พระบาทสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ (เขมร: ??????????????, พฺระบาทนโรตฺตม "พระบาทนโรดม") หรือ นักองค์ราชาวดี (เขมร: ???? ???????, องคฺราชาวดี "องค์ราชาวดี") เสด็จพระราชสมภพเมี่อ15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377 ที่อังกอร์โบเร (เสียมราฐ) และเสด็จสวรรคตเมี่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2447 ทรงเป็นกษัตริย์แห่งกัมพูชาองค์ที่ 2 แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาทรงเป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) กษัตริย์แห่งกัมพูชาองค์ที่ 1 และเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาของ พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ (นักองค์สีสุวัตถิ์) กษัตริย์แห่งกัมพูชาองค์ที่ 3 ซึ่งทรงขึ้นครองราชย์เมี่อ พ.ศ. 2447 สืบต่อจากพระองค์
เมื่อพำนักในกรุงเทพฯ พระองค์มีสถานะเป็นพระราชบุตรบุญธรรมของกษัตริย์สยาม ผนวชในธรรมยุติกนิกาย 1 พรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เมื่อสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาแล้ว พระองค์ได้ส่งพระราชโอรส คือ นักองค์ราชาวดี เข้ามาทำราชการที่กรุงเทพมหานครในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานครว่า "ตนมีชนมายุเจริญล่วงมากไปแล้ว ขอพระราชทานให้พระเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงตั้งนักพระองค์ราชาวดี บุตรผู้ใหญ่เป็นมหาอุปราช นักพระองค์ศรีสวัสดิ์บุตรที่ 2 เป็นพระแก้วฟ้า ออกไปช่วยรักษาเมืองเขมร" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงแต่งตั้งพระราชบุตรของพระเจ้ากรุงกัมพูชาตามที่ขอมา เมื่อ พ.ศ. 2400
หลังจากสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีเสด็จสวรรคตลง เมื่อ พ.ศ. 2403 ได้เกิดความยุ่งยากในการสืบราชสมบัติของกัมพูชา เมื่อพระสีวัตถา พระอนุชาของนักองค์ราชาวดี พระมหาอุปราช ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯได้ขอกลับไปถวายบังคมพระบรมศพ เมื่อมาถึงกัมพูชา พระสีวัตถาแสดงความต้องการที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์และได้รับการสนับสนุนจากสนองโสหรือสนองสู ผู้เป็นลุง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายของพระสีวัตถากับนักองค์ราชาวดี
ในระหว่างความขัดแย้งนั้น สนองโสได้รวบรวมขุนนางไปตั้งมั่นที่กัมพูชาตะวันออกแล้วยกทัพเข้ามายึดพนมเปญและเมืองอุดงมีไชยได้ นักองค์ราชาวดีหนีไปพระตะบองซึ่งขณะนั้นอยูในพระราชอาณาเขตสยาม ขุนนางฝ่ายตรงข้ามของสนองโสได้รวบรวมกำลังเข้าต่อต้าน และเป็นฝ่ายชนะ จับตัวสนองโสได้ แต่สนองโสหลบหนีไปสู่อินโดจีนฝรั่งเศสได้ในที่สุด
เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในกัมพูชา สยามได้เรียกตัวพระสีวัตถาเข้ากรุงเทพฯ ในขณะเดียวกัน นักองค์ราชาวดี ก็เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯเมื่อ 24 มกราคม พ.ศ. 2411 สยามได้ตัดสินใจสนับสนุนให้นักองค์ราชาวดีขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงกัมพูชาขึ้นที่กรุงเทพฯ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารโดยมีขุนนางกัมพูชาในกรุงเทพช่วยกันประกอบพิธี พิธีราชาภิเษกของพระนโรดม ได้เป็นไปโดยโดยนิตินัย ก่อนที่จะมีพิธีราชาภิเษกอีกครั้งที่กรุงพนมเปญ โดยพฤตินัย จากนั้นพระองค์ได้ถูกเรียกตัวให้เข้าเฝ้าที่พระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นการอำลาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและมกุฎราชกุมาร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงยินดีพระนโรดมและได้พระราชทานพระปรมาภิไธยแก่พระนโรดมว่า "พระกรุณา พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม พรหมบริรักษ์ พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี" ทางการสยามได้จัดทัพทางเรือไปส่งนักองค์ราชาวดีที่เมืองกำปอด และเดินทัพทางบกไปยังเมืองอุดงมีไชย ในระหว่างนี้ เกิดการกบฏอีก ออกญาสุทศ (บา) ได้รวบรวมกองทัพตั้งมั่นที่โพธิสัตว์ สยามจึงส่งทัพจากเสียมเรียบและจันทบุรีไปปราบจนราบคาบ และได้อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ประกอบพิธีราชาภิเษกที่กรุงพนมเปญและขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์
หลังจากขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ฝรั่งเศสได้เข้ามาขอให้ทำสนธิสัญญาเข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ซึ่งพระนโรดมยินยอมที่จะเข้าเป็นรัฐในอารักขา ในช่วงแรกของการเข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสค่อนข้างราบรื่น แต่เมื่อฝรั่งเศสเปลี่ยนนโยบายการปกครองให้เข้มงวดขึ้นจึงเกิดปัญหาขัดแย้งกับข้าหลวงฝรั่งเศส พระองค์ถูกบังคับให้ลงนามในการปฏิรูปกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2427 ทำให้เกิดกบฏชาวนาที่ยืดเยื้อตามมา กบฏยุติลงเมื่อ พ.ศ. 2430 เมื่อฝรั่งเศสเจรจากับพระองค์สำเร็จ พระองค์จึงประกาศให้ยุติการกบฏและประกาศนิรโทษกรรม
ในช่วงนี้ ฝรั่งเศสพยายามจะลิดรอนอำนาจของกษัตริย์กัมพูชาและเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าการสูงสุดของฝรั่งเศส แต่พระองค์ไม่ยินยอม พระโอรสของพระองค์คือพระยุคนธรได้เดินทางไปยังฝรั่งเศสเพื่อคัดค้านนโยบายนี้จนถูกถอดจากบรรดาศักดิ์และต้องลี้ภัยไปสยาม ฝ่ายฝรั่งเศสก็ได้ทำการย้ายเมืองหลวงจากกรุงอุดงไปที่พนมเปญซึ่งพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งแต่ทางการฝรั่งเศสก็ได้ทำใบแจ้งเรื่องย้ายเมืองหลวงและบังคับให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยจนสำเร็จ พระองค์จึงสละราชบัลลังก์เป็นการคัดค้านการกระทำของฝรั่งเศสและเสด็จไปพำนักที่สยาม ทางการฝรั่งเศสก็ไม่ให้การสนใจเคลื่อนไหวของพระนโรดมอีกเลยและได้ให้พระสีสุวัตถิ์พระอนุชาของพระองค์ที่นิยมฝรั่งเศสขึ้นสืบสมบัติต่อ ส่วนพระนโรดมได้เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2447 ที่กรุงเทพมหานคร ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทางราชสำนักสยามได้อัญเชิญพระบรมศพกลับสู่กัมพูชา พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพมีขึ้นที่กรุงพนมเปญ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2449 ปัจจุบันมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าของพระองค์อยู่ในวัดอุดง