ประวัติศาสตร์คริสตจักรของชนอังกฤษ (ละติน: Historia ecclesiastica gentis Anglorum; อังกฤษ: Ecclesiastical History of the English People ) เป็นวรรณกรรมที่เขียนในภาษาละตินโดยนักบุญบีดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์คริสตจักรในอังกฤษและประวัติศาสตร์อังกฤษโดยทั่วไป หนังสือเน้นความขัดแย้งระหว่างคริสตจักรโรมันคาทอลิก และศาสนาคริสต์แบบเคลต์ (Celtic Christianity)
หนังสือเล่มนี้ถือกันว่าเป็นหนังสือที่สำคัญที่สุดที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของแองโกล-แซ็กซอน ที่เชื่อกันว่าเขียนเสร็จในปี ค.ศ. 731 เมื่อนักบุญบีดมีอายุราว 60 ปี
หนังสือประวัติศาสตร์คริสตจักรแบ่งออกเป็น 5 เล่ม (ราว 400 หน้า) ที่มีเนื้อหาครอบคลุมประวัติศาสตร์ของอังกฤษทั้งทางศาสนาและทางการเมืองตั้งแต่สมัยจูเลียส ซีซาร์ จนถึงเมื่อเขียนจบในปี ค.ศ. 731 ยี่สิบเอ็ดบทแรกครอบคลุมช่วงเวลาก่อนการเผยแพร่คริสต์ศาสนาของนักบุญออกัสตินแห่งแคนเทอร์เบอรีที่เขียนจากเอกสารของนักเขียนก่อนหน้านั้นเช่นโอโรเซียส (Orosius), นักบุญกิลดาส (Gildas), นักบุญพรอสเพอร์แห่งอควิเทน (Prosper of Aquitaine), และนักบุญสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 และคนอื่นๆ โดยแทรกตำนานต่างๆ ด้วย
หลังจาก ค.ศ. 596 นักบุญบีดใช้เอกสารอ้างอิงต่างๆ จากทั่วเกาะอังกฤษและจากโรม และคำบอกเล่าที่นักบุญบีดพิจารณาถึงความเท็จจริง
หนังสือ “ประวัติศาสตร์คริสตจักร” ก็เช่นเดียวกับหนังสือประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่เขียนกันในยุคกลางที่ระดับความเป็นกลางจะต่ำกว่าหนังสือประวัติศาสตร์ที่เขียนกันในสมัยใหม่ เนื้อหาของหนังสือเป็นความจริง บวกวรรณคดี ผสมด้วยตำนาน เช่นนักบุญบีดอ้างคำกล่าวของผู้ที่ไม่ได้มีชีวิตในสมัยเดียวกับท่านโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิง
หนังสือ “ประวัติศาสตร์ทางศาสนา” มีจุดประสงค์ในการสั่งสอนและทางการศาสนา นักบุญบีดไม่แต่ต้องการจะเขียนเรื่องราวของชนอังกฤษแต่ยังต้องการที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและทางศาสนาด้วย ในด้านการเมืองนักบุญบีดมีความลำเอียงมาทางบริเวณที่ท่านอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรนอร์ทธัมเบรียโดยเน้นบทบาทในประวัติศาสตร์ที่เหนือไปกว่าบทบาทของราชอาณาจักรเมอร์เซียที่เป็นคู่อริสำคัญทางใต้ นอกจากนั้นก็ยังบรรยายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในคริสต์ศตวรรที่ 7 ที่แสดงความมีอำนาจของนอร์ทธัมเบรียแองโกล-แซ็กซอน กว่าในคริสต์ศตวรรที่ 8 ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง สิ่งเดียวที่นักบุญบีดติเกี่ยวกับนอร์ทธัมเบรียคือการสวรรคตของพระเจ้าเอกฟริธแห่งนอร์ทธัมเบรีย (Ecgfrith of Northumbria) ในการต่อสู้กับชนพิค (Pict) ในยุทธการดันนิเค็น (Battle of Dunnichen) ในปี ค.ศ. 685
นักบุญบีดกล่าวว่าความพ่ายแพ้ครั้งนี้มาจากความพิโรธของพระเจ้าในการที่นอร์ทธัมเบรียโจมตีไอร์แลนด์ในปีก่อนหน้านั้น แต่ขณะที่นักบุญบีดเข้าข้างนอร์ทธัมเบรีย แต่ยิ่งมีความนิยมไอร์แลนด์และการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในไอร์แลนด์ยิ่งไปกว่า นักบุญบีดเห็นว่าเป็นกิจการของผู้แพร่คริสต์ศาสนาในไอร์แลนด์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าแพร่คริสต์ศาสนาในอังกฤษเอง
ความมุ่งมั่นอีกหัวข้อหนึ่งคือเรื่องวันที่ที่ใช้ในการฉลองอีสเตอร์ที่นักบุญบีดเขียนอย่างยืดยาว และเป็นจุดเดียวที่นักบุญบีดตินักบุญคัธเบิร์ต (St Cuthbert) และมิชชันนารีในไอร์แลนด์ว่าฉลองอีสเตอร์ผิดวัน และในที่สุดก็มีความพอใจเมื่อคริสตจักรในไอร์แลนด์เปลี่ยนมาใช้วันที่ที่ถูกต้อง
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาของชนอังกฤษ