บ้านพิษณุโลก คือ บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย เป็นบ้านแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ออกแบบและสร้างโดย มาริโอ ตามานโญ สถาปนิกประจำราชสำนักสยามชาวอิตาลี (พ.ศ. 2443-2468) มีเนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน เดิมชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างบ้านบรรทมสินธุ์ และพระราชทานให้กับมหาดเล็กส่วนพระองค์ คือ พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พร้อมกับการพระราชทานบ้านนรสิงห์ แก่ พลเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้พี่ และพระราชทานบ้านมนังคศิลา แก่ มหาเสวกเอก พระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) รวมถึงพระราชทานบ้านพิบูลธรรม แก่ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล)
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ซื้อบ้านหลังนี้จากเจ้าของเดิม เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นซื้อไปเป็นสถานทูต เนื่องจากบ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้กับกองพันทหารราบที่ 3 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ รัฐบาลสมัยนั้นได้ใช้บ้านนรสิงห์ เป็นทำเนียบรัฐบาล (ภายใต้ชื่อ "ทำเนียบสามัคคีชัย") สำหรับบ้านบรรทมสินธุ์นั้น ในช่วงแรก ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านไทยพันธมิตร" ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เป็น "บ้านพิษณุโลก" เนื่องจากบ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก ข้างโรงพยาบาลมิชชั่น ได้ใช้เป็นที่ต้อนรับแขกเมืองสำคัญของรัฐบาลมาจนปัจจุบัน
รัฐบาลยุคต่อมาได้ปรับปรุงบ้านพิษณุโลก เพื่อใช้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี พ.ศ. 2522 และมาแล้วเสร็จในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี พ.ศ. 2524 พลเอกเปรม ได้ย้ายเข้าไปพัก แต่ก็อยู่เพียง 2 วัน จึงย้ายออกไปพักที่บ้านพักเดิมคือ บ้านสี่เสาเทเวศร์ ในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการใช้บ้านหลังนี้เป็นที่ทำงานของคณะที่ปรึกษาจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เรียกกันติดปากสื่อมวลชนว่า "ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก"แต่ไม่ได้มีการใช้เป็นที่พัก โดยนายกรัฐมนตรียุคต่อมามีเพียง นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่เข้าพักบ้านพิษณุโลกหลังนี้และอยู่ได้นานทั้งสองสมัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
บ้านพิษณุโลกใช้เป็นฉากของ "บ้านทรายทอง" ในภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน กำกับการแสดงโดย รุจน์ รณภพ ดาราแสดงนำคือ พอเจตน์ แก่นเพชร เป็น ชายกลาง และ จารุณี สุขสวัสดิ์ เป็น พจมาน สว่างวงศ์ ถือเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในยุคสมัยนั้น ทำให้บ้านพิษณุโลกเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะมากกว่าเดิม แม้ในปัจจุบันภาพลักษณ์ความเป็น "บ้านทรายทอง" ก็ยังคงอยู่คู่กับสถานที่แห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพล้อหรือการ์ตูนการเมืองตามหนังสือพิมพ์ มักเปรียบเปรยว่าบ้านพิษณุโลกเป็นประหนึ่งบ้านทรายทองในนวนิยาย ภาพล้อที่มีชื่อเสียงที่สุดน่าจะเป็นเมื่อครั้งที่นายชวน หลีกภัย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2535 ได้มีการเขียนภาพล้อให้นายชวนเป็นพจมาน ไว้ผมเปียคู่ และสองมือถือชะลอม เดินเข้าบ้านพิษณุโลกหรือบ้านทรายทอง เลียนแบบฉากเปิดตัวพจมานในภาพยนตร์บ้านทรายทอง เนื่องจากเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่พำนักในบ้านพิษณุโลกนานที่สุด
บ้านพิษณุโลกมีกิตติศัพท์ร่ำลือกันว่าผีดุจนเป็นเหตุให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พักได้เพียง 2 วันเท่านั้น ก็ย้ายออกไปแต่เมื่อสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์ พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ซึ่งเป็นทายาทของพระยาอนิรุทธเทวา ซึ่งเคยพักอาศัยในบ้านหลังนี้เมื่อสมัยเด็กก็ได้รับการยืนยันว่าไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องผีดุแต่อย่างใดทั้ง ๆ ที่ตนอาศัยอยู่มาตั้งแต่เด็กจนหนุ่ม จนกระทั่งรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซื้อบ้านหลังนี้ไป แต่กิตติศัพท์เรื่องผีดุนี้ก็ได้รับการตอกย้ำ จนไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดย้ายเข้าไปพักอย่างเป็นทางการ แม้แต่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ยังได้ใช้บ้านหลังนี้เป็นเพียงที่รับแขกเท่านั้น มีเพียงแต่นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายเพียงคนเดียวที่พำนักอยู่ในบ้านหลังนี้ได้นานที่สุดคือ นายชวน หลีกภัย เนื่องจากบ้านพักในซอยหมอเหล็งของนายชวนนั้นค่อนข้างเล็กและคับแคบ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงได้ย้ายเข้ามาพำนักในบ้านพิษณุโลก อย่างเป็นทางการทั้งสองสมัย โดยได้ใช้โซฟาในห้องทำงานซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องนอนเป็นที่นอน และไม่ได้มีการใช้เตียงนอนภายในห้องนอนของบ้านแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นให้เกียรติเจ้าของบ้าน จึงเป็นที่สงสัยกันว่าเหตุใด นายชวน หลีกภัย พำนักอยู่ในบ้านหลังนี้ได้นานกว่านายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ และหลังจาก นายชวน หลีกภัย แล้วก็ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดใช้บ้านหลังนี้เป็นที่พำนักถึงปัจจุบัน มีเพียงแต่ใช้เป็นที่ประชุมและรับแขกเท่านั้น