สวาซิแลนด์ (อังกฤษ: Swaziland; สวาซี: eSwatini) หรือ ราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ (อังกฤษ: Kingdom of Swaziland; สวาซี: Umbuso weSwatini) เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาใต้ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล มีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้านขนาดใหญ่ คือ แอฟริกาใต้ และโมซัมบิก
ชนชาติสวาซีเป็นชนเผ่างูนี เดิมอาศัยอยู่ทางแอฟริกากลาง ชนชาติสวาซีหรือเผ่างูนี ได้เคลื่อนย้ายลงมาทางแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ในปัจจุบันประมาณปี ค.ศ. 1750 ภายใต้การปกครองของพระเจ้าอึงวาเนที่ 3 จึงได้ถือว่ากษัตริย์พระองค์นี้เป็นกษัตริย์องค์แรกของราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ปัจจุบัน โดยครองราชย์อยู่จนถึงปี ค.ศ. 1780 เมื่อชนชาติสวาซิแลนด์อพยพลงมาอาศัยมาในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของประเทศนี้ ใหม่ ๆ ได้เกิดข้อขัดแย้งในการแย่งดินแดนกับชนเผ่าซูลู ซึ่งมีความเข้มแข็งกว่าชนเผ่าสวาซี
ต่อมาเมื่อมีการขุดพบทองคำในภูมิภาคนี้เมื่อปี ค.ศ. 1879 จึงมีคนผิวขาวจากยุโรปอพยพเข้าไปแสวงโชคกันมากและยึดดินแดนในภูมิภาคนี้เป็นเมืองขึ้น สวาซิแลนด์ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของคนผิวขาวเชื้อสายดัตช์ ซึ่งได้ครองดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ปัจจุบันด้วย ในขณะนั้นเรียกว่า Boer Republic of Transvaal ต่อมาคนเชื้อสายอังกฤษได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้และได้ทำสงครามชนะคนเชื้อสายดัช (Boer) เมื่อปี ค.ศ. 1903 สวาซิแลนด์จึงกลายเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหรือเป็น British High Commission Territory สวาซิแลนด์ได้รับเอกราชเมื่อ 6 กันยายน ค.ศ. 1968 ซึ่งภายหลังจากที่ได้รับเอกราช สวาซิแลนด์เคยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามแบบอย่างของประเทศตะวันตก โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีพรรคการเมืองหลายพรรคและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตั้ง
ต่อมาระหว่างปี ค.ศ. 1973-1977 สมเด็จพระราชาธิบดีซอบูซาที่ 2 แห่งราชวงศ์ดลามีนี ได้ทรงปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงการปกครองของสวาซิแลนด์ โดยได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจการปกครองให้อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และห้ามการจัดตั้งพรรคการเมือง นอกจากนี้ ได้ทรงวางรากฐานการปกครองประเทศสวาซิแลนด์ซึ่งใช้ปกครองประเทศสืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยทรงนำแนวทางการปกครองประเทศแบบตะวันตกผสมผสานกับการปกครองตามประเพณีดั้งเดิมเข้าด้วยกัน ปัจจุบันสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ซึ่งมีอิทธิพลเหนือราชอาณาจักรสวาซิแลนด์พยายามกดดันให้สวาซิแลนด์เปลี่ยนเปลงการปกครองเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ก่อนการสวรรคตของพระเจ้าซอบูซาที่ 2 ในปี ค.ศ. 1982 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระมเหสีเจลีเว (Queen Dzeliwe) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนกว่าเจ้าชายมาคอเซตีเว (Prince Makhosetive) ซึ่งประสูติแต่พระสนมอึนตอมบี (Ntombi) จะบรรลุนิติภาวะพระชันษา 21 ปีบริบูรณ์ แต่หนึ่งปีต่อมาพระสนมอึนตอมบีได้ยึดอำนาจจากพระมเหสี หลังจากนั้นอีกสามปีเจ้าชายมาคอเซตีเวที่มีพระชันษา 18 ปี ก็เสด็จขึ้นครองราชย์สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าอึมสวาตีที่ 3 (Mswati III) แต่ก็ปกครองอาณาจักรร่วมกับพระมารดาในลักษณะพระมหากษัตริย์คู่จึงถึงปัจจุบัน
เมื่อสวาซิแลนด์เป็นประเทศเอกราชแล้ว ก็มีการปกครองปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ในปี 2520 สมเด็จพระราชาธิบดีซอบูซาที่ 2 (Sobhuza II) ทรงเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตราบถึงทุกวันนี้ แต่หลังการสวรรคตของกษัตริย์ซอบูซาที่ 2 ได้มีการสถาปนาพระเจ้าอึมสวาตีที่ 3 ซึ่งมีพระมารดาคือพระสนมอึนตอมบีเป็นผู้ปกครองร่วม ทำให้เกิดการแบ่งอำนาจในลักษณะที่เรียกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์คู่ (Dual Monarchy) ซึ่งมีโครงสร้างการเมืองที่รวมศูนย์กลางอยู่ที่กษัตริย์, พระมารดา และเหล่าเชื้อพระวงศ์ และพระญาติที่เป็นเพศชายของทั้งสองพระองค์ กษัตริย์มีพระราชอำนาจเหนือระบบศาลและการทหาร รวมไปถึงอำนาจในการแบ่งปันที่ดินแก่ราษฎรทั่วประเทศ แต่อำนาจเหล่านี้จะถูกต้องตามกฎหมายและมีความชอบธรรมได้ก็ต่อเมื่อได้ความร่วมมือจากพระมารดา
เศรษฐกิจของสวาซิแลนด์เป็นเศรษฐกิจขั้นปฐมภูมิ พึ่งพิงภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ประชาชนอยู่ในภาคการเกษตรกว่าร้อยละ 80 นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจของสวาซิแลนด์ยังผูกพันอยู่กับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เป็นอย่างมาก โดยประมาณร้อยละ 80 ของสินค้านำเข้าจากแอฟริกาใต้ และร้อยละ 30 ของสินค้าส่งออกของสวาซิแลนด์ส่งไปยังแอฟริกาใต้ นอกจากนั้น ระบบการเงินและการคลังรวมทั้งระบบภาษีศุลกากรของสวาซิแลนด์ก็ผูกพันกับแอฟริกาใต้
มีประชากรทั้งหมด 1,032,000 คน เป็นชาวแอฟริกันเป็นส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ และบางส่วนนับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 81.6[ต้องการอ้างอิง] ของประชากรสามารถอ่านออกเขียนได้