ประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรกของกัมพูชา เริ่มจากยุคโบราณคดีจนถึงสมัยของอาณาจักรเจนละ ซึ่งเรื่องราวของกัมพูชาในสมัยโบราณคดียังไม่เป็นที่เข้าใจกันดีนัก โดยแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่ของกัมพูชาอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชาในปัจจุบัน ตำนานที่เกี่ยวข้องได้แก่ตำนานเกี่ยวกับพระทอง - นางนาคที่นาคราชเป็นผู้สร้างเมืองกัมพูชาให้แก่พระทองที่เป็นลูกเขย ราชพงศาวดารกัมพูชาถือว่าต้นตระกูลของชาวกัมพูชาเป็นตะกวดที่ขึ้นมาฟังธรรมเทศนา
แหล่งโบราณคดีเก่าแก่ที่สุดของกัมพูชาที่ค้นพบในปัจจุบันคือ ถ้ำ แลง สแปน (Laang Spean) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าผู้คนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันเมื่อประมาณ 7,000 ปีก่อนคริสตกาล และแหล่งโบราณคดีสำโรง เซน (Samrong Sen) ซึ่งเชื่อว่าเริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อราว 230 ถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล
ชาวกัมพูชาเริ่มรู้จักการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกข้าวได้ตั้งแต่เมื่อราว 2,000 ก่อนคริสตกาล สามารถทำเครื่องมือจากเหล็กได้ตั้งแต่ราว 600 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนหน้าที่อิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียจะแผ่เข้ามาถึงดินแดนแถบนี้ ในราวปีที่ 100 ก่อนคริสตกาล
หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าพื้นที่หลายส่วนของดินแดนประเทศกัมพูชาในปัจจุบันเริ่มมีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่เมื่อราวสหัสวรรษแรกและสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยจัดเป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ ซึ่งผู้คนกลุ่มนี้อาจอพยพมาจากทางพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของจีนในก่อนช่วงคริสต์ศตวรรษแรก ผู้คนในแถบนี้ได้มีวิวัฒนาการสู่การตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง มีการจัดโครงสร้างของสังคมอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้สามารถพัฒนาทักษะวิทยาการต่างๆ ได้ก้าวหน้ากว่ายุคก่อนๆ เป็นอย่างมาก กลุ่มที่มีพัฒนาการก้าวหน้าที่สุดอาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่ง ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง สามารถเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงปศุสัตว์ได้ นักประวัติศาสตร์หลายคนมีความเห็นว่า ผู้คนกลุ่มนี้ได้ตั้งหลักแหล่งอาศัยก่อนหน้าผู้คนในประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม ไทย และลาว
ผู้คนกลุ่มนี้อาจจัดอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) หรืออย่างน้อยก็มีความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษของมนุษย์กลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทั่วไปในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาะแก่งต่างๆ ของมหาสมุทรแปซิฟิกในปัจจุบัน ผู้คนเหล่านี้มีความรู้ในงานโลหะเช่น เหล็กและสำริด โดยเป็นเป็นทักษะที่คิดค้นขึ้นเอง งานวิจัยในปัจจุบันได้ค้นว่า ชาวกัมพูชาในยุคนี้สามารถปรับปรุงสภาพภูมิประเทศมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ โดยปรากฏรูปแบบเป็นพื้นที่รูปวงกลมขนาดใหญ่
รัฐที่สำคัญที่สุดในบริเวณประเทศกัมพูชาในสมัยโบราณคืออาณาจักรพนม ซึ่งจีนเรียกว่าฟูนัน คำนี้จีนโบราณเรียกว่า “เบยยูณาม” ซึ่งไม่มีความหมายในภาษาจีน มีบางความเห็นกล่าวว่า ฟูนันตรงกับคำขแมร์ว่า “ภโนง” ซึ่งเป็นชื่อกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงปัจจุบัน เป็นวงศ์เดียวกับขแมร์ อีกอย่างคือรูปสลักบนฝาผนังโบราณได้แสดงว่าขแมร์ในสมัยนั้นใส่เสื้อผ้าและมีจารีตประเพณีบางอย่างเหมือนพวกภโนง ยอร์จ เซเดส เข้าใจว่าฟูนันตรงกับคำขแมร์โบราณว่า “วนม” ที่กลายเป็น “พนม” ในปัจจุบัน โดยยืนยันว่า “เสด็จ” ในสมัยนั้นมีฐานันดรนามว่า “เสด็จพนม” คำขแมร์โบราณว่า “โกะรุงวนม” ตรงกับคำสันสกฤตว่า “บรวตภูบาล” หรือ “ไสลราช” คนจีนก็นำเอาฐานันดรนามนี้ใช้สำหรับเรียกประเทศที่เสด็จทั้งหลายปกครอง E. Aymomier เห็นว่าสมัยโบราณจีนไม่รู้จักแยกแยะคนกับประเทศ แต่ใช้ชื่อมนุษย์ ราชธานี ประเทศ หรือชื่อฐานันดรนามของผู้นำเรียกรวม ๆ กันไป
ยอร์จ เซเดส ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า อธิราชอาณาจักรพนมมีฐานันดรนาม “คูลง” หรือกรุง ที่ปัจจุบันมีความหมายว่า เสด็จเสวยราช ดังนั้นฟูนันที่จีนเรียกตามฐานันดรนามของอธิราชอาณาจักรพนมคือ “โกะรุงวนม” นี่เอง มีฐานันดรนามอย่างนี้ก็เพราะพนม (ภูเขา) เป็นสถานที่ที่อธิราชขึ้นไปพบกับพระอิศวร เอกสารจีนกล่าวว่า “พระอาทิเทพเสด็จขี้นพนมโมตัน (Mo-tan) เป็นประจำ พระอิศวรมาที่นั่นเพื่อแสดงมหิทธิฤทธิ์ของพระองค์ พระอธิราชทั้งหลายได้รับพรชัยจากองค์พระอิศวร และประชาราษฎร์ก็ได้รับความสุขจำเริญ
