ปฏิทินไทย (อังกฤษ: Thai calendar) เป็นปฏิทินชนิดที่เรียกว่าสุริยจันทรคติ โดยใช้ปฏิทินสุริยคติไทยในทางราชการและนิยมใช้ทั่วประเทศไทย ซึ่งขณะเดียวกัน ปฏิทินจันทรคติไทย มีการใช้งานในการนับวันสำคัญทางพุทธศาสนาและวันข้างขึ้นข้างแรม
ในอดีตประเทศไทยใช้ปฏิทินจันทรคติ โดยในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ได้นับปีตามปีมหาศักราชตามที่ปรากฏในศิลาจารึก จนกระทั่งถึงสมัยพญาลิไท[ต้องการอ้างอิง] / สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[ต้องการอ้างอิง] ได้เปลี่ยนมาใช้จุลศักราช โดยใช้วันเถลิงศก (วันพระญาวัน) เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งยังคงใช้ปฏิทินจันทรคติอยู่ ถึงแม้ว่าปฏิทินราชการจะใช้จันทรคติ แต่ทางคณะสงฆ์ยังนิยมใช้เทียบปีในรูปแบบพุทธศักราชอยู่ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ยังคงให้มีวันเปลี่ยนปีขึ้นจุลศักราชใหม่ตามปฏิทินสุริยคติแบบสุริยยาตรด้วยวันเถลิงศกซึ่งตรงกับวันที่ 15 เมษายนในสมัยนั้น.ส่วนปีนักษัตรให้นับเปลี่ยนปีตามปฏิทินจันทรคติ คือใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 แทน. และระหว่างวันเปลี่ยนปีนักษัตร (จันทรคติ) กับวันขึ้นปีจุลศักราช(สุริยคติ)นี้จะเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนปีนักษัตรแล้วแต่ปีจุลศักราชยังเป็นปีเก่าอยู่จึงให้เพิ่มคำว่า "ยังเป็น" อีกด้วย. จนกระทั่งในปี จุลศักราช 1240 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2431 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติแบบสากลตามปฏิทินเกรกอเรียนแทนที่ โดยกำหนดแบ่งให้หนึ่งปีมี 12 เดือน และในแต่ละเดือนจะมี 28-31 วันตามปฏิทินสากล ทรงให้กรมพระยาเทววงศ์วโรปการตั้งชื่อเดือน ได้แก่ เดือนแรกของปีคือเดือนเมษายน จนถึงเดือนสุดท้ายของปี คือเดือนมีนาคม ซึ่งยังคงใช้รัตนโกสินทรศก เป็นชื่อปีอย่างเป็นทางการ โดยใช้ 1 เมษายน ร.ศ. 108 แทนที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 จนกระทั่งเลิกใช้ปีรัตนโกสินทรศกที่ 131 จึงได้เปลี่ยนมาใช้ปีพุทธศักราชอย่างเป็นทางการ โดยปีพุทธศักราชแรกที่ใช้คือปี พ.ศ. 2456 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้งโดยปรับให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นวันเริ่มต้นของปีแทนที่รูปแบบเดิม โดยวันขึ้นปีใหม่ในรูปแบบนี้เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งตัดสามเดือนสุดท้ายของปี 2483 ออก ทำให้เดือน มกราคม 2483, กุมภาพันธ์ 2483, และ มีนาคม 2483 หายไป
ปฏิทินพุทธศักราชไทยจะมีค่ามากกว่าปฏิทินคริสต์ศักราชอยู่เท่ากับ 543 ปีพอดี โดยคำนวณจะทำได้โดย
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ทำให้มีข้อสังเกตในระบบปฏิทินราชการไทย ดังนี้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1888-1940 คริสต์ศักราชจึงคาบปีพุทธศักราช 542 ปี เช่น ค.ศ. 1940 จะตรงกับ พ.ศ. 2482 (ช่วง ม.ค. ถึง มี.ค.) และ 2483 (ช่วง เม.ย. ถึง ธ.ค.) ไม่มีวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2483 ถึง วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2483 ในปฏิทินราชการไทย เพราะจะเป็น พ.ศ. 2484 แทน
