ถนนนิมิตใหม่ (อังกฤษ: Thanon Nimit Mai) เป็นเส้นทางการคมนาคมในพื้นที่เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี มีความยาวประมาณ 14 กิโลเมตร มีเส้นทางแยกจากถนนสุวินทวงศ์ในแขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนประชาร่วมใจ โดยช่วงตั้งแต่ปากซอยนิมิตใหม่ 8 (วีแสงชัย) ถึงปากซอยนิมิตใหม่ 5 (เหมือนสวาท) เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างเขตมีนบุรีกับเขตคลองสามวา เมื่อเลยไปจึงเข้าสู่ท้องที่แขวงทรายกองดิน เขตคลองสามวา จากนั้นข้ามคลองหนึ่ง เมื่อเลยปากซอยนิมิตใหม่ 19 (วัดบัวแก้ว) แล้วจึงตรงไปทางทิศเหนือ ตัดกับถนนวัดสุขใจ (เข้าวัดสุขใจแยกถนนนิมิตใหม่) และถนนหทัยมิตร (หทัยมิตรเชื่อมถนนนิมิตใหม่หทัยราษฎร์) จากนั้นข้ามคลองสองเข้าสู่แขวงสามวาตะวันออก ข้ามคลองสาม เมื่อเลยซอยกาเซ็มจึงโค้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามคลองสี่ จากนั้นตัดกับถนนราษฎร์นิมิตร (นิมิตใหม่-หทัยราษฎร์) ซอยนิมิตใหม่ 64 (ทางเข้าโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา 2) และถนนไมตรีจิต (เข้าวัดศรีสุขแยกถนนนิมิตใหม่) เมื่อเลยปากซอยนิมิตใหม่ 66 (วัดลำกะดาน) จึงเข้าสู่เขตตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยมุ่งไปทางทิศเหนือ จากนั้นข้ามคลองหกวา (สายล่าง) ไปบรรจบกับถนนลำลูกกา ใกล้กับตลาดใหญ่ลำลูกกา ตลอดแนวของถนนนิมิตใหม่ฟากตะวันออกนั้นมีแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติอยู่ใต้พื้นถนนตั้งแต่เขตมีนบุรีไปจนถึงอำเภอลำลูกกา
ถนนสายนี้ตัดขึ้นโดยสำนักการโยธาเป็นผู้ควบคุมดูแล เมื่อแล้วเสร็จ ทางสำนักงานเขตมีนบุรีได้ยึดถือตามประกาศกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2529 ที่ระบุให้ใช้ชื่อถนนว่า ถนนนิมิตรใหม่ ภายหลังสถานีตำรวจซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2537 เพื่อดูแลท้องที่แขวงสามวาตะวันออกและบางส่วนของแขวงสามวาตะวันตกและแขวงทรายกองดินใต้ (ซึ่งเป็นบริเวณที่ถนนสายนี้ตัดผ่าน) จึงใช้ชื่อว่านิมิตรใหม่ด้วยและสะกดตามแบบที่กรุงเทพมหานครใช้
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2539-2540 ได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตเดิมและจัดตั้งเขตใหม่ในเขตกรุงเทพมหานคร ทำให้ระยะทางส่วนใหญ่ของถนนรวมถึงที่ตั้งของสถานีตำรวจไปอยู่ในพื้นที่เขตคลองสามวา ซึ่งทางเขตได้สะกดชื่อถนนและซอยย่อยว่า "นิมิตใหม่" โดยไม่มี ร เรือ สะกด แตกต่างจากเขตมีนบุรีซึ่งยังคงใช้ ร เรือ อยู่ ป้ายชื่อซอยจึงเขียนว่า "นิมิตรใหม่" การสะกดชื่อไม่เหมือนกันทำให้ประชาชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ เกิดความสับสน เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเขียนอย่างไรจึงจะถูกต้อง หน่วยงานของกรุงเทพมหานครหลายแห่งได้ถูกสอบถามเพื่อขอความกระจ่างเป็นจำนวนมาก
คณะกรรมการกลางตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย วงเวียน ทางแยก คลอง สะพาน และสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร จึงจัดการประชุมขึ้น ประกอบด้วยผู้อำนวยการกองธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนจากราชบัณฑิตยสถาน รวมทั้งตัวแทนจากกรมศิลปากร สำนักงานเขตที่เกี่ยวข้อง และกองปกครองและทะเบียน ร่วมกันพิจารณาเรื่องชื่อถนนนิมิตรใหม่ ทางราชบัณฑิตยสถานได้ให้เหตุผลว่า การสะกดชื่อถนนสายนี้ตามหลักภาษาไทยควรใช้คำว่า "นิมิตใหม่" จึงจะถูกต้อง โดยอธิบายว่า คำว่า "นิมิต" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มีความหมายว่า สร้าง แปลง ทำ เมื่อรวมกับคำว่า "ใหม่" จึงน่าจะมีความหมายว่า สร้างหรือแปลงขึ้นมาใหม่ หากใช้แบบมี ร เรือ จะกลายเป็นคำที่ไม่มีความหมาย
ดังนั้น สำนักงานเขตมีนบุรีจึงต้องไปเปลี่ยนป้ายชื่อถนน ป้ายชื่อซอยบริเวณต้นถนนรวม 8 ป้าย ได้แก่ ซอยนิมิตรใหม่ 1 ซอยนิมิตรใหม่ 3 ซอยนิมิตรใหม่ 3/1 ซอยนิมิตรใหม่ 3/2 ซอยนิมิตรใหม่ 2 ซอยนิมิตรใหม่ 4 ซอยนิมิตรใหม่ 6 และซอยนิมิตรใหม่ 6/1 รวมทั้งป้ายซอยย่อยต่าง ๆ อีก 15 ป้าย และต้องทยอยแก้ไขฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรในบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน 2,000 หลัง เป็น นิมิตใหม่ ตามการสะกดชื่อแบบใหม่ทั้งหมด ขณะที่ในเขตคลองสามวาไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เนื่องจากเขียนป้ายชื่อถนนและซอยโดยไม่ใช้ ร เรือ มาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ทางสำนักงานเขตได้ประสานแจ้งมติการเปลี่ยนชื่อถนนสายดังกล่าวไปยังสถานีตำรวจนครบาลนิมิตรใหม่ด้วย ส่วนในอำเภอลำลูกกาซึ่งเป็นพื้นที่ปลายทางของถนนนั้น กรุงเทพมหานครก็ได้แจ้งไปยังเทศบาลตำบลลำลูกกาเพื่อจะได้แก้ไขป้ายชื่อถนนเสียใหม่เช่นกัน