ในเอกสารจีนได้กล่าวถึงเขตแดนของอาณาจักรพนมไว้ดังนี้ ฟูนันมีระยะ ๓,๐๐๐ ลี้ จากประเทศลีนยี (จามปา) ไปทางตะวันตก ฟูนันมีระยะ ๗,๐๐๐ ลี้ จากตงกึง (Jenan) ฟูนันมีความกว้าง ๓,๐๐๐ ลี้ ภายหลังขยายดินแดนมีขนาดถึง ๕,๐๐๐ หรือ ๖,๐๐๐ ลี้ ฟูนันอยู่ตรงอ่าวใหญ่ ฟูนันมีแม่น้ำใหญ่ไหลจากทางตะวันตก (เอกสารบางฉบับว่าพายัพ) แล้วไหลลงสู่ เมื่อพิจารณาว่าระยะทาง ๑ ลี้ มีความยาวเท่ากับ ๕๗๖ เมตร จะได้ระยะทางจากลีนยีมาฟูนันเท่ากับ ๑,๗๒๘ ก.ม. ซึ่งจะตรงกับประเทศกัมพูชา และตอนกลางประเทศไทยในปัจจุบัน ทะเลตามที่ว่าคืออ่าวไทย แม่น้ำใหญ่ที่ว่าคือแม่น้ำโขงหรือเม่น้ำสาบนั่นเอง สรุปก็คือศูนย์กลางรัฐฟูนันอยู่ตรงที่ราบด้านใต้แม่น้ำโขง ซึ่งจุดนี้นักค้นคว้าเห็นพ้องต้องกัน
ศิลาจารึกในสมัยต่อมาได้พูดถึงกรุงวยาธบุระ (เมืองของเสด็จคล้องช้าง) ซึ่งนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเป็นราชธานีแห่งหนึ่งของฟูนัน จีนเรียกราชธานีฟูนันว่า “โตโม” (T’mo) ซึ่งยอร์จ เซเดส ว่าตรงกับคำขแมร์โบราณว่า “โตเมียะ” หรือ “ตลเมียะ” (คนคล้องช้าง) และเชื่อว่ากรุงวยาธบุระอยู่แถบภูเขาในเขตไปรเวงในปัจจุบัน พระภิกษุปางขัดก็มีความเห็นเดียวกัน และทรงเขียนไว้ว่า “ราชธานีวยาธบุระตั้งอยู่ที่บาพนม ซึ่งน่าจะอยู่ที่พนมขสัจ (ภูเขาทราย) ในปัจจุบัน เพราะมีการค้นพบโบราณสถานและเทวรูปจำนวนมาก ศิลาจารึกที่อยู่ในวัดจักรึต ตรงเชิงเขา เมื่อคริสต์ศตวรรษที่๑๐ ได้กล่าวถึงการสร้างเทวรูปพระอิศวรเรียกว่า อติรวยาธบุเรศวร สิ่งสำคัญอีกอย่างคือที่บาพนมในปัจจุบันมีหมู่บ้านจำนวนมากที่มีชื่อเกี่ยวกับช้าง คือ โรงช้าง หัวช้าง และป่าช้าง
ตามประวัติศาสตร์ราชวงศ์เหลียงว่า กรุงนี้ตั้งอยู่ประมาณ ๒๐๐ ลี้ (๑๑๕ ก.ม.) จากทะเล ซึ่งตรงกับระยะจากบาพนมไปโอแกว ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ของฟูนัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ Louis Malleret ชาวฝรั่งเศสได้ทำการสำรวจตามสถานต่าง ๆ ในพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำโขง และได้ค้นพบรมณียฐานโอแกวนี้ ซึ่งเขาได้จัดว่าเป็นท่าเรือใหญ่ของฟูนัน เพราะที่นั่นอยู่ด้านใต้พนมบาเท เขตกรอมวนสอ (ขี้ผึ้งขาวบริสุทธิ์) เขาขุดพบสิ่งก่อสร้างพร้อมทั้งโบราณวัตถุต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มีทั้งมาจากจักรวรรดิ์โรมและอินเดีย บ้างเป็นวัตถุทำจากหินมีค่า ด้วยเหตุนี้จึงมีบางความเห็นว่า โอแกวคือราชธานีแรกของฟูนัน แต่มีนักค้นคว้าอื่น เช่น Jean Boisselier เชื่อว่า ราชธานีนี้ตั้งอยู่ตรงที่ราบด้านใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเขาได้ค้นพบเทวรูปทำจากดินอิฐมอญ ซึ่งเป็นของทำขึ้นภายในประเทศ ไม่ใช่นำมาจากต่างประเทศ ต่อมาในปลายสมัยฟูนัน ราชธานีได้ย้ายไปอยู่ใกล้ปากแม่น้ำทางใต้ประเทศกัมพูชา
