหลีเป็นประเทศในอารักขาของจักรวรรดิญี่ปุ่น จนกระทั่งการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายโฮอุนแห่งเกาหลี ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของเกาหลีพระองค์ก่อนเมื่อปี ค.ศ. 2005 แต่เนื่องจากไม่มีผู้สืบราชสันตติวงศ์ส่งผลให้บัลลังก์ของราชวงศ์โชซ็อนว่างเว้นจากตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดิช่วงหนึ่งในปี ค.ศ. 2005
อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดการณ์ว่าสาธารณรัฐเกาหลีจะมีการฟื้นฟูสถาบันจักรพรรดิอย่างเป็นทางการในอนาคต หากมีการรวมชาติระหว่าง 2 เกาหลี โดยเชื่อว่าสถาบันจักรพรรดินั้นคือศูนย์รวมประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศในอดีต โดยสำนักโพลในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป พบว่า ร้อยละ 54.4 สนับสนุนให้มีการฟื้นฟูสถาบันจักรพรรดิในสาธารณรัฐเกาหลีโดยให้เป็นสัญลักษณ์ของรัฐและมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร[ต้องการอ้างอิง]
สาธารณรัฐเกาหลีมีกระทรวง 17 กระทรวง โดยแต่ละกระทรวงจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นหัวหน้า โดยได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี และต้องรายงานงานต่างๆให้กับนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
ในบางกระทรวงอาจมีหน่วยงานเทียบเท่าในสังกัด ซึ่งจะทำงานขึ้นตรงต่อทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นๆและนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีด้วย
ประเทศเกาหลีใต้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 จังหวัด (เกาหลี: ?) 1 จังหวัดปกครองตนเองพิเศษ (เกาหลี: ?????) 6 มหานคร (เกาหลี: ???) 1 นครพิเศษ (เกาหลี: ???) และ 1 นครปกครองตนเองพิเศษ
ประชากร ใน พ.ศ. 2555 ประชากรประมาณ 49,979,000 คน มีเชื้อสายมาจากเกาหลี จีน ฟิลิปปินส์ และเชื้อสายอื่นๆอีก
ประเทศเกาหลีใต้ไม่มีศาสนาประจำชาติ และประชาชนมีอิสระในการนับถือศาสนา ในปี ค.ศ. 2005 ประชากรเกาหลีใต้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นอศาสนา ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธหรือคริสต์ ต่อมาในปี ค.ศ. 2007 ได้มีการสำรวจสำมะโนประชากร พบว่าร้อยละ 29.2 นับถือศาสนาคริสต์ (ในจำนวนนี้เป็นโปรเตสแตนต์ร้อยละ 18.3 และคาทอลิกร้อยละ 10.9) รองลงมาคือร้อยละ 22.8 นับถือศาสนาพุทธ
นอกจากนี้ยังศาสนิกของศาสนาอิสลาม ซึ่งเข้าสู่เกาหลีครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 7 รวมทั้งลัทธิเกิดใหม่อย่าง ลัทธิช็อนโด และลัทธิว็อนบุล ทั้งยังมีการปฏิบัติศาสนกิจในลัทธิเชมัน ลัทธิดั้งเดิมของเกาหลีก่อนรับศาสนาอื่น ซึ่งนับถือเทพเจ้าผู้สร้างคือ ฮวันอิน (คือ พระอินทร์ในพุทธศาสนา) ทั้งได้รับการนับถือในกลุ่มชาวคริสต์ทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ด้วย
ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีศาสนิกมากที่สุดในเกาหลีใต้ มีศาสนิกชนราว 13.7 ล้านคน โดยประชากรราวสองในสามนิยมเข้าโบสถ์โปรเตสแตนต์ และประชากรร้อยละ 23 นิยมเข้าโบสถ์ของโรมันคาทอลิก อย่างไรก็ตามในช่วงปี ค.ศ. 1980 ศาสนิกชนเข้าโบสถ์โปรเตสแตนต์ลดลง เพราะการขยายตัวของนิกายโรมันคาทอลิก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเกาหลีใต้ถือมีการส่งมิชชันนารีออกเผยแผ่ศาสนามากเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา
ศาสนาพุทธเข้ามามีบทบาทในเกาหลีตั้งแต่ปี ค.ศ. 372 จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 2005 มีศาสนิกชนราว 10.7 ล้านคน ปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้ร้อยละ 90 นับถือนิกายโจ-กเย ซึ่งศาสนวัตถุของพุทธศาสนาจำนวนมากได้กลายเป็นสมบัติประจำชาติ ซึ่งตกทอดมาจากยุครัฐเหนือใต้ และยุคโครยอที่ศาสนาพุทธมีความเจริญจนถึงขีดสุด และภายหลังศาสนาพุทธได้อ่อนแอลงจากการปราบปรามของราชวงศ์โชซ็อนซึ่งนับถือลัทธิขงจื๊อ
ศาสนาอิสลามเคยเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนเกาหลีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ในยุครัฐเหนือใต้ แต่ผู้สืบเชื้อสายได้หันไปนับถือศาสนาพุทธหรือเชมันแทน เนื่องจากเกาหลีขาดการติดต่อกับโลกอาหรับ ปัจจุบันจากการเผยแผ่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีชาวมุสลิมสัญชาติเกาหลีใต้ราว 30,000-35,000 คน ขณะที่อิสลามิกชนส่วนใหญ่ราว 100,000 คนในเกาหลีใต้เป็นแรงงานชาวต่างชาติ อาทิ บังกลาเทศ และปากีสถาน
ในเกาหลีใต้มีการขัดแย้งทางศาสนาอยู่ ดังกรณีศาสนิกบางส่วนของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ได้แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาพุทธ มีเหตุการณ์วางเพลิงและการกระทำที่ป่าเถื่อนกับศาลเพียงตาของพุทธศาสนารวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ หลายสิบครั้ง รวมทั้งการทำลายวัดขนาดใหญ่หลายแห่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีเนื้อความระบุว่าผู้กระทำผิดเป็นชาวโปรเตสแตนต์ และมีข้อความหลงเหลืออยู่ซึ่งประณามการบูชา "รูปเคารพ"
ศิลปะเกาหลีมีลักษณะเด่นหลายประการที่ทำให้เกิดแบบของตัวเอง ศิลปะเกาหลียกย่องธรรมชาติ และการใช้สีอ่อนและเรียบก็ปรากฏอยู่เสมอในภาพเขียนและเครื่องปั้นแบบเกาหลี
ศิลปะเกาหลีมีลักษณะเด่นหลายประการที่ทำให้เกิดแบบของตัวเอง ศิลปะเกาหลียกย่องธรรมชาติ และการใช้สีอ่อนและเรียบก็ปรากฏอยู่เสมอในภาพเขียนและเครื่องปั้นแบบเกาหลี วัฒนธรรมงานหัตกรรมพื้นบ้านคือศิลปะที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี งานไม้และเครื่องเขินของเกาหลีเป็นที่รู้จักกันดี โดยเน้นการออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอยและความเรียบง่าย สิ่งสะดุดตาในงานไม้เกาหลีคือศิลปะการประดับมุก งานหัตกรรมโลหะทำด้วยทอง ทำด้วยสำริด ทางด้านพระพุทธศาสนามีการสร้างพระพุทธรูปสำริด ระฆังวัดที่หล่อด้วยสำริด เอกลักษณ์ของระฆังเกาหลีคือรูปร่างการออกแบบและเสียง ศิลปะเครื่องปั้นดินเผา เกาหลีเป็นที่ยอมรับในการพัฒนาศิลปะด้านนี้และเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงคือ ศิลาดล เป็นเครื่องเคลือบที่มีความสดใส ฝีมือประณีต นิยมเคลือบด้วยสีขาวซึ่งพัฒนาให้สวยงามในยุคโกเรียว เพื่อการอนุรักษ์สิ่งดีงามตั้งแต่อตีด ทางการเกาหลีได้จัดตั้งโครงการสมบัติประจำชาติเกาหลีใต้ขึ้น
