ทะเลปั๋วไห่ (อังกฤษ: Bohai Sea; จีน: ??, "ทะเลปั๋ว") หรือ อ่าวปั๋วไห่ (Bohai Gulf) เป็นอ่าวที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และข้างในสุดของทะเลเหลือง มีเนื้อที่ประมาณ 78,000 ตารางกิโลเมตร (30,116 ตารางไมล์) นับเป็นจุดที่มีการสัญจรทางทะเลคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทะเลปั๋วไห่มักเรียกว่า อ่าวจื๋อลี่ (Gulf of Chihli) หรืออ่าวเป่ย์จื๋อลี่ (Gulf of Pechihli) ประกอบด้วยอ่าว 3 แห่ง คือ อ่าวไหลโจว (Laizhou Bay) ทางใต้ อ่าวเหลียวตง (Liaodong Bay) ทางเหนือ และอ่าวปั๋วไห่ (Bohai Bay) ทางตะวันตก ส่วนทางตะวันออกตรงปลายคาบสมุทรเหลียวตงกับคาบสมุทรชานตงคือช่องแคบปั๋วไห่ (Bohai Strait) มีเกาะที่สำคัญได้แก่ ฉางชาน (Changshan) ฉางซิ่ง (Changxing) และซีจง (Xizhong) แม่น้ำที่ไหลลงทะเลแห่งนี้ได้แก่ แม่น้ำหวง แม่น้ำไห่ แม่น้ำเหลียว และแม่น้ำหลวน มีเขตติดต่อกับมณฑลซานตง มณฑลเหอเป่ย์ เทียนจิน และมณฑลเหลียวหนิง
ทะเลปั๋วไห่เป็นแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติจำนวนมาก มีบ่อหลักคือเชิ่งลี่ (Shengli) ซึ่งเป็นบ่อน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของจีน นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ปัจจุบันมีการผลิตกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน แต่จำนวนลดน้อยลงแล้ว ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2011 เกิดเหตุน้ำมันรั่วในทะเล ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและมีการฟ้องร้องในเวลาต่อมา
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 รัฐบาลจีนมีโครงการสร้างอุโมงค์ใต้น้ำเชื่อมระหว่างเมืองต้าเหลียนบนคาบสมุทรเหลียวตงกับเมืองยันไถบนคาบสมุทรชานตง ความยาว 106 กิโลเมตร (66 ไมล์) โครงการนี้วางแผนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1994 ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013 มีการปรับปรุงแผนและเพิ่มความยาวอุโมงค์เป็น 123 กิโลเมตร (76 ไมล์)