กังไท ราชทูตจีนที่ได้เดินทางไปฟูนันเมื่อกลางศตวรรษที่ ๓ ได้บันทึกว่า ปฐมกษัตริย์ของฟูนันมีพระนามว่า “ฮุนเตียน” เดินทางมาจากอินเดียหรือแหลมมาลายู หรือเกาะทางใต้ ฮุนเตียนฝันว่าเทวดาประจำตัวได้มอบธนูทิพย์ให้และได้บัญชาให้เขาแล่นสำเภาไป ถึงตอนเช้าเขาได้มาถึงปราสาทเทวดาและได้เห็นธนูตามความฝัน ต่อมาเขาได้เดินทางทางทะเลไปถึงฟูนัน ซึ่งมีราชินีลีวยีปกครองอยู่ เมื่อพระนางได้เห็นสำเภาแปลกถิ่นก็ยกทัพออกไปขับไล่ แต่ก็ถูกฮุนเตียนยิงธนูทะลุสำเภาของนาง ทำให้นางยอมแพ้และกลายเป็นมเหสีของฮุนเตียน ฮุนเตียนจึงปกครองฟูนันชั่วลูกชั่วหลานสืบมา นี่เป็นเรื่องราวแบบจีนที่กล่าวถึงกำเนิดราชวงศ์ฟูนัน ขณะที่ศิลาจารึกจามที่มีสืน จารึกขึ้นใน พ.ศ. ๖๕๘ ได้บันทึกไว้ว่าพราหมณ์โกณฑินยที่ได้รับหอกจากพราหมณ์อศวตถามัน ได้ขว้างหอกออกไปเพื่อหาสถานที่สร้างราชธานี และได้ราชาภิเษกกับนางโสมา ซึ่งเป็นบุตรีของภุชงค์นาค เกิดเป็นราชวงศ์โสมวงศ์ ซึ่งตรงกับเรื่องราวในศิลาจารึกปักษีจำกรุง (ศตวรรษที่๑๐) และตรงกับที่จีต้ากวัน นักเดินทางชาวจีนได้บันทึกไว้ ทั้งยังตรงกับเรื่องพระทองนางนาคในราชพงศาวดารขแมร์ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวแบบใดก็อาจสันนิษฐานได้ว่า ฮุนเตียน, โกณฑินย และพระทอง เป็นมนุษย์ ขณะที่นางลีวยี, โสมา และนางนาค ก็น่าจะเป็นคน ๆ เดียวกัน อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า มีชาวต่างชาติได้นำอารยธรมเข้ามาเผยแพร่กับคนพื้นเมืองและผสมผสานกันมาจนถึงทุกวันนี้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอยู่ในช่วงศตวรรษที่ ๑ ในศตวรรษต่อมาเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ถูกบันทึกลงในศิลาจารึกและบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวจีน
ตามพงศาวดารราชวงศ์เหลียง ฮุนเตียนมีบุตรผู้หนึ่ง ทำหน้าที่ดูแลเมืองเจ็ดเมือง ในบรรดาเสด็จที่เสวยราชต่อ ๆ กันมา มีเสด็จองค์หนึ่งชื่อว่า “ฮุนปางฮวง” เสด็จองค์นี้ได้ใช้กลอุบายต่าง ๆ ทำให้เมืองทั้งหลายแตกสามัคคีแล้วยกทัพไปปราบได้ทั้งหมด จากนั้นก็ได้ให้ลูกหลานของตนไปดูแลเมืองเหล่านั้น ฮุนปางฮวงทิวงคตเมื่อมีอายุได้ ๙๐ ปี บุตรคนที่ ๒ ชื่อปานปานได้ขึ้นครองราชย์ แต่พระองค์ได้มอบกิจการทั้งหลายให้แม่ทัพฟานเจมันดูแลรับผิดชอบ ปานปานเสวยราชได้ ๓ ปีก็สุรคตไป ประชาราษฎร์พร้อมใจกันให้ฟานเจมันขึ้นเสวยราช กษัตริย์องค์นี้มีความกล้าหาญ ทรงยกทัพไปตีเมืองต่าง ๆ มาเป็นเมืองขึ้นได้จำนวนมาก พระองค์ทรงประกาศว่าตนเองคือมหาราชแห่งฟูนัน ต่อมาทรงให้ต่อสำเภาข้ามทะเลไปตีเมืองอื่น ๆ ได้มากกว่า ๑๐ เมือง ในจำนนนี้มีนครคีวตูคุน เกียวเฉ และเตียนสุน พระองค์ได้ขยายดินแดนออกไป ๕,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ ลี้ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าฟานเจมันนี้คือพระศรีมาระที่มีชื่ออยู่ในศิลาจารึกวูกัญ ที่พบในจังหวัดญาตราง ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมมีความสับสนว่าเป็นกษัตริย์ของจามปา แต่ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๗๑ Louis Finot ได้พิสูจน์ว่าเป็นรัฐเพื่อนบ้านของอาณาจักรพนม เอกสารจีนได้กล่าวว่าฟานเจมันได้เสวยทิวงคตไปขณะยกทัพไปตีรัฐคีวลีน (กำแพงเพชร) ซึ่งยอร์จ เซเดสว่าตรงกับสุวรรณภูมิ (แผ่นดินทองในอรรถบทบาลี) หรือสุวรรณกุฎย (กำแพงเพชรในอรรถบทสันสกฤต อยู่ทางใต้ของพม่าหรือเหนือแหลมมาลายู) ตอนประชวรนั้นทรงส่งราชบุตรชื่อคินเจงให้ไปเสวยราชแทนพระองค์ ตอนนั้นหลานของพระองค์ชื่อฉาน ซึ่งเป็นลูกของพี่สาวของพระองค์ ได้คุมทัพ ๒,๐๐๐ ทำการแย่งชิงราชสมบัติและประหารรัชทายาทไป ในตอนที่ฟานาเจมันทิวงคตไปนั้น มีบุตรอีกคนหนึ่งที่ยังไม่หย่านมชื่อฉาง อาศัยอยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไป เมื่อมีอายุได้ ๒๐ ปี ก็นำสมัครพรรคพวกเข้าไปฆ่าฉานได้สำเร็จ แต่แม่ทัพของฉานชื่อฟานซียุนได้ฆ่าฉางแล้วขึ้นเสวยราชแทน พระองค์ทรงบัญชาให้ก่อสร้างสถานที่สำหรับพักผ่อนต่าง ๆ ตอนเช้าและเที่ยงพระองค์ทรงประทานการตัดสินความ ๓ - ๔ คดี ประชาชนและชาวต่างชาติได้นำของถวาย เช่น กล้วย อ้อย เต่า นก ฯลฯ
ในรัชกาลของฉาน อาณาจักรพนมได้ติดต่อกับราชวงศ์มุรุณฑของอินเดียเป็นครั้งแรก และมีการส่งราชทูตไปจีน ซึ่งยอร์จ เซเดส เชื่อว่าเป็นเรื่องทางการค้ามากกว่าเรื่องการเมือง ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในช่วงสามก๊ก (เหตุการณ์นับแต่ฟานเจมันทิวงคตจนถึงฟานซียุนเสวยราชย์คือช่วงปี ค.