ต้นสมัยกลาง (อังกฤษ: Early Middle Ages) เป็นสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรป เริ่มขึ้นหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันและดำเนินต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณห้าร้อยปีโดยเริ่มตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 500 จนกระทั่งมาถึงราวปี ค.ศ. 1000 ต้นสมัยกลางสิ้นสุดแล้วจึงต่อด้วยสมัยกลางยุครุ่งโรจน์
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 2 วัฒนธรรมของโรมันก็เริ่มแสดงสัญญาณของความเสื่อมโทรมในด้านต่างๆ ที่ทั้งสภาวะทางความเป็นอยู่ในเมืองต่างๆ การค้าขายทางทะเล และประชากร ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 จำนวนเรือแตกที่พบในทะเลเมดิเตอเรเนียนมีจำนวนเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ของที่พบเมื่อเทียบกับในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ประชากรของจักรวรรดิโรมันลดลงจาก 65 ล้านคนในปี ค.ศ. 150 ลงเหลือเพียง 50 ล้านคนในปี ค.ศ. 400 เท่ากับลดลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ บ้างก็ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสมัยอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงในยุโรป ที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 300 ถึง ค.ศ. 700 เมื่ออุณหภูมโดยทั่วไปในโลกลดลงต่ำกว่าปกติซึ่งเป็นผลทำให้ผลิตผลทางการเกษตรกรรมลดลง
การโยกย้างถิ่นฐานลงมาทางใต้จากสแกนดิเนเวียของกลุ่มชนเจอร์มานิคไปจนถึงทะเลดำในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 3 ก่อตัวกันเป็นสหพันธ์ที่มีอำนาจพอๆ กับกลุ่มชนซาร์มาเชียน (Sarmatians) จากเอเชียกลางที่โรมันต้องปราบปรามก่อนหน้านั้น ในโรมาเนียในบริเวณทุ่งหญ้าสเตปป์ตอนเหนือของทะเลดำ ชาวกอทซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งในกลุ่มเจอร์มานิคก็เข้าไปตั้งถิ่นฐานและก่อตั้งราชอาณาจักรขึ้นสองราชอาณาจักร–เธอร์วิง (Thervings) และ กรืทธัง (Greuthungs) แต่มาถูกทำลายชนฮั่นที่เข้ามารุกรานในบริเวณนั้นระหว่าง ค.ศ. 372 ถึงปี ค.ศ. 375 ชนฮั่นเป็นสหพันธ์ของชนเผ่าจากเอเชียกลางผู้ก่อตั้งจักรวรรดิร่วมกับชนชั้นผู้นำที่พูดภาษาเตอร์กิก ฮั่นมีความสามารถในการยิงธนูจากหลังม้าที่กำลังควบได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำซึ่งเป็นความสามารถที่นำความสำเร็จมาสู้การโจมตีรุกรานดินแดนต่างๆ ชนกอธต้องหนีไปหลบภัยในดินแดนที่เป็นของของโรมัน (ค.ศ. 376) โดยยอมตกลงเข้าไปตั้งถิ่นฐานโดยไม่ถืออาวุธ แต่บางกลุ่มก็ติดสินบนเจ้าหน้าที่ชายแดนให้นำอาวุธติดตัวเข้าไปได้
เมื่อโรมันยังรุ่งเรืองความมีวินัยและความมีระเบียบในการจัดระบบของทหารโรมันทำให้เป็นกองทหารที่มีประสิทธิภาพ แต่โรมันถนัดที่จะเป็นทหารราบมากกว่าที่จะเป็นทหารม้า เพราะทหารราบสามารถฝึกให้อยู่รวมเป็นกองได้ในสนามรบ แต่ถ้าเป็นทหารม้าก็มักจะเป็นโอกาสให้หันหลังหนีเมื่อเผชิญหน้ากับอันตราย ทหารของจักรวรรดิโรมันไม่เหมือนทหารของอนารยชนตรงที่เป็นทหารที่ต้องได้รับการฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอและต้องมีค่าจ้างซึ่งเป็นรายจ่ายที่เป็นภาระต่อจักรวรรดิ เมื่อการเกษตรกรรมและการเศรษฐกิจตกต่ำการเก็บภาษีที่บางส่วนนำมาบำรุงกองทัพก็ทำได้ยากยิ่งขึ้น ระบบต่างๆ ของจักรวรรดิโรมันจึงตกอยู่ในสภาวะที่บีบคั้น
ในสงครามกอธิค (ค.ศ. 376–382) กอธลุกขึ้นปฏิวัติต่อต้านกองทัพโรมันในยุทธการอาเดรียโนเปิล (ค.ศ. 378) จักรพรรดิวาเล็นสแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออกชิงโจมตีกองทหารราบเธอร์วิงภายใต้การนำของฟริติเกิร์นโดยไม่รอกองหนุนของจักรพรรดิกราเชียนแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่กำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางมาสมทบ ขณะที่ฝ่ายโรมันและเธอร์วิงกำลังต่อสู้กันอยู่ทหารม้าของฝ่ายกรืทธังก็เดินทางมาสมทบกับเธอร์วิง ซึ่งทำให้ฝ่ายโรมันได้รับความเพลี่ยงพล้ำและมีทหารรอดไปได้จากการต่อสู้ไปได้เพียงหนึ่งในสาม ความเสียหายครั้งนี้เป็นความเสียหายอันใหญ่หลวงของกองทัพโรมันมาตั้งแต่ยุทธการที่คันนาย (Cannae) ที่เกิดขึ้นเมื่อ 216 ปีก่อนคริสต์ศักราชตามหลักฐานจากการบันทึกของนักประวัติศาสตร์การทหารโรมันอัมมิอานัส มาร์เซลลินัส กองทหารหลักของจักรวรรดิโรมันตะวันออกถูกทำลายอย่างย่อยยับ จักรพรรดิวาเลนส์เองก็ทรงถูกสังหาร ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กอธสามารถเข้าทำลายคาบสมุทรบอลข่านได้อย่างมีเสรี รวมทั้งการทำลายที่เก็บอาวุธต่างๆ ตามฝั่งแม่น้ำดานูป นักประวัติศาสตร์อังกฤษเอ็ดเวิร์ด กิบบอนให้ความเห็นว่า “ทหารโรมันผู้ซึ่งมักจะสงบสำรวมเมื่อกล่าวถึงการกระทำที่ “ยุติธรรม” เมื่อกล่าวพฤติกรรมของการกระทำของกองทหารของตนเองในการปราบปรามผู้อื่น มิได้ออกความเห็นแต่อย่างใดเมื่อกองทหารของตนเองมาถูกทำลายโดยอนารยชน”
จักรวรรดิโรมันที่ขาดกำลังทรัพย์หรืออาจจะขาดพลังใจในการที่จะก่อสร้างกองทหารอาชีพขึ้นใหม่แทนกองกำลังที่เสียไปที่อาเดรียโนเปิลก็เริ่มหันไปพึ่งกองทัพของอนารยชนในการต่อสู้แทนจักรวรรดิ จักรวรรดิโรมันตะวันออกสามารถติดสินบนกอธด้วยบรรณาการ แต่จักรวรรดิโรมันตะวันตกไม่อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นเดียวกันได้ สติลิโค (Stilicho) แม่ทัพโรมันตะวันตกผู้เป็นลูกครึ่งแวนดัลดึงกองกำลังจากบริเวณเขตแดนลุ่มแม่น้ำไรน์มาป้องกันการรุกรานอิตาลีโดยชาววิซิกอท ในระหว่างปี ค.ศ. 402 ถึงปี ค.ศ. 403 และโดยชาวกอทอีกกลุ่มหนึ่งในระหว่างปี ค.ศ. 406 ถึงปี ค.ศ. 407
เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 406 ทางพรมแดนก็พ่ายแพ้ เมื่อต้องถอยร่นจากการรุกรานอย่างรวดเร็วของฮั่น, แวนดัล, ซูบิ, และเมื่ออาลันข้ามแม่น้ำไรน์ที่แข็งตัวเข้ามาโจมตีไม่ไกลจากไมนซ์ หลังจากนั้นกลุ่มชนเหล่านี้ก็บุกเข้าไปในกอล และตามด้วยชาวเบอร์กันดี และกลุ่มชนอลามานนิ ภายใต้บรรยากาศของความเสียหายที่ได้รับและความเกลียดชังอนารยชนที่ตามมาจักรพรรดิโฮโนเรียสก็เรียกตัวสติลิโคกลับมาสังหารในปี ค.ศ. 408 สติลิโคยอมเสียหัว “ด้วยความกล้าหาญอันควรค่าแก่การเป็นนายพลโรมันคนสุดท้าย” ตามที่บรรยายของเอ็ดเวิร์ด กิบบอน หลังจากนั้นจักรพรรดิโฮโนเรียสก็ทรงเหลือแต่เพียงที่ปรึกษาที่ขาดสมรรถภาพ สองปีหลังจากนั้นวิซิกอธนำโดยอลาริคที่ 1 ก็ตีกรุงโรมแตกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 410 ระหว่างสามวันหลังจากนั้นอลาริคก็เผาเมืองและไล่สังหารผู้คนไปเป็นจำนวนมากจนถนนหนทางก็นองไปด้วยเลือดและเต็มไปซากศพเป็นกองเพนิน วังและคฤหาสน์ต่างก็ถูกปล้นเอาของมีค่า ผู้ใดที่ต้องสงสัยว่าซ่อนของมีค่าก็ถูกทรมานให้บอกที่ซ่อน แต่กอธผู้เพิ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์มิได้ทำลายคริสต์ศาสนสถาน หลังจากการทำลายเมืองแล้วก็มีเพียงผู้คนจำนวนไม่มากนักที่รอดมาได้เพราะเข้าไปหลบหนีภัยอยู่ในวาติกัน
ชาวกอทและแวนดัลเป็นเพียงชนกลุ่มแรกที่เข้ามารุกรานจักรวรรดิโรมันที่ต่อมาตามมาด้วยชนกลุ่มอื่นๆ อีกหลายระลอกจากยุโรปตะวันตก บางกลุ่มก็ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำสงครามและการปล้นสดม และมีความชิงชังในวิถีชีวิตของชาวโรมัน แต่บางกลุ่มก็ชื่นชมและต้องการจะเอาแบบอย่างโดยเป็นผู้สืบอำนาจและวัฒนธรรมต่อจากจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทำให้พระเจ้าธีโอดอริคมหาราชพระมหากษัตริย์ของออสโตรกอธทรงออกความเห็นว่า “โรมันตกยากทำตัวเป็นกอธ กอธได้ดีทำตัวเป็นโรมัน”
ประชาชนของจักรวรรดิที่เป็นโรมันคาทอลิกเป็นประชาชนที่คุ้นเคยกับสังคมที่มีระเบียบแบบแผนของอาณาจักรซึ่งเป็นสังคมที่มีระบบการปกครองและการบริหารมานาน แต่ชนเจอร์มานิคที่เข้ามาใหม่ไม่มีความคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตของการเป็นเมืองหรือระบบการเป็นเมืองที่ประกอบด้วยระบบการบริหาร ระบบเงินตรา ระบบการศึกษา และอื่นๆ และเป็นผู้ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ลัทธิเอเรียสซึ่งผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกผู้เคร่งครัดในจักรวรรดิถือกันว่าเป็นลัทธิที่นอกรีต
สมัยการโยกย้ายถิ่นฐานในยุโรปมักจะเรียกกันผิดๆ ว่าเป็น “ยุคมืด” โดยนักประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันตก หรือ “V?lkerwanderung” (สมัยชนเร่ร่อน) โดยนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน คำว่า “ยุคมืด” อาจจะมาหมดความนิยมใช้กันตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง สาเหตุหนึ่งก็เพราะความหมายของคำทำให้เกิดความเข้าใจผิดถึงสภาวะโดยทั่วไปของยุค และจากการค้นคว้าทางโบราณคดีเมื่อไม่นานมานี้ก็พบว่าตรงกันข้ามกับความเชื่อโดยทั่วไปที่ว่าเป็นสมัยที่ล้าหลังทางด้านศิลปะ เทคโนโลยี การปกครอง และระบบสังคม[ต้องการอ้างอิง]
ผู้ตั้งถิ่นฐานก่อนหน้าที่จะมีการโยกย้ายไม่มีผลกระทบกระเทือนเท่าใดนัก ขณะที่พลเมืองในฝรั่งเศส อิตาลี และสเปนยังคงพูดภาษาละตินท้องถิ่น ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นกลุ่มภาษาโรมานซ์ แต่ภาษากลุ่มนี้ก็แทบไม่เหลือร่องรอยในอาณาบริเวณที่ชาวแองโกล-แซกซันพิชิตได้ที่ในปัจจุบันคืออังกฤษ แต่ราชอาณาจักรบริตานิคทางตะวันตกยังคงพูดภาษากลุ่มบริธอนิค (Brythonic) นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษาแล้วชนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานก็ยังเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบสังคม กฎหมาย วัฒนธรรม ศาสนา และ การเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วย
“pax Romana” ของจักรวรรดิโรมันที่เป็นระบบที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความปลอดภัยในการค้าขายและการผลิตสินค้า และส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของวัฒนธรรม และ การศึกษาในดินแดนที่ไกลออกไปของจักรวรรดิ ระบบนี้ก็มาสลายตัวลงไปและมาแทนที่ด้วยการปกครองโดยผู้ครองระดับท้องถิ่นที่บางครั้งก็เป็นชนท้องถิ่นชั้นสูงที่รับระบบโรมันเข้ามาปฏิบัติ หรือบางครั้งก็อาจจะเป็นลอร์ดของผู้ต่างวัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมโรมันในบริเวณกาลเลียอควิทาเนีย, กาลเลียนาร์โบเนนซิส, อิตาลีตอนใต้และซิซิลี, ฮิสปาเนียเบติคา หรือสเปนตอนใต้ และฝั่งไอบีเรียนเมดิเตอเรเนียนก็ยังคงใช้ปฏิบัติกันต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 7
การแตกสลายของระบบเศรษฐกิจและระบบสังคมโดยทั่วไปที่จักรวรรดิโรมันได้วางรากฐานไว้เป็นผลทำให้การปกครองกลายเป็นระบบที่อำนาจการปกครองกระจายออกไปจากศูนย์กลางเป็นอำนาจของการปกครองระดับท้องถิ่นที่ไม่ขึ้นอยู่กับศูนย์กลางใหญ่เช่นโรม การล่มสลายโดยทั่วไปเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากการขาดความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งสินค้าเพื่อทำการค้าขาย ซึ่งเป็นผลให้การผลิตสินค้าสำหรับส่งออกและการค้าขายในดินแดนต่างๆ ในจักรวรรดิต้องมาหยุดชะงักลง อุตสาหกรรมสำคัญที่ขึ้นอยู่กับการค้าขายเช่นการทำเครื่องปั้นดินเผาก็หายไปแทบจะทันทีในสถานที่เช่นอังกฤษ แต่ศูนย์กลางเช่นทินทาเจลในคอร์นวอลล์และที่อื่นๆ อีกหลายแห่งก็ยังคงสามารถทำการค้าขายสินค้าฟุ่มเฟือยได้มาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 แต่ในที่สุดการติดต่อเหล่านี้ก็สลายตัวไป เช่นเดียวกับระบบการบริหาร การศึกษา และการทหาร การสูญเสีย “cursus honorum” หรือระดับตำแหน่งในการรับหน้าที่ราชการนำไปสู่การยุบระบบการศึกษาซึ่งทำให้มีประชากรที่ขาดการศึกษาเพิ่มขึ้นแม้แต่ในหมู่ผู้นำ
ในบริเวณที่เดิมเป็นบริเวณของโรมันก็สูญเสียประชากรไปประมาณ 20% ระหว่างปี ค.ศ. 400 ถึงปี ค.ศ. 600 หรือลดลงไปถึงหนึ่งในสามระหว่างปี ค.ศ. 150 ถึงปี ค.ศ. 600 ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ปริมาณการค้าขายก็ลดลงไปถึงจุดที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ยุคสัมริด ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนเรือแตกที่พบตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 ที่มีจำนวนน้อยลงเหลือเพียง 2% ของจำนวนที่พบในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ซึ่งประจวบกับการหดตัวของผลิตผลทางเกษตรกรรมราวปี ค.ศ. 500 และ ในช่วงเวลาเดียวกับที่อุณภูมิของโลกเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วที่ทราบได้จากการศึกษาวงแหวนของต้นไม้ การใช้ระบบเกษตรกรรมสองแปลงของโรมันซึ่งเป็นระบบที่ปลูกพืชแปลงหนึ่งและทิ้งอีกแปลงหนึ่งไว้และไถคราดเพื่อกำจัดวัชพืชก็หยุดชะงักลง เมื่อระบบสถาบันต่างๆ ค่อยๆ ล่มสลายลงเจ้าของที่ดินก็ไม่สามารถหยุดยั้งทาสจากการหนีไปจากที่ดินทางเกษตรกรรมซึ่งก็เป็นผลทำให้ระบบเกษตรกรรมเสื่อมโทรมลง และการเกษตรกรรมอย่างมีระบบก็สิ้นสุดลงตามไปด้วย ซึ่งมีผลทำให้จำนวนผลิตผลต่ำลงจนเหลือเพียงระดับที่ทำแต่เพียงพอกิน
กรุงโรมเดิมมีความสำคัญที่สุดทางการเมือง มีความมั่งคั่งที่สุด และ มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมาเกือบหนึ่งพันปี ที่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1 มีประชากรกว่าหนึ่งล้านคน แต่เมื่อมาถึงยุคกลางตอนต้นจำนวนประชากรของโรมก็ลดลงไปเหลือเพียง 20,000 คน เมืองที่เคยมีผู้คนอยู่กันอย่างหนาแน่นก็แทบจะกลายเป็นเมืองร้างที่มีเพียงผู้อยู่อาศัยอยู่กันเป็นหย่อมๆ ท่ามกลางสิ่งก่อสร้างที่ปรักหักพังและเป็นป่าเป็นพง
ปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชากรยุบตัวลงมากคือการระบาดของโรค ฝีดาษไม่ได้เข้ามาเผยแพร่ในยุโรปตะวันตกจนกระทั่งราว ค.ศ. 581 เมื่อนักบุญเกรกัวร์แห่งตูร์บรรยายลักษณะของผู้ป่วยที่เป็นลักษณะเดียวกับผู้ป่วยด้วยฝีดาษโรคระบาดที่เข้ามาเป็นระลอกๆ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จำนวนประชากรในชนบทลดจำนวนลงไปเป็นอันมาก แต่ก็ไม่มีรายละเอียดเท่าใดนักเพราะรายละเอียดส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับโรคระบาดสูญหายไปหมด แต่ประมาณกันว่าโรคระบาดจัสติเนียนคร่าชีวิตคนไปราว 100 ล้านคนทั่วโลก นักประวัติศาสตร์บางคนเช่นโจไซยาห์ ซี. รัสเซลล์ (ค.ศ. 1958) ตั้งข้อเสนอว่ายุโรปทั้งหมดสูญเสียประชากรไปราว 50 ถึง 60% ระหว่างปี ค.ศ. 541 ถึงปี ค.ศ. 700 หลังจากปี ค.ศ. 750 โรคระบาดใหญ่ก็มิได้เกิดขึ้นในยุโรปอีกจนกระทั่งมาถึงการระบาดของกาฬโรคครั้งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 14
การเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 1 ในปี ค.ศ. 395 ตามมาด้วยการแบ่งแยกของจักรวรรดิโรมันระหว่างพระราชโอรสสองพระองค์เป็นจักรวรรดิโรมันตะวันตก และ จักรวรรดิโรมันตะวันออก จักรวรรดิโรมันตะวันตกสลายตัวออกไปเป็นอาณาจักรเยอรมันย่อยๆ เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ซึ่งทำให้จักรวรรดิโรมันตะวันออกในคอนสแตนติโนเปิลกลายมาเป็นจักรวรรดิที่สืบต่อจากจักรวรรดิโรมันโบราณ หลังจากจักรวรรดิโรมันตะวันออกเปลี่ยนมาใช้ภาษากรีกแทนภาษาละตินเป็นภาษาราชการ นักประวัติศาสตร์ก็เรียกจักรวรรดินี้ว่า “ไบแซนไทน์” ชาวตะวันตกก็ค่อยๆ กล่าวถึงผู้อยู่ในจักรวรรดิไบแซนไทน์ว่า “กรีก” แทนที่จะเป็น “โรมัน” แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ในจักรวรรดิไบแซนไทน์เองยังมักจะเรียกตนเองว่า “Romaioi” หรือ “โรมัน”
จักรวรรดิโรมันตะวันออกมีจุดประสงค์ที่จะรักษาสิทธิในการควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปและตะวันออกที่ทำให้จักรวรรดิเป็นจักรวรรดิที่มั่งคั่งที่สุดในบรรดารัฐต่างๆ ในยุโรป ไบแซนไทน์ใช้ความสามารถทั้งในทางการทหาร และในทางการทูตในการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการถูกรุกรานจากอนารยนที่โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามา ความหวังที่จะฟื้นฟูอำนาจทางตะวันตกมาเป็นความจริงอยู่ชั่วระยะหนึ่งในรัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 ผู้ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 527 จนถึงปี ค.ศ. 565 ไม่แต่เพียงแต่จะฟื้นฟูจักรวรรดิโรมันตะวันตกเท่านั้นแต่พระองค์ยังทรงวางรากฐานกฎหมายโรมันที่เป็นกฎหมายที่ใช้กันอย่างกว้างขวางต่อมา และในบางบริเวณใช้มาจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นอกจากนั้นก็ทรงสร้างสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดและมีวิธีการก่อสร้างที่ซับซ้อนที่สุดของยุคกลางตอนต้น--อะยาโซเฟียในคอนสแตนติโนเปิล แต่โรคระบาดจัสติเนียนก็มาทำให้สถานะการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อคอนสแตนติโนเปิลเองเสียประชากรไปถึง 40% ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ประชากรของยุโรปลดจำนวนลงไปเป็นอันมากในสมัยยุคกลางตอนต้น
จักรพรรดิมอริซและจักรพรรดิเฮราคลิอัสต้องประสบกับการรุกรานของยูเรเชียอาวาร์ และ ชนสลาฟ หลังจากการทำลายของอาวาร์และสลาฟแล้วบริเวณส่วนใหญ่ของคาบสมุทรบอลข่านก็สูญเสียประชากรไปเป็นจำนวนมาก ในปี ค.ศ. 626 คอนสแตนติโนเปิลที่เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสมัยยุคกลางตอนต้นก็สามารถต่อต้านการรุกรานของอาวาร์และเปอร์เชียได้ ภายในยี่สิบถึงสามสิบปีจักรพรรดิเฮราคลิอัสก็ทรงสามารถพิชิตเปอร์เชียได้โดยทรงยึดเมืองหลวงและทรงสั่งให้ประหารชีวิตสุลต่านซาสซานียะห์ (Sassanid) แต่พระองค์ก็มีพระชนมายุยืนพอที่ได้เห็นสิ่งที่ทรงได้มาเสียไป โดยที่ฝ่ายอาหรับสามารถพิชิตซีเรีย, ปาเลสไตน์, อียิปต์ และ แอฟริกาเหนือได้ ที่เป็นผลมาจากความแตกแยกทางศาสนา และขบวนการนอกรีตที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม
แม้ว่าจักรพรรดิเฮราคลิอัสจะทรงสามารถต่อต้านการล้อมเมืองคอนสแตนติโนเปิลโดยฝ่ายอาหรับได้ถึงสองครั้ง (ในระหว่างปี ค.ศ. 674 ถึง ค.ศ. 677 และในปี ค.ศ. 717) ไบแซนไทน์ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ก็ต้องประสบกับปัญหาหลายอย่างที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของจักรวรรดิที่รวมทั้งลัทธิทำลายรูปเคารพ และ ความขัดแย้งกันของฝักฝ่ายต่างๆ ภายในราชสำนัก
บัลการ์และสลาฟถือโอกาสจากความแตกแยกในการเข้ารุกรานอิลิเรีย, เธรซ และ กรีซ หลังจากได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในยุทธการออนกาลา (battle of Ongala) ในปี ค.ศ. 680 แล้วกองทัพบัลการ์และสลาฟก็เดินทางไปทางใต้ของเทือกเขาบอลข่าน และได้รับชัยชนะต่อไบแซนไทน์อีกครั้ง จนไบแซนไทน์ต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกหยามเกียรติ โดยที่ต้องยอมรับการก่อตั้งจักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1 ติดกับไบแซนไทน์เอง
เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นคงต่อภัยรอบด้าน ไบแซนไทน์ก็ทำการปฏิรูปทางการบริหารใหม่โดยรวมการบริหารทั้งทางการเมืองและทางการทหารเข้าด้วยกันภายใต้อำนาจของขุนพล การปฏิรูประบบนี้ทำให้เกิดตระกูลที่เป็นเจ้าของที่ดินใหญ่ๆ ขึ้นหลายตระกูลที่มีอำนาจปกครองเขตภูมิภาคต่างๆ ในจักรวรรดิ และเมื่อมีอำนาจมากขึ้นต่างตระกูลต่างก็จะอ้างสิทธิในการครองราชบัลลังก์
เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 อาณาเขตของไบแซนไทน์ก็ลดน้อยลงแต่กระนั้นคอนแสตนติโนเปิลก็ยังคงเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดและมั่งคั่งที่สุดในโลกจะเทียบได้ก็แต่ Ctesiphon ของซาสซานียะห์และแบกแดดของอับบาซียะห์ ที่จำนวนประชากรประมาณระหว่าง 300,000 ถึง 400,000 คนเพราะจักรพรรดิใช้วิธีต่างๆ ในการควบคุมจำนวนประชากรของเมืองหลวง ขณะนั้นเมืองคริสเตียนใหญ่อื่นๆ ก็มีแต่โรม (ประชากร 50,000 คน) และ ซาโลนิคา (ประชากร 30,000 คน) ก่อนที่คริสต์ศตวรรษที่ 8 จะสิ้นสุดลง กฎหมายชาวนาก็เริ่มช่วยในการฟื้นฟูการเกษตรกรรมในไบแซนไทน์ เช่นทีสารานุกรมบริตานิคาฉบับ ค.ศ. 2006 กล่าวว่า “สังคมไบแซนไทน์ที่เป็นสังคมที่ใช้เท็คโนโลยีเป็นสังคมที่ก้าวหน้ากว่าสังคมร่วมสมัยในยุโรปตะวันตก การใช้เครื่องมือที่ทำด้วยเหล็กก็มีใช้กันในระดับหมู่บ้าน โรงสีที่ใช้พลังน้ำก็มีอยู่โดยทั่วไป และทุ่งนาที่ปลูกถั่วก็ผลิตธัญญาหารที่เต็มไปด้วยโปรตีน”
การขึ้นครองราชย์ของราชวงศ์มาซิโดเนีย (Macedonian dynasty) ในปี ค.ศ. 867 เป็นการสิ้นสุดของสมัยของความวุ่นวายทางการเมือง และการเข้าสู่ยุคทองของจักรวรรดิ ขณะที่ขุนพลผู้มีความสามารถเช่นไนซิโฟรัส โฟคาส (Nicephorus Phocas) ทำการขยายดินแดนออกไป จักรพรรดิมาซิโดเนียเช่นลีโอเดอะไวส์ และ จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 7 ก็มีบทบาทในการส่งเสริมความเจริญทางวัฒนธรรมในคอนสแตนติโนเปิลในสมัยที่มารู้จักกันว่า “ยุคเรอเนสซองซ์มาซิโดเนีย” ประมุขผู้มีหัวก้าวหน้าของมาซิโดเนียเหยียดหยามประมุขของยุโรปตะวันตกว่าเป็นอนารยชนผู้ขาดการศึกษา และยังคงอ้างสิทธิในการปกครองของอาณาจักรตะวันตกอยู่บ้าง แม้ว่ายุโรปตะวันตกจะมีความเจริญขึ้นบ้างในรัชสมัยของชาร์เลอมาญในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 เมื่อพระองค์ทรงได้รับการราชาภิเษกในกรุงโรมในปี ค.ศ. 800 แต่เหตุการณ์นี้ก็ไม่ได้ทำให้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติของประมุขของไบแซนไทน์ต่อจักรวรรดิตะวันตกแต่อย่างได และโดยทั่วไปแล้วทางตะวันออกก็มิได้ให้ความสนใจในด้านการเมืองหรือการวิวัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของ “อนารยชนตะวันตก” เท่าใดนัก
แต่ผู้ที่มาสนใจในเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการปกครองของจักรวรรดิโรมันตะวันออกก็ได้แก่เพื่อนบ้านทางตอนเหนือของคอนสแตนติโนเปิลที่รวมทั้งสลาฟ, บัลการ์ และคาซาร์ ที่ต้องการที่จะปล้นสดมหรือแสวงหาความเจริญทางวัฒนธรรมของโรมัน การโยกย้ายของชนเจอร์มานิคลงทางใต้ก่อให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานกันอย่างขนานใหญ่ของชนสลาฟผู้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ถูกทิ้งร้างของจักรวรรดิโรมัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ชนสลาฟก็เคลื่อนย้ายไปทางตะวันตกทางแม่น้ำเอลเบ, ทางใต้ในบริเวณแม่น้ำดานูบ และทางตะวันออกในบริเวณแม่น้ำนีพเพอร์ เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ชนสลาฟก็ขยายตัวไปยังบริเวณที่ไม่ค่อยมีผู้อยู่อาศัยทางใต้และตะวันออกของพรมแดนธรรมชาติและผสมกลมกลืนไปกับชนท้องถิ่นที่รวมทั้งอิลลิเรีย (Illyrian) and ฟินโน-อูกริค (Finno-Ugric)
หลังจากการเสียชีวิตของมุฮัมมัดศาสดาของศาสนาอิสลามแล้ว อะบูบักรฺ (? ??? ??????) (ปกครอง ค.ศ. 632-34) ก็กลายเป็น “คอลีฟะหฺ” หรือ “กาหลิป” คนแรกของอาณาจักรที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ภายใต้ร่มความศรัทธาของศาสนาอิสลามในคาบสมุทรอาหรับ กาหลิปราชิดัน (Rashidun) สมัยแรกเป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขของศาสนา ขณะที่กาหลิปสมัยต่อมาได้รับเลือกโดยสภา “sh?r?” เช่นเดียวกับการเลือกประมุขของชนเผ่าอาหรับ อะบูบักรฺริเริ่มการรณรงค์ “ridda wars” เพื่อรวบรวมดินแดนตอนกลางของคาบสมุทรอาหรับเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิม (ค.ศ. 633) อุมัร (ปกครอง ค.ศ. 634-ค.ศ. 644) ผู้เป็นกาหลิปคนที่สองต่อจากอะบูบักรฺ ประกาศตนเป็น “ผู้นำแห่งศรัทธาชน” (am?r al-mu 'min?n) ในคริสต์ทศวรรษ 630 อุมัรก็สามารถนำซีเรีย, จอร์แดน, ปาเลสไตน์ และ อิรักเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิม ส่วนอียิปต์ได้มาจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ในสมัยของอุษมาน (Uthman ibn Affan- ????? ??) กาหลิปคนที่สามในปี ค.ศ. 645 และกาหลิปคนที่สี่อะลีย์ก็ได้ชื่อว่าเป็นกาหลิป "ผู้ทรงธรรมและเป็นปราชญ์ผู้ประเสริฐ" ผู้เป็นกาหลิปของยุคทองของอิสลาม
กาหลิปอะลีย์เริ่มสมัยปกครองขณะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในระหว่างที่สับสนวุ่นวายหลังจากการถูกฆาตกรรมของอุษมาน ที่ทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจที่นำไปสู่สงครามอิสลามครั้งที่ 1 (First Islamic civil war) ที่นำโดยมุอาวิยะห์ข้าหลวงแห่งซีเรีย เมื่อมุฮัมมัดลูกเขยของอะลีย์ถูกสังหารขณะที่กำลังสวดมนต์อยู่ที่คูฟาห์ (Kufah) ในอิรัก มุอาวิยะห์ก็ก่อตั้งจักรวรรดิกาหลิปอุมัยยะห์ (ค.ศ. 661–ค.ศ. 750) โดยมีดามัสกัสเป็นเมืองหลวง ผู้สนับสนุนอะลีย์ที่รวมทั้งบุตรชายฮุสเซน (Husayn-????) ก็นำกองทัพเข้าต่อต้านฝ่ายอุมัยยะห์แต่ได้รับความพ่ายแพ้ กลุ่มนี้และผู้สืบเชื้อสายก็กลายเป็นนิกายชีอะหฺ
ภายใต้การปกครองของอับดุลมาลิค (Abd al-Malik - ??? ????? ?? ??????) แห่งราชวงศ์อุมัยยะห์ระหว่าง ค.ศ. 685 ถึง ค.ศ. 705 อุมัยยะห์ก็รุ่งเรืองถึงจุดสูงสุด และสามารถพิชิตดินแดนได้ตั้งแต่เอเชียกลาง, ริมฝั่งแอฟริกาเหนือ ไปจนถึงสเปน อับดุลมาลิคเปลี่ยนระบบในดินแดนต่างๆ ที่ยึดได้ให้เป็นอาหรับโดยกำจัดข้าราชการกรีกและเปอร์เชียและแทนที่ด้วยข้าราชการอาหรับ
การพิชิตคาบสมุทรไอบีเรีย (Moorish invasion of Iberia) เริ่มขึ้นเมื่อมัวร์ (ส่วนใหญ่คือชนเบอร์เบอร์และอาหรับบ้างบางส่วน) เข้ารุกรานคาบสมุทรไอบีเรียของวิซิกอธที่เป็นคริสเตียนในคาบสมุทรไอบีเรียในปี ค.ศ. 711 ภายใต้การนำของผู้นำเบอร์เบอร์ทาริค อิบนฺ ซิยาด (Tariq ibn Ziyad-???? ?? ?????) ทาริคเริ่มการรุกรานโดยขึ้นฝั่งที่ยิบรอลตาร์เมื่อวันที่ 30 เมษายนและค่อยๆ เดินทัพรุกขึ้นไปทางเหนือ ในปีต่อมากองทัพของทาริคได้รับการหนุนโดยกองทัพของผู้บัญชาการมูซา อิบุน นูแซร์ (???? ?? ?????) ระหว่างแปดปีของการรณรงค์คาบสมุทรไอบีเรียเกือบทั้งหมดก็ตกมาอยู่ในการครอบครองของมุสลิมนอกจากบริเวณเล็กทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของ (อัสตูเรียส) และบริเวณส่วนใหญ่ของชนบาสค์ในบริเวณเทือกเขาพิเรนีส บริเวณที่ยึดครองโดยเบอร์เบอร์และอาหรับได้ชื่อเป็นภาษาอาหรับว่า “อัล-อันดาลุส” และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการขยายตัวของจักรวรรดิกาหลิปอุมัยยะห์
แต่ความพยายามที่ล้มเหลวในการยึดคอนสแตนติโนเปิลเป็นครั้งที่สองในปี ค.ศ. 717 เป็นการลดอำนาจและความเป็นผู้นำของอุมัยยะห์ลง เมื่อได้รับชัยชนะในไอบีเรียแล้วฝ่ายอาหรับก็เดินทัพขึ้นเหนือแต่ไปพ่ายแพ้ต่อชาร์ลส์ มาร์เตลผู้นำของจักรวรรดิแฟรงค์ในยุทธการปัวติเยร์ในปี ค.ศ. 732 เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 750 จักรวรรดิกาหลิปอุมัยยะห์ถูกโค่นโดยจักรวรรดิกาหลิปอับบาซียะห์ ราชวงศ์อุมัยยะห์ก็ถูกสังหารไปจนแทบหมดสิ้น
อับดุลราห์มานที่ 1 (Abd-ar-rahman I) ผู้นำอุมัยยะห์ที่รอดมาได้ก็หนีไปสเปนและไปก่อตั้งราชวงศ์อุมัยยะห์ขึ้นใหม่เป็นอาณาจักรอิเมียร์แห่งกอร์โดบา ในปี ค.ศ. 756 เปแปงเดอะชอร์ทพระราชโอรสในชาร์ลส์ มาร์เตลก็ยึดนาร์บอนน์ (Narbonne) และพระนัดดาชาร์เลอมาญก็ทรงก่อตั้ง “ภูมิภาคชายแดนสเปน” (Marca Hispanica) ตลอดแนวaเทือกเขาพิเรนีสทางตอนเหนือของสเปนที่ปัจจุบันคือแคว้นคาเทโลเนีย และทรงยึดจิโรนาคืนในปี ค.ศ. 785 และ บาร์เซโลนาในปี ค.ศ. 801
การรวมตัวของจักรวรรดิกาหลิปสลายตัวลงในช่วงเวลาเก้าร้อยปีมาเป็น Idrisid และ Aghlabid ในแอฟริกาเหนือ และซามานิยะห์ (Samanid) ในเปอร์เชียก็ได้รับอิสรภาพ ต่อมาชีอะหฺฟาติมียะห์ก็ไปก่อตั้งจักรวรรดิกาหลิปฟาติมียะห์คู่แข่งขึ้นในตูนิเซียในปี ค.ศ. 920) ไม่นานนักอุมัยยะห์ในสเปนก็ประกาศตนเป็นกาหลิปในปี ค.ศ. 929 ราชวงศ์ Buwayhid (ชีอะหฺเปอร์เชีย) มีอำนาจขึ้นในการครอบครองแบกแดดในปี ค.ศ. 934 ในปี ค.ศ. 972 ฟาติมียะห์ก็ได้รับชัยชนะต่ออียิปต์
สถานะการณ์ในยุโรปตะวันตกเริ่มกระเตื้องขึ้นหลังจากปี ค.ศ. 700 เมื่อยุโรปเริ่มประสบกับความรุ่งเรืองทางผลผลิตทางเกษตรกรรมที่ต่อเนื่องกันอย่างน้อยก็มาจนถึงปี ค.ศ. 1100 การศึกษาสิ่งที่ตกค้างอยู่ในหินปูนบนพื้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสรุปว่าระดับรังสีแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติมากระหว่าง ค.ศ. 600 จนถึง ค.ศ. 900 สัญญาณแรกที่แสดงถึงการฟื้นตัวของยุโรปเกิดขึ้นที่สมรภูมิในการป้องกันเมืองคอนสแตนติโนเปิลในปี ค.ศ. 717 และเมื่อชนแฟรงค์ได้รับชัยชนะต่ออาหรับในยุทธการปัวติเยร์ ในปี ค.ศ. 732
ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ก็ได้มีการวิวัฒนาการระบบการบริหารและการสังคมขึ้นโดยทั่วไปในบริเวณที่เป็นอดีตจักรวรรดิโดยครอบครัวขุนนางผู้มีอำนาจในบริเวณต่างๆ และอาณาจักรใหม่ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยออสโตรกอธในอิตาลี, วิซิกอธในสเปน และ โปรตุเกส, แฟรงค์และเบอร์กันดีในกอล และเยอรมนีตะวันตก ดินแดนเหล่านี้ยังคงเป็นดินแดนคริสเตียนและผู้พิชิต (วิซิกอธ และ ลอมบาร์ด) หรือ ผู้ถูกพิชิต (ออสโตรกอธ และ แวนดัล) ที่เคยนับถือลัทธิเอเรียนิสม์ก็เปลี่ยนมาเป็นโรมันคาทอลิก แต่ชนแฟรงค์เปลี่ยนโดยตรงจากการเป็นเพกันมานับถือโรมันคาทอลิกภายใต้การนำของโคลวิสที่ 1
การผสมผสานระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่รวมทั้งวัฒนธรรมของผู้ที่เข้ามาใหม่, ความจงรักภักดีในกลุ่มชนนักรบ, วัฒนธรรมคลาสสิกที่ยังหลงเหลืออยู่ และอิทธิพลคริสเตียนทำให้เกิดสังคมที่มีลักษณะใหม่ที่มีพื้นฐานมาจากระบบศักดินาดั้งเดิม แต่สิ่งที่หายไปคือระบบการบริหารจากส่วนกลาง และ การสนับสนุนการมีทาสของสถาบันของโรมัน แองโกล-แซ็กซอนในอังกฤษก็เริ่มเปลี่ยนจากการนับถือพหุเทวนิยมไปนับถือคริสต์ศาสนาโดยนักสอนศาสนาที่มาถึงเกาะราวปี ค.ศ. 600 แต่ไม่เหมือนกับฝรั่งเศสคริสต์ศาสนาในอังกฤษมีด้วยกันสองระบบ--โรมันคาทอลิกทางใต้ และ คริสต์ศาสนาแบบเคลติคทางตอนเหนือ ซึ่งกลายเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมสภาสงฆ์แห่งวิทบีย์ (Synod of Whitby) ในปี ค.ศ. 664 หลังจากการประชุมแล้วโรมันคาทอลิกก็กลายเป็นลัทธิที่มีอิทธิพลเหนือกว่า
ลอมบาร์ดผู้เข้ามาในอิตาลีครั้งแรกในปี ค.ศ. 568 ภายใต้อัลบอยน์ (Alboin) ก่อตั้งอาณาจักรขึ้นทางตอนเหนือโดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ปาเวีย ในตอนแรกลอมบาร์ดก็ไม่สามาระเอาชนะอาณาจักรเอ็กซาเคทแห่งราเวนนา (Exarchate of Ravenna), ดูคาทัส โรมานัส, และคาลาเบรีย และ อพูเลียได้ อีกสองร้อยปีต่อมาลอมบาร์ดก็มุ่งมั่นที่จะเอาชนะดินแดนเหล่านี้จากจักรวรรดิไบแซนไทน์
รัฐลอมบาร์ดเป็นรัฐอานารยชนทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริงเมื่อเทียบกับรัฐเจอร์มานิคในสมัยแรกของยุโรปตะวันตก ในสมัยแรกเป็นการปกครองแบบกระจายอำนาจ โดยมีดยุกมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองดัชชีของตนเองโดยเฉพาะทางด้านใต้ในดัชชีแห่งสโปเลโต และ ดัชชีแห่งเบเนเวนโต สิบปีหลังจากการเสียชีวิตของเคล็ฟในปี ค.ศ. 575 ลอมบาร์ดก็มิได้เลือกพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ สมัยนี้เป็นสมัยที่เรียกว่า “สมัยการปกครองของดยุก” (Rule of the Dukes) กฎหมายฉบับแรกเขียนเป็นภาษาละตินที่ไม่ดีนักในปี ค.ศ. 643: “ประมวลกฎหมายโรธาริ” (Edictum Rothari) ซึ่งเป็นการบันทึกกฎหมายที่ถ่ายทอดกันมาโดยปากเปล่า
เมื่อมาถึงปลายสมัยอันยาวนานของลูทพรันด์ (Liutprand, King of the Lombards) (ค.ศ. 717-ค.ศ. 744) รัฐลอมบาร์ดก็กลายเป็นรัฐที่มีระบอบการปกครองที่มีระบบและมีความมั่นคง แต่ความเสื่อมโทรมก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กษัตริย์องค์ต่อมาเดซิเดเรียส (Desiderius) ผู้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากดยุกก็พ่ายแพ้และต้องยอมยกอาณาจักรให้แก่ชาร์เลอมาญในปี ค.ศ. 774 อาณาจักรลอมบาร์ดมาสิ้นสุดลงในสมัยการปกครองของแฟรงค์ เมื่อพระมหากษัตริย์ของแฟรงค์เปแปงเดอะชอร์ทถวายดินแดนทางตอนเหนือที่ส่วนใหญ่ปกครองโดยลอมบาร์ดและอาณาจักรที่ขึ้นต่อจักรวรรดิแฟรงค์ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ “อาณาจักรพระสันตะปาปา” จนกระทั่งถึงสมัยที่นครรัฐขึ้นมามีอำนาจในคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 บริเวณลอมบาร์ดจึงค่อยฟื้นตัว
ทางด้านใต้ของอิตาลีก็เริ่มเป็นสมัยอนาธิปไตยแต่ดัชชีแห่งเบเนเว็นโตสามารถดำรงตัวอยู่ได้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซาราเซ็นก็พิชิตซิซิลีได้และเริ่มเข้ามตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทร เมืองตามริมฝั่งทะเลของทะเลไทเรเนียน (Tyrrhenian Sea) แยกตัวจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ รัฐต่างๆ ต่างก็ต่อสู้กันเองเรื่อยมาจนกระทั่งมาถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 เมื่อนอร์มันเข้ามายึดบริเวณทางตอนใต้ของอิตาลีได้ทั้งหมดในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11
ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 ชนหลายกลุ่มในเยอรมนี, ฮอลแลนด์ และ เดนมาร์กเริ่มเข้ามารุกรานบริเตนซึ่งเป็นดินแดนที่ถูกทิ้งหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ตามที่เชื่อกันมาหัวหน้าเผ่าจูทสองคนเฮนเจสต์ และ ฮอร์ซา ได้รับสัญญาจากพระเจ้าแผ่นดินบริเตนวอร์ติเกิร์น (Vortigern) ว่าจะมอบดินแดนให้ถ้าสามารถกำจัดผู้รุกรานชาวพิคท์ได้ ตาม “พงศาวดารแองโกล-แซ็กซอน” หลังจากที่ได้รับชัยชนะต่อพิคท์แล้วฝ่ายจูทก็ “สงข่าวไปยังแองเกลนและเรียกกองกำลังให้มาสมทบเพิ่มขึ้น และกล่าวถึงความไร้คุณค่าของชนบริเตน และคุณค่าของดินแดน” ซึ่งเท่ากับเป็นการเริ่มต้นการเข้ามารุกรานและการพิชิตางตอนกลางและตอนใต้ของบริเตนโดยกลุ่มชนต่างๆ ของกลุ่มชนเจอร์มานิคที่รวมทั้ง จูท แองเกิลส์ และ แซ็กซอน ชนเคลต์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนหน้าในบริเตนนั้นถูกสังหารไปราว 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลานี้ หลังจากนั้นแองโกล-แซ็กซอนก็สามารถก่อตั้งอาณาจักรขึ้นหลายอาณาจักรที่มีความสำคัญและความยั่งยืนต่างๆ กันจนกระทั่งมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช (ค.ศ. 849-ค.ศ. 899) แห่งเวสเซ็กซ์ผู้ทรงนำกลุ่มแองโกล-แซ็กซอนต่างๆ ในการต่อต้านกองการรุกรานของเดนส์ และเริ่มการรวบรวมอังกฤษเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่มาสำเร็จเอาในปี ค.ศ. 926 เมื่อนอร์ทธัมเบรียถูกผนวกโดยพระเจ้าเอเธลสตันผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าอัลเฟรด
เมโรแว็งเชียงก่อตั้งตนเองในบริเวณที่เดิมเป็นจังหวัดโรมันในกอล หลังจากได้รับชัยชนะต่ออลามานนิในยุทธการโทลบิแยคแล้วโคลวิสที่ 1 ก็เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาและวางรากฐานของจักรวรรดิแฟรงค์ที่กลายมาเป็นรัฐมหาอำนาจในจักรวรรดิคริสเตียนตะวันตกในยุคกลาง
เริ่มต้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ชาร์เลอมาญรวบรวมอาณาบริเวณต่างๆ ในฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก และอิตาลีตอนเหนือปัจจุบันเข้าด้วยกันเป็นจักรวรรดิคาโรแล็งเชียง สมัยการปกครองของชาร์เลอมาญเป็นสมัยที่มีความรุ่งเรืองทางการศึกษาและทางวัฒนธรรมที่นักประวัติศาสตร์ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เรียกว่า “ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคาโรแล็งเชียง”
ในคริสต์ทศวรรษที่ 840 หลังจากจักรวรรดิแฟรงค์ถูกแบ่งแยกยุโรปก็เข้าสู่สมัยการรุกรานจากอนารยชนอีกครั้งหนึ่ง เริ่มด้วยไวกิงและตามด้วยมาจยาร์
ราวปี ค.ศ. 800 การทำการเกษตรกรรมอย่างมีระบบก็กลับมาแพร่หลายอีกครั้งในยุโรปในรูปของระบบแปลงเกษตรกรรมเปิด (Open field system) หรือระบบระบบมาเนอร์ (Manorialism) เป็นระบบการเกษตรกรรมที่มีลักษณะเป็นแปลงหลายแปลงแต่ละแปลงก็แบ่งออกเป็นแถบๆ ละครึ่งเอเคอร์หรือน้อยกว่านั้น ที่ตามทฤษฎีถือว่าเป็นขนาดที่วัวสามารถไถเสร็จได้ก่อนที่จะต้องหยุดพัก อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าที่แบ่งเป็นแถบเพราะเดิมเป็นที่ดินสี่เหลี่ยมแต่ต้องแบ่งเป็นแถบตามลักษณะของที่ดินที่ได้รับ[ต้องการอ้างอิง] ปกติแล้วแต่ละครอบครัวก็จะได้รับที่ดินครอบครัวละสามสิบแถบ
การเกษตรกรรมระบบมาเนอร์ใช้การปลูกพืชพันธุ์แบบระบบเกษตรกรรมสามแปลง (three-field system) ของระบบเกษตรกรรมแบบหมุนเวียน (crop rotation) ที่วิวัฒนาการขึ้นเป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 9 โดยปลูกข้าวสาลีและข้าวไรย์ในแปลงหนึ่ง ในแปลงที่สองเป็นพืชที่ช่วยสร้างไนโตรเจน (ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโอ๊ต และพืชตระกูลถั่ว) และแปลงสุดท้ายไถทิ้งไว้โดยไม่ปลูกพืช เมื่อเทียบกับระบบเกษตรกรรมสองแปลง (two-field system) ที่ทำกันมาก่อนหน้านั้น ระบบสามแปลงต้องใช้เนื้อที่ทำเกษตรกรรมมากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือทำให้ได้ผลิตผลเพิ่มขึ้นเป็นสองครั้งต่อปีซึ่งเป็นการลดอันตรายที่เกิดจากความล้มเหลวของการเกษตรกรรมที่นำไปสู่ความอดอยาก และเป็นระบบที่ทำให้มีข้าวโอ๊ตที่เป็นผลิตผลส่วนเกินที่ใช้ในการเลี้ยงม้าได้ ระบบสามแปลงทำให้ต้องมีการจัดระบบโครงสร้างทั้งทางการเกษตรกรรมและทางสังคมกันอย่างขนานใหญ่ ระบบนี้มิได้แพร่หลายมาจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 ก็มีการใช้คันไถล้อหนักซึ่งต้องใช้กำลังสัตว์มากขึ้นโดยใช้วัวหลายตัว โรมันใช้คันไถล้อเบาที่ไม่เหมาะกับการใช้กับดินที่แน่นซึ่งไถยากกว่าทางตอนเหนือของยุโรป
การหันกลับมาทำการเกษตรกรรมอย่างมีระบบประจวบกับการระบบโครงสร้างใหม่ของสังคมที่เรียกว่าระบบศักดินา ระบบนี้เป็นระบบฐานันดรที่ผู้ที่อยู่ในระบบแต่ละระดับต่างก็มีความรับผิดชอบต่อกัน คนแต่ละคนมีหน้าที่ต่อผู้ที่เหนือกว่าและผู้ที่เหนือกว่าก็มีหน้าที่พิทักษ์ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง แต่บางครั้งระบบนี้เป็นระบบที่ค่อนข้างสับสนจากการเปลี่ยนแปลงการสวามิภักดิ์ของฝ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบางครั้งก็เป็นการขัดแย้งกันเอง ระบบศักดินาเป็นระบบที่ทำให้รัฐต้องมีหน้าที่ในการพิทักษ์ความปลอดภัยของผู้อยู่ในการอารักขาด้วยมาตรการที่วางไว้แม้ว่าบางครั้งระบบการปกครองหรือการบันทึกเป็นตัวอักษรอาจจะหยุดยั้งไปแล้วก็ตาม แม้แต่ความขัดแย้งกันเรื่องที่ดินก็ยังตัดสินกันด้วยคำให้การแต่เพียงอย่างเดียว ดินแดนต่างๆ ก็ลดลงเหลือเพียงเครือข่ายของระบบการสวามิภักดิ์ของกลุ่มบุคคลย่อยๆ แท่นที่จะเป็นระบบ “ชาติ” ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ยุคไวกิงเป็นสมัยระหว่างปี ค.ศ. 793 ถึงปี ค.ศ. 1066 ในสแกนดิเนเวีย และ บริเตนที่เกิดขึ้นหลังจากยุคเหล็กเจอร์มานิค (และยุคเวนเดล (Vendel Age) ในสวีเดน) ในยุคนี้ไวกิงนักรบและนักการค้าสแกนดิเนเวียเข้ารุกราน/ปล้นสดม/ทำลายทรัพย์สิน และ ขยายดินแดนทั่วไปในยุโรป, ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้, ในแอฟริกาเหนือ และในอเมริกาเหนือ นอกจากนั้นก็ยังทำการสำรวจยุโรปโดยทางทะเลและตามลำน้ำด้วยความสามารถทางการเดินเรือและการขยายเส้นทางการค้า ไวกิงทำการรุกราน ปล้นสดม และจับคนเป็นทาสในชุมชนคริสเตียนของยุคกลางเป็นเวลาหลายร้อยปี ที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นต้นตอของการวิวัฒนาการของระบบศักดินาในยุโรป
ก่อนที่จักรวรรดิเคียฟรุสจะก่อตั้งขึ้น พรมแดนทางตะวันออกของยุโรปปกครองโดยชนคาซาร์ซึ่งเป็นชนสาขาหนึ่งของกลุ่มชนเตอร์กิกที่ได้รับอิสรภาพจากสมาพันธ์รัฐเกิร์คเติร์ก (G?kt?rks) ภายในนคริสต์ศตวรรษที่ 7 รัฐของชนคาซาร์เป็นรัฐของชนหลายเชื้อชาติทางการค้าขายที่รุ่งเรืองขึ้นมาได้จากจากควบคุมเส้นทางการค้าทางน้ำระหว่างยุโรปและตะวันออก และบังคับเก็บบรรณาการจากชนอาลัน, ชนมาจยาร์, กลุ่มชนสลาฟ, กอธ และชนกรีกในไครเมีย การค้าข้ายทำโดยเครือพ่อค้าที่เดินทางเพื่อทำการค้าชาวยิว (หรือ ชนราดาไนท์ (Radhanites) ) ผู้มีการติดต่อกับศูนย์การค้าขายไปจนถึงอินเดียและสเปน
เมื่อต้องผจญกับการขยายดินแดนของมุสลิม (Muslim conquests) ชนคาซาร์ก็หันไปเป็นพันธมิตรกับคอนสแตนติโนเปิลและปะทะกับฝ่ายอาณาจักรกาหลิป แม้ว่าจะเสียทีในระยะแรกแต่ก็สามารถยึดเดอร์เบนท์ (Derbent) คืนได้และสามารถรุกเข้าไปทางใต้ได้จนถึงไอบีเรียคอเคเชีย (Caucasian Iberia), แอลเบเนียคอเคเชีย (Caucasian Albania) และ อาร์มีเนีย การกระทำเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการหยุดยั้งการขยายตัวของอิสลามขึ้นไปทางเหนือยังยุโรปตะวันออกอยู่หลายสิบปีก่อนที่ชาร์ลส์ มาร์เตลทำเช่นเดียวกันได้สำหรับยุโรปตะวันตก
ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ดินแดนทางตอนเหนือของทะเลดำก็ถูกรุกรานโดยชนเร่ร่อน (nomad) ที่นำโดยบัลการ์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรอันมีอำนาจเกรตบัลแกเรียภายใต้การนำของคูบรัต (Kubrat) แต่ชนคาซาร์สามารถกำจัดบัลการ์ได้จากทางตอนใต้ของยูเครนจนไปถึงกลางบริเวณแม่น้ำวอลกา (วอลกาบัลแกเรีย) และไปยังทางตอนใต้ในบริเวณแม่น้ำดานูบ (ดานูบบัลแกเรีย หรือ จักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1) แม้ว่าจะมีการรณรงค์ต่อต้านคอนสแตนติโนเปิลอยู่กันเป็นระยะๆ แต่ชนดานูบบัลการ์ก็เปลี่ยนไปรับวัฒนธรรมของสลาฟอย่างรวดเร็วและรับภาษากรีกเข้ามาใช้จากคริสต์ศาสนา ความพยายามในการเผยแพร่คริสต์ศาสนาของนักสอนศาสนาสองคนนักบุญซิริลและนักบุญเมธอเดียสทำให้เกิดการประดิษฐ์อักขระสลาฟขึ้นเป็นครั้งแรก และภาษาท้องถิ่น (ที่ปัจจุบันเรียกว่าภาษาศาสนาสโลโวนิคเก่า (Old Church Slavonic) ) ก็กลายเป็นภาษาเขียนสำหรับหนังสือและบทสวดมนต์เกี่ยวกับคริสต์ศาสนา
ทางด้านเหนือของเขตแดนของจักรวรรดิไบแซนไทน์ก็ได้มีการก่อตั้งรัฐสลาฟขึ้นเป็นครั้งแรก--เกรตโมราเวียที่ก่อตั้งขึ้มาโดยอารักขาของจักรวรรดิแฟรงก์ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 โมราเวียเป็นบริเวณที่นักสอนศาสนาจากคอนสแตนติโนเปิลและจากโรมมาเผชิญกัน แม้ว่าสลาฟตะวันตกจะมายอมรับอำนาจคริสตจักรของโรมัน แต่นักบวชของคอนสแตนติโนเปิลสามารถเปลี่ยนจักรวรรดิเคียฟรุสซึ่งเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปขณะนั้นมาเป็นนิกายกรีกในราวคริสต์ทศวรรษ 990 จักรวรรดิเคียฟรุสปกครองโดยราชวงศ์วารันเจียนควบคุมเส้นทางการค้าที่เชื่อมบริเวณบอลติกในยุโรปเหนือกับไบแซนไทน์และตะวันออกโดยผ่านรัสเซีย เกรตโมราเวียมาถูกย่ำยีโดยมาจยาร์ผู้เข้ามารุกรานบริเวณพานโนเนียน (Pannonian Basin) ราวปี ค.ศ. 896
ทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาชนรุสก็เริ่มเข้ามารุกรานคอนสแตนติโนเปิล ที่บางครั้งก็มีผลให้เกิดการตกลงในสนธิสัญญาทางค้าที่ให้ประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจักรวรรดิไบแซนไทน์จะเห็นชัดได้จากการเสกสมรสระหว่างวลาดิเมียร์ที่ 1 แห่งคิเอฟกับเจ้าหญิงไบแซนไทน์แห่งราชวงศ์มาเซโดเนีย ซึ่งทรงเป็นเจ้าต่างประเทศองค์เดียวที่ได้ทำการสมรสกับเจ้าหญิงไบแซนไทน์ แม้ว่าเจ้าในยุโรปตะวันตกอื่นๆ ต่างก็พยายามแต่ไม่สำเร็จ การรณรงค์ของพระบิดาของวลาดิเมียร์ สวิยาโตสลาฟที่ 1 (Svyatoslav I) มีผลทำลายรัฐสองรัฐของบัลการ์และคาซาร์ซึ่งเป็นรัฐที่มีอิทธิพลที่สุดในยุโรปตะวันออกลงได้
