ธงชาติไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง ขาว และคราม ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ความหมายสำคัญของธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทย คือ ชาติ (สีแดง) ศาสนา (สีขาว) และพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน) สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติไทย (ขณะนั้นยังเรียกชื่อประเทศว่าสยาม) เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2460 เพื่อแก้ไขปัญหาการชักธงช้างเผือก (ซึ่งใช้เป็นธงชาติมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4) กลับด้าน และเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร
ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย สามารถสืบได้แต่เพียงความว่า มีการใช้ธงสำหรับเป็นเครื่องหมายของกองทัพกองละสีและใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องสำหรับเรือกำปั่นเดินทะเลทั่วไปมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และยังไม่มีธงชาติไว้ใช้ดังที่เข้าใจในปัจจุบัน
ในพระนิพนธ์ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวตามความในจดหมายเหตุต่างประเทศแห่งหนึ่งว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) เรือค้าขายของฝรั่งเศสลำหนึ่งได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ของไทย เรือฝรั่งเศสก็ชักธงชาติของตัวเองขึ้น ฝ่ายไทยยิงสลุตคำนับตามธรรมเนียม แต่เมื่อฝ่ายไทยชักธงขึ้นตอบบ้าง ฝ่ายฝรั่งเศสกลับไม่ยิงสลุตคำนับตอบ เพราะได้ชักเอาธงชาติฮอลันดา (ปัจจุบันคือประเทศเนเธอร์แลนด์) ขึ้นเหนือป้อมด้วยเหตุว่าไทยไม่มีธงชาติของตนใช้ (ขณะนั้นฝรั่งเศสกับฮอลันดาเป็นศัตรูกัน) ฝ่ายไทยได้แก้ปัญหาโดยชักผ้าสีแดงขึ้นแทนธงชาติฮอลันดา ฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุตคำนับตอบ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเรือหลวงและเรือค้าขายของเอกชนยังคงใช้ธงสีแดงล้วนเป็นเครื่องหมายเรือสยาม จึงได้มีการนำสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง ในกฎหมายธงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง" ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอก 3 ช้าง ถือเป็นเกียรติยศยิ่งต่อแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรของเรือหลวงไว้ด้วย อันมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก แต่ธงช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวงเท่านั้น เรือพ่อค้ายังคงใช้ธงแดงตามเดิม
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกมากขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2398 พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า สยามจำเป็นต้องมีธงชาติใช้ตามธรรมเนียมชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยามแต่เอารูปจักรออก เนื่องจากมีเหตุผลว่า จักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระองค์พระมหากษัตริย์และธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปซ้ำกับประเทศอื่นในการติดต่อระหว่างประเทศ ธงนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือเอกชน แต่เรือหลวงนั้นทรงกำหนดให้ใช้พื้นเป็นสีน้ำเงินขาบชักขึ้นที่หัวเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับแยกแยะว่าเป็นเรือหลวงด้วย ธงนี้มีชื่อว่า ธงเกตุ (ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นธงฉานของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน)
ธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2459 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัยและทอดพระเนตรเห็นธงช้างของราษฎรซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จไว้ถูกติดกลับหัว พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ มีพระราชดำริว่า ธงช้างทำยากและไม่ใคร่ได้ทำแพร่หลายในประเทศ โดยธงช้างที่ขายตามท้องตลาดนั้นมักจะเป็นธงที่ผลิตจากต่างประเทศและประเทศที่ทำไม่รู้จักช้าง ดังนั้น รูปร่างของช้างที่ปรากฏจึงไม่น่าดู จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ซึ่งธงนี้เรียกว่า ธงแดงขาว 5 ริ้ว (ชื่อในเอกสารราชการเรียกว่า ธงค้าขาย) ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานราชการของรัฐบาลสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ แต่ใช้รูปช้างเผือกแบบทรงเครื่องยืนแท่น ซึ่งแต่เดิมธงนี้เป็นธงสำหรับเรือหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 และมีฐานะเป็นธงราชการอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2453
ล่วงมาถึง พ.ศ. 2460 แถบสีแดงที่ตรงกลางธงค้าขายได้เปลี่ยนเป็น สีน้ำเงินขาบ หรือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วงดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เหตุที่รัชกาลที่ 6 ทรงเลือกสีนี้เพราะสีม่วงเป็นสีประจำพระองค์ที่โปรดมาก เนื่องจากเป็นสีประจำวันพระราชสมภพคือวันเสาร์ และอีกประการหนึ่ง สีน้ำเงินยังแสดงถึงชัยชนะและความเป็นหนึ่งเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งใช้สีแดง ขาว น้ำเงินเป็นสีในธงชาติเป็นส่วนใหญ่ด้วย ธงชาติแบบใหม่นี้ได้รับพระราชทานนามว่า "ธงไตรรงค์" และอวดโฉมต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งกองทหารอาสาของไทยได้ใช้เชิญไปเป็นธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วย
อย่างไรก็ตาม ธงไตรรงค์ที่สร้างขึ้นสำหรับกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นไม่ใช่ลักษณะอย่างธงไตรรงค์ตามที่กำหนดให้ใช้ในปัจจุบันและโดยทั่วไป แต่มีการเพิ่มรูปสัญลักษณ์พิเศษลงในธงด้วย โดยด้านหน้าธงนั้นเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในวงกลมพื้นสีแดง ลักษณะอย่างเดียวกับธงราชนาวีไทย (ทั้งนี้กำหนดแบบใหม่ให้ใช้พร้อมกันในคราวประกาศเปลี่ยนธงชาติด้วย) ด้านหลังเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. ๖ สีขาบ ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมีสีเหลืองในวงกลมพื้นสีแดง ที่แถบสีแดงทั้งแถบบนแถบล่างทั้งสองด้านจารึกพุทธชัยมงคลคาถาบทแรก (ภาษาบาลี) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์แก้ไขในตอนท้ายจาก "ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน) เป็น "ตนฺเตชสา ภวตุ เม ชยสิทฺธินิจฺจํ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยชนะจงมีแก่ข้าพเจ้าเสมอ)
พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ธงชาติไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ควรหาข้อกำหนดเรื่องธงชาติให้เป็นการถาวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบรรทึก พระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า จะคงใช้ธงไตรรงค์ดังที่ใช้อยู่เป็นธงชาติต่อไป หรือจะกลับไปใช้ธงช้างแทน หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติ กับวิธีใช้ธงไตรรงค์อย่างไร ผลปรากฏว่าความเห็นขององคมนตรีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชวินิจฉัยลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลต่าง ๆ ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติอยู่เช่นเดิม โดยมีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับ พ.ศ. 2479 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์ และหลังจากเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลต่าง ๆ ก็ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติอยู่เช่นเดิม และรับรองมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับ พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์
ตามความในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติธงฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กล่าวถึงลักษณะธงชาติไว้ดังนี้
ธงชาติ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีขาวกว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน
ในพระราชนิพนธ์ "เครื่องหมายแห่งไตรรงค์" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2464 ได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนาและธรรมะ สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์ แม้นิยามดังกล่าวจะไม่ใช่คำอธิบายที่ทรงประกาศให้ใช้อย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสามสิ่งนี้คืออุดมการณ์รัฐที่พระองค์ทรงปลูกฝัง เพื่อให้คนไทยเกิดสำนึกความเป็นชาตินิยมมาตลอดรัชสมัยของพระองค์
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ ใน พ.ศ. 2470 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงธงชาติจากบุคคลกลุ่มต่าง ๆ เพื่อได้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนธงชาติหลายครั้ง กรมราชเลขาธิการได้รวบรวมความเห็นเรื่องนี้จากที่ต่าง ๆ รวมทั้งในหนังสือพิมพ์ เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งในบรรดาเอกสารดังกล่าว ปรากฏว่าในหมู่ผู้ที่สนับสนุนให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป ได้มีการให้ความหมายของธงที่กระชับกว่าเดิม กล่าวคือ สีแดงหมายถึงชาติ สีขาวหมายถึงพุทธศาสนา สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ไปเล็กน้อย แต่ยังครอบคลุมอุดมการณ์ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้เช่นเดิม เป็นที่จดจำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงปกครองนั้น การประดับ ชัก ใช้ และแสดงธงชาติด้วยวิธีการต่าง ๆ มักเป็นไปตามธรรมเนียมที่ใช้สืบต่อกันมา ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอน แม้จะเริ่มมีการจัดระเบียบธงด้วยกฎหมายต่าง ๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา ก็ยังไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการชัก ใช้ และแสดงธงอย่างชัดเจนนัก
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลไทยจึงเริ่มจัดระเบียบการใช้ธงชาติขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก โดยออกระเบียบการชักธงชาติสยามประกอบอยู่ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 ปรากฏในในมาตรา 17-20 บทบังคับทั่วไปได้กล่าวถึงระเบียบการชักธงชาติ และข้อควรปฏิบัติต่อธงชาติ และในบทกำหนดโทษ ท้ายพระราชบัญญัติ ในมาตรา 21-23 ก็ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบังคับ มีทั้งปรับเป็นเงิน จำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำ หนักเบา แล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำ ซึ่งต่อมา ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับต่าง ๆ อีกหลายฉบับ อาทิ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ ระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นต้น โดยกำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ต้องใช้ธงชาติสำหรับชักขึ้นและลงตามที่ราชการกำหนด รวมทั้ง ต้องประดับธงชาติไว้ ณ สถานที่อันสมควรเป็นการถาวรและสม่ำเสมอ สำหรับภาคเอกชนและบ้านเรือนของประชาชนทั่วไปนั้นให้อนุโลมดำเนินการไปในทางเดียวกัน
ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติที่บังคับทั่วไปในปัจจุบันนี้ บังคับใช้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 (แก้ไขเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2547) ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญบางข้อ ดังนี้
การชักธงและประดับธงชาติในโอกาสและวันพิธีสำคัญอื่น ๆ ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป
ส่วนการลดธงครึ่งเสานั้น นายกรัฐมนตรีจะสั่งการผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นคราว ๆ ไป เช่น เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 15 วัน และให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการถวายความอาลัยในการสิ้นพระชนม์ของพระองค์
เวลาชักธงชาติโดยปกติ กำหนดให้ชักธงขึ้นในเวลา 8.00 น. และชักธงลงเวลา 18.00 น. สำหรับอาคารสถานที่และยานพาหนะฝ่ายทหารนั้น ให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับของฝ่ายทหาร ส่วนในเรือเดินทะเลนั้น ให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมชาวเรือ
สำหรับการชักธงชาติในโรงเรียนและสถานศึกษานั้น ปัจจุบันนี้ได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งกำหนดให้โดยปกติแล้ว ให้สถานศึกษาชักธงขึ้นเวลาเข้าเรียน และชักธงลงเวลา 18.00 น. ในวันเปิดเรียน ส่วนวันปิดเรียนนั้น ให้ชักธงขึ้นในเวลา 8.00 น. และชักธงลงเวลา 18.00 น. หากสถานศึกษาใดมีความจำเป็นไม่อาจชักธงขึ้นลงตามกำหนดที่กล่าวมา ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาตามความเหมาะสม โดยต้องสอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529
การประดับธงชาติไทยคู่หรือร่วมกับธงอื่นยกเว้นธงพระอิสริยยศ โดยหลักแล้วธงชาติไทยจะต้องอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำว่าธงอื่น ๆ และโดยปกติให้จัดธงชาติอยู่ที่เสาธงแรกด้านขวา (เมื่อมองดูออกมาจากภายใน หรือจุดของสถานที่ที่ใช้ชัก แสดง หรือประดับธงเป็นหลัก) ถ้าหากเป็นการประดับในงานพิธีซึ่งมีแท่นหรือมีที่สำหรับประธาน ธงชาติจะต้องอยู่ทางขวามือเสมอ ในกรณีที่ประดับกับธงอื่นซึ่งรวมกันแล้วได้จำนวนเป็นเลขคี่ ธงชาติไทยจะต้องอยู่ตรงกลาง ถ้ารวมกันแล้วเป็นเลขคู่ ธงชาติไทยต้องอยู่กลางขวา หลักการเช่นนี้อนุโลมใช้กับการประดับธงชาติไทยคู่กับธงต่างประเทศด้วย เว้นแต่ว่าจะข้อตกลงระหว่างประเทศกำหนดไปเป็นอย่างอื่น ก็ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นเป็นกรณีไป
การประดับธงชาติในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ โดยปกติให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมกีฬาระหว่างประเทศ หรือตามหลักสากลที่ยอมรับกันในนานาอารยประเทศ
สำหรับการประดับธงชาติคู่หรือร่วมกับพระพุทธรูปหรือพระบรมรูปในงานพิธีต่าง ๆ ธงชาติต้องอยู่ทางขวาของพระพุทธรูป พระบรมรูปนั้นต้องอยู่ด้านซ้าย
การเคารพธงชาติในปัจจุบันได้ยึดถือหลักการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 กล่าวคือ เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง
สำหรับการเคารพธงชาติของทหารนั้น เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง นายทหารสัญญาบัตรทุกนาย ให้แสดงความเคารพโดยยืนตรงทำวันทยาหัตถ์ ไม่ว่าจะอยู่ในแถวหรือนอกแถว ส่วนนายทหารประทวนและพลทหาร ให้ทำวันทยาหัตถ์ขณะยืนอยู่นอกแถวทหารเท่านั้น หากอยู่ในแถวทหาร ให้ใช้ท่าตรง ส่วนแถวทหารที่มีอาวุธ นายทหารผู้ควบคุมแถวจะสั่งแสดงความเคารพโดยทำวันทยาวุธ และสั่งเรียบอาวุธเมื่อธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาเรียบร้อยแล้ว พิธีกร เมื่ออยู่ในแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ สงบนิ่ง ให้ก้าวออกไป 1 ก้าว สั่งแล้วให้ถอยกลับเข้าที่
ธงชาตินั้นสามารถใช้เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศศพหรืออัฐิได้ โดยบุคคลที่สามารถใช้ธงชาติประกอบเกียรติยศได้นั้น ได้แก่
ส่วนการใช้ธงชาติคลุมศพนั้น สามารถใช้ในการพิธีรับพระราชทานน้ำอาบศพหรือพิธีรดน้ำศพ หรือระหว่างการเคลื่อนย้ายศพเพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนา หรือในพิธีปลงศพตามประเพณีของทหารเรือ
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 ข้อ 19 การกระทำต่อธงชาติโดยไม่ให้ความเคารพ มีดังนี้
โดยทั่วไปแล้ว การกำหนดธงอย่างอื่นที่ความหมายถึงชาติของประเทศต่าง ๆ ล้วนมีการดัดแปลงลักษณะมาจากธงชาติเกือบธงหมด เช่น ธงราชนาวีของกองทัพเรือไทย ซึ่งตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 นับเป็นธงที่มีความหมายถึงชาติเช่นเดียวกับธงชาติไทย มีลักษณะเป็นธงไตรรงค์ ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือก ทรงเครื่องยืนแท่นมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นอยู่ตรงกลางในวงกลมสีแดง ปลายขอบวงกลมสีแดงนั้นจดกับขอบแถบสีแดงพอดีทั้งสองด้าน ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือไทยนั้น ถือว่าธงนี้พัฒนามาจากธงแดงและธงเรือหลวงของสยามในสมัยต่าง ๆ ก่อนที่จะมีลักษณะที่แตกต่างจากธงชาติไปเล็กน้อยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา แบบธงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้กำหนดให้ใช้พร้อมกับธงไตรงค์ซึ่งเป็นธงชาติเมื่อ พ.ศ. 2460 แม้ธงฉาน ซึ่งเป็นธงในราชการทหารที่ใช้สำหรับชักที่หัวเรือรบและใช้เป็นเครื่องหมายของเรือพระที่นั่งและเรือหลวง ก็มีพื้นเป็นธงไตรรงค์เช่นกัน แต่ว่าได้เพิ่มตราสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของกองทัพเรือไว้ เพื่อให้ต่างจากธงชาติอย่างชัดเจน
ธงของทหารอีกอย่างหนึ่งซึ่งทหารทุกคนถือว่าเป็นธงที่สำคัญยิ่ง และเป็นธงที่จะต้องรักษาเอาไว้ด้วยชีวิต คือ ธงชัยเฉลิมพล ธงนี้เป็นธงประจำกองทหารซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้เชิญไปในพิธีการสำคัญทางทหารที่เป็นเกียรติยศของชาติและเชิญออกไปกับหน่วยทหารในยามทำสงคราม โดยถือว่าเมื่อธงชัยเฉลิมพล ไปปรากฏ ณ ที่ใดเสมือนหนึ่งพระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในกองทัพทหารนั้นด้วย ลักษณะโดยรวมนั้นเป็นรูปธงไตรรงค์สี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ขึ้นอยู่กับลักษณะที่กำหนดไว้โดยละเอียดในพระราชบัญญัติธง และกฎกระทรวงตามกฎหมายดังกล่าว) แต่ตรงกลางมีรูปเครื่องหมายประจำกองทัพที่สังกัดและจารึกชื่อของหน่วยทหารไว้ ที่บริเวณมุมธงชัยเฉลิมพลของทุกหน่วย (ยกเว้นธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารเรือ) มีเครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อเปล่งรัศมีสีฟ้า และเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานธงภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ส่วนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จะใช้ธงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งกำหนดขึ้นเป็นธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์โดยเฉพาะ
ธงชัยเฉลิมพลหน่วยทหารบก (ในภาพ เป็นธงชัยเฉลิมพลของกองพลทหารอาสาสมัครของประเทศไทยในสงครามเวียดนาม ขณะรับการประดับแพรแถบกล้าหาญจากกองทัพสหรัฐอเมริกาจากการร่วมรบในสงครามดังกล่าว)