ถนนบรมราชชนนี หรือ ถนนปิ่นเกล้า–นครชัยศรี ซึ่งมีระยะทางส่วนใหญ่เป็น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 338 สายอรุณอมรินทร์–นครชัยศรี เป็นเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร ระหว่างเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ระยะทางรวม 33.984 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงระยะทาง 31.265 กิโลเมตร
เส้นทางเริ่มต้นที่แยกบรมราชชนนี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร บรรจบกับถนนสิรินธรที่มาจากสะพานกรุงธนที่ชุมทางต่างระดับสิรินธร ข้ามคลองบางกอกน้อย และมีแนวทางขนานไปกับทางรถไฟสายใต้ ผ่านพื้นที่เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา อำเภอพุทธมณฑล และอำเภอสามพราน ข้ามแม่น้ำนครชัยศรี ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4 ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม รวมระยะทาง 33.984 กิโลเมตร (หรือประมาณ 36 กิโลเมตร หากเริ่มนับกิโลเมตรที่ 0 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) เส้นทางมีทั้งช่วงที่อยู่ในความควบคุมของกรุงเทพมหานคร และสำนักทางหลวง 11 (กรุงเทพฯ) กรมทางหลวง โดยส่วนแรก [สี่แยกบรมราชชนนี-ชุมทางต่างระดับสิรินธร (รวมอยู่)] อยู่ในเขตควบคุมของกรุงเทพมหานคร ส่วนที่สอง [ชุมทางต่างระดับสิรินธร (ไม่รวม) -ก่อนถึงชุมทางต่างระดับฉิมพลี] อยู่ในเขตควบคุมของหมวดการทางตลิ่งชัน (สังกัดสำนักบำรุงทางธนบุรี) และส่วนที่สาม (ก่อนถึงทางต่างระดับฉิมพลี-ทางหลวงหมายเลข 4) อยู่ในเขตควบคุมของหมวดการทางนครชัยศรี (สังกัดแขวงการทางสมุทรสาคร)
อนึ่ง ถนนบรมราชชนนีฟากเหนือ ช่วงตั้งแต่สี่แยกบรมราชชนนีถึงสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างเขตบางกอกน้อยกับเขตบางพลัด ถนนบรมราชชนนีในกรุงเทพมหานคร มีขนาด 10 ช่องจราจร ส่วนในจังหวัดนครปฐมถนนจะมีขนาด 6 ช่องจราจร
ถนนบรมราชชนนีเริ่มก่อสร้างในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 เรียกว่าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 338 สายบางกอกน้อย-นครชัยศรี เพื่อบรรเทาการจราจรที่แออัด และให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง สู่จังหวัดปริมณฑลโดยรอบกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้และภาคตะวันตกมากขึ้น โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากแยกบรมราชชนนี ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2527
ปี พ.ศ. 2534 กระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อถนนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อทางหลวงหมายเลข 338 ว่า ถนนบรมราชชนนี
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก้ไขปัญหาการจราจร โดยสร้างทางคู่ขนาน ยกเชื่อมสะพานข้ามแยกอรุณอมรินทร์ และสะพานข้ามแยกบรมราชชนนีเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณสี่แยกอรุณอมรินทร์ และสี่แยกบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์โครงการพระราชดำริทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2539 และเสด็จเปิด "ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี" เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยมีระยะทางทั้งหมด 14 กิโลเมตร