ดังนี้ตามปฏิทินราชการ ผู้ที่เกิด วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2482 จะมีอายุน้อยกว่าคนที่เกิดวันที่ 31 ธันวาคม 2482 อยู่ 1 วัน (มิใช่ อายุมากกว่า 364วัน) การคำนวณ จาก ค.ศ. เป็น พ.ศ. ในช่วงเดือน มกราคม ถึงมีนาคม เมื่อ เลข ค.ศ. มีค่าต่ำกว่า หรือเท่ากับ 1940 จะต้องบวกด้วย 542 มิใช่ 543
ประวัติการใช้เลขปี พ.ศ. แบบของไทย เริ่มที่พระสงฆ์ไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเวลาเทศน์ได้เทศน์ว่า พระศาสนาได้ล่วงมาแล้วกี่ปี จึงหมายถึงปีเต็ม เราจึงถือว่าปีปรินิพพานเป็นปีที่ 0 ส่วนพม่า เขมร ลาว และศรีลังกา ใช้แบบปีย่าง คือนับปีปรินิพพานเป็นปีที่ 1
สำหรับปีก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้ การคำนวณจะคำนวณได้ยาก เนื่องจากต้องมีการเทียบระบบวันที่นับจากข้างขึ้นข้างแรม เมื่อเทียบกับปฏิทินที่ใช้ระบบอื่น
ในภาษาไทย คำว่า "ปฏิทิน" มาจากศัพท์ภาษาบาลี ปฏิ (เฉพาะ , สำหรับ) + ทิน (วัน) บัญญัติขึ้นเพื่อให้มีความหมายว่า "แบบสำหรับดู วัน เดือน ปี" สามารถเขียนได้เป็น ประติทิน (ภาษาสันสกฤต) หรือ ประฏิทิน (บาลีแผลง) ประดิทิน แต่มีการเรียกผิดเป็น ปุรติทิน บ้าง ประนินทิน บ้าง (คำหลังนี้พบในหนังสือที่เขียนโดย หมอบรัดเลย์ ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ หน้า 412 และหนังสือสยามไสมย หน้าโฆษณา ของหมอสมิท[ต้องการอ้างอิง] เป็นต้น) พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 กริ้วและตำหนิ ดังปรากฏในพระบรมราชาธิบายว่า "...หนังสือจำพวกเรียงรายวัน นับคติพระอาทิตย์ พระจันทร์และอื่นๆที่ลงเป็นตารางนั้น ภาษาไทยเราเขียนว่า ประฏิทิน ถึงคำเพ็ดทูลและอ่านก็ว่าประฏิทิน แต่คำคนไม่รู้เรียกว่า ประนินทิน คำนี้พวกครูของพวกโรงพิมพ์จะไม่รู้ดอกกระมัง ด้วยมิใช่ของข้างวัดวาอารามบาล่ำบาลีอะไร" (ช.ชินพัฒน์. กรุงเทพฯ : ฉลาดปราดเปรื่องเฟื่องประติทินหมืนปี, 2540 หน้า 40-41 และ ยุธิษเฐียร. สารคดีชุดรู้ไว้ก็ดี, 2503 หน้า 205)
ปฏิทินแบบสำหรับดู วัน เดือน ปี มีทั้งที่จารึกบนก้อนหิน หรือ ขีด เขียน และพิมพ์บนกระดาษ ซึ่งมีทั้งชนิดเป็นแผ่น ตั้งแต่ 1 – 12 แผ่น และชนิดพิมพ์เป็นเล่มแบบหนังสือปฏิทินชนิดเล่ม
การพิมพ์ปฏิทินมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 3) ซึ่งสามารถตรวจสอบและค้นคว้าหาหลักฐานได้จากไมโครฟิล์ม หนังสือบางกอกคาเลนดาร์ ปี ค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413) หน้า 5 ในหอสมุดแห่งชาติ หรือค้นคว้าได้จากหนังสือต้นฉบับ ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพ ซึ่งหมอ บรัดเลย์ ได้เขียนไว้ว่า “ 14 First Calendar print in B. 1842 ” (ไม่บอกว่าใครเป็นผู้พิมพ์ แต่คาดหมายว่า คือ หมอ บรัดเลย์ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ ผู้มีผลงานทางหนังสือมากมาย)
