ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือเอสเอ็มอีแบงก์) เป็นธนาคารที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 เพื่อประกอบธุรกิจอันเป็นการพัฒนา ส่งเสริม ช่วยเหลือ และสนับสนุนการจัดตั้ง การดำเนินงาน การขยาย หรือการปรับปรุงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยให้สินเชื่อค้ำประกัน ร่วมลงทุน สนับสนุนบริการทางการเงิน ให้คำปรึกษาแนะนำหรือให้บริการที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบการไทย
ธพว. มีปัญหาการทุจริตอื้อฉาวมาโดยตลอด และไม่ค่อยมีบทบาทในการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี มีการแต่งบัญชีเท็จ รายงานข้อมูลเท็จต่อกระทรวงการคลัง มีปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงปล่อยกู้เฉลี่ยต่อรายสูงถึง 3 ล้านบาท (มากกว่าธนาคารพาณิชย์กว่า 10 เท่า ในสินเชื่อประเภทเอสเอ็มอี) ซึ่ง ธพว. ปล่อยกู้รายใหญ่เฉลี่ย 800-900 ล้านบาท ตลอดจนการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส ขาดจริยธรรม ขาดระบบการตรวจสอบและเอาผิด ฯลฯ เกิดความเสียหายต่อรัฐ ทำให้เงินภาษีของประชาชนสูญเปล่าเป็นจำนวนมาก
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แนะให้ยุบรวมกับธนาคารกรุงไทย สอดรับกับแนวคิดของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ว่า เอสเอ็มอีแบงก์ไม่ควรมีอยู่ เพราะมีหนี้เสียมากเกินไป ส่วนธนาคารโลก แนะให้รวมกับธนาคารออมสิน ยิ่งไปกว่านั้น นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) อดีต สว. และอดีตสมาชิก สนช. เห็นว่า มีผู้วางแผนหลอก คสช. เพื่อกลบอุจจาระหนีความผิดโดยวิธีเสนอให้เอาไปรวมกับธนาคารออมสิน ซึ่งธนาคารออมสินไม่ยอมรับธนาคารเช่น ธพว. จึงขอให้ พลเอกประยุทธ์ ช่วยปกป้องรักษาธนาคารออมสินไว้ด้วย
ธพว. มีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีผู้ถือหุ้นทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกัน (จาก พ.ร.บ. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มาตรา 8 ให้กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้หนึ่งหมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็นหนึ่งร้อยล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท โดยให้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลัง สถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร
ธพว. มีจำนวนสาขาทั่วประเทศไทย 83 สาขา มีกำไรในปี พ.ศ. 2553 รวมสุทธิ 128.48 ล้านบาท แต่พบภายหลังว่า ธพว. ตกแต่งบัญชีผลกำไรเท็จ ทั้งนี้ ธพว. มีผลประกอบการขาดทุนในปี พ.ศ. 2553 รวมสุทธิ 1,612.56 ล้านบาท
จากการประเมินสภาวะการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ธพว. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีสภาวะวิกฤต มีผลการดำเนินงานผันผวนตามสภาพตลาด และเป็น 1 ใน 4 รัฐวิสาหกิจของไทยที่มีผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์วิกฤต ในปี พ.ศ. 2553
ข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2555 ธพว. มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 4,039.31 ล้านบาท รวมเป็นยอดขาดทุนสะสมเท่ากับ 9,755 ล้านบาท มีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 1% จากที่ ธปท. กำหนดไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 8.5% โดยยอดหนี้เอ็นพีแอลคิดเป็น 40.68%