ในปี ค.ศ. 681 ชนบัลการ์ก็ก่อตั้งรัฐมหาอำนาจที่มามีบทบาทสำคัญในยุโรปและโดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้จนกระทั่งไปตกอยู่ภายใต้การปกครองของตุรกีในปี ค.ศ. 1396 ในปี ค.ศ. 718 ชนบัลการ์ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อฝ่ายอาหรับไม่ไกลจากคอนสแตนติโนเปิลจนประมุขของบัลการ์ข่านเทอร์เวลได้รับสมญาว่าเป็น “ผู้ช่วยยุโรปให้รอดจากภัย” การได้รับชัยชนะของบัลแกเรียเป็นการหยุดยั้งอนารยชนเผ่าต่างๆ ที่รวมทั้งเพเชเนก (Pechenegs) และคาซาร์) จากการโยกย้ายลึกเข้ามาทางตะวันตก และในปี ค.ศ. 806 ก็ได้ทำลายอาณาจักรข่านของอาวาร์ยูเรเชียภายใต้การปกครองของซิเมียนที่ 1 (ค.ศ. 893-ค.ศ. 927) บัลแกเรียก็กลายเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่กลายมาเป็นอันตรายอยู่รอดของจักรวรรดิไบแซนไทน์
หลังจากการยอมรับคริสต์ศาสนา ในปี ค.ศ. 864 แล้วบัลแกเรียก็กลายเป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรมและการศาสตาของอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ของชนสลาฟ อักษรซีริลลิกก็ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นโดยนักปราชญ์บัลแกเรียชื่อเคลเมนต์แห่งโอห์ริด ในปี ค.ศ. 885 วรรณคดี ศิลปะ และ สถาปัตยกรรมต่างก็รุ่งเรือง โดยก่อตั้งสถานศึกษาหลายแห่งขึ้น ในปี ค.ศ. 927 บัลแกเรียออร์โธด็อกซ์ก็กลายเป็นนิกายศาสนาของรัฐของยุโรปนิกายแรกที่ได้รับอิสระมามีระบบการปกครองของตนเองโดยไม่ต้องขึ้นกับสถาบันศาสนาอื่น
เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกสิ้นสุดลง ศูนย์กลางของเมืองต่างๆ ก็อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมตามลงไปเป็นอันมาก สถิติของผู้มีการศึกษา และสถานศึกษาทางตะวันตกก็ลดจำนวนลง การศึกษากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอารามและอาสนวิหาร “ยุคทอง” ของการศึกษาคลาสสิกมาฟื้นตัวขึ้นอยู่ชั่วระยะหนึ่งในสมัยจักรวรรดิการอแล็งเฌียงในคริสต์ศตวรรษที่ 8 แต่ในจักรวรรดิโรมันตะวันออกการศึกษายังคงได้รับการรักษาไว้ให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าทางตะวันตก ไกลออกไปทางตะวันออกอิสลามก็สามารถพิชิตเขตอัครบิดรต่าง ๆ ได้หลายเขต และมีความก้าวหน้ามากกว่าการศึกษาของคริสเตียนในด้านวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และอื่นๆ ในสมัยที่เรียกว่าเป็น “ยุคทอง” ของการศึกษา
ระบบการศึกษาคลาสสิกที่ทำกันต่อมาอีกหลายร้อยปีเน้นการเรียนไวยากรณ์ ละติน กรีก และ วาทศาสตร์ ผู้ศึกษาก็จะอ่านงานคลาสสิกซ้ำแล้วซ้ำเล่าและเขียนบทเขียนที่เลียนแบบลักษณการเขียนแบบคลาสสิก เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 ระบบการศึกษานี้ก็ถูกทำให้เป็นคริสเตียน (Christianized) ในบทเขียน De Doctrina Christiana หรือ ปรัชญาของคริสเตียน โดย นักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป ที่เขียนระหว่างปี ค.ศ. 396 ถึงปี ค.ศ. 426 นักบุญออกัสตินให้คำอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาคลาสสิกกับปรัชญาของคริสเตียน ที่ว่าคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาของตำราฉะนั้นผู้เป็นคริสต์ศาสนิกชนต้องเป็นผู้มีการศึกษา จะเทศนาได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องมาจากการศึกษาและความเข้าใจในรากฐานของวาทศาสตร์คลาสสิกเช่นในการใช้อุปมานิทัศน์ในการที่จะเพิ่มความเข้าใจในพระคัมภีร์มากขึ้น
แต่เทอร์ทุลเลียน นักประพันธ์และคริสต์ศาสนิกชนชาวเบอร์เบอร์ไม่มีความมั่นใจในคุณค่าระบบการศึกษาคลาสสิกและตั้งคำถามว่า “เอเธนส์จะมีเกี่ยวอะไรกับเยรูซาเลม?” แต่กระนั้นเทอร์ทุลเลียนก็มิได้หยุดยั้งคริสตชนที่เข้าศึกษาในสถานศึกษาคลาสสิก
การยุบเมืองต่าง ๆ ทำให้ระบบการศึกษามีจำนวนจำกัดลงและเมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 การสอนและการศึกษาก็ย้ายเข้าไปทำกันในอารามและอาสนวิหารโดยมีคัมภีร์ไบเบิลเป็นหัวใจและตำราหลักของการศึกษา การศึกษาของฆราวาสยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในอิตาลี สเปน และทางตอนใต้ของกอลที่อิทธิพลของโรมันยังคงมีอยู่นานกว่าในบริเวณอื่น เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ระบบการศึกษาก็เริ่มขึ้นในไอร์แลนด์และดินแดนของเค้ลท์ที่ภาษาละตินเป็นภาษาต่างประเทศ และการสอนและการศึกษาเล่าเรียนเป็นภาษาละตินก็เป็นที่นิยมกันทั่วไป
ในโลกยุคโบราณกรีกเป็นภาษาหลักของการศึกษาวิทยาศาสตร์ การสอนและการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ทำกันในบริเวณกรีกของจักรวรรดิโรมันด้วยภาษากรีก ในตอนปลายโรมันพยายามแปลงานกรีกเป็นภาษาละตินแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เมื่อความรู้ภาษากรีกลดถอยลง จักรวรรดิละตินทางตะวันตกก็ถูกตัดออกจากความรู้ทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ของกรีก เมื่อผู้พูดภาษาละตินต้องการจะศึกษาวิทยาศาสตร์ก็จะมีหนังสือให้ศึกษาเพียงสองสามเล่มโดยโบเธียสที่สรุปตำรากรีกที่เขียนโดยนิโคมาคัสแห่งเจราซา (Nicomachus of Gerasa) และสารานุกรมละตินที่รวบรวมโดยนักบุญอีซีโดโรแห่งเซบียาในปี ค.ศ. 630
นักการศึกษาผู้นำในต้นคริสต์ศตวรรษก็เป็นนักบวชผู้ไม่มีความสนใจในการศึกษาด้านธรรมชาติวิทยาเท่าใดนัก การศึกษาด้านธรรมชาติวิทยาเป็นการศึกษาเพราะความจำเป็นมากกว่าที่จะเป็นความต้องการในการแสวงหาความรู้อย่างบริสุทธิ์ เช่นในความจำเป็นที่จะต้องรักษาผู้เจ็บป่วยนำไปสู่การศึกษาทางแพทย์จากตำราโบราณที่เกี่ยวกับเภสัชศาสตร์ หรือความจำเป็นของนักบวชที่จะต้องกำหนดเวลาที่จะต้องสวดมนต์ที่ทำให้หันไปหาความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ หรือการที่จะต้องคำนวณวันอีสเตอร์ทำให้ต้องไปศึกษาและสอนการคำนวณพื้นฐานและการโคจรของพระอาทิตย์และพระจันทร์ นักอ่านสมัยใหม่อาจจะพบว่าตำราที่มาจากยุคนี้มีความแปลกตรงที่บางครั้งในงานชิ้นเดียวกันผู้เขียนอาจจะให้คำอธิบายถึงธรรมชาติที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงความสำคัญทางสัญลักษณ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกันด้วย
สมัยตั้งแต่จักรวรรดิโรมันล่มไปจนถึงราว ค.ศ. 800 ที่มักจะเรียกกันผิดๆ ว่า “ยุคมืด” อันที่จริงแล้วเป็นสมัยที่มีการวางรากฐานของความก้าวหน้าที่จะมาเกิดขึ้นในสมัยกลางและสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาต่อมา
ราวปี ค.ศ. 800 ยุโรปตะวันตกก็เริ่มหันกลับมีความสนใจกับการศึกษาคลาสสิกที่เป็นส่วนหนึ่งของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคาโรแล็งเชียงขึ้น โดยชาร์เลอมาญทรงเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการปฏิรูปทางด้านการศึกษา ทางอังกฤษนักบวชอัลคิวอินแห่งยอร์ก (Alcuin) ก็เริ่มโครงการฟื้นฟูความรู้ด้านคลาสสิกโดยก่อตั้งโครงการศึกษาที่มีพื้นฐานมาจากศิลปศาสตร์เจ็ดสาขาที่รวมทั้ง “ไตรศาสตร์” (“trivium”) หรือการศึกษาวรรณศิลป์สามอย่างที่ประกอบด้วย ไวยากรณ์, วาทศาสตร์ และ ตรรกศาสตร์ และ “จตุรศิลปศาสตร์” (“quadrivium”) หรือการศึกษาวิทยาศาสตร์สี่อย่างที่ประกอบด้วย คณิตศาสตร์, เรขาคณิต, ดาราศาสตร์ และ คีตศาสตร์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 787 เป็นต้นมาก็มีการเวียนประกาศไปทั่วจักรวรรดิให้มีการฟื้นฟูสถานศึกษาเดิมและก่อตั้งสถานศึกษาใหม่ ทางด้านสถาบันสถานศึกษาเหล่านี้บ้างก็อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักสงฆ์และมหาวิหาร บ้างก็อยู่ในความรับผิดชอบของราชสำนักหรือสำนักขุนนาง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาเห็นผลได้อย่างชัดเจนในหลายร้อยปีต่อมา การศึกษาในด้านตรรกศาสตร์มีส่วนทำให้เกิดการฟื้นฟูความสนใจในการตั้งปัญหาที่ประจวบกับธรรมเนียมการศึกษาด้านเทววิทยาศาสนาคริสต์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 สถานศึกษาหลายแห่งที่ก่อตั้งขึ้นก็กลายมาเป็นมหาวิทยาลัยต่อมา
ความรุ่งเรืองทางความรู้และการศึกษาของจักรวรรดิไบแซนไทน์มาจาก “ประมวลกฎหมายแพ่ง” (“Corpus Juris Civilis”) ซึ่งเป็นงานประมวลกฎหมายชิ้นใหญ่ที่มีพื้นฐานมาจากกฎหมายโรมันที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนมหาราช (ปกครอง ค.ศ. 528-ค.ศ. 565) งานนี้รวมทั้งส่วนที่เรียกว่า “ประมวลกฎหมายฉบับย่อ” (Pandects) ห้าสิบสองเล่ม ซึ่งเป็นฉบับที่สรุปหลักการของกฎหมายโรมันที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกสถานะการณ์โดยทั่วไป
