ท่าวังหลัง หรือ ท่าพรานนก หรือ ท่าศิริราช เป็นท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกหรือฝั่งธนบุรี บริเวณปลายถนนวังหลัง ในพื้นที่แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยท่าเรือด่วนเจ้าพระยา และท่าเรือข้ามฟาก โดยแบ่งการให้บริการออกเป็นท่าเรือหลายท่าเรียงรายอยู่ในบริเวณเดียวกัน
พระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ วังหลัง คือ วังของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข ซึ่งทรงเป็น กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข ในรัชกาลที่ ๑ สร้างขึ้นที่ตำบลสวนลิ้นจี่ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์ ถือว่าเป็นพระราชนิเวศน์เดิมของพระองค์ท่าน พื้นที่ดังกล่าวนี้ มีขอบเขตทางทิศเหนือจรดกำแพงเมืองธนบุรีเดิม ทางทิศใต้จรดฉางเกลือ
วังหลังนี้เป็นกำลังสำคัญที่จะป้องกันพระนครทางทิศตะวันตกฝ่ายเหนือจากการรุกรานของข้าศึก ถัดจากวังหลังลงไปเป็นตำบลสวนมังคุด ซึ่งเป็นบ้านเดิมของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ต่อไปเป็นบ้านปูนและบ้านขมิ้นตามลำดับ ครั้นกรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้ว วังก็ถูกแบ่งออกเป็นตอน ๆ ตอนพระมณเทียรสถานเดิม พระชายาทองอยู่ ที่เรียกกันทั่วไปว่า "เจ้าครอกข้างใน" ประทับอยู่ ทางตอนใต้แบ่งออกเป็น ๓ วัง คือ 1. วังเหนือ เรียกว่า วังน้อย เป็นที่ประทับของ พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรศรโยธี 2. วังกลาง เรียกว่า วังกลาง เป็นที่ประทับของ พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีย์บริรักษ์ ต้นราชสกุลเสนีวงศ์ 3. วังใต้ เรียกว่า วังใหญ่ เป็นที่ประทับของ พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนราเทเวศร์ ต้นราชสกุลปาลกะวงศ์ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื้อสายกรมพระราชวังหลังไม่มีกำลังที่จะดูแลรักษาวัง จึงได้ปล่อยให้ร้างอยู่อย่างนั้น โดยที่รอบ ๆ เป็นที่อยู่ของราชสกุลเสนีวงศ์ หรือ ปาลกะวงศ์ ซึ่งเป็นเชื้อสายของกรมพระราชวังหลังในปัจจุบัน ที่เหลือกลายเป็นที่ดินราษฎรไป
คณะกรรมการสร้างโรงพยาบาลศิริราชได้ขอพระราชทานที่แปลงใต้ คือ วังกรมหมื่นนราเทเวศน์ มาเป็นพื้นที่สำหรับสร้างโรงพยาบาล ต่อมา โรงพยาบาลศิริราชได้ขยายออกไปจนเกือบเต็มวังหลัง โดยได้รับพระราชทานพื้นที่เพิ่มเติมบ้าง เวนคืนด้วยเงินงบประมาณบ้าง ส่วนเขตวังหลังส่วนเหนือซึ่งเป็นที่ของสถานีรถไฟธนบุรี ทางโรงพยาบาลศิริราชเพิ่งได้รับกรรมสิทธิ์เพิ่มเติมอีก ๓๐ ไร่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อพัฒนาเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์
ปัจจุบัน ตำบลวังหลัง ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น แขวงศิริราช ส่วนถนนเข้าวังหลังได้รับชื่อว่า ถนนพรานนก
ให้บริการโดยบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ที่ท่าวังหลัง (ศิริราช), รหัส น10 (อังกฤษ: Wang Lang (Siriraj) Pier, code: N10) แบ่งออกเป็น 2 ท่า ประกอบด้วย
ให้บริการโดยบริษัท สุภัทรา จำกัด ที่ท่าเรือวังหลัง อยู่ระหว่างท่าเรือด่วนเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง โดยแยกเป็นท่าด้านเหนือสำหรับผู้โดยสารลงเรือ และด้านใต้สำหรับผู้โดยสารขี้นจากเรือ ซึ่งผู้โดยสารจะต้องชำระเงินก่อนลงเรือ ท่าเรือนี้จะให้บริการเรือข้ามฟาก 3 เส้นทางหมุนเวียนกันไป ได้แก่
เช้าวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ผู้โดยสารหลายร้อยคนยืนรอเรือด่วนบนโป๊ะเทียบเรือที่ท่าพรานนก ซึ่งเป็นโป๊ะที่ใช้แทงก์ขนาดใหญ่ทำเป็นทุ่นลอยน้ำ มีแผ่นเหล็กเป็นพื้นรองรับ แต่เมื่อผู้โดยสารแย่งกันขึ้นเรือจนผู้โดยสารบางคนตกน้ำและเกิดการมุง ประกอบกับเรือได้กระแทกที่โป๊ะ ทำให้ตัวโป๊ะจมลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 10 นาทีหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่กู้ภัยและทีมแพทย์ได้เข้าช่วยเหลือ และค้นหาผู้ประสบเหตุ พบผู้เสียชีวิตที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กติดอยู่ใต้ตัวโป๊ะที่มีหลังคาคลุม บางส่วนถูกกระแสไฟฟ้าที่รั่วจากหลังคาโป๊ะดูด จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 29 ราย
หลังเกิดเหตุการณ์ ได้มีการปรับปรุงโป๊ะตามท่าเรือเจ้าพระยาต่าง ๆ และมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น ทางด้านญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นฟ้องบริษัท สุภัทรา จำกัด, บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา, กรุงเทพมหานครและกรมเจ้าท่า โดยบริษัทเอกชนได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่งจนมีการถอนฟ้อง ในศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องกรมเจ้าท่า ต่อมาในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครต้องชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 12 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,616,241 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้องเมื่อ พ.ศ. 2539 ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท โดยศาลให้เหตุผลว่ากรุงเทพมหานครกระทำการโดยประมาทจนทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว