หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (คำย่อ: นย.) (อังกฤษ: Royal Thai Marine Corps) คือหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อกองทัพเรือ มีหน้าที่รับผิดชอบในการบุกยึดพื้นที่ศัตรู ยกพลขึ้นบกและยึดพื้นที่สถาปนาหัวหาด เปรียบเสมือนหน่วยทหารราบของกองทัพเรือ ทหารนาวิกโยธินได้รับการฝึกพิเศษเพื่อการรบบุกยึดหัวหาดโดยยกพลขึ้นบกจากเรือในทะเลขึ้นสู่ฝั่ง ทำให้นาวิกโยธินเป็นหน่วยรบแรกๆที่เข้าสู่สนามรบแนวหน้าซึ่งจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงอยู่เสมอ ทหารนาวิกโยธินขึ้นชื่อว่าเป็นหน่วยรบที่มีระเบียบวินัยและประสิทธิภาพในการรบสูงเมื่อเทียบกับทหารเหล่าปกติ
กิจการทหารนาวิกโยธินในประเทศไทยนั้นมีความเป็นมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยประเทศไทยยังเป็นชื่อประเทศสยาม ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2367 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยในยุคนั้นเรียกทหารนาวิกโยธินว่า "ทหารมะรีน" ซึ่งเป็นการเรียกทับศัพท์มาจากคำว่า "Marines" ที่แปลว่านาวิกโยธินในภาษาอังกฤษ กิจการทหารมะรีนในยุคสยามไม่มั่นคงมากนัก เนื่องจากมีการก่อตั้งและยุบไปหลายครั้ง
ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของทหารมะรีนในยุคประเทศสยามคือสงครามปราบฮ่อ ในช่วงปี พ.ศ. 2417 ยุคของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กลุ่มกบฏจีนไท้ผิง (ฮ่อ) ที่ต่อต้านราชวงศ์แมนจูในประเทศจีนได้ทำการก่อกบฏและแตกพ่าย บางส่วนหลบหนีลงมาในตังเกี๋ย ทางตังเกี๋ยได้ปราบปรามกลุ่มฮ่อ ขับไล่ฮ่อทำให้ต้องล่อถอยลงใต้มาเรื่อยๆจนกระทั่งเกิดทำการตีหัวเมืองต่างๆของสยาม นับตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
การเข้าตีหัวเมืองภาคอีสานในปี พ.ศ. 2417 ของพวกฮ่อส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการให้ทำการปราบปรามฮ่อ โดยทางราชการได้ส่งทหารมะรีนจำนวน 25 นาย ประกอบด้วย นายร้อยตรี 1 นาย พลทหาร 24 นาย พร้อมด้วยปืนกลปืนแก็ตลิง 2 กระบอก ร่วมไปกับกองทัพที่ไปปราบปรามพวกฮ่อทางภาคเหนือ โดยมี เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นแม่ทัพ
กระทั่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 กองทัพเรือได้ดำเนินการสถาปนากรมนาวิกโยธินขึ้นอีกครั้ง ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยใช้ตึกซึ่งเป็นที่ทำงานของกองกิจการพิเศษ ภายใต้คำแนะนำของกองทัพอเมริกันถึงความจำเป็นที่ต้องมีนาวิกโยธิน ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นที่ตั้ง และได้สืบต่อกิจการนาวิกโยธินอย่างจริงจังต่อไป ซึ่งทหารนาวิกโยธินได้ถือเอาวันที่ 30 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันสถาปนาหน่วยสืบมา ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2532 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วยราชการของกองทัพเรือ เป็นผลให้ "กรมนาวิกโยธิน" แปรสภาพเป็น "หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน"