ศิลปะของนักปราชญ์ เดิมรูปแบบตัวอักษรเกาหลีและญี่ปุ่นเป็นอักษรจีน ซึ่งเป็นตัวเขียนที่ยังใช้อยู่ในเอเชียตะวันออกร่วมพันปี แม้ว่าหลังจากที่เกาหลี ประดิษฐ์อักษรฮันกึล ในปี พ.ศ. 1989 (ค.ศ. 1446) ตัวอักษรจีนยังคงใช้ในภาษาทางการ จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพราะว่าตัวอักษรจีนมีอยู่นับหมื่นตัว แต่ละตัวมีความแตกต่างกัน มีวิธีเขียนหลายแบบ หลายความหมาย การเรียนอ่านและการเขียนตัวอักษรจีนไม่ใชเรื่องง่าย ศิลปะการเขียนอักษรจีนได้เข้ามาในประเทศเกาหลีเมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว
การเขียนตัวอักษรด้วยพู่กันเกาหลีเรียกว่า "บุดกึลซี" ต้องอาศัยปัจจัย 4 ของนักปราชญ์ ได้แก่ หมึก แท่งหินฝนหมึก พู่กันและกระดาษ ศิลปินเขียนพู่กันส่วนใหญ่มักเป็นทั้งนักปราชญ์และจิตรกร ศิลปินเหล่านี้อาจใช้พู่กันเล่มเดียวกันเขียนกลอนบรรยายภาพ ภาพวาดเกาหลี เป็นศิลปะที่มีธรรมเนียมนิยมของตนเองอย่างสมบูรณ์ จิตรกรรม ภาพจิตกรรมของเกาหลีมีมานานแล้ว สถาบันภาพวาดก่อตั้งขึ้นในยุคโกกุริวสถาบันแห่งนี้เน้นภาพวาดที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา รูปแบบจิตรกรรมที่หลากหลายได้พัฒนาสืบต่อกันมาจนถึงสมัยโซชอน พร้อมนำรูปแบบศิลปะจีนแบบใหม่รวมทั้งเทคนิคการวาดภาพแบบตะวันตก มีการใช้สีสันสดใสในภาพที่วาดเกี่ยวกับศาสนานี้
ชาวเกาหลีมีชุดประจำชาติตั้งแต่สมัยโบราณ เรียกว่า ฮันบก (ฮันหมายถึงชาวเกาหลี บกหมายถึงชุด รวมกันหมายถึงชุดของชาวเกาหลี) ฮันบกทั้งของผู้หญิงและผู้ชายมีลักษณะหลวมๆ เพื่อความสะดวกสบายและคล่องแคล่วไม่ใช้กระดุมหรือตะขอ แต่จะใช้ผ้าผูกไว้แทน ชุดของผู้ชาย ข้างล่างประกอบด้วย "ปันซือ" แต่สมัยใหม่เรียกว่า "แพนที" ซึ่งหมายถึงกางเกงใน ชั้นนอกสวม "บาจี" เป็นกางเกงขายาวหลวมๆรวบปลายขาไว้ด้วย "แทมิน" เป็นแถบผ้าใช้มัดขากางเกง"บันโซเม" เป็นเสื้อรัดรูปแขนสั้นไว้ข้างใน เสื้อนอกเรียกว่า "จอโกลี" เป็นเสื้อแขนยาวไม่มีปกไม่มีกระเป๋า
ชุดของผู้หญิง ประกอบด้วย "แพนที" หรือกระโปรงที่อยู่ข้างใน ข้างบนใช้ "ซ็อกชีมา" เป็นแถบผ้าขนาดใหญ่ ใช้มัดทรวงอกไว้แทนเสื้อยกทรง ข้างนอกสวม "ชีมา" เป็นกระโปรงยาวกรอมเท้า สวมเสื้อ "จอโกรี" เป็นเสื้อนอกแขนยาว ฮันบกเป็นภาพรวมศิลปะของเกาหลีที่สามารถพบเห็นได้ตามท้องถนนของเกาหลี ราวกับถนนสายแฟชั่นของปารีส ฮันบกชุดแต่งกายประจำชาติของเกาหลีทำจากผ้าสีสันสดใส เนื้อผ้าจะขึ้นอยู่กับโอกาสและวัยของผู้ใส่ เด็กหญิงหรือหญิงสาวจะสวมกระโปรงสีแดงเสื้อสีเหลือง จะเปลี่ยนเป็นกระโปรงสีแดง เสื้อสีเขียวเมื่อแต่งงานแล้ว ส่วนหญิงสูงอายุอาจเลือกสีสันต่างๆ ที่สดใส และเลือกใช้เนื้อผ้าได้หลากหลาย
ปัจจุบันชุดแต่งกายวัฒนธรรมเดิมจะใช้เฉพาะโอกาสพิเศษเท่านั้น แต่ตามถนนหนทาง และรถไฟใต้ดินจะยังคงเห็นผู้คนสวมใส่กันอยู่บ้าง โดยเฉพาะผู้สูงอายุยังคงสวมใส่ชุดฮันบกอยู่