ทุกข์ หรือ ทุกขัง (บาลี: ทุกฺข) เป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา แปลว่าทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก โดยทั่วไปหมายถึง สังขารทั้งปวง อันได้แก่ ขันธ์ 5 ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทุกข์
ในทางพระพุทธศาสนา การกำหนดทุกข์ถือเป็นกิจในอริยสัจ 4 ที่ชาวพุทธต้องทำเพื่อละและปล่อยวางในลำดับต่อไปในกิจทั้งสี่ในอริยสัจ อันได้แก่ รู้ทุกข์ เพื่อค้นหาสาเหตุในการดับทุกข์ (สมุทัย) แล้วจึงตั้งจุดมุ่งหมายในการดับทุกข์ (นิโรธ) และดำเนินตามเส้นทางสู่ความดับทุกข์ (มรรค) คือสละ ละ ปล่อยวาง ไม่ยึดติดในใจด้วยอำนาจกิเลส
ปกติแล้วเรามักเห็นว่า บางครั้งท่านใช้ความหมายของทุกข์ควบคู่ไปกับทุกขเวทนา, จนทำให้เข้าใจกันว่า ทุกข์หมายถึงความทุกข์เจ็บปวด เป็นต้น แต่หากพิจารณาตามข้อความที่ยกมานี้ จะพบว่า ใน 11 ข้อนี้ มีถึง 6 ข้อ (เกินครึ่ง) ที่ไม่ได้หมายถึงเพียงทุกขเวทนาเท่านั้น แต่หมายถึงขันธ์ทั้งหมด. 6 ข้อนี้ ได้แก่ ชาติ, ชรา, มรณะ, ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น
เมื่อว่ากันทั่วไปตามโวหารโลกตามหลักวิชาการทางพระพุทธศาสนาแล้ว ในขณะที่เกิด (ปฏิสนธิขณะ) และขณะที่ตาย (จุติขณะ) ของสรรพสัตว์นั้น ไม่ว่าจะเกิดและตายอย่างพิสดารผาดโผนโจนทะยานเท่าใดก็ตาม แต่ชั่วเวลาไม่ถึงเสี้ยววินาทีที่จะเกิดและตายนั้น จะไม่มีใครเกิด และตายอย่างมีทุกขเวทนา, และเมื่อว่าโดยปรมัตถ์ให้ละเอียดลงไป การเกิดขึ้น (อุปาทานุขณะ) ความแก่ (ฐิตานุขณะ) และความตาย (ภังคานุขณะ) ของขันธ์ ก็ไม่ได้มีกับทุกขเวทนาเท่านั้นด้วย แต่มีกับขันธ์ 5 แทบทั้งหมด. ส่วนความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก, ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก,ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั้นเมื่อว่าโดยตรงแล้วตัณหาจะไม่มีทุกขเวทนาเด็ดขาด. และความประจวบ ความพลัดพรากนั้น ก็มีกับขันธ์ทั้งหมด. ส่วนความปรารถนาแล้วไม่ได้นั้นเมื่อว่าโดยตรงแล้ว ก็ไม่เกิดกับทุกขเวทนาเช่นกัน และเมื่อกล่าวโดยรวมแล้วก็ยังมีกับขันธ์ 5 ทั้งหมดด้วยเช่นกัน.
ฉะนั้นทุกข์จึงไม่ใช่แต่เพียงทุกขเวทนาเท่านั้น แต่หมายถึงขันธ์ 5 ทั้งหมด ดังนั้นในพระสูตรทั่วไป เช่น จูฬเวทัทลสูตร เป็นต้น รวมถึงอรรถกถาต่างๆ เช่น อรรถกถาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น ท่านจึงได้อธิบายให้สุขเวทนาและอุเบกขาเวทนาว่าเป็นทุกข์ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยนไปและเป็นสังขารธรรมเป็นต้นนั่นเอง.
ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา มีศัพท์ที่เกี่ยวกับทุกข์อย่างน้อย 4 ศัพท์ ซึ่งใช้ทั่วไปในคัมภีร์ และมักจะถูกเข้าใจสับสนอยู่เสมอด้วย, 4 ศัพท์นี้ ได้แก่ ทุกฺขํ ทุกฺขเวทนา ทุกฺขตา และ ทุกฺขลกฺขณํ. ซึ่งเขียนในรูปแบบภาษาไทยได้ว่า ทุกข์ (ขันธ์ 5), ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์), ทุกขตา (ทุกขลักษณะ), และทุกขลักษณะ (ทุกขตา) จึงขอให้คำจำกัดความไว้ดังนี้ :-
บรรดา 4 คำนี้ คำว่า ทุกข์ (ทุกฺขํ) มีใช้มากที่สุด และยังถูกเข้าใจผิดมากที่สุดอีกด้วย เพราะมักใช้แทนคำว่า ทุกขเวทนา กันตามความหมายในภาษาไทย และบางครั้งก็ยังแผลงศัพท์ไปใช้แทนคำว่าทุกขตาและคำว่าทุกขลักษณะอีกด้วย เช่น เขียนว่า ทุกขตา (ทุกข์) เป็นต้น ซึ่งที่จริงแล้ว ใช้แทนกันไม่ได้ เพราะทุกขตาหมายถึงทุกขลักษณะ แต่ทุกข์หมายถึงขันธ์ 5 ที่มีทุกขลักษณะนั้น.
ทุกข์ กับ ทุกขลักษณะ เป็นคนละอย่างกัน เพราะเป็น ลักขณวันตะ และ ลักขณะ ของกันและกัน ดังนี้ :-
ทุกขลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์ บีบคั้น น่ากลัวมาก ซึ่งได้แก่ อาการความบีบคั้นบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นเนืองนิจของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บีบบังคับตนจากที่เคยเกิดขึ้น ก็ต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 จากที่เคยมีขึ้น ก็ต้องกลับไปเป็นไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น.
ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกทุกขลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง 10 แบบ เรียกว่า โต 10 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงทุกขลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่บีบบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยนไป ก็จะกลายเป็นการกำหนดทุกขลักษณะ).