นกกระเต็นน้อยธรรมดา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Alcedo atthis; อังกฤษ: Common kingfisher) เป็นนกกระเต็นชนิดหนึ่งที่พบได้ในประเทศไทย จัดอยู่ในวงศ์นกกระเต็นน้อย (Alcedinidae) และมีขนาดที่ค่อนข้างเล็กและน่ารัก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 16–18 เซนติเมตร เมื่อเทียบกับนกกระเต็นชนิดอื่น ๆ แต่จะแตกต่างกันที่ตัวเมียมีโคนปากล่างและอาจทั้งปากล่างเป็นสีส้มแดงขณะที่ตัวผู้มีปากสีดำสนิท
นกกระเต็นน้อยธรรมดามีหัวและหน้าผากสีฟ้าอมเขียว สดใส มีจุดสีฟ้าอ่อนเล็ก ๆ เป็นแนวขวางถี่ ๆ หลายแนว คอสีขาว อกสีน้ำตาลแดง แก้ม และขนคลุมหูสีน้ำตาลแดง ปีกสีฟ้าอมเขียว มีจุดสีฟ้าอ่อนตรงแนวปีก หลังและตะโพกสีฟ้าสดใสมาก ๆ ขาและนิ้วเท้าเล็ก ๆ สีแดงสดใส เป็นนกขนาดเล็ก ยาว 16–18 เซนติเมตร ปีกสั้นกว่า 8 เซนติเมตร หางสั้น นกวัยเล็กมีอกสีหม่นออกขาว ๆ เทา ๆ มีปากล่างสีแดง ขาและเท้าสีดำ และจะค่อย ๆ แดงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น
รัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย, ยุโรป, อินเดีย, พม่า, แอฟริกา, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย, เกาะสุมาตรา, เกาะชวา, เกาะบอร์เนียว, ฟิลิปปินส์, หมู่เกาะโซโลมอน, หมู่เกาะซุนดา, เกาะนิวกินี และไทย สำหรับประเทศไทยมีทั่วไปทุกภาค (แบ่งออกได้เป็น 7 หรือ 8 ชนิดย่อย-ดูในตาราง ชนิดที่พบในประเทศไทย คือ A. a. bengalensis) โดยมีการเก็บตัวอย่างต้นแบบแรกได้จากอียิปต์
อาศัยตามแหล่งน้ำ เช่น ลำคลองหนอง บึง บ่อ ทะเลสาบ และ ยังพบได้ตามทุ่งโล่ง ป่าชายเลน ชายหาด และป่าดงดิบแล้งใกล้ที่มีแหล่งน้ำ ลำธารที่น้ำไหลช้า ทั้งในที่โล่งและในป่าที่ไม่ทึบนัก ตามสวนสาธารณะในเมือง และนอกเมือง ป่าโกงกาง จากที่ราบถึงที่สูง 1,830 เมตรจากระดับน้ำทะเล
มักพบอยู่โดดเดี่ยวไม่รวมฝูง หากินเวลากลางวัน โดยจะเกาะอยู่ตามกิ่งไม้แห้ง ตอไม้ ในแหล่งน้ำ เพื่อคอยจับปลาตัวเล็กๆ ลูกอ๊อด กบขนาดเล็ก กุ้งน้ำจืดขนาดเล็ก ปลาตีน ตามแต่ที่จะจับได้บริเวณที่ไปอยู่อาศัย และแมลงในน้ำ เช่น แมลงปอ ตั๊กแตน เมื่อพบเหยื่อมันจะบินโฉบใช้ปากคาบเหยื่อ หรือบางครั้งลำตัวของมันจะจมลงไปในน้ำด้วย เมื่อได้เหยื่อมันจะกลับมาเกาะตรงที่เดิมแล้วจึงกลืนกิน หากเหยื่อเป็นปลามันจะหันทางด้านหัวปลาเข้าปาก หากยังไม่อิ่มก็จะคอยจ้องจับเหยื่อต่อไป นกกระเต็นน้อยธรรมดาจัดเป็นนกอพยพเข้ามาหากินในเขตประเทศไทย และยังไม่มีการรายงานพบการทำรังวางไข่ในประเทศไทย นกกระเต็นน้อยธรรมดาจัดเป็นนกอพยพที่พบได้บ่อยและมีปริมาณมากทั่วทุกภาค
นกกระเต็นน้อยธรรมดาไม่ใช่นกประจำถิ่นของประเทศไทย แต่เป็นนกที่อพยพมาจากที่ที่มีอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว นกกระเต็นน้อยธรรมดาแถบอกดำ จะพบตามลำธารในป่าภาคใต้ นกกระเต็นน้อยธรรมดาสร้อยคอสีน้ำตาล จะพบตามป่าที่ราบต่ำภาคใต้ และนกกระเต็นน้อยธรรมดาแดง จะพบทางภาคใต้และภาคตะวันออก ตามป่าชายเลน บางส่วนเป็นนกอพยพจะเริ่มพบในประเทศไทยได้ตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายนไปจนถึงปลายฤดูหนาว และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไทย