ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256 สายบางปู - กิ่งแก้ว แบ่งออกเป็น 2 ช่วง มีระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 24 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของแขวงการทางสมุทรปราการ สังกัดกรมทางหลวง
ถนนกิ่งแก้ว เป็นถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างถนนลาดกระบัง ถนนบางนา-บางปะกง และถนนเทพารักษ์เข้าด้วยกัน ถนนกิ่งแก้วแยกมาจากถนนลาดกระบังในท้องที่แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร จากนั้นมุ่งลงทางทิศใต้เข้าสู่ท้องที่ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ไปบรรจบกับถนนเทพารักษ์ที่ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ตรงข้ามกับถนนตำหรุ-บางพลี ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร แต่เดิมถนนเส้นนี้มีเพียง 2 ช่องทางจราจรตลอดเส้นทาง ซึ่งปัจจุบันตั้งแต่ลาดกระบังไปจนถึงแยกถนนวัดหนามแดงนั้นเป็นถนนขนาด 4-8 ช่องทางจราจร ยกเว้นบริเวณสะพานข้ามคลองสำโรง ซึ่งอยู่ใกล้กับแยกถนนวัดหนามแดง จะมีแค่เพียง 2 ช่องทางจราจร และจากสะพานข้ามคลองสำโรงถึงถนนเทพารักษ์จะมีขนาด 4 ช่องทางจราจรอีกครั้ง ซึ่งบริเวณดังกล่าวกำลังก่อสร้างสะพานลอยข้ามถนนวัดหนามแดง คลองสำโรง และถนนเทพารักษ์เพิ่มเติม โดยตลอดระยะถนนกิ่งแก้วมีถนนที่สำคัญตัดผ่าน เช่น
ถนนตำหรุ-บางพลี เป็นถนนท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรปราการ แยกมาจากถนนสุขุมวิทกิโลเมตรที่ 40 ที่บ้านตำหรุ ตำบลบางปูใหม่ (ในเขตเทศบาลตำบลบางปู) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จากนั้นจึงขึ้นไปทางทิศเหนือเข้าสู่พื้นที่ตำบลแพรกษาใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ และไปบรรจบกับถนนเทพารักษ์กิโลเมตรที่ 12 ที่บ้านคลองบางกระบือ ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี ตรงข้ามกับถนนกิ่งแก้ว (หรือที่ชาวบ้านบริเวณนั้นเรียกว่าแยกคลองขุด) ระยะทาง 10.012 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางขนาด 2 ช่องทางจราจร ถนนตำหรุ-บางพลีนี้เดิมอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) และต่อจากนั้นก็เคยอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท (โดยมีหมายเลขทางหลวงชนบทคือ สป.1003) แต่ปัจจุบันได้โอนให้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงแล้ว ถนนสายนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256 ไป ตลอดระยะทางมีทางแยกสำคัญเพียงแยกเดียว คือ ถนนแพรกษา ซึ่งบริเวณทางแยกดังกล่าวกำลังทำการก่อสร้างเพื่อขยายช่องทางจราจรเพิ่มเติม และในอนาคตจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล สายบางปู-สุวรรณภูมิ ซึ่งเชื่อมต่อมาจากสถานีรถไฟฟ้า Airport link ของสนามบินสุวรรณภูมิ ตัดผ่านถนนเส้นนี้จนไปบรรจบที่ถนนสุขุมวิทแล้วเลี้ยวขวาเชื่อมต่อไปอีกจนบรรจบกับสถานีรถไฟฟ้าบางปู (อนาคต) และทอดยาวไปบรรจบกับสถานีแบริ่งซึ่งเป็นที่สิ้นสุดรถไฟฟ้า BTS ในปัจจุบัน