ข้อมูล ณ 24 ตุลาคม 2556 ธพว. เกิดปัญหาสภาพคล่องจนมีความจำเป็นต้องกู้เงินระยะ 1 วัน จาก ธปท. แล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวน 400 ล้านบาท และครั้งที่ 2 จำนวน 600 ล้านบาท ผู้ฝากเงินถอนเงินออกอย่างต่อเนื่องเพราะไม่มั่นใจในฐานะการดำเนินงานของธนาคาร
ข้อมูล ณ 25 สิงหาคม 2557 พบว่าอาจมีหนี้เสียสูงเกิน 50% และที่ผ่านมาหนี้เสียไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยหนี้เสียจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ธพว. มีประวัติการคอรัปชั่นเป็นจำนวนมาก เช่น ผู้ทำธุรกิจต้องจ่ายใต้โต๊ะกับการจัดซื้อจัดจ้างสูงถึง 20% ผู้กู้ต้องจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้ธนาคารอนุมัติเงินกู้ เป็นต้น การกระทำที่ต่ำทรามของพนักงานบางกลุ่มทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการฟ้องร้องเป็นคดีจำนวนมาก ข้อมูล ณ วันที่ 20 ม.ค. 58 ธนาคารได้ดำเนินการฟ้องร้องคนที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมทำความเสียหาย โดยมีคดีที่อยู่ระหว่างการบังคับคดี 4 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล 6 เรื่อง และจะยังมีการฟ้องเพิ่มอีก และธนาคารยังได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับคนที่อยู่ในข่ายกระทำผิด มีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 19 กรณี แบ่งเป็นด้านสินเชื่อ 6 เรื่อง ด้านร่วมลงทุน 2 เรื่อง ด้านการดำเนินงานที่ขัดนโยบาย 4 เรื่องและด้านอื่น ๆ เกี่ยวกับการผิดระเบียบธนาคารอีก 7 เรื่อง ที่ผ่านมาที่นี่เหมือนเป็นแดนสนธยา ฝันร้ายไม่ยอมตื่น
ในระหว่างปี 2547-2549 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ได้ปล่อยสินเชื่อโดยทุจริตและส่งผลให้เกิดความเสียหายรวม 2,592 ล้านบาท ซึ่งพบว่า มีการให้กู้เงินโดยจำนองที่ดินเปล่ายังไม่พัฒนาโดยประเมินราคาสูงกว่าราชการ 10 เท่า ใช้เอกสารปลอมทำสัญญาและเบิกจ่ายเงินกู้ หรือกรณีลูกหนี้ประกอบการที่เดียวกัน มีกรรมการชุดเดียวกัน มาขอกู้เงินธนาคารโดยลูกหนี้ทุกรายเป็นคู่สัญญาระหว่างกันและกู้ไปแล้วไม่ได้มีการดำเนินการ และช่วงเวลาเดียวกันได้เกิดการทุจริตธุรกรรม Floating Rate Certificate of Deposit (FRCD) ซึ่งมีการสอบสวนในเวลาต่อมา
ในปี 2550 กระทรวงการคลังได้สอบสวนกรณีการทุจริตปล่อยสินเชื่อของธนาคารจำนวน 27 โครงการ มูลค่าความเสียหายมากกว่า 16,000 ล้านบาท
ในปี 2552 มีการสอบสวนการทุจริตธุรกรรม FRCD โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้ลงนามแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการไต่สวนอดีตผู้บริหารของเอสเอ็มอีแบงก์ 4 ราย โดยมีนายภักดี โพธิศิริ เป็นประธาน และมีตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการของเอสเอ็มอีแบงก์ได้ดำเนินการทางวินัยและอาญากับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด
ในปี 2553 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ตกแต่งบัญชีและแจ้งผลกำไรเป็นเท็จ โดยธนาคารมิได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งสิ้น 1,741.04 ล้านบาท ทำให้รายการเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ในงบการเงินเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 สูงเกินไปในจำนวนที่เท่ากันคือ 1,741.04 ล้านบาท และหากธนาคารตั้งสำรองเงินอย่างครบถ้วน จะทำให้ผลการดำเนินงานสิ้นปี 2553 ขาดทุนทั้งสิ้น 1,612.56 ล้านบาท โดยมิได้มีกำไรสุทธิ 128.48 ล้านบาทตามที่แจ้ง
ในปี 2554 รายงานการตรวจสอบธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ของ ธปท. ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 พบว่า ลูกหนี้บางรายถูกปรับโครงสร้างหนี้ไปถึง 11 ครั้ง โดยไม่มีลายมือชื่อของลูกหนี้ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้เข้าตรวจสอบและพบว่าได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง ถือว่าเป็นการประพฤติมิชอบ ส่วนการตรวจสอบ ณ เดือนตุลาคม 2554 ธปท. พบว่าสินเชื่อธุรกิจโรงแรมมีการปล่อยเกินเพดานควบคุมความเสี่ยง
ในปี 2555 กระทรวงการคลังตรวจพบการปล่อยสินเชื่อที่ผิดวัตถุประสงค์เป็นสินเชื่อรายใหญ่จำนวนมาก มีวงเงินต่อรายมากกว่า 20 ล้านบาท โดยใช้หลักประกันเป็นสินทรัพย์ที่เสื่อมมูลค่า และพบการทุจริตในรูปแบบการรับซื้อเช็คในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวรวมมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้มีความเป็นไปได้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) จะเข้าทำการตรวจสอบ
กระทรวงการคลังยังพบกรณีการร้องเรียนการเรียกรับค่าหัวคิว 10% ก่อนการปล่อยสินเชื่อ และนอกจากนี้ธนาคารได้ถูกร้องเรียนไปยังดีเอสไอ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการปรับปรุงสำนักงานสาขา เพราะไม่มีการเปิดประมูลทำให้ถูกมองว่าร่วมกันสมคบคิด (ฮั้ว) การว่าจ้าง โดยดีเอสไอจะตรวจสอบ ซึ่งกรณีที่มีมูลความผิดจริงจะต้องถูกดำเนินคดี
ในปีเดียวกัน คณะกรรมการธนาคารได้สอบสวนกรรมการผู้จัดการเรื่องการทุจริต 9 กรณี ประกอบด้วย
1. การอำนวยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำในโครงการชะลอเลิกจ้างแรงงาน เกินวงเงินของโครงการ
2. การอำนวยสินเชื่อผิดหลักเกณฑ์ให้กับลูกค้ากลุ่มเดียวกันเกิน 500 ล้านบาท
3. การอำนวยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มีลักษณะซื้อที่ดินราคาถูกมาเป็นหลักประกัน
4. การอนมัติทำแพ็กกิ้งเครดิตโดยผิดหลักเกณฑ์ ทำให้ลูกค้าได้รับสินเชื่อซ้ำซ้อน
5. การประชุมเวียนเพื่อพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้ารายใหญ่โดยไม่โปร่งใส
6. การรายงานเท็จต่อคณะกรรมการธนาคาร และกระทรวงการคลัง เรื่องจำนวนลูกค้าที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อภายใน 45 วัน
7. การประวิงเวลาปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องการออกหลักเกณฑ์สินเชื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
8. การแก้ไขคำสั่งเพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานเบิกค่าที่พัก ได้เกินกว่าที่จ่ายจริง
9. การปลอมแปลงและปกปิด ข้อมูลที่แสดงสถานะที่แท้จริงของธนาคาร และนำไปรายงานต่อคณะกรรมการธนาคาร และกระทรวงการคลัง รวมถึงมีรายงานว่าเกิดการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างทำระบบคอร์แบงกิ้งของธนาคาร มูลค่า 300 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายธนาคารไม่สามารถรับฝากเงินได้ แต่ระบบที่ติดตั้งกลับมีระบบรับฝากเงิน ซึ่งส่งผลให้ธนาคารต้องจ่ายเงินแพงกว่าที่จำเป็น
ผลการสอบสวนพบว่ากรรมการผู้จัดการมีความผิดจริง ทำให้กรรมการธนาคารมีมติเลิกจ้างและให้มีผลทันที ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2555 โดยไม่บอกกล่าวและไม่ต้องจ่ายสินไหมทดแทน
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการปล่อยสินเชื่อและการบริหารจัดการของเอสเอ็มอีแบงก์ แจ้งว่า อดีตกรรมการผู้จัดการปฏิบัติหน้าที่หละหลวมและบกพร่อง คือ ปล่อยให้มีการวิเคราะห์สินเชื่อโดยหละหลวม โดยพบว่าข้อมูลที่นำมาใช้วิเคราะห์สินเชื่อจำนวนมากขาดความน่าเชื่อถือ โดยไม่มีการติดตามดูแลลูกหนี้เท่าที่ควรหลังจากให้สินเชื่อ ละเลยไม่ต่ออายุตั๋วสัญญาใช้เงินที่ลูกหนี้ทำข้อตกลงกับธนาคารเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท ทำให้ธนาคารเสียสิทธิ์ในการดำเนินคดีกับลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้ การแก้ไขเอ็นพีแอลขาดมาตรฐาน มีการปล่อยปละละเลยในเรื่องที่มีความสำคัญทุกเรื่อง
คณะกรรมการชุดกระทรวงการคลังพบว่า เอสเอ็มอีแบงก์บันทึกข้อมูลเอ็นพีแอลต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้พบว่าลูกหนี้จำนวนมากยังไม่ได้มาเซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ แต่ธนาคารกลับจัดชั้นเป็นลูกหนี้ดี
สตง. ตรวจสอบงบการเงิน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2555 และแจ้งว่าไม่สามารถได้ความเชื่อมั่นว่าจะพบเรื่องที่มีนัยสำคัญทั้งหมดซึ่งอาจพบจากการตรวจสอบ จึงไม่อาจแสดงความเห็นต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างที่สอบทาน
ในปี 2556 นายภิญโญ ตั้นวิเศษ ประธานกรรมการกำกับและติดตามการพัฒนาคุณภาพสินเชื่อและแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ตรวจพบการซ่อนตัวเลขหนี้ พบการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เฉลี่ยสูงถึง 800-900 ล้านบาทต่อราย เกินอำนาจของเอสเอ็มอีแบงก์ที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อราย และในปี 2556 ได้มีความเห็น เรื่อง การควบรวมกิจการของเอสเอ็มอีแบงก์กับธนาคารออมสิน และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) กล่าวว่า
"เอสเอ็มอีแบงก์มีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขหลายเรื่อง โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีจำนวนมาก และความไม่โปร่งใสในการอนุมัติสินเชื่อ แต่การควบรวมกัน (กับธนาคารออมสิน) แล้วมีเอ็นพีแอลติดไปอยู่กับธนาคารออมสินด้วย ก็ไม่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันธนาคารออมสินมีความมั่นคงและแข็งแกร่งมาก ดังนั้นเอสเอ็มอีแบงก์ต้องเร่งแก้ปัญหาของตัวเองก่อน"
ข้อมูลจากภายในกล่าวว่าเป็นหนี้ฝากราว 10% และมีวาระจรเข้าบอร์ด นอกจากนี้พบว่า มีการทุจริตโดยธนาคารสั่งจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) มากกว่าลูกค้าอื่นและออกเช็คสั่งจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนให้บุคคลภายนอกโดย สกย. ไม่ได้รับเงิน ซึ่งอาจเป็นการยักยอกทรัพย์ โดยประธานกรรมการ (นายนริศ ชัยสูตร) ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งตำรวจ
นอกจากนี้ยังพบว่าธนาคารอนุมัติสินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจ ซึ่งมีบุคคลคนเดียวกันเป็นผู้มีอำนาจลงนาม และมีการเวียนขอสินเชื่อโดยใช้ใบอินวอยซ์เดิมเป็นหลักประกัน ส่งผลให้เกิดความเสียหายราว 150 ล้านบาท และการไม่ดำเนินคดีกับลูกหนี้จนคดีขาดอายุความ ทำให้อำนาจการต่อรองหรือการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ลดลง เกิดความเสียหายราว 24.8 ล้านบาท และพบเรื่องการจัดเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของเอสเอ็มอีแบงก์ ส่อเจตนาล็อกสเปก
ข้อมูลวันที่ 14 ก.พ. 2556 เอสเอ็มอีแบงก์มี BIS ติดลบ 0.95% ต้องใช้เงินเพิ่มทุนอย่างน้อย 6 พันล้านบาท และเอสเอ็มอีแบงก์ยังทำสินเชื่อแฟคเตอร์ริ่งให้แก่โรงสีในโครงการจำนำข้าว โดยใช้ใบประทวนมากกว่า 5,000 ล้านบาท โดยเข้าข่ายผิดวัตถุประสงค์การปล่อยสินเชื่อของธนาคาร
นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข ถูกเลิกจ้าง เพราะไม่รักษาผลประโยชน์ธนาคาร ขาดธรรมมาภิบาล รายงานเท็จ โดยจะมีการตรวจสอบการทุจริตย้อนหลังด้วย นายมนูญรัตน์กล่าวว่าเขาไม่เป็นกังวลในเรื่องการฟ้องข้อหาทุจริต ซึ่งนายมนูญรัตน์ปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน 33 คนโดยไม่มีอำนาจ จ่ายค่าคอมพิวเตอร์ 9 ล้านบาทโดยไม่ใช้สิทธิ์หักลบกลบหนี้ และเกิดเหตุการณ์เอสเอ็มอีแบงก์ยื่นฟ้อง โสฬส สาครวิศว ที่ศาลแรงงานกลาง
จากนั้น นางสาลินี วังตาล ได้เข้ามาเป็นประธานบอร์ดหลังจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ ซึ่งนางสาลินีได้ตอบผู้สื่อข่าวถึงกรณีแนวคิดที่จะปิดกิจการเอสเอ็มอีแบงก์ ว่า “บอร์ดได้รับมอบหมายให้มาฟื้นฟูกิจการแบงก์ ไม่ได้ให้มาปิดแบงก์”
ในวันที่ 24 ธันวาคม 2557 บอร์ด ธพว. ได้ไล่ นายสมชัย ตันติธนวัฒน์ นายสุทิน เหมือนพิทักษ์ และนายศุภกิจ แป้นเจริญ ออกจากงาน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูลจัดซื้อจัดจ้างตกแต่งสาขา บอร์ด ธพว. สำรวจข้อมูลและเร่งฟ้องกรณีสินเชื่อผิดปกติและการทำ Joint Venture ตั้งแต่ปี 2546 ที่มูลเหตุเชื่อว่ามีพนักงานกับคนภายนอกร่วมมือกันให้เกิดความเสียหาย และจะเร่งดำเนินการเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง และตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริงพนักงานที่อยู่ในข่ายทำให้ธนาคารเสียหายหรือเสียประโยชน์ที่ควรได้ คณะฯประกอบด้วยอดีตผู้ตรวจสอบของ ธปท. เป็นต้น และเชิญผู้แทนจากกรมพระธรรมนูญ และสำนักงานอัยการมาเป็นที่ปรึกษาในการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด โดยกระทรวงการคลังมีนโยบายตรวจสอบการทุจริตให้ถึงที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น ยังให้อำนาจ ธปท. ตรวจสอบและกล่าวโทษได้ โดยสามารถส่งเรื่องต่อให้ ปปช. และ ปปง. ได้ทันที
วันที่ 10 เม.ย. 2558 ธนาคารมีเรื่องสอบสวน 19 เรื่อง ดำเนินการเสร็จ 10 เรื่อง โดยในเดือนมีนาคมมีข้อยุติ 1 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำผิดวินัยร้ายแรงของผู้อำนวยการ 1 คน และผู้จัดการส่วน 1 คน และธนาคารมีการสอบสวนเพิ่ม 4 เรื่อง และธนาคารชนะคดีที่ฟ้องร้องกับบุคคลภายนอกกรณี Core Banking ซึ่งธนาคารจะได้เงินคืนเป็นจำนวน 46 ล้านบาท และชนะคดีแรงงานที่พบการทุจริตของพนักงาน 1 คดี ซึ่งศาลสั่งให้มีการชำระเงินให้ธนาคาร 19 ล้านบาท
การจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์สำนักงานมีราคาที่เกินจริง ซึ่งกระทำบังอาจ เรื่องป้ายเฉลิมพระเกียรติที่สั่งทำถึง 5 ล้านบาท แต่ราคาในตลาดอยู่ที่ 5 แสนบาท
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย