ทางพิเศษบูรพาวิถี หรือ ทางด่วน 4 เป็นทางพิเศษที่ดำเนินการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2541 และเปิดให้บริการตลอดสายเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 มีจุดเริ่มต้นที่เขตบางนา กรุงเทพมหานคร สิ้นสุดที่จังหวัดชลบุรี ระยะทางทั้งสิ้น 55 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรซ้อนอยู่บนทางหลวงหมายเลข 34 เป็นทางพิเศษที่เชื่อมการคมนาคมขนส่งระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศ ช่วยลดปริมาณการจราจรบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 และนับว่าเป็นทางยกระดับที่ยาวที่สุดในโลกจนถึงปี พ.ศ. 2553[ต้องการอ้างอิง]และเป็นทางพิเศษสายเดียว ที่มีการยกเว้นค่าผ่านทางในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ได้แก่ เทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์
ทางพิเศษบูรพาวิถี มีแนวสายทางเริ่มที่บริเวณปลายทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (ระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ตอน S1) บริเวณเขตบางนา กรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนนของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 มุ่งไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการ ผ่านอำเภอบางพลี ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก ผ่านอำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ แล้วเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านอำเภอบางปะกง ข้ามแม่น้ำบางปะกง และสิ้นสุดที่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ระยะทางทั้งสิ้น 55 กิโลเมตร
การก่อสร้างตลอดสายแล้วเสร็จตามสัญญาตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 (ระยะเวลาก่อสร้างที่ขยายจากแผนงานเดิม 11 เดือน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2540) โดยได้เปิดให้บริการเป็นช่วงต่าง ๆ ดังนี้
ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552 และทางเชื่อมทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ กับทางพิเศษบูรพาวิถี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552
โครงการที่จะจะสร้างต่อจากทางด่วนพิเศษบูรพาวิถีเฟสแรก คือสายบูรพาวิถี-พัทยารวมระยะทาง 68 กิโลเมตร งบลงทุน 5 หมื่นล้านบาทเมื่อสร้างสายบูรพาวิถี พัทยา รวมเฟสแรกที่สร้างเสร็จจะมีระยะทางทั้งสิ้น 123 กิโลเมตร