บิชอป (อังกฤษ: Bishop) กรมการศาสนาและราชบัณฑิตยสถานบางครั้งให้เรียกว่ามุขนายก เป็นตำแหน่งการปกครองในคริสตจักรที่มีการจัดระเบียบองค์การแบบอิปิสโคปัล เช่น โรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์ หรือแม้แต่ในนิกายโปรเตสแตนต์บางคณะ เช่น แองกลิคัน ลูเทอแรน เมทอดิสต์
ในศาสนาคริสต์ยุคแรก คริสต์ศาสนิกชนในแต่ละเมืองจะรวมกลุ่มกันเป็นประชาคม เรียกว่าคริสตจักร แต่ละคริสตจักรมีผู้ปกครองดูแลคนหนึ่งหรือเป็นคณะผู้ปกครอง จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 2 ผู้ปกครองดูแลคริสตจักรเริ่มมีบทบาทหน้าที่ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ เป็นประธานในการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ แก้ไขความขัดแย้ง และดูแลการเงินภายในคริสตจักร ในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ฝ่ายอาณาจักรได้รับรองสถานะของคริสต์ศาสนา ทำให้มุขนายกเริ่มมีบทบาทในทางโลกด้วย เมื่อคริสตชนมีมากขึ้น ทำให้มีมุขนายกใหม่แต่งตั้งขึ้นเพื่อปกครองแต่ละเขต ซึ่งต่อมาเรียกว่า "มุขมณฑล" มุขนายกประจำมุขมณฑลแต่งตั้งบาทหลวงให้ปกครองดูแลโบสถ์คริสต์แต่ละแห่ง โดยมีพันธบริกรเป็นผู้ช่วย
คริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิกในประเทศไทยเรียกมุขนายกว่าพระสังฆราชกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเลียนแบบการเรียกประมุขสงฆ์ของชาวไทยซึ่งใช้มาก่อนตั้งแต่สมัยสุโขทัย ชาวคาทอลิกเชื่อว่ามุขนายกเป็นตำแหน่งที่สืบมาจากอัครทูตผู้ติดตามพระเยซูอย่างใกล้ชิดในสมัยที่พระองค์ยังคงดำรงพระชนม์ในโลกเมื่อ 2000 ปีมาแล้ว มุขนายกทำหน้าที่เป็นประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก เป็นหัวหน้าปกครองคณะบาทหลวง คณะนักบวชคาทอลิกชาย-หญิง และคริสต์ศาสนิกชนชาวคาทอลิกภายในเขตปกครองของตน ซึ่งเรียกว่ามุขมณฑล โดยมุขมณฑลในประเทศไทยเรียกว่าเขตมิสซัง และแบ่งออกเป็น 10 เขตมิสซัง
ผู้จะรับศีลอนุกรมเป็นมุขนายกจะต้องบวชเป็นบาทหลวงมาก่อน และต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากพระสันตะปาปาโดยมีพิธีการอภิเษกเป็นมุขนายกซึ่งถือเป็นศีลอนุกรมขั้นสูงสุด
นอกจากนี้เหล่าประมุขมิสซังและเอกอัครสมณทูตก็ได้รับตำแหน่งเป็นมุขนายกเกียรตินามด้วย เพื่อให้มีเกียรติเสมือนมุขนายกประจำมุขมณฑล ตัวอย่างเช่น มุขนายก ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว ประมุขมิสซังสยามได้เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่งมาลลอส
เมื่อพระสันตะปาปาประกาศตั้งมิสซังสยามในปี พ.ศ. 2212 แล้ว ก็ได้ส่งมุขนายกเกียรตินามซึ่งล้วนแต่เป็นมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสมาเป็นประมุขศาสนจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย จนกระทั่ง วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 จึงประกาศแต่งตั้งมุขนายกเกียรตินามคนไทย คือ มุขนายกยาโกเบ แจง เกิดสว่าง ประมุขมิสซังจันทบุรี เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่ง Barcusus นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งมุขนายก
ในปัจจุบันประเทศไทยมีมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ (ที่ยังไม่เกษียณ) 10 ท่าน ได้แก่
6 เขตมิสซังนี้อยู่สังกัดภาคคริสตจักรเดียวกัน โดยมีอัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯเป็นมุขนายกมหานคร
4 เขตมิสซังนี้อยู่ในสังกัดภาคคริสตจักรเดียวกัน โดยมีอัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสงเป็นมุขนายกมหานคร
คริสต์ศาสนิกชนโปรเตสแตนต์ในประเทศไทยเรียก bishop โดยทับศัพท์ว่าบิชอป ในนิกายลูเทอแรนและแองกลิคันถือว่าบิชอปเท่านั้นที่มีอำนาจในการสถาปนาบิชอป ปุโรหิต และดีกัน
ในนิกายลูเทอแรน บิชอปมาจากการเลือกตั้งโดยสมัชชาซีนอดซึ่งสมาชิกมีทั้งฆราวาสและนักบวช บิชอปแต่ละท่านมีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี และดำรงตำแหน่งต่อไปได้ตามแต่ข้อกำหนดในธรรมนูญของคริสตจักรนั้น ๆ
นิกายแองกลิคัน บิชอปมีลักษณะคล้ายกับมุขนายกโรมันคาทอลิกคือทำหน้าที่เป็นประมุขของมุขมณฑล ต่างกันเฉพาะนิกายแองกลิคันอนุญาตให้บิชอปสมรสได้ นอกจากนี้บางภาคคริสตจักรยังอนุญาตให้สถาปนาสตรีเป็นบิชอปได้ สตรีคนแรกที่ได้สถาปนาบิชอปคือศาสนาจารย์บาร์บารา ฮาร์ริสบิชอปซัฟฟรากันประจำมุขมณฑลอีปิสโคปัลแมสซาชูเซตส์ ได้รับสถาปนาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989