นาฏศิลป์ในประเทศลาว (ลาว: ???????????; "นาฏกรรมลาว") เป็นนาฏศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวซึ่งพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วย และการแสดงพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มีทั้งนาฏศิลป์ในราชสำนัก และนาฏศิลป์พื้นบ้าน เช่น หมอลำ หนังตะลุง หลวงพระบางและเวียงจันทน์เป็นแหล่งของนาฏศิลป์คลาสสิกในราชสำนัก และนาฏศิลป์ที่ได้รับอิทธิพลจากเขมร
เป็นนาฏศิลป์ที่พัฒนาขึ้นในราชสำนักล้านช้างซึ่งคล้ายกับที่พบในราชสำนักสยามและกัมพูชา ส่วนใหญ่แสดงเรื่องพระลักษมณ์พระราม (รามเกียรติ์หรือรามายณะฉบับลาว) หรือจากนิทานชาดก รวมทั้งวรรณคดีท้องถิ่นเช่นสินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) การแสดงแบบนี้มีสองประเภทคือโขนและละคร โขนเป็นการแสดงเรื่องพระลักษมณ์พระราม ใช้ตัวแสดงชายหญิง ละครเป็นการแสดงที่ส่วนใหญ่ใช้ผู้หญิง ส่วนหนังตะลุงเป็นการแสดงที่คล้ายวายังของชาวมลายู และเล่นเรื่องราวที่หลากหลายกว่าโขนและละคร
ลำลาวหรือหมอลำเป็นการแสดงดนตรีพื้นบ้านของลาว โดยนักร้องเป็นผู้เล่าเรื่อง ใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีหลัก แต่ก็ใช้เครื่องดนตรีอื่นประกอบได้ การแสดงแบบเดียวกันนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเรียกหมอลำ แต่ในลาว คำว่าหมอลำจะเน้นที่ตัวผู้ขับร้อง
ฟ้อนรำพื้นเมืองเป็นการฟ้อนรำที่มีความหลากหลาย โดยที่มีชื่อเสียงที่สุดคือลำตังหวายและลำสาละวันทางภาคใต้ของลาว ฟ้อนรำพื้นเมืองที่เป็นที่นิยมคือรำวง ซึ่งเป็นการแสดงประจำชาติของลาวที่มีลักษณะร่วมกับรำวงในไทยและกัมพูชา นิยมเล่นในงานฉลองรื่นเริงต่างๆ
เป็นหมอลำประเภทหนึ่ง โดยหมอลำผู้ขับร้องจะแต่งตัวและแสดงท่าทางประกอบได้หลากหลาย เรื่องราวที่แสดงมีหลากหลาย เช่นนิทานชาดก ไปจนถึงโครงการพัฒนาและปัญหาในชุมชน ดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบมีหลากหลายทั้งดนตรีคลาสสิกและดนตรีสมัยใหม่ ขึ้นกับลักษณะของเรื่องที่จะเล่า