หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (อังกฤษ: Royal Thai Marine Corps) มีหน้าที่บังคับบัญชา นาวิกโยธิน คือ ทหารเรือที่ได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษ เพื่อปฏิบัติภารกิจนอกเหนือจากในน่านน้ำตามปกติ โดยมุ่งเน้นการรบภาคพื้นดิน นับ เป็นการรบสะเทินน้ำสะเทินบก เพื่อสนับสนุนการรบของทหารเรือ และอาจทำการรบร่วมกับทหารจากหน่วยรบอื่นๆ เช่น ทหารบก หรือ ทหารอากาศก็ได้ นาวิกโยธินจึงเปรียบเสมือนทหารเหล่าราบของกองทัพเรือนั่นเอง
ทหารเรือฝ่ายนาวิกโยธินนับว่ามีขีดความสามารถสูง ได้รับการฝึกทั้งการรบทางทะเลและการรบทางบก สามารถปฏิบัติการได้คล่องตัว เช่น เมื่อต้องการยกพลขึ้นบก การยุทธที่มีความคาบเกี่ยวกับสถานการณ์บกและน้ำ นอกจากนี้ยังสามารถปฏิบัติงานในท้องที่ชายฝั่ง รักษาความสงบตลอดน่านน้ำ เป็นต้น
ทหารนาวิกโยธินของราชนาวีไทย อยู่ใน "ส่วนกำลังรบ" สังกัด "หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน" ของกองทัพเรือ โดยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยเรียกว่า "ทหารมะรีน" อันเป็นคำทับศัพท์จากคำว่า "Marines" ในภาษาอังกฤษ แต่กิจการทหารมะรีน หรือนาวิกโยธินในอดีตไม่สู้มั่นคงนัก ได้มีการจัดตั้งและยุบเลิกไปหลายครั้ง
กระทั่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 กองทัพเรือได้ดำเนินการสถาปนากรมนาวิกโยธินขึ้นอีกครั้ง ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยใช้ตึกซึ่งเป็นที่ทำงานของกองกิจการพิเศษ ภายใต้คำแนะนำของกองทัพอเมริกันถึงความจำเป็นที่ต้องมีนาวิกโยธิน ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นที่ตั้ง และได้สืบต่อกิจการนาวิกโยธินอย่างจริงจังต่อไป ซึ่งทหารนาวิกโยธินได้ถือเอาวันที่ 30 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันสถาปนาหน่วยสืบมา ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2532 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วยราชการของกองทัพเรือ เป็นผลให้ "กรมนาวิกโยธิน" แปรสภาพเป็น "หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน"
ทหารนาวิกโยธิน ได้ถือเอาวันที่ ๒๘ มิถุนายน ของทุกปีเป็น "วันทหารนาวิกโยธิน" โดยกำหนดให้เป็น วันแห่งประวัติศาสตร์ของทหารนาวิกโยธิน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ "มาร์ชราชนาวิกโยธิน" เป็นเพลงประจำหน่วย ทหารนาวิกโยธินเมื่อ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๐๒ และต่อมาคณะนายทหารนาวิกโยธินก็ได้ร่วมกัน ประพันธ์คำร้องขึ้น เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ เนื่องในวันทหารนาวิกโยธิน สืบต่อไป
โดยทั่วไปทหารนาวิกโยธินจะมีหน้าที่หลักในการยกพลขึ้นบก เพื่อยึดหัวหาดหรือการสถาปนากองกำลังบนบก เป็นหน่วยแรกและจะเผชิญกับการต่อต้านของฝ่ายตรงข้ามที่ป้องกันชายหาด ทหารนาวิกโยธินจึงมีการสูญเสียกำลังพลสูง เมื่อสถาปนากองกำลังได้แล้ว ทหารบกจะเคลื่อนพลขึ้น และการรบหลักบนบกจะเป็นหน้าที่ของทหารบก ในปัจจุบันนาวิกโยธินได้ถูกนำมาใช้เป็นกำลังรบหลักบนบกซึ่งมีขีดความสามารถเท่ากับทหารราบของกองทัพบกเลยก็ว่าได้ นาวิกโยธินสามารถร้องขอการสนับสนุนการโจมตีจากทะเลได้เช่น การระดมยิงจากเรือหรือจรวดไปยังเป้าหมายที่ทำการแจ้งไป การใช้กำลังทางอากาศ ใช้อากาศยานสนับสนุนนาวิกโยธินอย่างใกล้ชิด โดยใช้เครื่องAV-8S(Harrier)ซึ่งเป็นเครื่องขึ้นลงทางดิ่ง ทำให้นาวิกโยธินสามารถทำการรบได้อย่างมีประสิทธิประภาพมากขึ้น การขนส่งในอดีตนาวิกโยธินจะใช้ยานยนต์สะเทินน้ำสะเทินบกในการบุกหรือเข้ายึดหัวหาด แต่ในปัจจุบันนั้นจะมีการใช้เฮลิคอปเตอร์หรืออากาศยานปีกหมุนเข้าช่วยในการขนส่งนาวิกโยธินเข้าสู่แนวหน้าได้รวดเร็วมากขึ้น
ในการปฏิบัติงานนาวิกโยธินในปัจจุบันนั้น มีขีดความสามารถที่สูงขึ้นซึ่งต่างจากเมื่อก่อน ซึ่งตอนนี้กำลังรบของนาวิกโยธินก็จะมีรถถังและรถหุ้มเกราะ(ยานสะเทินน้ำสะเทินบก)และปืนใหญ่เข้ามาช่วยทำการรบ กำลังทหารนั้นก็ได้มีการฝึกหลักสูตรการรบพิเศษแขนงวิชาการลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบก หรือ RECON มาเป็นหน่วยรบพิเศษสำหรับนาวิกโยธิน ซึ่งทำให้นาวิกโยธินนั้นก็ถือได้ว่าเป็นกำลังรบหลักที่สำคัญของกองทัพเลยก็ว่าได้