ความสามารถในการอ่านและเขียนของฝ่ายไบแซนไทน์โดยทั่วไปมีระดับสูงกว่าทางโรมันตะวันตก ระบบการศึกษาเบื้องต้นมีอยู่โดยทั่วไปและบางครั้งแม้แต่ในชนบท ในระดับสูงขึ้นไปก็มีการสอน “อีเลียด” และตำราคลาสสิกต่างๆ แต่ระดับสูงกว่านั้นสถาบันเพลโตใหม่ (Neoplatonic Academy) ใน เอเธนส์ถูกปิดไปในปี ค.ศ. 526 โดยเพกัน แต่สถานศึกษาในอะเล็กซานเดรียในอียิปต์ยังคงเปิดสอนอยู่จนกระทั่งมาถูกปิดเมื่ออเล็กซานเดรียถูกพิชิตโดยอาหรับในปี ค.ศ. 640 มหาวิทยาลัยคอนสแตนติโนเปิลเดิมก่อตั้งโดยจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 2 ในปี ค.ศ. 425 ก็อาจจะมาถูกยุบในช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้วย แต่มาได้รับการก่อตั้งใหม่โดยจักรพรรดิมิคาเอลที่ 3 อีกครั้งในปี ค.ศ. 849 การศึกษาระดับสูงในยุคนี้เน้นการศึกษาทางวาทศาสตร์แต่ก็มีการศึกษาตรรกศาสตร์ของอริสโตเติลขั้นพื้นฐานอยู่บ้าง ระหว่างรัชสมัยของราชวงศ์มาเซโดเนียระหว่างปี ค.ศ. 867 ถึงปี ค.ศ. 1025) ไบแซนไทน์ก็อยู่ในสมัยยุคทองของการฟื้นฟูการศึกษาคลาสสิก งานค้นคว้าเดิมจากยุคนี้มีเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยแต่ที่มีคือศัพทานุกรม, ประชุมบทนิพนธ์, สารานุกรม และบทความเห็นที่เกี่ยวกับงานสมัยนี้
ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ระหว่างปี ค.ศ. 661 ถึงปี ค.ศ. 750 ผู้คงแก่เรียนอิสลามเน้นการศึกษาที่เกี่ยวกับอัลกุรอาน แต่ราชวงศ์อับบาซียะฮ์ที่ตามมาสนับสนุนการศึกษาของกรีกและมนุษย์วิทยาตามแนวคิดของตระกูลปรัชญามุอ์ตะซีลี (Mu'tazili) ของอิสลาม ตระกูลความคิดนี้ก่อตั้งขึ้นในบาสราโดยวะศีล อิบุน อะฏอ (???? ?? ????? - Wasil ibn Ata) (ค.ศ. 700–ค.ศ. 748) ที่อยู่บนพื้นฐานที่ว่าอัลกุรอานมาจากอัลลอฮ์และอัลลอฮฺมีพระประสงค์อย่างเดียวคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ปรัชญานี้ไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยตระกูลปรัชญาอัชชาริยยะห์ (???????? - Ash'ariyyah) และ อาษาริยยะห์ (Athariyyah) ซึ่งเป็นตระกูลปรัชญาของซุนนีย์
ดังนั้น “ประตูแห่งอิญฏีหะ” (Gates of Ijtihad (??????) ) จึงเปิดขึ้นที่ทำให้เกิดการโต้แย้งกันภายในแวดวงระหว่างความคิดของปรัชญาตระกูลต่างๆ ของอิสลาม ที่เชื่อกันว่ามีด้วยกันถึง 135 ตระกูล ในปี ค.ศ. 800 แบกแดดเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก—และเป็นเมืองแรกที่มีประชากรถึงกว่าหนึ่งล้านคน แบกแดดเป็นที่ตั้งของ “หอสมุดแห่งปัญญา” (??? ??????? - House of Wisdom) หรือ “บัยต อัล หิกมะห์” ที่เป็นศูนย์กลางของการศึกษาการปรัชญาของโลกมุสลิม นักปรัชญาเช่นอัล กินดี (??? ???? ????? ??? ????? ?????? - al-Kind?) (ค.ศ. 801–ค.ศ. 873) และ อัล ฟารอบี (??? ??? ???? ???????? - al-F?r?b?) (ค.ศ. 870–ค.ศ. 950) แปลงานของอริสโตเติลและประยุกต์ปรัชญาให้สอดคล้องกับปรัชญาของศาสนาอิสลาม อัล เคาะวาริสมี (???? ?? ???? ??????? - Al-Khw?rizm?) (ค.ศ. 780-ค.ศ. 850) เขียน “ประชุมบทนิพนธ์เกี่ยวกับการคำนวณโดย Completion and Balancing” (The Compendious Book on Calculation by Completion and Balancing) ซึ่งเป็นงานพีชคณิตชิ้นแรก (คำว่า “Algebra” มาจากชื่อหนังสือที่เป็นภาษาอาหรับ คำว่า “Algorithm” แผลงมาจากชื่อผู้ประพันธ์ “Al-Khw?rizm?”) นอกจากนั้นอัล เคาะวาริสมีก็ยังเขียน “ภาพของโลก” (The Image of the Earth) ซึ่งเป็นหนังสือฉบับปรับปรุงที่มีพื้นฐานมาจากหนังสือ “ภูมิศาสตร์” โดยทอเลมี และเข้าร่วมในโครงการวัดเส้นรอบวงองโลกโดยวัดความยาวของดีกรีของเมอริเดียนบนที่ราบของอิรัก
แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความรุ่งเรืองทางความคิดทางปรัชญาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เริ่มปิด “ประตูแห่งอิญฏีหะ” การโต้แย้งในเรื่องมนุษย์วิทยาและปรัชญาต่างๆ คงยังดำเนินอยู่ต่อไปแต่ก็จำกัดลงมากขึ้นทุกขณะ โดยทั่วไปแล้วระบบการศึกษาของมุสลิมที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความประสงค์ของผู้อุปถัมภ์และประมุขของอิสลาม ที่มิได้วิวัฒนาการขึ้นเป็นระบบมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่ถาวรเพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษานอกไปจากอัลกุรอาน
ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชองอิสลามก็เผยแพร่เข้ามายังยุโรปตะวันตก อุปกรณ์ แอสโตรเลบ (astrolabe) ที่ใช้ในการคำนวณทางดาราศาสตร์ที่ค้นพบในสมัยคลาสสิกก็ได้รับการนำกลับมาฟื้นฟูขึ้นใช้ในยุโรปอีกครั้งหนึ่ง งานของยุคลิด และ อาร์คิมิดีสที่หายไปจากทางตะวันตกได้รับการแปลจากภาษาอาหรับกลับมาเป็นภาษาละตินในสเปน ตัวเลขฮินดู-เลขอารบิกสมัยใหม่รวมทั้งเลข “ศูนย์” ก็ได้รับการวิวัฒนาการขึ้นโดยนักคณิตศาสตร์ฮินดูในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และ 6 นักคณิตศาสตร์อิสลามเรียนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 และมาเพิ่มการใช้เศษส่วนทศนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 9 และ 10 ราวปี ค.ศ. 1000 แกร์แบร์ตแห่งออริลแยค (ต่อมาเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 2) สร้างลูกคิดที่ตัวนับสลักเป็นเลขฮินดู-อาหรับ ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 วิทยานิพนธ์ที่เขียนโดยอัล เคาะวาริสมีเกี่ยวกับการคำนวณโดยใช้ตัวเลขเหล่านี้ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาละตินในสเปน
ตั้งแต่ศาสนาคริสต์ยุคแรก คริสต์ศาสนิกชนตอนต้นสมัยกลางก็ได้สืบทอดคริสตจักรที่มีหลักความเชื่อ สารบบคัมภีร์ไบเบิล และปรัชญาร่วมกัน
ระหว่างต้นสมัยกลางความแตกแยกระหว่างศาสนาคริสต์ตะวันออกและศาสนาคริสต์ตะวันตกค่อย ๆ กว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็จบลงด้วยศาสนเภทตะวันออก-ตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ทางตะวันตกอำนาจของบิชอปแห่งโรมก็ขยายตัวขึ้น ในปี ค.ศ. 607 บอนิเฟซที่ 3 ทรงเป็นบิชอปแห่งโรมองค์แรกที่ใช้ตำแหน่งที่เรียกว่าพระสันตะปาปา ก่อนหน้านั้นเกรกอรีที่ 1 ก็ทรงใช้ตำแหน่งของพระองค์ในการขยายอำนาจการเผยแพร่ศาสนาของโรมไปยังบริติชไอลส์ และวางพื้นฐานในการขยายตัวของอารามคณะต่าง ๆ แม้แต่ศาสนาคริสต์แบบเคลติกซึ่งยังเป็นนิกายพื้นเมืองในบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
โรมันคาทอลิกเป็นคริสตจักรเดียวที่รอดจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกโดยไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากผลสะท้อนของความเสื่อมโทรมของโรมันเท่าใดนัก และกลายมาเป็นปัจจัยเดียวที่เป็นศูนย์กลางของอิทธิพลทางวัฒนธรรมของยุโรปตะวันตกที่คงยังรักษาระบบการศึกษาของลาตินบางอย่างไว้, รักษาวัฒนธรรมด้านศิลปะและวรรณกรรม และ รักษาระบบการปกครองจากศูนย์กลางโดยใช้ระบบเครือบิชอปที่ตั้งอยู่ทั่วไปในยุโรปผู้ได้รับแต่งตั้งและดำรงตำแหน่งติดต่อกันมา ดินแดนอื่น ๆ ในยุโรปตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของดยุกและเคานต์ของรัฐย่อย ๆ ความเจริญของชุมชนในตัวเมืองเป็นจุดเริ่มต้นของกลางสมัยกลาง
การเผยแผ่คริสต์ศาสนาในกลุ่มชนเจอร์มานิกเริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 4 โดยชาวกอทที่เข้ามารับนับถือคริสต์ศาสนา และการเผยแพร่ก็ดำเนินต่อไปจนตลอดสมัยกลางตอนต้น ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 7 ผู้นำในการเผยแพร่ศาสนานำโดยคณะธรรมทูตฮีเบอร์โน-สกอตติช แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 9 ก็มาแทนที่ด้วยคณะธรรมทูตแองโกล-แซกซัน โดยมีชาวแองโกล-แซกซันคนสำคัญ ๆ เช่นอัลคิวอินที่มามีบทบาทสำคัญในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคาโรแล็งเชียง เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1000 แม้แต่ไอซ์แลนด์ก็กลายเป็นคริสเตียน เหลืออยู่ก็แต่เพียงดินแดนที่ห่างไกลในยุโรปที่รวมทั้งบริเวณ (สแกนดิเนเวีย, บริเวณทะเลบอลติก และ ดินแดนฟินโน-อูกริค) เท่านั้นที่ยังไม่ยอมรับคริสต์ศาสนามาจนกระทั่งถึงกลางสมัยกลาง
นักวางผังเมืองเทอร์เทียส แชนด์เลอร์ได้ทำการสำรวจขนาดของเมืองต่างๆ ตลอดมาในประวัติศาสตร์ ในสมัยที่กล่าวนี้เมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็รวมทั้ง: คอนสแตนติโนเปิล (ค.ศ. 340-ค.ศ. 570), เทซิฟอน (Ctesiphon) ของซาสซานิยะห์ (ค.ศ. 570-ค.ศ. 637), ซีอาน ในประเทศจีน (ค.ศ. 637-ค.ศ. 775), แบกแดด (ค.ศ. 775-ค.ศ. 935) และ กอร์โดบา ในประเทศสเปน (ค.ศ. 935-ค.ศ. 1013)
รายชื่อข้างล่างที่แชนด์เลอร์จัดลำดับว่าเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและตะวันออกกลางก็ได้แก่:
แชนด์เลอร์สรุปว่าประชากรโดยถัวเฉลี่ยตกประมาณ 10,000 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร และเชื่อว่าเมืองของมุสลิมมีความหนาแน่นของประชากรสูงกว่าในยุโรป คำจำกัดความของเมืองคือสถานที่มีผู้คนพำนักติดต่อกันอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
