ถนนราชพฤกษ์ (อังกฤษ: Thanon Ratchaphruek) หรือ ทางหลวงชนบท นบ.3021 สายราชพฤกษ์ เป็นถนนที่ทอดยาวจากกรุงเทพมหานครสู่จังหวัดนนทบุรี เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญสายหนึ่ง โดยสามารถเดินทางจากถนนสาทรถึงอำเภอบางบัวทองได้โดยไม่ต้องผ่านทางแยกสัญญาณไฟจราจร (ไม่ติดไฟแดง) แม้แต่แห่งเดียว
ทางราชการได้ตัดถนนราชพฤกษ์ช่วงตากสิน-เพชรเกษมขึ้นเป็นช่วงแรก ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตธนบุรี และเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 เพื่อลดปัญหาการจราจรและทำให้การคมนาคมขนส่งระหว่างกรุงเทพมหานครกับบริเวณรอบนอกขยายตัวอย่างเป็นระบบ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดการจราจรในปี พ.ศ. 2543 หน่วยงานต่าง ๆ ได้ใช้ชื่อถนนในเบื้องต้นว่า ถนนตากสิน-เพชรเกษม
ถนนราชพฤกษ์ช่วงเพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์ตัดขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2537 โดยเป็นหนึ่งในโครงการถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์ (แนวเหนือ-ใต้) เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การคมนาคม การขนส่ง และการจราจร แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้หมดอายุบังคับใช้ไปก่อนที่กรมโยธาธิการจะสำรวจแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนให้แล้วเสร็จ จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาเดียวกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2542 หลังจากนั้นจึงเริ่มเวนคืนที่ดินและก่อสร้างเส้นทาง
จนกระทั่งเมื่อการตัดถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์ดังกล่าวแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2548 กรมทางหลวงชนบทผู้รับผิดชอบสายทาง (รับโอนมาจากกรมโยธาธิการ) ได้หารือกับกรมศิลปากรเพื่อตั้งชื่อถนนอย่างเป็นทางการ โดยถนนแนวเหนือ-ใต้นี้ กรมทางหลวงชนบทเสนอชื่อ ถนนราชพฤกษ์ โดยให้เหตุผลว่ามีโครงการจะปลูกต้นราชพฤกษ์ (Cassia fistula) เรียงรายตามแนวถนนสายนี้ และนอกจากนี้ชื่อราชพฤกษ์ยังเป็นชื่อที่ไม่ซ้ำซ้อนกับถนนสายใด ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย
ต่อมากรมทางหลวงชนบทได้ขอให้กรมศิลปากรพิจารณาชื่อถนนตากสิน-เพชรเกษมใหม่ (พร้อมกับถนนแยกตากสิน-เพชรเกษมไปถนนวงแหวนรอบนอก (ถนนกาญจนาภิเษก) ซึ่งต่อมาใช้ชื่อว่าถนนกัลปพฤกษ์) กรมศิลปากรโดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์จึงพิจารณาโดยใช้หลักการที่กรมทางหลวงชนบทเคยใช้ตั้งชื่อถนนในโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์และถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์มาแล้ว กล่าวคือ ใช้ชื่อพรรณไม้มงคลตั้งเป็นชื่อถนน ถนนตากสิน-เพชรเกษมให้รวมเป็นสายเดียวกับถนนที่ตัดใหม่จากเพชรเกษมไปรัตนาธิเบศร์ เพราะเป็นถนนขนาดเดียวกัน (6-10 ช่องจราจร) และมีแนวเส้นทางที่ต่อเนื่องกัน ดังนั้นถนนช่วงนี้จึงมีชื่อว่า "ถนนราชพฤกษ์"
ส่วนถนนราชพฤกษ์ช่วงรัตนาธิเบศร์-ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 สร้างขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางบัวทอง และอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2540 ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์บริเวณแนวเวนคืนนั้นเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนเมื่อปี พ.ศ. 2543 อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างก็เสร็จสมบูรณ์และสามารถเปิดให้ใช้คมนาคมได้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 โดยในเรื่องชื่อถนนนั้น กรมศิลปากรเห็นด้วยกับที่กรมทางหลวงชนบทจะใช้ชื่อ "ถนนราชพฤกษ์" ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อจากถนนราชพฤกษ์เดิม
เริ่มจากถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินที่แยกตากสิน ในพื้นที่แขวงบุคคโล เขตธนบุรี ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในพื้นที่แขวงบุคคโล (โดยเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงบุคคโลกับแขวงบางยี่เรือ จนกระทั่งข้ามคลองบางน้ำชนจึงเป็นเส้นแบ่งแขวงบุคคโลกับแขวงตลาดพลู) ตัดกับถนนรัชดาภิเษกที่สี่แยกรัชดา-ราชพฤกษ์ เข้าพื้นที่แขวงดาวคะนอง (และเป็นเส้นแบ่งแขวงดาวคะนองกับแขวงตลาดพลู) ข้ามคลองบางสะแกเข้าพื้นที่แขวงตลาดพลู มุ่งขึ้นไปทางทิศตะวันตก ตัดผ่านทางรถไฟสายแม่กลอง ตัดกับถนนวุฒากาศ ข้ามคลองด่าน (บางหลวงน้อย) เข้าสู่พื้นที่แขวงบางค้อ เขตจอมทอง ตัดกับถนนกัลปพฤกษ์ที่ทางแยกต่างระดับสวนเลียบ แล้วข้ามคลองตาม่วงเข้าพื้นที่แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ จากนั้นวกขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เลียบคลองสวนเลียบ ตัดผ่านถนนเทอดไท (พัฒนาการเดิม) และข้ามคลองภาษีเจริญไปตัดกับถนนเพชรเกษมที่ทางแยกต่างระดับเพชรเกษม
เริ่มจากถนนเพชรเกษมในพื้นที่แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ ไปทางทิศเดิม ข้ามคลองบางจากเข้าพื้นที่แขวงคูหาสวรรค์ จากนั้นเข้าพื้นที่แขวงบางจากและแขวงบางแวก โค้งขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านถนนบางแวก (จรัญสนิทวงศ์ 13) ที่ทางแยกต่างระดับบางแวก ข้ามคลองบางเชือกหนังเข้าพื้นที่แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน ข้ามคลองบางน้อยเข้าพื้นที่แขวงบางพรม ตัดผ่านถนนปากน้ำกระโจมทอง ตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดผ่านโครงการถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 และตัดผ่านถนนบางพรม (วัดแก้ว-พุทธมณฑล สาย 1) ข้ามคลองบางพรมเข้าพื้นที่แขวงบางระมาด ตัดผ่านถนนอินทราวาส (วัดประดู่) ข้ามคลองบ้านไทรเข้าพื้นที่แขวงฉิมพลี ก่อนตัดกับถนนบรมราชชนนีที่ทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี โค้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดผ่านถนนฉิมพลี ตัดผ่านทางรถไฟสายใต้เข้าพื้นที่แขวงตลิ่งชัน ตรงขึ้นไปทางทิศเหนือและตัดกับถนนสวนผักที่ทางแยกต่างระดับคลองมหาสวัสดิ์-ถนนสวนผัก ก่อนข้ามคลองมหาสวัสดิ์เข้าเขตจังหวัดนนทบุรี
เริ่มจากสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ในพื้นที่ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย ตรงไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านถนนบางกรวย-จงถนอม ข้ามคลองบางขวาง (บางโคเผือก) เข้าพื้นที่ตำบลบางขนุน จากนั้นเข้าพื้นที่ตำบลบางขุนกอง ก่อนตัดกับถนนนครอินทร์ที่วงเวียนบางขุนกอง (ราชพฤกษ์) ข้ามคลองบางกอกน้อยเข้าพื้นที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี แนวเส้นทางเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยก่อนตัดกับถนนบางกรวย-ไทรน้อยและตัดผ่านถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ดอนพรหม ข้ามคลองอ้อมเข้าพื้นที่ตำบลบางรักน้อย เบี่ยงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนรัตนาธิเบศร์
เริ่มจากถนนรัตนาธิเบศร์ในพื้นที่ตำบลบางรักน้อย มุ่งขึ้นไปทางทิศเดิม ข้ามคลองวัดแดงเข้าพื้นที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด ข้ามคลองบางบัวทองเข้าพื้นที่ตำบลอ้อมเกร็ด เบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออีกครั้ง ข้ามคลองบางพลับเข้าพื้นที่ตำบลบางพลับ ตัดกับถนนชัยพฤกษ์ที่แยกต่างระดับสาลีโขฯ (บางพลับ) และไปในทิศเดิมจนกระทั่งข้ามคลองข่อยเข้าพื้นที่ตำบลคลองข่อย จึงโค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ที่แยกต่างระดับขุนมหาดไทย (คลองข่อย) ระยะทางรวม 9.55 กิโลเมตร
ปัจจุบัน กรมทางหลวงชนบทยังมีโครงการก่อสร้างถนนราชพฤกษ์ต่อขึ้นไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 (ต่างระดับรังสิต-พนมทวน) รวมทั้งสร้างและขยายถนนเชื่อมระหว่างถนนราชพฤกษ์กับถนนกาญจนาภิเษกที่แยกต่างระดับไพร่ฟ้า-แยกต่างระดับบางโพธิ์ใต้ โดยแนวเส้นทางเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดปทุมธานีและบางส่วนอยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรี