บะกุมะสึ (ญี่ปุ่น: ?? bakumatsu ?, "ปลายยุคบะกุฟุ") เป็นชื่อเรียกช่วงเวลาปลายยุคเอะโดะซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดของรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ ชื่อดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นจากเหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นโดยรวมระหว่างปี ค.ศ. 1853 - 1867 ซึ่งเป็นระยะที่ญี่ปุ่นได้ยกเลิกนโยบายปิดประเทศที่เรียกว่า ซะโคะคุ และเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลแบบศักดินาของโชกุนไปสู่รัฐบาลสมัยใหม่ในยุคเมจิ การแบ่งแยกทางอุดมการณ์และทางการเมืองในยุคนี้ส่วนใหญ่แบ่งออกเป็นกลุ่มผู้รักชาติที่เรียกว่า "อิชินชิชิ" ซึ่งสนับสนุนจักรพรรดิ และกองกำลังฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลโชกุนตระกูลโทะกุงะวะ เช่น กลุ่มชินเซ็งงุมิ เป็นต้น
จากความไม่พอใจชาวตะวันตกที่ลุกลามไปทั้งประเทศ ทำให้มีการตรา "โองการขับไล่คนเถื่อน" ขึ้น และญี่ปุ่นเริ่มการขับไล่โดยเข้าโจมตีกองเรือสินค้าของชาติตะวันตกที่ผ่านช่องแคบชิโมะโนะเซะกิ ทำให้บรรดาชาติตะวันตกนำโดยราชนาวีอังกฤษทำการตอบโต้ญี่ปุ่น
จากการที่กลุ่มขุนนางและซะมุไรในราชสำนักซึ่งเดิมไม่พอใจนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ สามารถขึ้นมามีอิทธิพลจนสามารถควบคุมราชสำนักไว้ได้อย่างมั่นคง ภายใต้รัชสมัยใหม่ของจักรพรรดิเมจิ ทำให้ โทะกุงะวะ โยะชิโนะบุ ผู้ดำรงตำแหน่งโชกุนในเวลานั้น ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ของตน จึงได้สละตำแหน่งและถวายพระราชอำนาจการปกครองคืนแก่องค์จักรพรรดิ โดยหวังไว้ว่าการกระทำดังกล่าวของตนจะช่วยรักษาตระกูลโทะกุงะวะ และเปิดทางให้คนในตระกูลเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาลชุดใหม่
อย่างไรก็ตาม กลุ่มขุนนางก็ไม่เปิดทางให้โทกุงะวะขึ้นมามีอำนาจอีก ทำให้การเมืองในยุคนั้นถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายตระกูลโทะกุงะวะ และฝ่ายราชสำนัก และในไม่ช้าก็มีพระบรมราชโองการให้แคว้นซะสึมะและแคว้นโชชูล้มล้างตระกูลโทะกุงะวะ ได้ทำให้โยะชิโนะบุต้องเปิดฉากการรบเพื่อยึดราชสำนักของจักรพรรดิที่นครหลวงเคียวโตะ แต่ด้วยกองทัพที่ทันสมัยของราชสำนักทำให้ฝ่ายโทะกุงะวะต้องล่าถอยขึ้นไปทางเหนือที่เกาะฮกไกโด ณ ที่นั่นฝ่ายโทะกุงะวะได้สถาปนาสาธารณรัฐเอะโสะ ในที่สุด กองทัพของราชสำนักก็สามารถพิชิตฮกไกโดได้ และทำให้อำนาจการปกครองในญี่ปุ่นรวมศูนย์อยู่ที่ราชสำนักอย่างแท้จริง