ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Krung Thai Bank Public Company Limited ชื่อย่อ: KTB) เป็นรัฐวิสาหกิจ ในรูปสถาบันการเงิน ประเภทธนาคารพาณิชย์ มีกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแล จึงมีตราสัญลักษณ์เป็นภาพนกวายุภักษ์ เช่นเดียวกับของกระทรวงการคลัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ธนาคารเปลี่ยนแปลงรูปแบบตราสัญลักษณ์ โดยนำรูปวงกลมที่ล้อมรอบออก และเปลี่ยนเป็นสีฟ้าอ่อน พร้อมทั้งใช้เป็นสีประจำธนาคาร แทนสีกรมท่า (สีน้ำเงินเข้ม) ปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 1210 สาขา
ด้วยนโยบายของเสริม วินิจฉัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ควรมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ขณะที่ในเวลาดังกล่าว รัฐบาลไทยเข้าถือหุ้นใหญ่ ในธนาคารพาณิชย์ถึงสองแห่ง ประกอบด้วย ธนาคารมณฑล จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2485 และ ธนาคารเกษตร จำกัด ที่ก่อตั้งโดยสุริยน ไรวา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 กระทรวงการคลังจึงประกาศ ให้ควบรวมกิจการของธนาคารทั้งสองดังกล่าว โดยก่อตั้งขึ้นในชื่อใหม่ว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 และใช้อาคารสำนักงานใหญ่แห่งเดิมของธนาคารเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงไทยในยุคแรก ต่อมาอาคารที่เยาวราชคับแคบ ไม่สามารถรองรับกิจการ ซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างมาก ธนาคารจึงทำการย้ายสำนักงานใหญ่ ไปยังอาคารเลขที่ 35 ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน สำหรับอาคารที่เยาวราชในทุกวันนี้ นอกจากคงใช้เป็นสาขาเยาวราชแล้ว ยังปรับปรุงส่วนหนึ่งของอาคาร ให้เป็นหอศิลป์กรุงไทยด้วย
ธนาคารกรุงไทย นับเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง] เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ก่อนจะเปิดการซื้อขายอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ปีเดียวกัน และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2537 ตามลำดับ ปัจจุบันกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยถือผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน