ท้าวเทพกระษัตรี(เกิดประมาณปี2278 หรือ 2280 -ตายปีประมาณปี 2336) ท้าวศรีสุนทร(ไม่ทราบ) เป็นวีรสตรีไทยที่ป้องกันเมืองถลางให้พ้นจากข้าศึกได้ในสงครามเก้าทัพ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ท้าวเทพกระษัตรี มีชื่อเดิมว่า "ท่านผู้หญิงจัน" ท้าวศรีสุนทร เป็นน้องมีชื่อเดิมว่า "คุณมุก" ทั้งสองเป็นบุตรีของจอมรั้งเจ้าเมืองถลาง
คุณจัน เป็นบุตรีคนแรกของจอมร้างบ้านเคียน ซึ่งเกิดจากนางหม้าเสี้ย มีพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน 5 คน เมื่ออายุสมควรจะมีเรือน บิดามารดาก็ได้จัดการแต่งงานให้กับหม่อมภักดีภูธร (สามีคนแรก) มีธิดา 1 คน คือแม่ปราง และบุตร 1 คน คือนายเทียน (ต้นสกุล ประทีป ณ ถลาง) หลังจากคลอดนายเทียน หม่อมภักดีภูธรเสียชีวิตลง คุณจันอยู่เป็นหม้ายจนกระทั่งแต่งงานครั้งที่สองกับพระยาพิมลอัยา (ขัน) ภายหลังเป็นพระยาสุรินทราชาพิมลอัยา (ขัน) มีบุตรธิดาอีก 2 คน คุณจันเป็นผู้ประกอบด้วยความงาม มีอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวสมกับเป็นบุตรของจอมร้างบ้านเคียน จึงเป็นที่สนิทเสน่าหาของบิดามารดาและวงศ์ญาติทั้งหลาย เมื่อบิดามารดาแก่เฒ่า คุณจันก็ได้รับภาระปกครองผู้คนบ่าวไพร่ และดูแลการงานภายในครอบครัวแทนบิดามารดาโดยสิทธิ์ขาดเพราะเป็นพี่คนโต
คุณมุก เป็นบุตรคนที่ 2 ของจอมร้างบ้านเคียน ซึ่งเกิดจากนางหม้าเสี้ย มีกิริยาสุภาพอ่อนโยน ทั้งมีสติปัญญาและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวไม่ย่อหย่อนกว่าคุณจันผู้พี่ เป็นที่สนิทเสน่หาของบิดามารดา และวงศ์ญาติเช่นกัน แต่งงานกับพระอาจฯ ท่านมุกไม่มีบุตรสืบตระกูล
เมื่อจอมร้างบ้านเคียนถึงแก่กรรมลง พระถลางอาดบุตรชายและน้องชายท่านผู้หญิงจันได้ครองเมืองถลาง ครองได้ไม่นานก็ถูกผู้ร้ายยิงตาย หลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบก๊กพระยานครได้ประมาณ 7 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรินทราชาพิมลอัยา (ขัน) เป็นเจ้าเมืองถลาง ท่านผู้หญิงจันเป็นแม่เมืองปกครองเมืองถลางด้วยความสงบสุขสืบมา ครั้นเมื่อพระยาสุรินทราชาพิมลอัยา (ขัน) เจ้าเมืองถลางถึงแก่อนิจกรรม กองทหารจากเมืองหลวงที่ยึดค่ายปากพระได้เข้าเกาะตัวจับกุมท่านผู้หญิงจันเป็นเชลยศึกไปที่ค่ายปากพระ ในข้อกล่าวหาอ้างว่าสามีเป็นหนี้แผ่นดิน
ส่วนแผ่นดินพม่ามีพระเจ้าปดุงครองราชสมบัติใต้ฟ้าแผ่นดินอังวะ ลุปี พ.ศ. 2328 พม่าได้เตรียมกองทัพใหญ่ด้วยพระประสงค์ที่จะขยายอาณาเขต ด้วยกองทัพที่ยิ่งใหญ่แกร่งกล้าในการรบสามารถปราบรามัญ ไทใหญ่ มณีปุระ ยะไข่ รวบรวมไพร่พลได้ถึง 144,000 คน จัดเป็นทัพใหญ่หมายโจมตีสยามประเทศ เป็นที่รู้จักกันดีในนามสงครามเก้าทัพ พม่ายกทัพเข้าบุกตีค่ายปากพระ ซึ่งทหารของรัชกาลที่ 1 เป็นผู้บัญชาการค่าย พญาพิพิธโภไคยหนีไปเมืองพังงา ท่านผู้หญิงจันในขณะนั้นยังถือว่าเป็นเชลยศึก ได้หนีข้ามช่องปากพระ เข้ามายังเมืองถลาง ผ่านบ้านไม้ขาว บ้านสาคู และบ้านเคียน อันเป็นที่ตั้งเมืองถลาง
แม่ทัพใหญ่ยี่หวุ่นคุมกำลัง 3,000 คน เข้าตีหัวเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันตก ตั้งแต่เมืองกระ ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ค่ายปากพระ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายที่เมืองถลางขุมคลังของสยาม ข่าวทัพเรือพม่าบุกโจมตี กอปรกับเจ้าเมืองถลางเสียชีวิตเป็นข่าวร้ายที่ทำร้ายจิตใจชาวเมืองถลางให้อยู่ในความหวาดกลัว ไม่มีที่พึ่งหมดหวัง แต่พลังใจทั้งมวลกลับตั้งมั่นด้วยจิตใจที่เข็มแข็งของท่านผู้หญิงจันและคุณมุกน้องสาว โดยได้นำกำลังจากบ้านสาคู บ้านในยาง บ้านดอน บ้านไม้ขาว บ้านแขนน บ้านลิพอน บ้านเหรียงมาเตรียมการรบ ณ ค่ายข้างวัดพระนางสร้าง ฝ่ายพม่ายกทัพเข้ามาเร่งก่อสร้างค่ายบริเวณทุ่งนา (โคกชนะพม่า) เพื่อเตรียมโจมตีเมืองถลาง ส่วนท่านผู้หญิงจัน คุณมุกและคณะกรมการเมืองวางแผนตั้งค่ายประชิดค่ายข้าศึก เตรียมปืนใหญ่ตรึงไว้ดึงเวลาได้หลายวันเป็นผลให้เสบียงอาหารของพม่าลดน้อยลง และวางแผนให้กลุ่มผู้หญิงแต่งตัวคล้ายทหารไทย เอาไม้ทองหลางเคลือบดีบุกมาถือแทนอาวุธ ทำทียกขบวนเข้าเมืองถลางในช่วงดึกลวงพม่าว่าเมืองถลางมีกำลังมาเสริมทุกคืน ทำให้พม่าคาดการณ์กองกำลังเมืองถลางผิดพลาด การศึกครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง 1 เดือนเศษ กำลังพม่าทั้งอ่อนล้าและขาดเสบียงอาหาร เมื่อพม่าตั้งพลเข้าโจมตีถูกฝ่ายเมืองถลางระดมยิงปืนเล็กปืนใหญ่ นำเอาดินประสิวไปโปรยในกองทัพพม่ายิงคบเพลิงเข้าไปผสมตามยุทธวิธีพระพิรุณสังหาร ครั้นเมื่อชาวเมืองถลางยิงปืนใหญ่แม่นางกลางเมืองถูกต้นทองหลางหน้าค่ายพม่าหักลง กองทัพพม่าระส่ำระสายเสียขวัญ และแตกทัพไปเมื่อวันจันทร์ เดือน 4 แรม 14 ค่ำ ปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1147 ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2328 เป็นวันถลางชนะศึก
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมบำเหน็จผู้ทำคุณแก่แผ่นดิน ให้ท่านผู้หญิงจันเป็น ท้าวเทพกษัตรี คุณมุกน้องสาวเป็น ท้าวศรีสุนทร ดำรงยศอันมีศักดิ์แก่ฐานานุรูป เป็นศรีแก่เมืองถลาง และวงศ์ตระกูลสืบไป
อนุสาวรีย์ของทั้งสองท่านตั้งอยู่ที่วงเวียนสี่แยกท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2509 จากหลักฐานสำคัญในจดหมายเหตุเมืองถลาง 6 ฉบับ เพื่อเป็นการเสริมและสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จเปิดถนนสายถลาง ที่ได้พระราชทานนามว่า ถนนเทพกระษัตรี และได้มีการตั้งชื่อตำบลในภูเก็ต 2 ตำบลตามท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร คือตำบลเทพกระษัตรี และตำบลศรีสุนทรโดยจะมีการจัดงานรำลึกถึงท่านทุกปี
ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร (จัน) (มุก)
ได้กระทำการป้องกันรักษาเมืองถลางไว้เป็นสามารถ
เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2328
มิให้ข้าศึกตีหักเอาเมืองได้
เป็นวีรกรรมอันควรแก่ชนชาวเมืองถลาง
ตลอดจนชาวไทยทั่วกันยกย่องสรรเสริญ
จึงสร้างอนุสาวรีย์ให้ไว้เป็นอนุสรณ์
เมื่อ พ.ศ. 2509
ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 ทางจังหวัดภูเก็ตจัดผู้ชนะการประกวดออกแบบอนุสรณ์สถานถลางชนะศึก (ประดิษฐานอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร) บนพื้นที่ 96 ไร่ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณงามความดี และเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองถลาง ตลอดจนวีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร โครงการน่าจะเริ่มต้นราวกลางปี 2553 นี้
อนึ่ง ชื่อท้าวเทพกระษัตรีหลายคนเข้าใจว่า หมายถึงกษัตริย์ที่เป็นผู้หญิง แต่ความหมายจริงของชื่อนี้นั้น มีความหมายว่าผู้หญิงธรรมดาเท่านั้นเอง