ทรูวิชันส์ หรือเป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อเดิมว่า ยูบีซี เป็นสถานีโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง] บริหารงานโดย บริษัท ทรูวิชันส์ จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) มีคำขวัญว่า ทรูวิชันส์ มองโลกได้ล้ำกว่า สำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารทิปโก้ ถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีสุภกิต เจียรวนนท์ เป็นประธานคณะกรรมการบริษัท/กรรมการบริหาร และ อาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา เป็นกรรมการผู้จัดการ
ยูบีซี เกิดจากการรวมกิจการ ของผู้ให้บริการเคเบิลทีวี 2 รายใหญ่ในประเทศไทย คือไอบีซี และยูทีวี
เนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้ไอบีซีและยูทีวีต้องหาทางอยู่รอด โดยควบรวมกิจการเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยสามารถใช้ทรัพยากร ของบริษัทในเครือได้อย่างเต็มที่ คือทั้งระบบสัญญาณผ่านดาวเทียมไทยคม และบริการเอ็มเอ็มดีเอสผ่านระบบไมโครเวฟ ของกลุ่มชินวัตร (แต่ภายหลังออกอากาศด้วยระบบดังกล่าวเพียง 2 ช่องคือ นิวส์ 24 และช็อปปิงแอตโฮม ซึ่งสามารถรับชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ) และระบบเคเบิลใยแก้วนำแสง กับโคแอกเชียล ของกลุ่มเทเลคอมเอเชีย
โดยในราวเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ไอบีซีเป็นฝ่ายซื้อกิจการยูทีวี โดยวิธีการแลกหุ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติง คอร์ปอเรชัน จำกัด (ยูบีซี) และออกอากาศด้วยชื่อยูบีซี อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 โดยในยุคแรก ออกอากาศผ่านดาวเทียมไทยคม 1 (แต่ปัจจุบันใช้ดาวเทียมไทยคม 5) แต่หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มชินวัตรก็ขายหุ้นยูบีซีทั้งหมด ให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทแม่ของเทเลคอมเอเชีย ขณะเดียวกันก็ดำเนินการจดทะเบียน เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อย่อว่า UBC
จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 กลุ่มเอ็มไอเอช ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ขายหุ้นทั้งหมดให้กับกลุ่มทรู คอร์ปอเรชัน รวมเป็นหุ้นร้อยละ 98 ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงยุติการซื้อขายหลักทรัพย์ของยูบีซี โดยกลุ่มทรูฯ ประกาศซื้อหุ้นยูบีซี จากผู้ถือหุ้นรายย่อย เมื่อวันที่ 9 มกราคม แล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ยูบีซี-ทรู จำกัด (มหาชน) รวมถึงเครื่องหมายการค้าใหม่คือ ยูบีซี-ทรู ต่อมาในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2550 ยูบีซีเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทเป็น บริษัท ทรูวิชันส์-ยูบีซี จำกัด (มหาชน) รวมถึงเครื่องหมายการค้าใหม่คือ ทรูวิชันส์-ยูบีซี ต่อมาลดลงเหลือเพียง บริษัท ทรูวิชันส์ จำกัด (มหาชน) ทรูวิชันส์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน ตามยุทธศาสตร์หลอมรวม (Convergence) ธุรกิจในกลุ่มทรูฯ
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552 สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้น ร่วมลงนามในสัญญา อนุญาตให้ทรูวิชันส์ สามารถมีโฆษณาได้ ชั่วโมงละ 6 นาที เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่อนุญาตให้กิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก สามารถทำการโฆษณาได้ โดยตกลงจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหาย กรณีที่กลุ่มทรูวิชันส์ ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และค่าปรับอื่น ๆ รวมเป็นเงินกว่า 110 ล้านบาท และตกลงที่จะแบ่งรายได้ค่าโฆษณาให้ อสมท ร้อยละ 6.5 จากรายได้ค่าโฆษณาทั้งหมด
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทรูวิชันส์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาลิขสิทธิ์ หรือการแอบลักลอบรับชมรายการของทรูวิชันส์ผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่ไม่ได้มาจากทรูวิชันส์ (เช่น กล่องดรีมบ็อกซ์) ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ตอนที่ยังเป็น ยูบีซีได้ จนกระทั่งในที่สุด ทรูวิชันส์ได้ตัดสินใจเพิ่มมาตรการในการควบคุมระบบการออกอากาศใหม่ทั้งหมด โดยเปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณภาพจากเดิมที่เป็น MPEG-2 ผ่านเทคโนโลยีดีวีบี-เอส (DVB-S) มาเป็น MPEG4 ผ่านเทคโนโลยี ดีวีบี-เอส 2 (DVB-S2) แบบเข้ารหัสตรง โดยได้ดำเนินการในคืนวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 และมีผลกระทบโดยตรงต่อสมาชิกแพคเกจซิลเวอร์ขึ้นไป ซึ่งในช่วงนั้นทรูวิชันส์ได้ประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกตั้งแต่แพคเกจซิลเวอร์ขึ้นไป เข้าดำเนินการขอเปลี่ยนกล่องรับสัญญาณภาพมาเป็นรูปแบบใหม่ นั่นก็คือ TrueVisions HD Plus เพื่อสามารถรับชมช่องรายการได้ครบตามปกติโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากเดิมที่ต้องเสียค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ 1,000 บาท
ประมาณ 23:25 น.ของวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งสายเคเบิลใยแก้ว ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างสถานีดาวเทียมไทยคม กับสถานีโทรทัศน์บอกรับเป็นสมาชิกทรูวิชันส์ (Fiber link) เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคบางส่วน จนส่งผลให้บางช่องรายการของทรูวิชันส์ ไม่สามารถส่งสัญญาณออกอากาศได้ในขณะนั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
เพื่อให้เป็นไปตามประกาศ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.