รัชกาลที่ 4 ทรง ฯ โปรดให้พิมพ์ปฏิทินภาษาไทย (ภายหลังจากหมอบรัดเลย์พิมพ์ปฏิทินชิ้นแรกในสยาม เมื่อ พ.ศ. 2385) เมื่อ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2404 ดังปรากฏหลักฐานใน หนังสือบางกอกคาเลนดาร์ ฉบับ ปี ค.ศ. 1862 (พ.ศ. 2405) หน้า 108
ในสมัย รัชกาลที่ 5 ปฏิทินที่พิมพ์ในเมืองไทยได้แก่ “ ประนินทิน ” ซึ่งลงโฆษณาใน หนังสือสยามไสมย ของ หมอสมิท เขียนคำโฆษณาไว้ตอนหนึ่ง ว่า “ ประนินทินนี้ แจ้งให้รู้ถึงการอื่นเป็นอันมากอันควรคนทั้งปวงจะรู้ ถ้าไม่รู้เขาจะนินทาว่าคนโง่ ” แจ้งราคาขายไว้เล่มละ 4 บาท (ราคาในสมัยนั้น) ปัจจุบันยังหาประนินทินของหมอสมิทไม่พบ
ปฏิทินในสมัย รัชกาลที่ 6 ที่น่าสนใจได้แก่ปฏิทินพกเล่มเล็กๆ ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นของชำร่วย สำหรับแจกพระราชทาน แก่ขุนนางที่ลงนามถวายพระพร ในวันขึ้นปีใหม่ ปฏิทินพกแบบนี้ยังมีแจกต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งบุคคลธรรมดาก็สามารถไปลงนามถวายพระพรและรับปฏิทินหลวงได้[ต้องการอ้างอิง]
การพิมพ์ปฏิทินเล่มยังมีการจัดทำต่อมา จนกระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน ปฏิทินเล่มยังมีรายละเอียดในเรื่องของ สภาพภูมิอากาศ เวลาน้ำขึ้น – น้ำลง การเดินทางของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ และมีช่องว่างให้บันทึกเล็กน้อย ยังมีสมุดบันทึกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งบอกรายละเอียดของ วัน เดือน ปี เรียงไปตามลำดับ และมีหน้าสำหรับจดบันทึกหมายเหตุรายวัน รวมถึงวันสำคัญ และวัน เวลา นัดหมาย ฯลฯ ที่เรียกว่า “ ไดอารี่ ” (Diary) หรือ ” สมุดบันทึกประจำวัน ” ก็สามารถอนุโลมให้เป็นปฏิทินได้
ปฏิทินไดอารี่ เริ่มมีใช้ในเมืองไทยเมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่ไดอารี่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างสูง คือ ไดอารี่ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อตีพิมพ์เผยแพร่มีชื่อเรียกว่า "จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน"[ต้องการอ้างอิง]
การกำหนดวันข้างขึ้น ข้างแรม ของปฏิทินไทย นอกจากคำนึงถึงดิถี (รูปร่างความเป็นเสี้ยว) ของดวงจันทร์แล้ว ยังคำนึงถึง รูปแบบที่เข้าใจง่าย จัดทำได้ง่าย เพื่อให้จัดงานได้ตรงกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้คำนวณปฏิทินจึงต้องคิดรูปแบบการทดวัน และทดเดือนที่ง่ายจดจำ และการบันทึก 1 ปีของปฏิทินไทย ปกติมี 12 เดือน แต่จะมีราวร้อยละ 37 ที่มี 13 เดือน ซึ่งเรียกปีดังกล่าวนี้ว่า ปีอธิกมาส โดยที่ อธิก แปลว่า เพิ่ม, มาส แปลว่า เดือน มีเดือนแปด 2 ครั้ง ไม่ใช่ไปเพิ่มเป็นเดือนที่ 13 ส่วนปีที่มี 12 เดือน เรียกว่า ปกติมาส เดือนที่ 1 นิยมเรียกว่า เดือนอ้าย ส่วนเดือนที่ 2 เรียกว่าเดือน ยี่ โดยปกติ เดือนที่เป็นตัวเลขคี่ (เช่น อ้าย, 3, 5, 7, 9และ 11) จะมี 29 วัน ส่วนเดือนเลขคู่ (ยี่, 4, 6, 8, 10) จะมี 30วัน ดังนั้น ปีอธิกมาส จึงมี 29x6 + 30x7 = 384 วัน เสมอ ส่วนปีปกติมาส มี 2 พวก คือ พวกแรก จะมี 29x6 + 30x6 = 354 วัน เรียกว่า ปกติวาร กับพวกที่ 2 เป็นปีที่เพิ่มวันเข้าไป 1 วัน เป็นพิเศษ เรียกว่า อธิกวาร โดยที่ วาร แปลว่า วัน โดยเพิ่มในเดือน 7 ให้เป็น 30 วัน ดังนั้นปีอธิกวาร จึงมี 355วัน
ในการกำหนดปีปกติ ปีอธิกมาส ปีอธิกวาร ในปฏิทินไทย ตั้งแต่สุโขทัย สืบมาจนปัจจุบันนี้ จะวางตามพระคัมภีร์สุริยยาตรเป็นเสาหลักเทียบโดยมีสัดส่วนความแม่นยำตามตำรา ดังนี้ ปีปกติ 7,262,789 ปี : ปีอธิกมาส 6,125,521 ปี : ปีอธิกวาร 3,219,690 ปี โดยอธิกมาส 0 นับจากจุลศักราชแรกตกหรคุณ -282856310/6125521
วันที่ 1 ของเดือน เรียกว่า วันขึ้น 1 ค่ำ หรือ ออก 1 ค่ำ (ขึ้นหรือออก แปลว่า ดวงจันทร์ กำลังสว่างเพิ่มขึ้น) วันที่ 16 ไม่ได้เรียกว่า วันขึ้น 16 ค่ำ หรือ ออก 16 ค่ำ แต่เรียกว่า วันแรม 1 ค่ำ (แรม หมายถึง ดวงจันทร์ กำลังสว่างลดลง) ในเดือนที่มี 29วันนี้ ก็จะมีสิ้นสุดแค่วันแรม 14 ค่ำ (ไม่มี วันแรม 15 ค่ำ) เวลาที่ใช้เปลี่ยนวันทางปฏิทินจันทรคติของไทย คือ เวลารุ่งเช้าของวันถัดไป ไม่ใช่เที่ยงคืน โดยมีการเสนอว่า ควรให้นิยามที่ชัดเจนของคำว่า “รุ่งเช้า” นี้ และเสนอว่า ควรใช้ค่าเฉลี่ยที่เวลาดวงอาทิตย์ขึ้น หรือเวลา 6 น. ของเส้นลองจิจูด 100 องศา ตะวันออก นั่นคือ เวลา 6:20 น. ตามเวลามาตรฐานของไทย วันพระ หรือธรรมสวนะ จัดขึ้น 4 วันในเดือนหนึ่ง ๆ คือ วันขึ้น 8 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ และวันแรม สุดท้ายของเดือน
เรายึดเดือน 8 หนที่สอง เป็นเดือน 8 ที่แท้จริง ดังนั้นวันวิสาขบูชาซึ่งโดยปกติจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 แต่ในปีที่มีเดือน 8 สองหน ให้เลื่อนไปอยู่ในเดือน 7 แทน โดยถือว่าเดือน 8 หนหลังเป็นเดือน 8 ที่แท้จริง ส่วนเดือน8 หนแรก ก็จะมีค่าเท่ากับเดือน 7 เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเพณีไทยและชาวเอเชียให้ความสำคัญกับวันส่งท้ายปีเก่าที่กำลังจะจากไปมากกว่าวันปีใหม่ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบุคคลและธรรมชาติ ที่ให้ความช่วยเหลือเราในปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงจัดงานเลี้ยงในหมู่คนที่คุ้นเคยกัน เพื่อแสดงความขอบคุณในความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และขออภัยที่สิ่งผิดพลาดหรือล่วงเกินในปีที่ผ่านมา ไม่ใช่การจัดชุมนุมร่วมกับคนแปลกหน้าเพื่อนับถอยหลัง สลัดของเก่าให้พ้นตัวไปแบบฝรั่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ช่วงสิ้นปี จึงมีความสำคัญมากกว่าช่วงต้นปี อนึ่งคำว่า วันตรุษจีน ก็แปลว่า วันสิ้นปีของจีนเช่นกัน ปัจจุบันตกอยู่ประมาณวันแรม 15 ค่ำเดือนยี่ของไทย หรือเดือน 3 ในปีอธิกมาส นิยมเรียกว่า วันไหว้บรรพบุรุษ ส่วนวันปีใหม่ คือ วันถัดมา ที่เรียกว่า วันเที่ยว (แต่ในปฏิทิน และคนทั่วไปนิยมเรียกวันขึ้นปีใหม่หรือวันเที่ยวว่า วันตรุษจีน จึงไม่ต้องสงสัยว่าคนจีนให้ความสำคัญกับวันไหนมากกว่ากัน ระหว่างการไหว้บรรพบุรุษ กับการเที่ยว)