ศ. ๒๒๕ - ๒๕๐ ก๊กวูไม่สามารถทำการค้าทางบกกับประเทศทางตะวันตกได้ ก็หันมาทางทะเลทำการค้ากับประเทศต่าง ๆ จนถึงช่องแคบมะละกา การติดต่อกับอินเดีย เอกสารจีนในปลายศตวรรษที่ ๕ ได้กล่าวว่า มีคนพื้นเมืองชื่อเกียเซียงลี อาศัยอยู่ที่ตันยาง (ทางตะวันตกของอินเดีย) การเดินทางไปกลับอาณาจักรพนม-อินเดียนี้ใช้เวลาถึง ๓-๔ปี เขารู้ว่าฟานฉานติดใจในเรื่องแปลก ๆ ที่เขาบอก และฟานฉานได้ส่งญาติของพระองค์ชื่อซูวูไปอินเดียในฐานะทูต เมื่อไปถึงโตคีวลี ตรงนี้เห็นว่าอาณาจักรพนมได้แผ่ขยายอิทธิพลมาถึงมหาสมุทรอินเดีย สำเภาเดินทางตามแม่น้ำคงคาไปจนถึงราชธานีหนึ่ง ซึ่ง S. L?vi ว่าเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์มุรุณฑ กษัตริย์องค์นี้ได้นำแขกผู้มาเยือนได้ทัศนาประเทศของพระองค์ และให้ชาวอินเดียผู้หนึ่งชื่อเฉนสงเดินทางส่งกลับประเทศ พร้อมกับได้มอบม้า ๔ ตัวเพื่อเป็นของถวายแค่อธิราชอาณาจักรพนม
ตามเอกสารสมัยสามก๊กกล่าวว่า ฟานฉานได้ส่งทูตไปจีนเมื่อ ค.ศ. ๒๔๓ โดยถวายนักเพลงและผลิตผลต่าง ๆ ต่อพระเจ้ากรุงจีน เป็นที่สงสัยกันว่าฟานฉานนี้หรือไม่ที่เป็นผู้สร้างศิลาจารึกวูกัญ และนับตัวเองเป็นญาติกับศรีมาระ ฟานซียุนได้ต้อนรับคณะทูตจากจีนประมาณ ค.ศ. ๒๔๕ - ๒๕๐ ซึ่งมาผูกสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรพนมต่อมาภายหลังฟานซียุนได้ส่งทูตไปจีนหลายครั้งในช่วง ค.ศ. ๒๖๘ - ๒๘๗ ซึ่งมีการบันทึกไว้ในพงศาวดารราชวงศ์ซีน
ฟานซียุนได้เสวยราชย์ถึง ค.ศ. ๒๘๙ จากนั้นจนถึงกลางศตวรรษที่ ๔ ไม่มีเอกสารใด ๆ กล่าวถึงอาณาจักรพนมอีกเลย พงศาวดารราชวงศ์ซีนและเหลียงได้กล่าวว่า ค.ศ. ๓๕๙ กษัตริย์อาณาจักรพนมชื่อเทียนชูฉานตานได้ส่งส่วยเป็นช้างไปถวาย คำว่า “เทียนชู” เป็นชื่อที่จีนเรียกประเทศอินเดีย ดังนั้นคำว่า “เทียนชูฉานตาน” จึงหมายถึงอินเดียชื่อฉานตาน ซึ่ง S. L?vi ว่าฉานตานเป็นคำเรียกตามเสียงของคำว่า Chandan ที่เป็นฐานันดรนามของพวกฮินดู-ซิกข์ โดยเฉพาะของราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งได้ยกทัพเข้าตีอินเดียและปกครองแถบแม่น้ำคงคาไปจนถึงกรุงพาราณาสีเป็นอย่างน้อย ใน ค.ศ. ๓๕๗ อินเดียทางเหนือปกครองโดยราชวงศ์คุปตะ ภายใต้การนำของพระเจ้าสมุทรคุปต์ พวกซิกข์ผู้รุกรานจึงถูกจำกัดออกไป ทำให้พวกกุษาณะได้หนีมาถึงสุวรรณภูมิและอาณาจักรพนม ผู้ค้นคว้าเชื่อว่าเสด็จเทียนชูฉานตานนี้เองที่เป็นผู้นำศิลปะรูปปั้นที่สำคัญ ๆ มาเผยแพร่เช่นเสื้อของพระสุริยะ และมงกุฎพระวิษณุ การแสดงความเห็นนี้ก็โดยอ้างถึงสิ่งที่ค้นพบที่รมณียฐานโอแก้ว และหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงการติดต่อระหว่างอาณาจักรพนมกับอิหร่าน เช่นรูปปั้นพิธีบวงสรวงพระอัคคี และก้อนเพชรรูปกษัตริย์ราชวงศ์ Sasanide เฉพาะรัชกาลของเทียนชูฉานตานนี้ เหตุการณ์ที่รู้แน่ชัดคือการส่งส่วยไปถวายพระเจ้ากรุงจีนใน ค.ศ. ๓๕๗ หลังจากนั้นไม่มีข้อมูลใดอีก มาเริ่มอีกครั้งเมื่อปลายศตวรรษที่ ๔
ช่วงกลางครึ่งแรกของศตวรรษที่ ๕ มีการเผยแพร่อารยธรรมอินเดียมายังสุวรรณภูมิครั้งใหม่ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้พยายามค้นหาว่าเกิดจากอะไร ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการที่พระเจ้าสมุทรคุปต์ (ค.ศ. ๓๕๗-๓๗๕) ได้เข้าตีทางภาคใต้ของอินเดีย เป็นเหตุให้มีผู้คนอพยพหนีเข้ามายังสุวรรณภูมิ และ S. L?vi ได้กล่าวว่าเหตุการณ์นี้ได้ทำให้ชาวซิกข์คนหนึ่งได้มาเสวยราชในอาณาจักรพนม ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการรับอิทธิพลอารยธรรมอินเดียจากพวกกษัตริย์ พราหมณ์ และผู้มีความรู้ นับจากกลางศตวรรษที่ ๔ - ๕
บรรดาเสด็จที่เสวยราชย์ต่อจากเทียนชูฉานตาน มีเสด็จองค์หนึ่งชื่อเคียวเฉนยู (โกณฑัญญะ) เป็นพราหมณ์มีชาติกำเนิดในอินเดีย ได้รับบัญชาจากเสียงลึกลับให้ไปเสวยราชย์ที่อาณาจักรพนม สร้างความยินดีให้ตัวเองนัก เมื่อเดินทางไปถึงปานปานทางทิศใต้ ผู้คนในอาณาจักรพนมที่ได้ยินเรื่องราวต่างออกมาต้อนรับแล้วยกให้ขึ้นครองราชย์ เสด็จองค์นี้ได้ตรากฎหมายตามแบบอินเดีย และบรรดาเสด็จที่เสวยราชย์ต่อมามีเสด็จชื่อเฉลีโดปาเมา (ศรีอินทรวรมัน) ซึ่งได้ส่งสารและเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีนหลายครั้ง คือเมื่อ ค.ศ. ๔๓๔ - ๔๓๕ และ ๔๓๘ เพื่อรักษาไมตรีกับจีน ใน ค.ศ. ๔๓๑ - ๔๓๒ ได้ทะเลาะกับพวกจามปาเพื่อแย่งชิงเขตตงกึงของประเทศจีน
พงศาวดารราชวงศ์ซีนใต้กล่าวว่า ประมาณ ๑๐ ปีหลังจาก ค.ศ. ๔๓๑ - ๔๓๒ เสด็จที่เสวยราชย์ในอาณาจักรพนมคือพระเจ้าชัยวรมัน (เบาเยปาเมา) เป็นเสด็จในราชวงศ์โกณฑัญญะ ซึ่ง P. pelliot ได้กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันได้ส่งพวกพ่อค้าไปยังกวางตุ้ง ขากลับประสบกับพายุพัดไปขึ้นฝั่งที่ประเทศลินยีพร้อมกับพระภิกษุอินเดียชื่อนาคเสน พระภิกษุรูปนี้ได้นำทางกลับมายังอาณาจักรพนมด้วยเส้นทางลัด ภายหลังได้ถูกส่งไปกรุงจีนอีกครั้งเพื่อขอทัพมาช่วยรบกับมนตรี (บ้างว่าบุตร) ที่ออกจากประเทศไปจามปาเพื่อคิดทำการแย่งราชสมบัติ จีนไม่ได้ส่งทัพมาตามคำขอ แต่เพื่อรับไมตรีไว้จึงส่งผ้าแพรสีแปลก ๆ มาให้ ในรัชกาลนี้มีพระภิกษุสองรูป คือ สงฆบาลและมนตรเสน ได้ถูกส่งไปยังจีนเพื่อช่วยแปลคัมภีร์ต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๕๐๓ พระองค์ทรงให้นำพระพุทธรูปและวัตถุต่าง ๆ ไปถวายพระเจ้ากรุงจีน
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/ประวัติศาสตร์ยุคแรกของกัมพูชา