ปฏิบัติการมาร์เก็ตการ์เดน (อังกฤษ: Operation Market Garden) เป็นปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยประเทศอังกฤษ ในห้วงวันที่ 17-25 กันยายน ค.ศ. 1944 เหนือแผ่นดินประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยใช้ยุทธบรรจบแบบโอบทางดิ่ง ด้วยการส่งกำลังทางอากาศเข้าสู่เขตแนวหลังของเยอรมันเพื่อยึดเมืองและสะพานขนาดใหญ่สำคัญทั้ง 5 แห่ง พร้อมทั้งให้กองกำลังภาคพื้นดิน คือ กองทัพสนามที่ 30 (The British XXX Corps) เคลื่อนที่ไปตามทางหลวงหมายเลข 69 เพื่อตีเจาะแล้วบรรจบกำลังกันที่เมืองอาร์นเน็ม (Arnhem) เพื่อรวมพลก่อนรุกคืบเข้าสู่แคว้นรูห์ (Ruhr) ทางตอนเหนือของเยอรมันต่อไป โดยฝ่ายสัมพันธมิตรมุ่งหมายที่จะเผด็จศึกฝ่ายนาซีเยอรมนีให้เสร็จสิ้นก่อนวันคริสต์มาส ปี ค.ศ. 1944
มาร์เก็ต เป็นรหัสหมายถึง หน่วยส่งกำลังทางอากาศ ประกอบด้วยกองพลส่งกำลังทางอากาศ 4 หน่วย และกองพลทหารภูเขา 1 หน่วย ได้แก่
การ์เดน เป็นรหัสหมายถึง กองกำลังภาคพื้นดิน ประกอบด้วยกองทัพสนามที่ 30 (British XXX Corps) ของอังกฤษ มีกองพลยานเกราะรักษาพระองค์ (Guards Armoured Division) เป็นหัวหอก และมีกองพลทหารราบที่ 43 และ 50 เป็นหน่วยสนับสนุน
ในห้วงปฏิบัติการดังกล่าวนั้น กองกำลังสัมพันธมิตรได้มีการปะทะกับกองกำลังเยอรมันในหลายพื้นที่ แต่พื้นที่ที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงที่สุด คือ บริเวณสะพานจอห์น ฟรอสต์ (John Frost Bridge) ที่เมืองอาร์นเน็ม ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จอมพลมอนโกเมอรี่ (F.M. Bernard Montgomery)ต้องการยึดครองให้ได้ เนื่องจากเป็นสะพานคอนกรีตขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับน้ำหนักของหน่วยยานเกราะได้เป็นอย่างดี
ฝ่ายอังกฤษซึ่งประกอบด้วยกองพลส่งกำลังทางอากาศที่ 1 (1st Airborne Division)และกองพลน้อยทหารพลร่มที่ 1 โปแลนด์ (Polish 1st Independent Parachute Brigade)ได้ปะทะกับกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 9 โฮเฮนสเตาเฟน (9th SS Panzer Division Hohenstaufen) ของเยอรมันที่มาพักฟื้นและปรับกำลังที่เมืองแห่งนี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ยึดเชิงสะพานไว้คนละด้านก่อนจะมีการต่อสู้กันอย่างหนักหน่วงถึง 3 วัน 3 คืน
ในช่วงแรก ฝ่ายเยอรมันได้ทำการหยั่งเชิงกำลังของฝ่ายอังกฤษด้วยการส่งยานเกราะเบาและทหารราบเข้ามา จึงถูกฝ่ายอังกฤษตีโต้ยับเยินกลับไป เมื่อฝ่ายเยอรมันรับรู้ถึงขีดความสามารถของฝ่ายอังกฤษแล้ว และทราบว่าฝ่ายอังกฤษเองก็อ่อนล้าเต็มที่เนื่องจากขาดแคลนทั้งอาวุธ กระสุน และเสบียงอาหาร เพราะการส่งกำลังบำรุงทางเครื่องบินนั้นด้วยการทิ้งสิ่งของนั้นไม่ลงตามเป้าหมาย แต่กลับถูกกระแสลมก็พัดพาไปลงฝั่งเยอรมันเป็นส่วนมาก จึงทำให้ฝ่ายเยอรมันจัดทัพด้วยการใช้การกำลังยานเกราะหนักเต็มรูปแบบเข้าโจมตีอย่างหนักหน่วง จนในที่สุดฝ่ายอังกฤษก็ต้องยอมจำนนในเวลาต่อมา
ในขณะที่ทหารอังกฤษในเมืองอาร์นเน็มยอมจำนนต่อเยอรมันนั้น กองทัพสนามที่ 30 ได้อยู่ห่างจากเมืองอาร์นเน็มไปเพียง 9.4 กิโลเมตรเท่านั้น แต่เนื่องจากการเคลื่อนพลนั้นใช้ยานเกราะหนัก คือ รถถัง เป็นหัวขบวนจึงทำให้การเคลื่อนพลได้ล่าช้า ทั้งยังถูกฝ่ายเยอรมันก่อกวนด้วยการวินาศกรรมสะพานขนาดเล็กตามรายทางและปล่อยน้ำเข้าท่วมพื้นที่ลุ่ม ทำให้กองทัพสนามที่ 30 ต้องเสียเวลาวางสะพานทุ่นลอยและเคลื่อนพลไปบนท้องถนน จึงทำให้ตกเป็นเป้าของฝ่ายเยอรมันที่ลอบซุ่มโจมตี (Ambush) ด้วยปืนใหญ่รถถังและปืนต่อสู้รถถังจากข้างทาง ทำให้กองพลนี้ต้องเสียเวลาในการเคลียร์เส้นทางและจัดการกับซากรถ ด้วยเหตุนี้กองทัพสนามที่ 30 จึงมิอาจยกทัพมาช่วยเหลือกองพลปีศาจแดงได้ทันการณ์
การโยกย้ายกำลังของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 9 มาที่เมืองอาร์นเน็มนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากภารกิจตีฝ่าวงล้อม (Pocket) ของอังกฤษและแคนาดาที่เมืองฟาเลส์ (Falaise pocket) ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 12-21 สิงหาคม ค.ศ. 1944 เพื่อเปิดช่องและคุ้มกันระวังหลังให้ทหารเยอรมันจากเมือง Merri และเมือง Falaise ถอยร่นออกมาทางเมือง Trun ซึ่งทางหน่วยใต้ดินของฮอลแลนด์ที่ทำงานเป็นสายลับให้อังกฤษได้รายงานข่าวกรองนี้ให้ทางอังกฤษทราบแล้ว รวมทั้งมีภาพถ่ายทางอากาศของกองทัพอากาศอังกฤษยืนยันว่ามียานเกราะของเยอรมันอยู่บริเวณใกล้กับเมืองนี้ แต่ ผบ. ควบคุมปฏิบัติการรวม คือ พลโทเฟรเดอริค บราวนิ่ง (Lt. Gen. Frederick Browning) ของอังกฤษไม่เชื่อข่าวกรองนี้ อีกทั้งยังมีการแก่งแย่งกันเอาหน้ากันระหว่างสัมพันธมิตร โดยฝ่ายอังกฤษนำโดยจอมพลมอนโกเมอรี่ ซึ่งเป็นเจ้าภาพปฏิบัติการนี้ ต้องการให้ฝ่ายอังกฤษได้หน้าในการโอบทางดิ่งด้วยการยึดสถานที่ที่สำคัญกว่าฝ่ายอเมริกัน
ซึ่งการวางกำลังโดยหว่านพลร่มกองพันทหารพลร่มที่ 1 ของอังกฤษและกองพลน้อยพลร่มโปแลนด์ กองพลพลร่มที่ 82,101 ของสหรัฐอเมริกา กระจายตามเขตประเทศฮอลแลนด์(เนเธอร์แลนด์) เข้าไปยังเมืองไอด์โฮเฟน แล้วจะเปิดเส้นทางการรุกรบทางใต้ ให้แก่กองพลรถยานเกราะรักษาพระองค์ของอังกฤษ และทหารราบที่มากับรถลำเลียงของกองทัพที่ 2 เพื่อยึดและป้องกันการทำลายสะพานระหว่างจุดเริ่มต้นจามเมืองไอด์โฮเฟน-เมืองฮาร์นเฮม กองกำลังที่จะกรุยทางให้แก่กองทัพที่ 2 ของอังกฤษได้แก่ กองพันพลร่มที่ 1 อังกฤษ พร้อมกับกองพลน้อยทหารพลร่มของโปแลนด์ และกองพลพลร่มที่ 82,101,506 ของสหรัฐอเมริกาพร้อมกับกองพันพลร่มที่ 3 บางส่วน เพื่อทำการเข้าตีและยึดเมืองไอด์โฮเฟน แล้วป้องกันสะพานเพื่อการขนกำลังพลของกองทัพที่ 2 อังกฤษและกองพลรถถังยานเกราะรักษาพระองค์
แต่แผนปฏิบัติการถูกฝ่ายเยอรมันอ่านออก กองกำลังสัมพันธมิตรทั้งหมดต้องถอยกลับมาตั้งหลักเนื่องจาก การหวานพลร่มในตอนกลางวัน โดยมีการยิงป.ต.อ.ปืนต่อสู้อากาศยานเพียงเล็กน้อย แล้วการแซ่ซ้องยินดีของประชาชนชาวดัทช์ที่ออกมาจากบ้านแล้วร่มฉลองต้อนรับเหล่าทหารเมื่อมาถึงเมืองไอด์โอเฟน กองพันพลร่มที่ 2 ของสหรัฐอเมริกาก็ถูก กองพลน้อยรถถังแพนเซ่อร์(Panzer)ที่ 107 ตีแตกกระเจิงไม่เป็นชิ้นดี ในเส้นทางสายเดี่ยวที่จะออกไปยังเมืองอาร์นเฮม จนกองพันพลร่มที่ 2ขนานนามให้ทางสายนี้ว่า "ทางหลวงนรก" จนทำให้ฝ่ายเยอรมันจัดการกับสะพานที่จะขนถ่ายกำลังของอังกฤษให้การส่งกำลังพลล่าช้าในเวลาต่อมา
ยอดจำนวนทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่สูญเสียในแผนปฏิบัติการ Marget-garden (มาร์เก็ต-การ์เดน) หลังจากการย้อนกลับมาตีโต้ของกองกำลังพลร่มสหรัฐอเมริกา ยอดของการสูญเสียที่มากที่สุดของกองพลพลร่มที่ 1 อังกฤษที่ข่มขื่นใจเป็นที่สุด ในการโดดร่มลงในลุ่มแม่น้ำไรน์ ตอนล่าง วันที่ 17 กันยายน ก่อนเข้าเมืองไอด์โฮเฟน ด้วยกำลัง 10,005 นาย อพยพกลับ ในวันที่ 26 กันยายน ได้เพียง 2163 นาย เกือบ 8,000 นายเสียชีวิตหรือบาดเจ็บและถูกจับเป็นเชลยศึก
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/ปฏิบัติการมาร์เก็ตการ์เดน