จักรพรรดิคาร์ลที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทรงก่อการปฏิวัติโดยนำของพระราชนัดดาอาร์นุลฟแห่งคารินเธีย (Arnulf of Carinthia) ซึ่งเป็นผลทำให้จักรวรรดิถูกแบ่งออกเป็นราชอาณาจักรต่าง ๆ ในฝรั่งเศส, เยอรมนี และ ทางตอนเหนือของอิตาลี ในปี ค.ศ. 887 ชาวฮังการีฉวยโอกาสจากความอ่อนแอของรัฐบาลเยอรมนีในการก่อตั้งตนเองในทุ่งราบฮังการี (Great Hungarian Plain) หรือบริเวณทุ่งหญ้าฮังการี (Hungarian grasslands) และเริ่มการรุกรานเข้ามาในเยอรมนี อิตาลี และแม้แต่ฝรั่งเศส
ในปี ค.ศ. 919 ขุนนางเยอรมันเลือกเฮนรีเดอะเฟาเลอร์ (Henry the Fowler) ดยุกแห่งแซกโซนีขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์โดยสภาไรค์สตากที่ฟริทซลาร์ แต่เฮนรีก็มิได้มีอำนาจมากไปกว่าประมุขของดัชชีอื่นๆ ซึ่งสะท้อนมาจากการปกครองระบบชนเผ่าที่ดำเนินกันมา เมื่อมาถึงสมัยของจักรพรรดิออทโทที่ 1 พระราชโอรสของพระองค์ในปี ค.ศ. 939 พระองค์ก็สามารถปราบปรามการปฏิวัติที่นำโดยดยุกที่ได้รับการหนุนหลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 951 จักรพรรดิออตโตก็ทรงนำทัพลงไปยังอิตาลีและทรงไปเสกสมรสกับพระราชินีหม้ายอเดลัยเดแห่งอิตาลี (Adelaide of Italy) และแต่งตั้งพระองค์เองเป็นพระมหากษัตริย์แห่งลอมบาร์ด พระองค์ทรงได้รับการสวามิภักดิ์จากเบเรนการ์แห่งอิฟริอา พระมหากษัตริย์แห่งอิตาลี (ปกครอง ค.ศ. 950-ค.ศ. 952) หลังจากนั้นออตโตก็ทรงแต่งตั้งพระญาติให้เป็นประมุขคนใหม่ของดัชชีต่างๆ ในอิตาลี แต่ก็มิได้ทรงสามารถแก้ปัญหาการขาดความสวามิภักดิ์ไปได้ทั้งหมด พระราชโอรสของพระองค์ลุยดอล์ฟ ดยุกแห่งชเวเบียก่อการปฏิวัติและยอมรับชาวฮังการีเข้ามาในเยอรมนีในปี ค.ศ. 953 จักรพรรดิออตโตติดตามมาจยาร์ไปถึง เลคเฟลด์ไม่ไกลจากออกสเบิร์กในบาวาเรียและทรงได้รับชัยชนะในปี ค.ศ. 955 หลังจากนั้นชาวฮังการีก็หยุดยั้งการเป็นชนชาติที่มีอาชีพรุกรานและปล้นสดมและถอยไปตั้งตัวเป็นราชอาณาจักรฮังการีในปี ค.ศ. 1000
ชัยชนะครั้งนี้ทำให้เป็นการสร้างเสริมพระพระเกียรติคุณให้แก่จักรพรรดิออตโตเป็นอันมาก ในปี ค.ศ. 962 พระองค์ก็เสด็จลงไปยังอิตาลีอีกครั้งหนึ่งเพื่อไปทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระจักรพรรดิโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 12 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องหมายของการก่อตั้งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แม้ว่าคำนี้จะไม่ได้ใช้กันจนต่อมาอีกนานหลังจากนั้น อาณาจักรของออตโตถือกันว่าเป็น “Reich” หรือ “จักรวรรดิเยอรมนี” แรก จักรพรรดิออตโตทรงใช้ตำแหน่งของพระองค์โดยไม่ผูกพันกับอาณาจักรใดๆ อาณาจักรหนึ่งโดยเฉพาะ พระองค์และจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์องค์ต่อๆ มาทรงเห็นพระองค์ว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายการปกครองที่เริ่มมาตั้งแต่ชาร์เลอมาญ (แม้ว่าจักรพรรดิหลายพระองค์จะเป็นเพียงขุนนางท้องถิ่นในอิตาลีผู้ไปบังคับให้พระสันตะปาปาสวมมงกุฎให้เป็นจักรพรรดิ) เมื่อจักรพรรดิออตโตทรงมีอำนาจมากขึ้น พระสันตะปาปาจอห์นก็ทรงหันไปคบคิบกับเบเรนการ์แห่งอิฟริอา, มาจยาร์ และจักรวรรดิไบแซนไทน์ในการพยายามที่จะลิดรอนอำนาจของพระองค์ จักรพรรดิออตโตจึงทรงปลดจอห์นจากการเป็นพระสันตะปาปาและทรงแต่งตั้งสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 8 ขึ้นแทนที่ในปี ค.ศ. 963 เบเรนการ์ถูกจับได้และนำตัวกลับไปเยอรมนี แต่จอห์นสามารถรอดตัวไปได้หลังจากออตโตยกทัพกลับไปแล้วแต่มาเสียชีวิตในอ้อมกอดของเมียน้อยไม่นานหลังจากนั้น
นอกจากการก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมนีแล้วจักรพรรดิออตโตก็ยังทรงก่อตั้งระบบสถาบันศาสนาแบบออตโตที่นักบวช (ผู้เป็นผู้มีการศึกษากลุ่มเดียวในหมู่ประชากร) มีหน้าที่ราชการด้วย และทรงช่วยกู้ฐานะของพระสันตะปาปาจากการที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของการเมืองท้องถิ่น และสร้างเสริมให้เป็นตำแหน่งที่มีฐานะเป็นผู้นำระดับนานาชาติ
การทำนายว่าโลกจะสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1000 จำกัดอยู่เฉพาะนักบวชชาวฝรั่งเศสไม่กี่องค์ เสมียนในระบบราชการธรรมดาก็ใช้ปีครองราชย์ (regnal year) ของพระมหากษัตริย์เป็นหลักในการลำดับเดือนปีเช่น “ปีที่ 4 ของรัชสมัยของพระเจ้าโรแบร์ตที่ 2 แห่งฝรั่งเศส” เป็นต้น การใช้ระบบ “คริสต์ศักราช” (anno domini) จำกัดแต่เฉพาะบรรดานักบันทึกพงศาวดารผู้บันทึกประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับหลายดินแดนเช่นนักบุญบีด
ยุโรปเมื่อเทียบกับอิสลามแล้วก็ยังเป็นกลุ่มประเทศที่ยังคงล้าหลัง ขณะที่อิสลามมีระบบการค้าขาย และการขนส่งสินค้าด้วยระบบเครือข่ายของเส้นทางการค้าโดยคาราวานติดต่อกับดินแดนอันกว้างไกล หรือประเทศจีนซึ่งขณะนั้นเป็นจักรวรรดิที่มีประชากรมากที่สุดภายใต้ราชวงศ์ซ่ง คอนสแตนติโนเปิลมีประชากรราว 300,000 คนแต่โรมมีมากกว่าแต่ก็เพียง 35,000 คน และปารีสอีก 20,000 คน แต่อิสลามมีเมืองสำคัญๆ กว่าสิบสองเมืองตั้งแต่กอร์โดบา ในสเปน ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีประชากรถึง 450,000 คนไปจนถึงเอเชียกลาง ส่วนไวกิงก็มีระบบการควบคุมเครือเส้นทางการค้าในยุโรปเหนือที่รวมทั้งเส้นทางการค้าที่เชื่อมบริเวณบอลติกในยุโรปเหนือกับไบแซนไทน์และตะวันออกโดยผ่านรัสเซีย แต่ก็เล็กเมื่อเทียบกับเส้นทางคาราวานของอิสลามที่เชื่อมระหว่างเมืองสำคัญๆ ของมุสลิมเช่นกอร์โดบา, อเล็กซานเดรีย, ไคโร, แบกแดด, บาสรา และ มักกะหฺ
อังกฤษอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่หลังจากการถูกปล้นสดมและทำลายโดยไวกิง แต่เมื่อถูกรุกรานอยู่เป็นเวลานานอังกฤษก็ลุกฮือขึ้นสังหารผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานชาวเดนส์ในปี ค.ศ. 1002 ที่นำไปสู่การตอบโต้ระหว่างทั้งสองฝ่ายจนกระทั่งฝ่ายเดนส์ได้รับชัยชนะในปี ค.ศ. 1013 แต่การเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาอย่างรวดเร็วกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาระยะยาวของการรุกรานของอานารยชน สแกนดิเนเวียเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาไม่นานก่อนหน้านั้นและราชอาณาจักรของนอร์เวย์, สวีเดน, และ เดนมาร์ก ก็ได้รับการก่อตั้งขึ้น จักรวรรดิเคียฟรุสที่เพิ่งเข้ารับคริสเตียนออร์ธอด็อกซ์ก็รุ่งเรืองและกลายเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ไอซ์แลนด์ และฮังการีประกาศตนเป็นคริสเตียนราว ค.ศ. 1000
ทางตอนเหนือของอิตาลีที่การก่อสร้างด้วยหินมิได้หยุดยั้งไปเช่นในบริเวณอื่น และในบริเวณเหล่านั้นก็เริ่มหันมาก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ ด้วยหินแทนไม้ นอกจากนั้นก็มีการเริ่มบุกเบิกใช้ป่าดิบ คริสต์ศตวรรษที่ 10 เป็นคริสต์ศตวรรษที่ประชาชนเริ่มกลับเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองโดยจะเห็นได้จากจำนวนประชากรที่เพิ่มเป็นสองเท่าในเมืองต่างๆ ในอิตาลี ลอนดอนที่ถูกทิ้งร้างไปหลายร้อยปีก็เริ่มกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจขึ้นมาในช่วงนี้ เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1000 บรูจส์ และ เก้นท์ ก็มีงานแสดงสินค้าเป็นประจำหลังกำแพงปราสาทซึ่งเป็นสัญญาณของการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุโรปตะวันตก
ในช่วงเวลานี้เช่นกันที่จักรวรรดิกาหลิบของมุสลิมเริ่มแสดงสัญญานของความเสื่อมโทรมลง ความแตกแยกของมุสลิมมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างชีอะหฺและซุนนีย์ และอาหรับในเปอร์เชีย ในช่วงนี้มีจักรวรรดิกาหลิปสำคัญๆ สามจักรวรรดิ: จักรวรรดิกาหลิปอุมัยยะฮ์ในสเปน, จักรวรรดิกาหลิปอับบาซียะฮ์ในแบกแดด และ จักรวรรดิกาหลิปฟาติมียะห์ในอียิปต์ ประชากรของแบกแดดซึ่งเป็นเมืองหลวงของอับบาซียะฮ์ลดลงเหลือเพียงราว 125,000 คน (เมื่อเทียบกับ 900,000 คนในปี ค.ศ. 900) อุมัยยะฮ์ยังคงมีอำนาจอยู่ในปี ค.ศ. 1000 แต่ก็มาลดลงอย่างรวดเร็วเพียงอีกไม่กี่ปีต่อมาและสิ้นสุดอย่างหมดสิ้นในปี ค.ศ. 1031
ทางด้านวัฒนธรรมของยุโรปก็มีปัจจัยหลายอย่างที่เริ่มเกิดขึ้นหลังจาก ค.ศ. 1000 บ่งถึงจุดจบของยุคกลางตอนต้นที่รวมทั้งการขยายตัวของชุมชนในยุคกลาง (medieval commune), การฟื้นฟูเมือง, การปรากฏตัวของชนชั้นใหม่ที่เรียกว่า “burgher”, การก่อตั้งมหาวิทยาลัยในยุคกลางขึ้นเป็นครั้งแรก, การฟื้นฟูกฎหมายโรมัน และการเริ่มประพันธ์วรรณกรรมโดยใช้ภาษาพื้นบ้านแทนที่จะใช้ภาษาลาติน
ในปี ค.ศ. 1000 พระสันตะปาปาอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรพรรดิเยอรมันจักรพรรดิออตโตที่ 3 หรือ “จักรพรรดิโลก” ที่ทรงเรียกพระองค์เอง แต่ต่อมาการปฏิรูปของสถาบันศาสนาก็ส่งเสริมให้มีฐานะและความเป็นอิสระเพิ่มขึ้น โดยขบวนการคลูนี, การก่อสร้างมหาวิหารด้วยหินขนาดใหญ่ และการประมวลประกาศและกฎต่างๆ เข้าเป็นคริสต์ศาสนกฎบัตร