ทองกวาว, ทอง หรือ ทองธรรมชาติ (อังกฤษ: Bastard Teak, Bengal Kino, Flame of the Forest) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในวงศ์ถั่ว มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ จากประเทศปากีสถาน, อินเดีย, บังกลาเทศ, เนปาล, ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย และทางตะวันตกของอินโดนีเซีย
ทองกวาวมีชื่ออื่นอีกคือ กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), จ้า (เขมร), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง), ดอกจาน (อีสาน)
ต้นไม้ ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 5–15 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นแตกกิ่งต่ำคดงอ เปลือกนอกสีเทาถึงสีเทาคล้ำค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ เปลือกในสีแดง สับเปลือกทิ้งไว้จะมีน้ำยางใส ๆไหลออกมาทิ้งไว้สักพักจะกลายเป็นสีแดง
ใบ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ เรียงเวียนสลับ ใบย่อยมี 3 ใบ เรียงตรงข้าม ใบย่อยที่ปลายเป็นรูปมนเกือบกลม ใบย่อยด้านข้างรูปไข่เบี้ยว กว้าง 8-15 ซม. ยาว 9-17 ซม. ปลายใบมน โคนใบสอบ แผ่นใบหนา หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสาก เส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3-5 มม.
ดอก ออกเป็นช่อแบบไม่แตกแขนง ตามกิ่งก้านและปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 2-15 ซม. ก้านช่อดอกมีขนสีน้าตาล ก้านช่อดอกยาว 3-4 ซม. กลีบรองกลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปบาตรยาว 1.3 ซม. ส่วนบนแยกออกเป็นกลีบสั้น ๆ 5 กลีบ มีขนสีน้ำตาลดำปกคลุมตลอดกลีบดอกยาว 7 ซม. มี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากันคล้ายดอกถั่ว กลีบด้านล่างรูปเรือแยกเป็นอิสระดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 6 ซม. ดอกมีทั้งสีแสดและสีเหลืองสด ดอกสีเหลืองพบที่เชียงราย เชียงใหม่ อุบลราชธานี สุรินทร์
ผล ผลเป็นฝักแบนรูปบรรทัดกว้าง 3.5 ซม. ยาว 1.5 ซม. ผลแก่สีน้ำตาลอมเหลืองมีขนอ่อนนุ่มสีขาวเป็นมัน มีเมล็ดเดียวตรงปลายฝัก