ทหารนาวิกโยธิน ได้ถือเอาวันที่ 28 มิถุนายน ของทุกปีเป็น "วันทหารนาวิกโยธิน" โดยกำหนดให้เป็น วันแห่งประวัติศาสตร์ของทหารนาวิกโยธิน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ "มาร์ชราชนาวิกโยธิน" เป็นเพลงประจำหน่วย ทหารนาวิกโยธินเมื่อ 28 มิถุนายน 2502 และต่อมาคณะนายทหารนาวิกโยธินก็ได้ร่วมกัน ประพันธ์คำร้องขึ้น เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ เนื่องในวันทหารนาวิกโยธิน สืบต่อไป
โดยทั่วไปทหารนาวิกโยธินจะมีหน้าที่หลักในการยกพลขึ้นบก เพื่อยึดหัวหาดหรือการสถาปนากองกำลังบนบก เป็นหน่วยแรกและจะเผชิญกับการต่อต้านของฝ่ายตรงข้ามที่ป้องกันชายหาด ทหารนาวิกโยธินจึงมีการสูญเสียกำลังพลสูง เมื่อสถาปนากองกำลังได้แล้ว
ทหารบกจะเคลื่อนพลขึ้น และการรบหลักบนบกจะเป็นหน้าที่ของทหารบก
ในปัจจุบันนาวิกโยธินได้ถูกนำมาใช้เป็นกำลังรบหลักบนบกซึ่งมีขีดความสามารถเท่ากับทหารราบของกองทัพบกเลยก็ว่าได้
นาวิกโยธินสามารถร้องขอการสนับสนุนการโจมตีจากทะเลได้เช่น การระดมยิงจากเรือหรือจรวดไปยังเป้าหมายที่ทำการแจ้งไป การใช้กำลังทางอากาศ ใช้อากาศยานสนับสนุนนาวิกโยธินอย่างใกล้ชิด โดยใช้เครื่องAV-8S(Harrier)ซึ่งเป็นเครื่องขึ้นลงทางดิ่ง ทำให้นาวิกโยธินสามารถทำการรบได้อย่างมีประสิทธิประภาพมากขึ้น
การขนส่งในอดีตนาวิกโยธินจะใช้ยานยนต์สะเทินน้ำสะเทินบกในการบุกหรือเข้ายึดหัวหาด แต่ในปัจจุบันนั้นจะมีการใช้เฮลิคอปเตอร์หรืออากาศยานปีกหมุนเข้าช่วยในการขนส่งนาวิกโยธินเข้าสู่แนวหน้าได้รวดเร็วมากขึ้น
ในการปฏิบัติงานนาวิกโยธินในปัจจุบันนั้น มีขีดความสามารถที่สูงขึ้นซึ่งต่างจากเมื่อก่อน ซึ่งตอนนี้กำลังรบของนาวิกโยธินก็จะมีรถถังและรถหุ้มเกราะ(ยานสะเทินน้ำสะเทินบก)และปืนใหญ่เข้ามาช่วยทำการรบ กำลังทหารนั้นก็ได้มีการฝึกหลักสูตรการรบพิเศษแขนงวิชาการลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบก หรือ RECON มาเป็นหน่วยรบพิเศษสำหรับนาวิกโยธิน ซึ่งทำให้นาวิกโยธินนั้นก็ถือได้ว่าเป็นกำลังรบหลักที่สำคัญของกองทัพเลยก็ว่าได้
อาวุธปืนเล็กของนาวิกโยธินไทยเน้นมาตรฐานอาวุธแบบนาโต้ ส่วนใหญ่มาจากชาติตะวันตก เช่นสหรัฐอเมริกา, อิสราเอล, สหภาพยุโรป อีกทั้งยังรวมถึงอาวุธมาตรฐานนาโต้จากประเทศจีนบางส่วน
ยุทโธปกรณ์ในอดีตของหน่วยนาวิกโยธินนั้นส่วนมากมาจากโครงการความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และบางส่วนถูกจำหน่ายให้กองทัพบกไทยหลังจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/นาวิกโยธินแห่งราชอาณาจักรไทย