ปี พ.ศ. 2391 นักสรีรวิทยาชาวเยอรมัน ชื่ออาร์โนล เอ เบอร์โทลด์ (Arnold A. Berthold) ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของลูกไก่เพศผู้ไปเป็นไก่เพศผู้ที่โตเต็มวัย โดยจัดการทดลองเป็น 3 ชุด ชุดแรกให้ไก่เจริญตามปกติ ชุดที่ 2 อาร์โนลตัดอัณฑะของลูกไก่ออก แล้วเฝ้าสังเกตลักษณะของลูกไก่จนเจริญเป็นไก่ที่โตเต็มวัย พบว่าเมื่อโตเต็มวัยไก่ตัวนี้จะมีลักษณะคล้ายเพศเมีย คือ มีหงอนและเหนียงคอสั้นขนหางสั้นและมีนิสัยไม่ค่อยต่อสู้กับไก่ตัวอื่นๆ ชุดที่ 3 อาร์โนลตัดลูกอัณฑะลูกไก่ทดลองออก จากนั้นนำอัณฑะของลูกไก่อีกตัวหนึ่งมาปลูกถ่ายลงในบริเวณช่องท้อง ตรงตำแหน่งที่ต่ำกว่าตำแหน่งอัณฑะเดิม จากการตรวจสอบพบว่าอัณฑะใหม่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงและสามารถทำงานได้ เมื่อติดตามสังเกตพบว่าลูกไก่เจริญเติบโตตามปกติเหมือนไก่เพศผู้ทั่วไป
ต่อมาพบว่าอัณฑะของไก่ผลิตสารเคมีซึ่งลำเลียงไปตามระบบหมุนเวียนเลือด สารเคมีนี้เองจึงเชื่อว่ามีบทบาทควบคุมการเจริญของหงอน เหนียงคอ และลักษณะอื่นๆของไก่เพศผู้ที่โตเต็มวัย และเรียกสารเคมีนี้ว่า ฮอร์โมน (Hormone) ซึ่งผลิตจากเนื้อเยื่อหรือต่อมไร้ท่อ
ตัวอย่าง ต่อมไร้ท่อ ได้แก่ ต่อมหมวกไต (Adrenal gland) , ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) , ต่อมไธรอยด์ (Thyroid gland) , ต่อมพาราไธรอยด์ (Parathyroid gland) เป็นต้น